ภูมิภาค

เด็กกับชีวิตบนถนน ความเสี่ยงภัย ที่(ไม่) จำเป็นต้องเจอ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เมื่อชีวิตคนไทยวันนี้ใช้เวลาอยู่บนท้องถนนมากขึ้น ย่อมทำให้โอกาสและความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ขยับสถิติสูงขึ้นตามจำนวนรถที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและอันตรายยิ่งขึ้นไม่เว้นแม้แต่กลุ่มเด็กและเยาวชนที่ปัจจุบันหลายข้อมูลล้วนยืนยันชี้ชัดว่า พวกเขากำลังเป็นเหยื่อกลุ่มสำคัญ

มอไซค์คร่าชีวิตวัยโจ๋อันดับ 1

ผลจากสถิติสะท้อนว่าอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของเด็กไทย โดยข้อมูลจากใบมรณบัตรยังแสดงให้เห็นว่า ในแต่ละปีมีเด็กและเยาวชนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเฉลี่ย 2,510 ราย โดยกว่าร้อยละ 80 เกิดจากอุบัติเหตุทางรถจักรยานยนต์ ตัวเลขดังกล่าวเทียบเท่ากับนักเรียนในโรงเรียนขนาดใหญ่ 1 โรงเรียนหายไปในแต่ละปี

โดยเยาวชนวัย 15-19 ปี เป็นกลุ่มที่เสียชีวิตสูงสุด เฉลี่ยถึงปีละ 1,688 ราย มาจากการขับขี่เพื่อเดินทางไปโรงเรียนหรือในชีวิตประจำวัน พฤติกรรมเสี่ยงที่พบคือ ขับเร็ว ย้อนศร ไม่สวมหมวกนิรภัย และส่วนใหญ่ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ ส่วนอายุน้อยกว่า 15 ปี เสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 822 ราย ที่น่าตกใจคือเด็กอายุน้อยที่สุด เริ่มขับขี่จักรยานยนต์ตั้งแต่ 7 ขวบ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขทั้งหมดนี้ยังคาดว่าจะสูงขึ้นอีกร้อยละ 20-30 หากรวมกับฐานข้อมูลประกันภัยและตำรวจ

นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์  ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวในเสวนาในหัวข้อ “มอไซค์วัยละอ่อน...ของขวัญหรือมัจจุราช” ที่จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) และเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตว่าปัญหาดังกล่าวเกิดจากค่านิยมที่ผิดๆ ในสังคม เพราะในมิติทางสังคมพ่อแม่ยังขาดอำนาจในการต่อรองกับลูก เห็นได้จากพ่อแม่ไม่กล้าขัดใจเมื่อถูกลูกร้องขอให้ซื้อรถจักรยานยนต์เป็นของขวัญวันเกิดหรือเป็นของรางวัลเมื่อลูกสอบได้คะแนนดี ขณะที่กลยุทธ์ด้านโฆษณาส่งเสริมการขาย ของบรรดาค่ายรถจักรยานยนต์ยิ่งส่งเสริมให้การซื้อจักรยานยนต์หนึ่งคันให้กลายเป็นเรื่องที่ง่ายขายคล่อง พอๆ กับการหันมาผลิตรถที่มีกำลังแรงมากขึ้น

ศวปถ.และ สสส. จึงได้ร่วมกันสนับสนุนการจัดการความรู้และวิจัย ประเด็นจักรยานยนต์กับความปลอดภัยทางถนน รวมถึงการพัฒนาระบบข้อมูลภาพรวมและพื้นที่ตัวอย่าง มุ่งลดจำนวนเด็กและเยาวชนที่บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ในพื้นที่ปฏิบัติการ ด้วยโมเดลการจัดการพฤติกรรมเสี่ยงและกายภาพ

“หากมีระบบขนส่งสาธารณะเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระก็จะช่วยตัดวงจรการขี่รถมอเตอร์ไซด์ได้”

โดยตัวอย่างของผู้ได้รับผลกระทบตัวจริงเสียงจริงกลีบจันทร์  สินสมุทร แม่ผู้สูญเสียลูกชายคนเล็กวัย 14 ปี หลังซื้อมอเตอร์ไซค์ให้เป็นของขวัญได้เพียง 7 วัน เล่าว่า ลูกชายรบเร้าให้ซื้อรถมือสองให้ โดยแลกเปลี่ยนกับการไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ในวันที่เกิดเหตุลูกชายได้ออกไปลองรถกับเพื่อนๆ บนถนนสี่เลนส์ และด้วยทัศนวิสัยไม่ดี รถของน้องชนเข้ากับท้ายรถพ่วง ศีรษะกระแทกรถพ่วงอย่างรุนแรงจนเสียชีวิต ตนจึงอยากบอกคนที่เป็นพ่อแม่ว่า การซื้อรถจักรยานยนต์ให้ลูกวัยเด็กเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม อยากให้ดูความสูญเสียของตนเป็นอุทาหรณ์  และขอฝากไปยังผู้ขับขี่คนอื่นๆ ว่าควรสวมหมวกนิรภัยทุกครั้ง แม้ระยะทางแค่ใกล้ๆก็ตาม ซึ่งในวันนั้นตำรวจบอกกับแม่ว่า หากน้องสวมใส่หมวกกันน็อค อาจจะไม่ถึงขั้นเสียชีวิต

ปัณณวิชญ์  คงศิลป แกนนำเครือข่าย 2 ล้อ สีน้ำเงิน และสมาชิกบลูโซนไรเดอร์ กล่าวว่า อันตรายของบิ๊กไบค์อยู่ที่การขาดทักษะ ขาดการฝึกอบรม ขาดความระมัดระวัง โดยปกติแล้วคนขับบิ๊กไบค์มักอยู่ในวัยทำงาน มีวุฒิภาวะเพียงพอในการขับขี่และตัดสินใจ และการเดินทางทุกครั้งจะต้องมีระบบเซฟตี้ที่เพียงพอ มีกฎกติกาชัดเจนที่ต้องปฏิบัติร่วมกันโดยเคร่งครัด แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้คือมีเด็กและเยาวชนที่ยังไม่มีใบอนุญาตขับขี่ นำบิ๊กไบค์ออกมาวิ่งบนท้องถนน ตนจึงขอเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เพื่อลดการสูญเสีย ขณะเดียวกันผู้ปกครองควรรักลูกอย่างมีเหตุผล เพราะการซื้อรถจักรยานยนต์ให้เปรียบเสมือนการยื่นความเสี่ยงให้กับลูกไปแล้วครึ่งหนึ่ง 

รถสาธารณะก็เสี่ยงไม่แพ้กัน

ขณะที่ในด้านระบบขนส่งสาธารณะก็ไม่น้อยหน้ากัน เพราะสถานการณ์ผู้บริโภคและรายงานรับเรื่องร้องเรียนประจำปี 2560 โดยเครือข่ายผู้บริโภค 7 ภาค และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยังพบปัญหาการบริการสาธารณะได้รับการร้องเรียนสูงเป็นอันดับ 5 

นิกร จำนง ประธานมูลนิธิประชาปลอดภัย กล่าวในงานเวทีสมัชชาบทบาทองค์กรผู้บริโภคกับรถโดยสารสาธารณะปลอดภัยว่า อัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยเฉลี่ย 60 รายต่อวัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูง ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องร่วมมือลดอัตราการเสียชีวิตอย่างจริงจัง โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่กำลังจะเติบโตเป็นอนาคตของชาติ โดยขอเสนอให้กวดขันรถโรงเรียนและรถรับส่งนักเรียนเป็นไปตามกฎหมาย การปรับปรุงข้อกำหนดเกี่ยวกับตัวรถโรงเรียนและรถรับส่งนักเรียน ตาม พ.ร.บ. การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 พร้อมสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างสถานศึกษาและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ด้าน รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวเสริมว่าทางมูลนิธิผู้บริโภคนั้นได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับบริการรถสาธารณะทั้งสิ้น 424 เรื่อง จากทั้งหมด 3,615 เรื่อง โดยรถตู้โดยสารสาธารณะมากที่สุด 116 เรื่อง รองลงมาคือ รถสองแถว 73 เรื่อง รถรับส่งนักเรียน 42 เรื่อง และรถทัวร์โดยสาร 35 เรื่อง

“สสส. และภาคีเครือข่ายที่ได้ให้ความสำคัญและได้เข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาความปลอดภัยทางถนนมาตลอดกว่า 10 ปี  โดยเฉพาะปัญหารถโดยสารสาธารณะที่เกิดอุบัติเหตุและสร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินมหาศาล  และเมื่อเกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้ง จะพบผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมากซึ่งถือเป็นอุบัติเหตุขนาดใหญ่”

รุ่งอรุณกล่าวต่อว่ากลไกสำคัญในการแก้ปัญหานอกจากการพัฒนากฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ การพัฒนามาตรฐานและการให้บริการรถโดยสารที่ช่วยลดอุบัติเหตุลงได้แล้ว การพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายภาคประชาชนในการเฝ้าระวัง และเยียวยากรณีเกิดความเสียหาย รับเรื่องร้องเรียน คดีฟ้องร้องต่างๆ ถือว่ามีบทบาทช่วยสร้างความเป็นธรรมกับผู้บริโภคและประชาชนได้มาก

เสริมโดย คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ประสานงานโครงการรถโดยสารปลอดภัย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าวถึงมติจากเวทีสมัชชาบทบาทองค์กรผู้บริโภคกับรถโดยสารสาธารณะปลอดภัยว่า ทุกภาคส่วนมีข้อเสนอให้กำหนดประเด็นรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยเข้าสู่วาระหรือนโยบาย ตั้งแต่ระดับโรงเรียน ท้องถิ่น จังหวัด และประเทศ โดยเสนอให้มีหน่วยงานเจ้าภาพหลักบริหารจัดการรถโรงเรียน ทำให้รถทุกคันเข้าสู่ระบบ มีกระบวนการติดตามคุณภาพอย่างสม่ำเสมอ ขณะเดียวกันได้เสนอแนะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) บูรณาการทำงานร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ และกรมการขนส่งทางบก ส่วนการพัฒนาในระดับบุคคลนั้น เสนอให้มีการสนับสนุนให้มีการสร้างจิตสำนึกด้วยการพัฒนาศักยภาพ ครู นักเรียน ผู้ปกครอง ให้มีความรู้ความเข้าใจในการใช้อุปกรณ์นิรภัยและเรียนรู้การแก้ไขสถานการณ์ความเสี่ยงจากอุบัติเหตุทางถนนและรถโดยสารสาธารณะ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ