Lifestyle

ปลายอุโมงค์ของ ‘คุณแม่วัยใส’

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ปัญหาในชีวิตก็เหมือนการเดินในอุโมงค์ใดอุโมงค์หนึ่ง อุโมงค์นั้นจะยาวสั้นแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับปัญหาที่ต้องเผชิญในแต่ละบุคคล ปัจจุบันอุโมงค์ปัญหาหนึ่งของสังคมที่ไม่ค่อยถูกตระหนักนักคืออุโมงค์ปัญหาที่เรียกว่า คุณแม่วัยใส

สถานการณ์ คุณแม่วัยใส ที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นในสังคมปัจจุบันจนกลายเป็นภาวะ “เกิดน้อย ด้อยคุณภาพ” ขณะที่ พระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวันรุ่น พ.ศ.2559 หรือที่เรียกว่า พ.ร.บ.ท้องวัยรุ่นเป็นเครื่องมือชิ้นแรกในการกะเทาะอุโมงค์ปัญหานี้

โดยเริ่มตั้งแต่การปรับปรุงหลักสูตรเพศวิถีศึกษา และพัฒนาระบบบริการเพื่อให้วัยรุ่นเข้าถึงอุปกรณ์คุมกำเนิดได้อย่างเหมาะสม หากเกิดการตั้งครรภ์ไม่พร้อมก็มีทางเลือกได้แก่ การยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย หรือ ท้องต่อ  ก็จะมีหน่วยงานในการช่วยให้คำปรึกษาอย่างโรงพยาบาลหรือสายด่วนองค์กรเอกชนต่าง ๆ

สำหรับตัว พ.ร.บ. ท้องวัยรุ่น เองก็มีการสนับสนุนย่างรอบด้านทั้งบริการสุขภาพ และบริการทางสังคม รวมถึงตัวเลือกอย่างเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สหทัยมูลนิธิ สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี (บ้านพักฉุกเฉิน) คณะภคินีศณีชุมพาบาล (บ้านสุขฤทัย) เป็นต้น

นอกจากนั้น ยังมีการสนับสนุนจัดให้มีระบบการดูแล ช่วยเหลือ และคุ้มครองนักเรียนหรือนักศึกษาซึ่งตั้งครรภ์ให้ได้รับการศึกษาด้วยรูปแบบที่เหมาะสมและต่อเนื่อง หรือเรียกง่ายๆ ว่า ท้องแล้วก็สามารถเรียนต่อได้ โดย พ.ร.บ. มีจุดประสงค์ที่จะจัดการปัญหาแม่วัยใสโดยไม่ทิ้งกลุ่มคนดังกล่าวไว้ข้างหลัง  และถือว่าเป็นการดำเนินนโยบายเสริมสร้างประชากรทั้ง 2 รุ่น ในคราวเดียว

ตัว พ.ร.บ.มีสาระสำคัญ คือ ตัววัยรุ่นมีสิทธิตัดสินใจด้วยตนเอง และมีสิทธิได้รับข้อมูลข่าวสารและความรู้ ได้รับการบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ ได้รับการรักษาความลับ และความเป็นส่วนตัว ได้รับการจัดสวัสดิการสังคม อย่างเสมอภาคและไม่ถูกเลือกปฏิบัติ และได้รับสิทธิอื่นๆ อย่างถูกต้อง ครบถ้วน และเพียงพอ

อีกทั้งยังมีการเน้นเรื่องระบบเรียนการสอนเรื่องเพศวิถีศึกษาให้เหมาะสมกับช่วงวัยของนักเรียนหรือนักศึกษา จัดระบบการดูแล ช่วยเหลือ และคุ้มครองนักเรียนหรือนักศึกษาซึ่งตั้งครรภ์ให้ได้รับการศึกษาด้วยรูปแบบที่เหมาะสมและต่อเนื่อง จัดระบบสวัสดิการสังคม สร้างเครือข่ายป้องกัน แก้ไข และเฝ้าระวังปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น การฝึกอาชีพ หรือจัดหาครอบครัวทดแทนในกรณีที่วัยรุ่นไม่สามารถเลี้ยงดูบุตรด้วยตนเองได้

ถึง พ.ร.บ. ท้องวัยรุ่น จะออกแบบมาให้ครอบคลุมปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ แต่ในทางปฏิบัตินั้น ยังไม่อาจประเมินผลสำเร็จที่จะเกิดขึ้นได้

“เมื่อรู้ตัวว่าตนเองท้อง ก็ไม่คิดที่จะปรึกษาหน่วยงานต่างๆ เพราะไม่รู้ข้อมูลเกี่ยวกับหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือเลย” คุณแม่วัยใสรายหนึ่งให้ข้อมูลถึงหน่วยงานที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือและให้คำปรึกษาตาม พ.ร.บ ท้องวัยรุ่น

พัชชา เจิงกลิ่นจันทร์ จากคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของวิจัย รูปแบบการจัดสวัสดิการสำหรับแม่วันรุ่นในสังคมไทยให้รายละเอียดในการประชุมแสดงความเห็นต่อรูปแบบการจัดการสวัสดิการสำหรับแม่วัยรุ่นในสังคมไทยเมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่า ปัญหาหนึ่งในการปฏิบัติตาม พ.ร.บ ท้องวัยรุ่นจริง ๆ นั้นส่อแววที่จะไม่ไม่สำเร็จคือ การไม่เข้าถึง และความไม่รู้

“ปัญหาที่พบประจำคือการแจ้งเกิด แม่วัยใสบางรายนั้นไม่รู้ข้อมูลว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร และ หรือถ้ารู้ก็คิดว่ายุ่งยาก การไม่แจ้งเกิด การไม่ใส่ชื่อบิดาของเด็กจึงกลายเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้เด็กที่เกิดมานั้นขาดสิทธิบางอย่างตามกฎหมายไป หรือปัญหาอย่างการท้องไม่พร้อมซ้ำ”

อย่างไรก็ตามสรุปการประชุมความเห็นต่อรูปแบบการจัดการสวัสดิการสำหรับแม่วัยรุ่นในสังคมไทยนั้น ผู้ร่วมประชุมได้เน้นการสร้าง empowerment หรือ “ความมั่นใจ” ในกับตัวแม่วัยใสเป็นสำคัญ โดยคำนึงถึงว่า หากตัวแม่วัยใสมีการเพิ่มขีดความสามารถของตนเองแล้วจะช่วยให้ลดปัญหาการต่อต้านสังคม มีแรงขับเคลื่อนในการพัฒนาตนเอง พัฒนาตัวเด็กให้มีคุณภาพ ลดปัญหาการท้องไม่พร้อมซ้ำ และช่วยลดปัญหาภาวะทางจิตใจได้

อีกประเด็นที่ต้องทำไปพร้อมๆ กันก็คือ ทัศนคติ ซึ่งเหมือนเป็นม่านบางๆ ที่กั้นตรงปลายทางออก และรั้งให้ปัญหายังอยู่เช่นนี้

เอมอร คงศรี เจ้าหน้าที่รับเรื่อง 1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์ และท้องไม่พร้อม ที่ได้พูดคุยกับเคสแม่วัยใสมาเป็นจำนวนมาก เผยว่า เรื่องนี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ของตัวแม่วัยใสตามมา

“ที่ผ่านมาตั้งแต่เริ่มต้นอย่างการคุมกำเนิดที่โรงพยาบาลรัฐให้ทำฟรีนั้น ต้องบอกก่อนว่าการจะทำฟรีนั้นต้องมีผู้ปกครองไปด้วยหรือเซ็นยินยอม เด็กส่วนหนึ่งที่เมื่อท้องไม่พร้อมแล้วมาปรึกษา ก็จะบอกเป็นเสียงเดียวว่า ตนเองกลัวผู้ปกครองว่าเรื่องการคุมกำเนิด หรืออย่างนโยบายถ้าท้องไม่พร้อมยังสมารถเรียนในสถานศึกษาได้นั้น ความเป็นจริงคือ น้อยมากที่จะยังได้เรียนต่อ โรงเรียนไม่บังคับทางตรงก็ทางอ้อมให้หยุดพักหรือลาออกจากโรงเรียนอยู่ดี ลึกๆ แล้วมันขึ้นอยู่กับทัศนคติเป็นส่วนใหญ่” เอมอรกล่าว

การไม่เปิดกว้างเรื่องเพศ การเรียนรู้การคุมกำเนิด ความไม่เข้าใจ จนเกิดการท้องไม่พร้อมกลายเป็นวังวนในอุโมงค์ปัญหา และถูกม่านทัศนคติหุ้มเอาไว้อีกชั้น

ผศ.ดร.กนกวรรณ ธราวรรณ ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และอาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า พระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 กำหนดให้รัฐต้องจัดสวัสดิการสังคมอย่างเหมาะสมแก่วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ งานศึกษาในครั้งนี้เป็นการรวบรวมกรณีศึกษาจากการทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านดังกล่าว โดยหวังให้เป็นต้นแบบที่ภาครัฐจะนำไปใช้เป็นแนวทางจัดบริการสังคมและสุขภาพแก่วัยรุ่นที่ประสบปัญหา

​“ปัจจุบันประเทศไทยมีบ้านพักเด็กและครอบครัว จังหวัดละ 1 แห่ง ภายใต้การดูแลของกรมกิจการเด็กและครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งรับผิดชอบภารกิจการดูแลช่วยเหลือวัยรุ่นที่ประสบปัญหาท้องไม่พร้อมตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.ท้องวัยรุ่น จึงหวังว่างานศึกษาครั้งนี้จะเป็นแนวทางในการขยายผลโดยหน่วยงานรัฐเพื่อให้ครอบคลุมการจัดบริการที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและทั่วถึง”

​ทั้งนี้ มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) เป็นอนุกรรมการพัฒนากฎหมาย กฎกระทรวง ระเบียบ และแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ตาม พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 ผลการศึกษาครั้งนี้ จะได้รับการนำเสนอเพื่อสนับสนุนองค์ความรู้ในการดำเนินนโยบายภาครัฐในลำดับต่อไป

มื่อทุกปัญหามีทางออกเสมอ สุดท้ายปลายอุโมงค์ปัญหาคุณแม่วัยใสขึ้นอยู่กับความร่วมมือกันของทุกฝ่ายอย่างจริงจังที่จะทำให้ปลายทางของอุโมงค์นี้ไม่มืดมิดเกินไปนัก

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ