ข่าว

กระทรวงการต่างประเทศกับการแก้ไขปัญหาการลักพาตัวคนไทยโดยเกาหลีเหนือ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

...

เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศได้เข้าไปมีส่วนร่วมในงานเสวนา เกี่ยวกับปัญหาลักพาตัวชาวต่างชาติโดยเกาหลีเหนือ ซึ่งจัดโดยคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และโดยที่เดือนนี้เป็นการครบรอบ 11 ปี ที่สังคมไทยได้ยินเรื่องของคุณอโนชา ปันจ้อย หญิงไทยที่ถูกลักพาตัวไปยังเกาหลีเหนือด้วย กระทรวงการต่างประเทศจึงขอใช้โอกาสมาเล่าถึงที่มาที่ไป และมุมมองของไทยในเรื่องนี้ 

ว่ากันว่า ในช่วงทศวรรษที่ 1970 - 1980 (ราว ๆ ปี พ.ศ. 2510 ต้น ๆ ไปจนถึง 2520 กว่า ๆ) หน่วยงานของเกาหลีเหนือได้ลักพาตัวชาวต่างชาติจากประเทศต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในการฝึกหัดด้านภาษาและวัฒนธรรมแก่สายลับเกาหลีเหนือ จากข้อมูลของคุณชาร์ล เจนกินส์ อดีตทหารอเมริกันหนีทัพเข้าไปอยู่ในเกาหลีเหนือ และได้รับการ “ปล่อยตัว” ออกมาในปี 2547 ระบุว่ารู้จักกับคุณอโนชาซึ่งเป็นหญิงไทยที่ถูกลักพาตัวไปจากมาเก๊าโดยสายลับเกาหลีเหนือเมื่อปี 2521 และถูกบังคับให้แต่งงานกับทหารอเมริกันที่หนีทหารเข้าไปในเกาหลีเหนืออีกนายหนึ่ง ทั้งนี้ จนถึงปัจจุบัน หลักฐานชิ้นเดียวที่สามารถยืนยันเรื่องนี้ยังคงเป็นภาพของคุณอโนชาในรูปถ่ายของคุณเจนกินส์ ซึ่งถ่ายในเกาหลีเหนือ เมื่อปี 2527 นี่คือเรื่องราวโดยย่อของการ “ลักพาตัว” คุณอโนชา

หลังจากข่าวของคุณอโนชาได้รับเผยแพร่เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2548 รัฐบาลไทยโดยกระทรวงการต่างประเทศ ได้พยายามหาทางที่จะนำไปสู่การหาคำตอบในเรื่องนี้ ตั้งแต่ช่องทางการทูตขอความร่วมมือเกาหลีเหนือให้ช่วยติดตามเบาะแสของคุณอโนชา ซึ่งก็ไม่ได้รับการตอบรับมากนัก นอกจากที่เกาหลีเหนือตกลงจะตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อค้นหาความจริง ในขณะเดียวกันก็พยายามหาเบาะแส จากบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และตรวจพิสูจน์รูปถ่ายเพื่อให้หลักฐานที่มีอยู่มีน้ำหนักมากที่สุด

แต่จนถึงวันนี้ ความพยายามของไทยยังไม่ส่งผลตามที่คาดหวังไว้ แม้ว่าไทยจะติดตามกับเกาหลีเหนือทุกครั้ง            ที่โอกาสอำนวย เกาหลีเหนือยังคงปฏิเสธไม่รับรู้ คณะทำงานร่วมที่เคยตกลงกันไว้ตั้งแต่ปี 2549 ก็ยังไม่เกิดขึ้น และยังไม่พบเบาะแสที่น่าเชื่อถือเพิ่มเติมเกี่ยวกับชะตากรรมของคุณอโนชา แต่ตลอด 11 ปีที่ผ่านมาสิ่งที่สรุปได้จากการรวบรวมเอกสาร การสัมภาษณ์ ตลอดจนผู้ที่เคยพบคุณอโนชาในเกาหลีเหนือ คือ คุณอโนชาไม่ใช่บุคคลสูญหาย แต่ถูกลักพาตัวโดยกลุ่ม หน่วยงาน หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งไปยังเกาหลีเหนือ

ไทยกับเกาหลีเหนือก็ถือว่ามีความสัมพันธ์ทางการทูตกันมาตั้งแต่ปี 2518 ที่ผ่านมาไทยก็ช่วยสนับสนุนเกาหลีเหนือในด้านการพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนรวมทั้งด้านมนุษยธรรม แต่คงต้องยอมรับว่า เกาหลีเหนือก็คือเกาหลีเหนือ คือมี “ลักษณะเฉพาะ” ที่เป็นอุปสรรคต่อการคลี่คลายเรื่องนี้ ซึ่งได้แก่

ประการแรก เกาหลีเหนือเป็นสังคมแบบปิด ภายในไม่เห็นข้างนอก ภายนอกไม่เห็นข้างใน ทำให้การสืบหาเบาะแสของผู้ถูกลักพาตัวชาวต่างชาติแทบจะเป็นไปไม่ได้หากไม่ได้รับความร่วมมือจากทางการเกาหลีเหนือ

ประการที่สอง การใช้นโยบายด้านความมั่นคงนำนโยบายด้านการทูต คำตอบปฏิเสธครั้งแล้วครั้งเล่าจาก   นักการทูตเกาหลีเหนือทุกระดับ อาจเป็นเพราะว่าการลักพาตัวชาวต่างชาติเป็นประเด็นด้านความมั่นคง         ซ้ำยังอาจเป็นเรื่องละเอียดอ่อนทางการเมืองภายในและเกี่ยวพันถึงบุคคลหรือองค์กรอื่นที่ทรงอิทธิพลในโครงสร้างการปกครองจนกระทรวงการต่างประเทศเกาหลีเหนือไม่กล้าที่จะเข้าไปก้าวก่าย

เมื่อปี 2545 ญี่ปุ่นสมัยนายกรัฐมนตรี จุนอิชิโร โคอิซุมิ เคยสามารถเจรจาให้เกาหลีเหนือยอมปล่อยผู้ถูกลักพาตัวชาวญี่ปุ่นได้ 5 คน (จากที่ทางการญี่ปุ่นระบุชื่อบุคคลได้ 17 คน และที่เป็นการสันนิษฐานอีกกว่า 800 คน) ความสำเร็จดังกล่าวต้องอาศัยหลายเงื่อนไขรวมกัน คือ ญี่ปุ่นสามารถหาหลักฐานระบุถึงการถูกลักพาตัว                  ชาวญี่ปุ่นได้ชัดเจน เจตจำนงระดับผู้นำซึ่งนำไปสู่การกล่าวยอมรับของ นายคิม จอง-อิล ผู้นำเกาหลีเหนือ                   ในการประชุมสุดยอด ญี่ปุ่น - เกาหลีเหนือเมื่อเดือนกันยายน 2545 ที่กรุงเปียงยาง นอกจากนี้ บรรยากาศ            การเผชิญหน้าบนคาบสมุทรเกาหลีตอนนั้นก็ไม่รุนแรงนัก ทำให้ญี่ปุ่นสามารถเสนอความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นสิ่งที่เกาหลีเหนือต้องการได้ อย่างไรก็ดี หลังจากนั้นญี่ปุ่นก็ยังไม่สามารถเจรจาเพื่อช่วยชาวญี่ปุ่นส่วนที่เหลือออกมาได้อีกเนื่องจากเกาหลีเหนือไม่ยอมระงับโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

การแก้ไขปัญหาการลักพาตัวโดยเกาหลีเหนือจึงต้องอาศัย “เหตุปัจจัยและจังหวะ” ทั้งความชัดเจนของหลักฐานและเบาะแส การมีปฏิสัมพันธ์ทางการทูตต่อกันเพื่อเป็นช่องทางแสดงท่าทีว่าไทยไม่ลดละที่จะติดตามเรื่องนี้      ที่เวทีระหว่างประเทศที่ไทยมีส่วนร่วมสนับสนุนการแก้ไขความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลีเพื่อสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการพูดคุยกับเกาหลีเหนือ ท้ายสุดและสำคัญสุดคือ ความพร้อมของเกาหลีเหนือที่จะยอมเจรจากับประเทศต่าง ๆ เพื่อแก้ไขประเด็นปัญหาละเอียดอ่อนอย่างการลักพาตัวและปัญหาสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง

บนเวทีที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศได้ย้ำว่า “เมื่อคนของเราหาย เราก็ต้อง           ตามหา” แม้การติดตามกรณีของคุณอโนชากับเกาหลีเหนือตลอด 11 ปีที่ผ่านมาจะเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย แต่กระทรวงการต่างประเทศซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาผลประโยชน์ของคนไทยในต่างประเทศก็จะคงใช้ช่องทางต่าง ๆ ที่จะนำไปสู่ความคืบหน้าในกรณีนี้ในโอกาสและจังหวะที่เหมาะสมต่อไป 

ที่มา : หนังสือ The Reluctant Communist... โดย Charles Robert Jenkins

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ