ภูมิภาค

ชวนลูกปิดเทอมสร้างสรรค์ ร่วมกันดึงเด็กไทยห่างไกลหน้าจอ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ย้อนไปเมื่อหลายปีก่อน ถ้าคุณถาม “นัท” หรือ ณัฐพล ถนอมจันทร์ว่ากิจวัตรประจำ ในช่วงปิดเทอมของเขาคืออะไรเวลานั้น ภาพที่ตัวเขาและคนในชุมชนคลองเตยนึกออกคงเป็นภาพของเด็กผู้ชายวัย 8 ขวบที่มักใช้เวลาวันละไม่น้อยกว่า 9 ชั่วโมง อยู่กลุ่มเพื่อนๆ วัยเดียวกันในร้านเกมส์เป็นวันๆ

แต่วันนี้ ภาพชินตาดังกล่าวได้กลายเป็น “อดีต” เสียแล้ว เพราะปัจจุบัน นัทตัดสินใจหันหลังให้กับเกมส์บนจอตู้สี่เหลี่ยม มาทุ่มเทเวลาว่างที่มีให้กับการเป็นมือกีตาร์ฝีมือดีประจำวงในโครงการ Music Sharing  โครงการที่พัฒนาเยาวชนด้วยกิจกรรมสร้างสรรค์ผ่านดนตรีและศิลปะ

“ตอนนั้นเริ่มรู้สึกเบื่อเกมส์แล้ว พอดีเพื่อนชวนให้มาเข้าร่วมกิจกรรม ผมจึงอยากลอง ก็เป็นจุดเริ่มที่ทำให้เราได้ฝึกเล่นดนตรีและทำกิจกรรมเสริมทักษะอีกมากมาย จนทุกวันนี้ผมสามารถเป็นนักดนตรีประจำวง” นัทในวัย 15 ปีบอกเล่า

นัทคือตัวอย่างของเยาวชนที่แม้ชีวิตจะมีข้อจำกัด และมีโอกาสน้อยกว่าเด็กๆ กลุ่มอื่นๆ ในเมืองหลวง แต่ก็สามารถเลือกใช้เวลาว่างในช่วงปิดเทอมอย่างสร้างสรรค์ ที่สำคัญ กิจกรรมดังกล่าวในอนาคตอาจกลายเป็นใบเบิกทางสู่อนาคตที่ดีกว่าในวันข้างหน้าก็เป็นได้

ไม่เพียงแต่ได้ลงมือทำกิจกรรมที่เปลี่ยนชีวิต หากแต่การได้มีโอกาสทำสิ่งที่ชอบ ยังเป็นจุดเริ่มของการปลูกเมล็ดพันธุ์ทางความคิดและโลกทัศน์ใบใหม่ให้กับตัวเขาวันนี้นัทยอมรับว่าชีวิตมี “เป้าหมาย” และมี “ความหมาย” มากขึ้น  เพราะสังคมใหม่ๆ ซึ่งเขาบอกว่าเสมือน “บ้าน” หลังที่สองนี้ มีครอบครัวใหญ่ที่อบอุ่นและเห็นคุณค่าในตัวเขา

แต่ความฝันวันนี้ของเขา คืออยากจะฝึกดนตรีให้เก่ง แล้วนำความรู้ความสามารถไปถ่ายทอดให้กับเด็กๆ ด้อยโอกาสทั่วประเทศ

“ตั้งแต่เข้าร่วมกิจกรรม ก็คิดว่าทำให้เราโตขึ้นระดับหนึ่งจากเดิมเป็นเด็กติดเกมส์ไม่เคยคิดอะไร วันนี้มันมีอะไรให้เราทำแน่นอน”

แต่ขณะที่นัทเป็นเยาวชนตัวอย่างที่ใช้เวลาในช่วงปิดเทอมกับกิจกรรมสร้างสรรค์เชื่อหรือไม่ เรายังคงมีเด็กไทยอีกมากกว่าร้อยละ 70 ที่ยังใช้เวลาว่างโดยปราศจากความสร้างสรรค์

ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนจากผลสำรวจ “ปิดเทอมนี้เด็กเยาวชนอยากทำอะไร” ในเดือนมีนาคม 2561 โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน ที่ทำการสำรวจความคิดเห็นเด็กและเยาวชนไทยจำนวน 1,760 ตัวอย่าง พบว่า กิจกรรมที่เด็กเยาวชนตั้งใจจะทำในช่วงปิดเทอม 3 อันดับแรก คือ เล่นมือถือ อินเตอร์เน็ตร้อยละ71 ตามด้วยการไปเที่ยวต่างจังหวัด ร้อยละ53 และหางานพิเศษทำร้อยละ 46 ซึ่งแน่นอนว่าในชุมชนคลองเตยย่อมไม่พ้นปัญหาเดียวกันนี้

“เด็กในชุมชนคลองเตยส่วนใหญ่เป็นเด็กที่มีโอกาสเสี่ยง เป็นเด็กที่สังคมหมดหวัง เพราะเขาอยู่ในพื้นที่เสี่ยง จากข้อมูลพบว่าเด็กคลองเตยส่วนใหญ่มีการศึกษาสูงสุดคือระดับ ม.3 ซึ่งไม่ใช่ว่าไม่มีโรงเรียนระดับมัธยมปลาย แต่เขารู้สึกว่าเขาไม่มีเป้าหมายหรืออยากจะเรียนไปเพื่ออะไร” ภรณี ภู่ประเสริฐผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรเฉพาะกลุ่ม สสส.ให้ข้อมูลเป็นภาพกว้างๆ

ซึ่งจากการที่ปัจจุบันประชากรคลองเตยวันนี้ขยายตัวถึงแสนกว่าคน ก็เกิดจากปัจจัยเด็กมีพฤติกรรมท้องก่อนวัยอันควรและปัญหาสังคมที่กลายเป็นวงจรที่เกิดขึ้นซ้ำๆ

ศิริพร พรมวงศ์ ผู้ประสานงาน โครงการ Music Sharing ช่วยเสริมว่าด้วยชีวิตที่ยากไร้และความลำบาก ทำให้เด็กในชุมชนส่วนใหญ่จะมีวิถีชีวิตต้องสู้ และเป็นเด็กโตเร็ว โดยอายุเพียง 11-12 ก็มีพฤติกรรมหารายได้แล้ว

“อย่างช่วงปิดเทอม ถ้าเขาอยากมีรายได้ หาเงินไปกินขนม เลี้ยงเพื่อน ซื้อของขวัญ หรือเอาเงินไปเล่นเกมส์ ก็จะไปรับจ้างหารายได้พิเศษ ไม่ก็เก็บเศษกระดาษหรือกล่องลังไปขายเด็กที่มีเป้าหมายเรียนมหาวิทยาลัยที่นี่จะน้อยมาก ที่สำคัญเด็กหลายคนไม่รู้จักมหาวิทยาลัย เขาไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเรียน มองแค่ว่าจบ ม.3 ก็ขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างหรือทำงานเป็นพนักงานห้างสรรพสินค้า แต่เราพยายามให้เขาค้นหาตัวเอง”

ศิริพรเอ่ยต่อว่า แม้เด็กในชุมชนจะดูขาดแคลน แต่สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับพวกเขาหาใช่ตัวเงินไม่ กลับเป็นความรู้สึกที่ว่าพวกเขามีคุณค่าและยอมรับการมีตัวตนในสังคม ตลอดจนแรงบันดาลใจที่อยากมีชีวิตที่ดีขึ้น

จากความหวังที่จะเปิดโลกทัศน์ใหม่ของการเรียนรู้และพัฒนาทักษะชีวิตให้กับเด็กๆ ในชุมชน ศิริพรและทีมงาน ภายใต้โครงการ Music Sharing ยังร่วมกันผลักดันโครงการดังกล่าวโดยมีเป้าหมายจะสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านทัศนคติเด็กคลองเตยผ่านการใช้เวลาว่างทำกิจกรรมเป็นประโยชน์มากขึ้น

“เราใช้ดนตรีและศิลปะเป็นเครื่องมือในกระบวนการพัฒนา เราใช้วิธีการเดินทาง วิธีการเรียนรู้ และผลักดันพัฒนาแกนนำเด็กในชุมชนให้มาทำงานให้ชุมชน เพื่อคอยจัดการเรื่องกระบวนการในชุมชนตอนนี้เราบ่มเพาะจนเขาสามารถเป็นคนทำงานในชุมชน เด็กหลายคนที่เป็นรุ่นพี่สามารถเป็นครูสอนน้องได้แล้ว ซึ่งช่วงปิดเทอมเราก็ให้เขาเข้ามาสอนเด็กเล็กในชุมชน” เธอเล่าถึงการทำงานของตัวเอง

ศิริพรเล่าต่อว่าโดยปกติพ่อแม่ผู้ปกครองอยากให้มา เพราะเขารู้ว่าถ้ามาลูกเขามีโอกาสที่จะมีอนาคตดีกว่า

“เราไม่ได้บอกว่าให้เขาเรียนมหาวิทยาลัย แต่เรากระตุ้นให้เขาคิดว่าเขาชอบอะไร อยากทำอะไร หรืออยากเป็นแบบไหน อย่างบางคนที่มาร่วมกระบวนการกับเรา เขาพบว่าเขาชอบดนตรีมากและเขามีความสามารถด้านนี้ เขาก็บอกว่าเขาจะมุ่งเรียนดนตรี และเรียน กศน. ควบคู่ ซึ่งเราก็พยายามนำเสนอให้เขาเห็นว่ามหาวิทยาลัยอาจเป็นอีกทางเลือกที่ทำให้โลกเขาเปิดกว้างขึ้น”

แต่วันนี้สิ่งที่เห็นได้ชัดสุด คือ “พฤติกรรม” ที่เปลี่ยนแปลงไปทันที จากเดิมที่เด็กๆ มักใช้ความรุนแรงและก้าวร้าว วันนี้พวกเขาถูกขัดเกลาด้วยดนตรีหลายคนกลายเป็นแกนนำเป็นอาสาสมัครหลักในการดำเนินโครงการต่อในพื้นที่ถึง 20 ชีวิต

“เราสร้างภูมิคุ้มกันให้เขาเข้มแข็งมีความแข็งแรงมากขึ้น และสร้างแรงบันดาลใจให้เขาอยากมีชีวิตที่ดีกว่า ดูได้จากเมื่อก่อนร้านเกมส์อยู่ตรงข้ามโรงเรียนเรา เวลาเด็กจะแวะมาเข้าเรียนกับเรา เขาต้องแวะร้านเกมส์ก่อน แต่เดี๋ยวนี้เขาตรงมาที่เราเลย” ศิริพรเอ่ย

ด้าน ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส.ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในต่างประเทศ มีหลายประเทศเป็นตัวอย่างที่ดีการใช้เวลาว่างให้มีประโยชน์และคุ้มค่า เพราะมีการส่งเสริมเรื่องนี้จนเป็นเรื่องปกติ

“เราจะเห็นว่ามีนักศึกษาเยาวชนในต่างประเทศที่จะใช้เวลาช่วงปิดเทอมในการฝึกงาน ทำงานพิเศษ หรือไม่ก็เรียนรู้เดินทางท่องเที่ยวทั่วโลก  แต่วันนี้ร้อยละ 71 ของเด็กและเยาวชนไทยกว่า13 ล้านคนยังติดหน้าจอมือถือและอินเตอร์เน็ต”

โอกาสนี้ สสส.และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน จึงร่วมกันจัดกิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์ ประจำปี 2561 ขึ้น ซึ่งทำให้ในช่วงปิดเทอมนี้มีกิจกรรมและพื้นที่สร้างสรรค์ที่กระจายทุกภูมิภาคถึง 450 กิจกรรม ที่เด็กไทยทั่วประเทศสามารถเลือกกิจกรรมที่ชอบได้ จากกิจกรรมสร้างสรรค์ 200 กิจกรรม และแหล่งเรียนรู้ถึง 250 แห่ง นอกจากนี้ยังเปิดรับตำแหน่งงานพิเศษ 3,000 ตำแหน่ง

“ทั้งหมดนี้เรารวบรวมอยู่ในเว็บไซต์ปิดเทอมสร้างสรรค์ดอทคอม เพื่อเป็นช่องทางให้เด็ก เยาวชน และผู้ปกครอง ได้เข้าถึงกิจกรรมและพื้นที่สร้างสรรค์ที่สนใจได้ง่ายขึ้นซึ่งทั้งเด็ก เยาวชนและผู้ปกครองที่สนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดกิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์ได้ที่ www.ปิดเทอมสร้างสรรค์.com หรือ Facebook: Happy Schoolbreak” ดร.สุปรีดากล่าว

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ