Lifestyle

'ขนอมโมเดล' ศูนย์เรียนรู้ในโรงไฟฟ้า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คืนชีพโรงไฟฟ้าเรือลอยน้ำ สู่ศูนย์การเรียนรู้ด้านพลังงานไฟฟ้า

‘ศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอม’ถูกเนรมิตขึ้นบนเนื้อที่ราวๆ 14,000 ตร.ม. ภายในอาณาจักรของโรงผลิตไฟฟ้าแห่งอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อถ่ายทอดความรู้ สร้างความเข้าใจร่วมกันถึงเป้าหมายและกระบวนการผลิตไฟฟ้าที่สามารถอยู่ร่วมกันได้กับชุมชนใกล้เคียงอย่างปลอดภัยและยั่งยืน ด้วยความร่วมมือของบริษัทผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ซึ่งเป็นแม่งานอย่าง ‘เอ็กโก กรุ๊ป’ และผู้เชี่ยวชาญโรงไฟฟ้าอย่างเอสโก รวมไปถึงการออกแบบนิทรรศการจากซีเอ็มโอ พัฒนาโรงไฟฟ้าขนอมหน่วยที่ 1 ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าเรือลอยน้ำแห่งแรกและแห่งเดียวในไทย ที่หมดสัญญาเดินเครื่องเชิงพาณิชย์กับทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ตั้งแต่ปี 2554 เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านกระบวนการผลิตพลังงานก่อนส่งต่อแสงสว่างให้กับคนทั่วประเทศ โดยเริ่มโครงการนี้เมื่อปี 2559 และเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ที่ผ่านมา

'ขนอมโมเดล' ศูนย์เรียนรู้ในโรงไฟฟ้า

สำหรับความเป็นมาของโรงไฟฟ้าขนอมย้อนหลังไปในช่วงเวลาที่ภาคใต้เกิดวิกฤติไฟฟ้าขาดแคลน ในเวลาอันจำกัดโรงไฟฟ้าเรือลอยน้ำสามารถสร้างเสร็จภายใน 2 ปี ซึ่งเร็วกว่าการสร้างโรงผลิตไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมในสมัยนั้นที่กินเวลาถึง 4 ปี ภาครัฐจึงนำเข้าโรงผลิตไฟฟ้าสำเร็จรูปบนเรือลอยมาไกลจากญี่ปุ่นในปี 2523 และสามารถเดินเครื่องได้ทันทีเมื่อมาถึง โรงไฟฟ้าแห่งนี้จึงมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของธุรกิจไฟฟ้าไทย

การถ่ายทอดเรื่องราวจากอดีตถึงปัจจุบันอย่างครอบคลุมทุกมิติ ถือเป็นโจทย์หลักของศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอม พินท์สุดา เปี่ยมปิติ ผู้จัดการส่วนกิจกรรมและสังคม เล่าว่า ทางเอ็กโกกับโรงไฟฟ้าขนอมต่างเห็นไปในทางเดียวกันว่า ที่นี่มีความสำคัญและมีคุณค่าทางจิตใจ ทั้งกับคนในที่เคยทำงานที่นี่และชุมชนที่อยู่ร่วมกันมากว่า 30 ปี ดังนั้นสิ่งที่ต้องรักษาไว้ก็คือคุณค่าของความเป็นโรงไฟฟ้าที่สร้างประโยชน์ให้เรามานาน แต่การที่เราจะสื่อสารออกไปสถานที่แห่งนี้จะต้องมีความน่าสนใจมากพอ เทคนิคในการนำเสนอต้องทันสมัย ในขณะเดียวกันจะต้องไม่ลดทอนประวัติศาสตร์

 

พินท์สุดา เปี่ยมปิติ ผู้จัดการส่วนกิจกรรมและสังคม

 

“จุดสำคัญก่อนที่จะทำอะไรก็แล้วแต่ เราก็ต้องดูว่าวันนี้ที่โรงไฟฟ้าขนอมหน่วย 1 เขาจะเปลี่ยนสภาพจากโรงงานไปเป็นอาคารสาธารณะอะไรบ้างที่จะต้องทำเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายและความปลอดภัยของผู้เยี่ยมชม ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ แม้กระทั่งผู้ที่ใช้วีลแชร์ก็เช่นกัน” พินท์สุดา เล่าถึงสิ่งที่ละเลยไม่ได้ในการออกแบบ

 

4

 

ชมการเดินทางของไฟฟ้า

 

ในที่สุดศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอมก็เสร็จสมบูรณ์พร้อมเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชม บนโครงสร้างของเรือลำใหญ่ ภายในแบ่งเป็นส่วนจัดแสดงนิทรรศการทั้งหมด 7 โซน โซนแรกใช้ชื่อว่า Energy for Life เรียนรู้กำเนิดพลังงานไฟฟ้า การค้นพบครั้งสำคัญที่เปลี่ยนโลกใบให้มีแสงสว่าง และสนุกไปกับฐานการทดลองวิทยาศาสตร์ เพื่อเรียนรู้ทฤษฎีการผลิตไฟฟ้าเบื้องต้น ก่อนจะตามรอยการเดินทางของไฟฟ้าที่ห้องภาพยนตร์ 

โซนที่ 2 ย้อนอดีตโรงไฟฟ้าขนอม หน่วยที่ 1 พากลับสู่บรรยากาศวันแรกที่โรงไฟฟ้าเรือลอยน้ำเดินทางมาถึงอำเภอขนอม ถัดไปเป็นห้องควบคุมการเดินไฟฟ้า สัมผัสประสบการณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่ในหนึ่งวันที่ไม่ธรรมดากับภารกิจกู้ไฟฟ้าในวัน ‘Black Out Day’ 

 

3

 

โซนที่ 3 เราผลิตไฟฟ้าได้อย่างไร ชวนตื่นตาตื่นใจไปกับการฟื้นคืนชีพของเครื่องผลิตไฟฟ้ากังหันไอน้ำ หัวใจสำคัญของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ด้วยเทคโนโลยีกราฟฟิกสุดล้ำกับสื่อมัลติมีเดียแบบอินเตอร์แอ็คทีฟ ฉายภาพแสง สี เสียง ที่ปลุกตัวเครื่องจักรให้มีชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง จากนั้นผู้เข้าชมสามารถขึ้นไปยังดาดฟ้าเรือเพื่อชมทัศนียภาพรอบโรงไฟฟ้าที่มองเห็นภูเขาและทะเลเป็นฉากหลัง 

 

ตัวเครื่องจักรที่เป็นหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนเชื้อเพลิงเป็นไฟฟ้า

 

ในโซนที่ 4 ป่า เขา ทะเล คือเสน่ห์ของขนอม นำเสนอเรื่องราวของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและชุมชนใกล้เคียงที่อยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน ก่อนจะลงไปบริเวณใต้ท้องเรือ พบกับโซนที่ 5 รักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นมากกว่าหน้าที่ เจ้าหน้าที่จะพาเรียนรู้กระบวนการจัดการสิ่งแวดล้อมของโรงไฟฟ้า ทั้งการตรวจวัดอุณหภูมิของน้ำก่อนปล่อยลงทะเลที่ความร้อนไม่เกิน 40 องศา วัดคุณภาพของอากาศโดยรอบทุกวัน พร้อมแสดงค่าแบบเรียลไทม์บนจอหน้าโรงไฟฟ้าทันที ติดตั้งอุปกรณ์ลดความดังของเสียง และการกำจัดของเสีย แยกขยะตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมีหน่วยงานภายนอกมารับไปกำจัดอย่างถูกวิธีต่อไป รวมไปถึงความสำคัญของการสร้างสมดุลพลังงาน เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชนิดต่างๆ เพื่อร่วมกันหาคำตอบว่า เพราะเหตุใดเราจึงจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าหลากหลายประเภท

และที่ขาดไปไม่ได้สำหรับการเรียนรู้ ณ ศูนย์แห่งนี้คือ การเดินทางไปยังชุมชนขนอม ซึ่งจัดเป็นโซนที่ 6 บ้านของเรา เรียนรู้วิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมชุมชน ผ่านคำบอกเล่าของตัวแทนชุมชนที่เพียงเปิดหน้าต่างบ้านหลังนั้นๆ บรรดาปราชญ์ชาวบ้านก็พร้อมใจกันเล่าเรื่องราวชวนอมยิ้มไปตามๆ กัน และชมหนังกลางแปลงที่ชวนหลับตาฟังเสียงสะท้อนแห่งความสุขของคนในชุมชนแห่งนี้  

ข้ามสะพานสู่อีกด้านของโรงไฟฟ้า

 

ก่อนจะปิดท้ายกันที่โซน 7 แหล่งเรียนรู้อำเภอขนอม ผลลัพธ์จากการร่วมมือกันของทุกภาคส่วนในการสำรวจและจัดทำข้อมูล เพื่อประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของเยาวชนและส่งเสริมการพัฒนาชุมชนขนอมอย่างยั่งยืน

ในส่วนของการอยู่ร่วมกันกับชุมชนนั้น สืบศักดิ์ ชูฤทธิ์ พูดในฐานะกรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตไฟฟ้าขนอม จำกัด ว่าในทุกๆ เดือนจะมีการประชุมจิบน้ำชายามเช้ากับผู้นำชุมชน สื่อสารกันเสมอว่าเรามีศูนย์การเรียนรู้ ต่อไปเราจะสร้างประโยชน์จากศูนย์นี้อย่างไร เพื่อที่จะให้ชุมชนได้รับประโยชน์นี้ด้วย

 

สืบศักดิ์ ชูฤทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตไฟฟ้าขนอม จำกัด

 

"ทางเรามีแผนการพัฒนาชุมชนโดยรอบ หลักๆ มี 4 อย่างด้วยกัน อย่างแรกสุขภาพของคนในชุมชน ดูแลสุขภาพเขาจัดให้มีการตรวจสุขภาพประจำปี และทำต่อเนื่องมาแล้ว 4 ปี ต่อมาดูแลให้เขาสร้างอาชีพ ทั้งด้านเกษตรที่เราให้ความรู้ รวมทั้งแปรรูปผลผลิตที่ล้นตลาด ตามด้วยการศึกษาของลูกหลานชาวขนอมที่เราให้ทุนเรียน เพื่อหวังว่าถ้าเขามีใจรักที่อยากจะกลับมาทำงานในบ้านเกิด ที่ศูนย์นี้เปิดโอกาสในเด็กขนอมได้แข่งขันกันเองก่อน และสุดท้ายเราอนุรักษ์ทรัพยากรโดยรอบให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ชุมชนต้องอยู่ได้บนพื้นฐานทั้งหมดนี้" สืบศักดิ์กล่าว พร้อมย้ำว่าโรงผลิตไฟฟ้าแห่งนี้ยังคงเป็นแสงสว่างที่จำเป็นให้กับคนในชุมชนมากกว่าที่จะเป็นเปลวไฟที่พร้อมจะเผาทำลายสิ่งรอบตัว

“การมาดูโรงไฟฟ้าไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดและไม่ได้มีมลพิษอย่างที่เข้าใจกัน” 

โรงไฟฟ้าขนอมจึงไม่เพียงเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้า แต่แนวคิดที่ว่าทำอย่างไรจะอยู่กับชุมชนได้บนความเข้าใจ และดูแลพวกเขาให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นสิ่งที่ทางโรงไฟฟ้าให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการส่งผ่านแสงสว่างสู่บ้านเรือน

2

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ