Lifestyle

#เจ็บแต่ไม่ยอม ชวนสังคมไทยหยุดมายาคติความรุนแรง สร้างพลังบวกหญิงไทยถูกกระทำ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 “สามี-ภรรยา เปรียบเหมือนลิ้นกับฟัน กระทบกระทั่งกันบ้างเป็นเรื่องธรรมดา”

“ความในอย่านำออก ความนอกอย่านำเข้า เรื่องในครอบครัวไม่ควรนำไปบอกคนอื่น เพราะจะเป็นการประจานครอบครัวตัวเอง”

หรือแม้แต่คำว่า “ผู้ชายเป็นหัวหน้าครอบครัว มีหน้าที่หาเลี้ยงครอบครัว”  “ผู้ชายเข้มแข็ง แข็งแรงกว่า และมีภาวะความเป็นผู้นำ”

ประโยคคุ้นหูเคยชินมากที่สุดเหล่านี้ล้วนสะท้อนมายาคติสังคมไทยที่ยังส่งเสริมให้ผู้หญิงเป็นฝ่ายต้องยอมจำนานและรับสภาพกับสถานการณ์ความรุนแรงหรือการถูกกระทำจากสังคมชายเป็นใหญ่

นี่คือสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น ถูกผลิตซ้ำ สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น โดยเฉพาะการปลูกฝังแบบแผนตีกรอบความเป็นผู้หญิง ความเป็นผู้ชายแบบตายตัว ผ่านกระบวนการ   บ่มเพาะหล่อหลอมจากสถาบันทางสังคม  ผลิตซ้ำทำให้ความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องปกติ     

25 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้เป็นวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล เหล่าภาคีรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรี ได้แก่ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)  จึงรวมพลังทั้งผู้ถูกกระทำความรุนแรงและภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์ในแคมเปญ #เจ็บแต่ไม่ยอม เนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยหวังจะช่วยจุดประกายและกระตุ้นเตือนสังคมไทยให้ตระหนักถึงปัญหาที่หยั่งรากฝังลึกในสังคมไทย

ซินดี้ สิรินยา บิชอพ ดารานางแบบชื่อดัง กล่าวว่า กิจกรรมรณรงค์ครั้งนี้อยากสะท้อนว่า เมื่อผู้หญิงต้องเผชิญกับสถานการณ์ความรุนแรง  ต้องหยุดโทษตัวเองหรือเลิกคิดว่ามันเป็นเพราะเราเองกับเรื่องที่เกิดขึ้น สิ่งสำคัญคือต้องเริ่มจากตัวเองสร้างพลังให้ตัวเอง แน่นอนว่าบางเรื่องอาจละเอียดอ่อนซับซ้อนเปราะบางในครอบครัว  แต่เราต้องสร้างทางเลือกอื่นให้กับตัวเอง โดยเฉพาะการมีข้อมูลในมือ ต้องค้นหาเสาะแสวง เพื่อที่จะมีความรู้ สร้างทางเลือกเพราะคนที่ไม่รู้ว่ามีทางเลือกอื่นอยู่ในมือจะเสียเปรียบ

"อยากให้หยุดมายาคติเรื่องโทษผู้หญิงด้วยกันเอง หยุดโทษตัวเอง เพราะสังคมไม่ควรมีสถานการณ์รุนแรงอะไรเกิดขึ้นและสังคมไม่ได้นิ่งนอนใจ ทุกคนคอยฟัง คอยช่วยสนับสนุน พร้อมเป็นพลังใจ

สำหรับแคมเปญ #เจ็บแต่ไม่ยอม เราอยากบอกว่าอย่าพยายามอยู่ในสถานการณ์เป็นเหยื่อหรือเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อ  เราควรแข็งแรงพอที่จะลุกขึ้นสู้ แน่นอนว่ามันเคยเจ็บ แต่เจ็บต้องไม่ยอม เราต้องสร้างพลังบวก เชื่อมั่นในตัวเองเชื่อในสิ่งที่กำลังทำอยู่  เห็นคุณค่าในตัวเอง  แต่เราต้องการลุกขึ้นก้าวผ่านมันไปให้ได้ ลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลง  แล้วมองหาตัวช่วย มีองค์กรหน่วยงานจำนวนมากที่พร้อมจะเข้ามายืนเคียงข้างเรา อย่างมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล รวมไปถึงกลไกของรัฐเช่น 1300" นางแบบสาว ระบุ

 

ความรุนแรงล้วนอยู่ใกล้ตัว

ด้านจรีย์ ศรีสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากการเก็บผลสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มผู้หญิง อายุตั้งแต่ 18 ปี ขึ้นไป จำนวน 1,655 ชุด พื้นที่ในกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 1-8 พฤศจิกายน 2561 พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ อายุ 31-40 ปี ร้อยละ 36.2     เคยเห็นเพื่อน/คนใกล้ชิดประสบปัญหา ร้อยละ 38.4  เคยเห็นคนใกล้ชิดโดนทำร้ายและเคยเจอมากับตัวเองด้วย ร้อยละ 10.4 ตลอดจนเคยประสบปัญหาด้วยตัวเอง ร้อยละ 7.8  

นอกจากนี้ยังเห็นการตอกย้ำสะท้อนความรุนแรงทางเพศ ผ่านสื่อละคร เช่น “ฉากละครตบ-จูบ เป็นเรื่องปกติ ทำให้ละครน่าสนใจ”   มีผู้เห็นด้วยถึงร้อยละ 44.7  “นางร้ายในละครถูกลงโทษด้วยความรุนแรงเป็นสิ่งที่สมควรแล้ว” ร้อยละ 39.0 “สื่อส่วนใหญ่มักนำเสนอภาพผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ” ร้อยละ 32.1 และ“ฉากพระเอกข่มขืนนางเอกเป็นเรื่องปกติ ยอมรับได้” ร้อยละ 25.3

“ถึงเวลาแล้วที่เราควรกลับมาทบทวน และช่วยกันรื้อถอนวิธีคิด วิธีการหล่อหลอมที่มีผลต่อการสืบทอดความคิดความเชื่อแบบชายเป็นใหญ่  ซึ่งเป็นรากเหง้าของทั้งปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาความรุนแรงทางเพศ และงานรณรงค์ในวันนี้หวังจะเป็นส่วนหนึ่งในการชวนกันกลับมาตั้งคำถามกับการหล่อหลอมดังกล่าว และหวังว่าจะส่งสัญญาณไปยังกระทรวงศึกษาธิการ ให้ถึงเวลาปรับหลักสูตรการเรียนการสอนที่ตอกย้ำการบ่มเพาะแบบเดิมๆ ให้เปลี่ยนใหม่เป็นการออกแบบหลักสูตรที่เน้นความเท่าเทียมทางเพศ ความเสมอภาคทางเพศ และการเคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกายของคนทุกเพศอย่างจริงจังเสียที” จรีย์ กล่าว 

สะท้อนเรื่องเล่าจาก “เหยื่อความรุนแรง”

หนึ่งในผู้ที่ต้องตกเป็นเหยื่อแห่งมายาคติและค่านิยมชายเป็นใหญ่ อย่าง เค (นามสมมติ) เล่าประสบการณ์ว่า ลูกสาวตน ในวัย 13 ขวบ ตกเป็นผู้ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศจากสามีของตน หรือพ่อแท้ๆของเด็กโดยมีสติครบถ้วน อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดเหตุลูกสาวไม่กล้าเล่าให้ฟังจนผ่านไปเกือบสองเดือนหลังเกิดเหตุ ลูกจึงตัดสินใจบอก ซึ่งช็อคมากกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่รู้จะทำอย่างไร สามีคนก่อเหตุก็ปฎิเสธและเข้าไปด่าทอลูกว่าบอกเรื่องนี้ทำไม  จนสุดท้ายเธอตั้งสติได้จึงปรึกษาเจ้านาย และได้ไปแจ้งความ ซึ่งตำรวจก็ไม่สนใจเพราะเขามองว่าเป็นเรื่องในครอบครัว  แต่เธอยืนยันเอาเรื่องถึงที่สุด โดยมีทางมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลเข้ามาช่วย  แต่สุดท้ายสามีก็หนีไป  

“ทุกวันนี้ต้องพาลูกไปพบจิตแพทย์เดือนละสองครั้ง ในตอนแรกรู้สึกหวาดกลัวว่าเขาจะกลับมา  แต่ตอนนี้ดีขึ้นเพราะได้ย้ายที่พักใหม่แล้ว  แต่คงต้องดูแลลูกมากเป็นพิเศษเพื่อเยียวยาหัวใจที่บอบช้ำของลูก  เราเองก็ต้องแข็งแกร่งขึ้น  เปรียบเหมือนคนที่จะจมน้ำ  ก็ต้องช่วยตัวเองก่อนในเบื้องต้น  ตั้งหลักให้ดีแล้วจึงค่อยๆมองหาขอนไม้หรือตัวช่วย เพื่อมายืนเคียงข้างเรา”

ด้านวี (นามสมมติ) ผู้ที่เผชิญเหตุการณ์ความรุนแรงทางเพศจากคนในครอบครัว โดยสามีของตนเอง ซึ่งอยู่กันมาได้ระยะหนึ่งก็บังคับให้เธอไปขายบริการทางเพศตอนกลางคืน  โดยวิธีการปล่อยทิ้งไว้ที่ป้ายรถเมล์หรือที่เปลี่ยวตอนกลางคืน  หรือบังคับไปโรงแรมเพื่อรับแขก  ในช่วงแรกของการแต่งงานก็ไม่พบว่าผู้ชายมีความผิดปกติอะไร  แต่เมื่อย้ายที่ทำงานมาในจังหวัดทางชายฝั่งตะวันออก พฤติกรรมสามีก็เปลี่ยนไป ดื่มเหล้า พูดจาลามก หรือบังคับให้ตนดูรูปคลิปโป๊  และบังคับให้ไปเร่ขายบริการทางเพศ โดยขู่ว่าถ้าไม่ทำจะไม่ได้พบหน้าลูกอีก  จนสุดท้ายตนก็ทนไม่ได้  จึงหาทางออกด้วยการหาข้อมูลในโซเชียล   จนมาพบหน่วยงานช่วยเหลือคือมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ก็เลยเขียนจดหมายมาเล่าเรื่องของตนจนมีเจ้าหน้าที่โทรมาหา และให้ความช่วยเหลือดูแล  จนกระทั่งหลุดจากบ่วงตรงนั้นมาได้  และตอนนี้ผู้ชายก็ถูกดำเนินคดีแล้ว  อยู่ในคุกโดนโทษ 7 ปี  จึงอยากฝากไปถึงผู้ที่กำลังถูกทำร้ายทุกคนให้ตั้งสติ  หนักแน่น  อย่ายอมให้ถูกกระทำ หรืออดทนเพราะคิดว่าเดี๋ยวก็จะดีขึ้นเอง  หรือกลัวเสียงติฉินนินทา  เพราะมันจะยิ่งเลวร้าย  แน่นอนเราเจ็บ แต่เราจะไม่ยอมอีกต่อไป”

เหล้า ตัวการสำคัญ ภัยในบ้าน  

เสริมด้วยความเห็นอีกมุมจาก รุ่งอรุณ  ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก (สำนัก 1) สสส. กล่าวว่า จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า ในปี 2560 คนไทยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร้อยละ 28.4 ส่วนใหญ่เป็นเพศชายดื่มสูงกว่าเพศหญิงถึง 4 เท่า ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายที่สิ้นเปลืองของครัวเรือน โดย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า ปี 2560 คนไทยมีค่าใช้จ่ายในการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูงถึง 142,230 ล้านบาท และการดื่มยังเป็นต้นเหตุสำคัญของอุบัติเหตุ และปัญหาสุขภาพ และยังเป็นปัจจัยร่วมสำคัญถึงหนึ่งในสามของผู้ก่อเหตุ ซึ่งถือเป็นภัยสังคมที่น่ากลัวไม่น้อยไปกว่าผลกระทบทางสุขภาพและอุบัติเหตุ ดังนั้น หากเริ่มตระหนักถึงปัญหา และค่อยๆลดละ เลิกพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลง ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเข้มงวด รวมทั้งการเฝ้าระวังในระดับชุมชน ก็จะช่วยลดความเสี่ยงลงได้เช่นกัน 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ