Lifestyle

วันงดสูบบุหรี่ปีนี้ คนไทยปอดสะอาดขึ้น แพทย์เตือนสิงห์อมควันระวังเสี่ยงโรคหัวใจ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หนึ่งเรื่องน่ายินดีที่เกิดขึ้นในวันงดสูบบุหรี่โลก 31 พฤษภาคม ที่จะถึงนี้ เมื่อมีการพบข้อมูลล่าสุดจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่ทำการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และดื่มสุราของประชากรครั้งที่ 18 พ.ศ.2560 ว่า คนไทยมีอัตราการสูบบุหรี่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด

ซึ่งไม่ใช่การลดลงแค่เพียงปีเดียว แต่เป็นการลดลงอย่างต่อเนื่อง

ข้อมูลในเรื่องนี้ ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยให้ฟังอย่างน่าสนใจว่า แนวโน้มอัตราการสูบบุหรี่ของประเทศไทยลดลงจากร้อยละ 20.7 ในปี 2557 เหลือร้อยละ 19.9 ในปี 2558 และลดลงมาเหลือร้อยละ 19.1 ในปี 2560 โดยผู้ชายลดลงมากกว่าผู้หญิง คือ ผู้ชายลดลงจากร้อยละ 40.5 ในปี 2557 เหลือร้อยละ 39.3 ในปี 2558 และเหลือ ร้อยละ 37.7 ในปี 2560 สำหรับผู้หญิงลดลงจากร้อยละ 2.2 ในปี 2557 เหลือ ร้อยละ 1.8 ในปี 2558 และเหลือร้อยละ 1.7 ในปี 2560

ข้อมูลดังกล่าวด้านบนนี้อาจสะท้อนว่าประเทศไทยกำลังเข้าใกล้เป้าหมายการลดอัตราการสูบบุหรี่ของประเทศซึ่งเป็นอีกหนึ่งภารกิจด้านสุขภาพที่ไทยรับมาจากองค์การอนามัยโลก กำหนดให้ ภายในปี 2568 หรืออีก 7 ปีข้างหน้า จะต้องลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ลงให้เหลือประมาณ 9 ล้านคน หรือต้องลดลงให้ได้อีก 1 ล้านคนภายใน 7 ปี เฉลี่ยแล้วต้องลดคนสูบบุหรี่ให้ได้ 2.5 แสนคนทุกปี กำลังจะเป็นจริงในอีกไม่นาน

ดร.นพ.บัณฑิต เอ่ยถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราการสูบบุหรี่ลดลง ส่วนหนึ่งมาจากการขับเคลื่อนโครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน ที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2559 ที่เป็นการดำเนินการระยะเร่งด่วนในการทำให้จำนวนผู้สูบบุหรี่ลดลง จากการที่ให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ชวนคนในพื้นที่มาลดบุหรี่ ซึ่ง อสม.มีกว่า 1 ล้านคน หาก อสม. 1 คน ชวนได้ 3 คน แล้วเลิกสำเร็จ 1 คน ก็เท่ากับว่าช่วยลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ลงได้กว่า 1 ล้านคน รวมถึงการขับเคลื่อนมาตรการเกี่ยวกับยาสูบต่างๆ ล้วนมีผลให้อัตราการสูบบุหรี่ลดลง

สำหรับการที่ประเทศไทยจะก้าวไปให้ถึงเป้าหมายดังกล่าวดร.นพ.บัณฑิต กล่าวว่า จะต้องมีการขับเคลื่อนอีกมาก โดยหลักการคือจะต้องลดอุปสงค์และอุปทานลง ซึ่งอุปสงค์คือความต้องการสินค้าหรือความต้องการบุหรี่นั้น ก็ต้องลดด้วยการทำให้คนเลิกสูบบุหรี่หรือลดการเข้ามาเป็นนักสูบหน้าใหม่ ซึ่งหากป้องกันตรงนี้ได้ ก็จะสามารถลดความต้องการสูบบุหรี่ลงได้ ส่วนของอุปทานหรือปริมาณการเสนอขายสินค้าหรือบุหรี่นั้น ตรงนี้ต้องอาศัยการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเป็นตัวควบคุมสิ่งแวดล้อมไม่ให้มีการเสนอขายมากจนเกินไป เช่น การไม่แบ่งมวนขาย การไม่ขายให้เด็ก การควบคุมโฆษณา ดังนั้น หากมีการบังคับใช้ พ.ร.บ. ผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ให้เข้มแข็ง ทุกหน่วยงานร่วมมือกันตรงนี้ก็จะช่วยลดอุปทานลงได้

“สสส.จะเร่งรณรงค์และส่งเสริมการดำเนินการลดอุปสงค์และอุปทาน เพื่อให้อัตราการสูบบุหรี่ของประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยรวมแล้วอาจแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน ก็จะขับเคลื่อนโครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย ซึ่งปีนี้เข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว ซึ่งการชักชวนให้ประชาชนหักดิบเลิกบุหรี่จะเป็นวิธีที่เร็วที่สุดในการเลิกบุหรี่ในระยะเร่งด่วนนี้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลการชักชวนให้เลิกบุหรี่ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาว่าเป็นเช่นไร เพื่อขับเคลื่อนในช่วงโค้งสุดท้ายนี้ให้ประสบความสำเร็จ” ดร.นพ.บัณฑิต กล่าว

ด้าน รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญาหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒน์และเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ผู้ก่อตั้งคลินิกฟ้าใส คลินิกให้คำปรึกษาเลิกบุหรี่ กล่าวว่า การทำให้คนสูบบุหรี่สามารถเลิกได้อย่างถาวรนั้น รัฐจำเป็นต้องทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้ โดยเฉพาะผู้ที่ติดบุหรี่หนัก ซึ่งคิดเป็น 50% ของผู้ติดบุหรี่

“คนกลุ่มนี้จำเป็นต้องใช้ยาเพื่อช่วยเลิก จึงจะสามารถเลิกได้สำเร็จนพ.สุทัศน์ กล่าวและระบุว่า โครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน ที่เกิดจากการผลักดันของ สสส. และสร้างความร่วมมือจากกระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายหมออนามัย อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ถือเป็นอีกโครงการที่ตั้งเป้าหมายให้คนเลิกสูบบุหรี่ โดยมีการอบรมบุคลากรเพื่อช่วยเหลือประชาชนในการเลิกสูบบุหรี่ นอกจากนี้ ยังจะมีการขยายคลินิกฟ้าใส ทั่วประเทศ 410 คลินิก เพื่อเป็นตัวช่วยให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการ และช่วยให้เลิกบุหรี่ได้สำเร็จ

คุณหมอเจ้าของแนวคิดคลินิกฟ้าใส ยังให้คำแนะนำสำหรับนักสูบต่อว่าผู้ที่สูบบุหรี่เกินวันละครึ่งซอง ต่อเนื่องเกิน 10 ปี และมีอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรไปรับการตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะตรวจหาเรื่องโรคหัวใจ เนื่องจากเคยพบ​ผู้ป่วยที่ป่วยด้วยโรคหัวใจทั้งที่อายุน้อย เป็นหญิงอายุ 28 ปี เริ่มสูบบุหรี่วันละซองตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น เมื่อเรียนจบทำงานเพิ่มปริมาณการสูบเป็นมากกว่า 1 ซอง และหันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้า โดยให้สาเหตุว่าอยากเลิกบุหรี่มวน แต่กลับพบว่า ผู้ป่วยติดบุหรี่มวนมากกว่าเดิม  จนระหว่างทำงานหายใจไม่ทันล้มลงหมดสติและถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล  เนื่องจากเกิดอาการหัวใจวายเฉียบพลัน โดยเส้นเลือดหัวใจตีบ 2 เส้น กล้ามเนื้อหัวใจตายบางส่วน ซึ่งเป็นรายที่เกิดโรคหัวใจตั้งแต่อายุน้อย และสรุปได้ว่าเกิดจากการได้รับนิโคตินมากเกินไป

คนไทยกว่า 5 หมื่นรายเสียชีวิตด้วยโรคจากบุหรี่และมีอายุสั้นลง​12-13 ปี ที่สำคัญต้องทรมานอย่างน้อย 2 ปีก่อนเสียชีวิต

ส่วนโรคจากบุหรี่หลายคนมักนึกถึงโรคปอด หรือ มะเร็งเป็นลำดับแรกๆ แต่กลับพบว่า “โรคหัวใจ”​ ก็เป็นอีกโรคที่มีอุบัติการณ์เกิดขึ้นจำนวนมาก ​         

โดยองค์การอนามัยโลกได้ระบุว่า 1 ใน 4 หรือร้อยละ 25 ของผู้ที่เสียชีวิตจากโรคเส้นเลือดหัวใจตีบเป็นผลจากการสูบบุหรี่

“องค์การอนามัยโลก ต้องการสื่อสารไปยังผู้สูบบุหรี่ ให้ตระหนักถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากบุหรี่ ว่า ไม่ได้มีแค่เพียงโรคปอด หรือ มะเร็งเท่านั้น แต่บุหรี่ยังเกิดโรคเรื้อรังไม่ต่ำกว่า 25 โรค และ โรคหัวใจเป็นหนึ่งในโรคร้ายแรงนั้น โดยพบว่า ทั่วโลกมีคนตายจากโรคหัวใจประมาณ 9 ล้านคน ซึ่งที่พิสูจน์ได้ว่าเกิดจากบุหรี่ มีถึง 1.7 ล้านคนซึ่งปัจจุบันมีคนไทย 1.5 ล้านคนที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ

จากการศึกษาทำให้ทราบว่า “คนที่สูบบุหรี่”ทำให้เกิดความเสี่ยงเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจสูงกว่าคนไม่สูบบุหรี่ 3 เท่าโดยความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นตามปริมาณการสูบต่อมวนที่เพิ่มขึ้น ยังไม่รวมพฤติกรรมเสี่ยงอื่นที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ อาทิ การกินอาหารไขมันสูง ไม่ออกกำลังกาย จะทำให้ความเสี่ยงสามารถเพิ่มได้เป็น 10เท่า

หากเปรียบเทียบกับโรคมะเร็งปอด พบว่า สถิติการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ เมื่อเทียบกับโรคมะเร็งพบว่า ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคมะเร็งนั้นสูงถึง 20 เท่า แต่อุบัติการณ์เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจนั้นเกิดขึ้นได้มากกว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโรคหลอดเลือดหัวใจนั้น มีความเสี่ยงอื่นเป็นสิ่งประกอบ คือ การสูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย กินอาหารกลุ่มเสี่ยง รวมทั้งการดื่มสุรา​ ทำให้โอกาสเสี่ยงจะเกิดโรคหัวใจนั้นสูงกว่า

นอกจากนี้ อีกเหตุผลหนึ่งยังเกิดจากการที่คนไทยความรู้ไม่มากพอในเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าว่ามีสารสำคัญที่ใช้คือ นิโคติน โดยหลายคนเข้าใจว่าบุหรี่ไฟฟ้านั้น ไม่ก่อมะเร็ง แต่พบว่า ฤทธิ์ของนิโคติน ทำให้เส้นเลือดหดรัดตีบตัวทุกส่วน ทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ได้น้อยลง ซึ่งทำให้อวัยวะนั้นๆ ขาดเลือด และเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคหัวใจได้ เพราะเมื่อเทียบกันแล้วพบว่า บุหรี่แบบมวน มีสารนิโคตินประมาณ 1 มิล แต่บุหรี่ไฟฟ้านั้นมีปริมาณนิโคตินถึง 180 เท่า ทำให้อันตรายที่ได้รับนั้นสูงกว่าหลายเท่าตัว            นอกเหนือจากการขับเคลื่อนมาตรการเกี่ยวกับยาสูบต่างๆในระยะสั้นแล้ว ดร.นพ.บัณฑิต กล่าวว่า ระยะกลาง คือการบังคับใช้กฎหมายให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งขณะนี้มี พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 แล้ว ซึ่งเป็นเครื่องมือที่จะทำให้สามารถควบคุมบุหรี่ได้ดียิ่งขึ้น ปกป้องไม่ให้ประชาชนหรือเยาวชนเข้าถึงบุหรี่ได้ง่ายขึ้น ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายนี้ต้องอาศัยระยะเวลาในการดำเนินการ ก็ต้องสร้างความเข้าใจให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าใจเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายนี้เพิ่มมากขึ้น

ขณะที่ระยะยาว คือ การป้องกันนักสูบหน้าใหม่ ซึ่งจะช่วยลดจำนวนนักสูบระยะยาวลงได้ เพราะหากสามารถปกป้องเยาวชนไม่ให้เป็นนักสูบหน้าใหม่ได้ ก็จะป้องกันไม่ให้อัตราการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งก็เป็นที่น่าดีใจ เพราะข้อมูลในปี 2560 พบว่า อายุเฉลี่ยที่เริ่มสูบบุหรี่ครั้งแรกเริ่มขยับเพิ่มขึ้นจากอายุ 17.8 ปี ในปี 2557 เพิ่มขึ้นเป็น 18 ปีในปี 2560 แต่ทั้งนี้ จะต้องขับเคลื่อนให้เยาวชนเห็นถึงพิษภัยของบุหรี่ต่อเนื่อง รวมไปถึงการส่งเสริมให้คนเลิกบุหรี่ อย่างโรงพยาบาลก็ต้องมีการรณรงค์ให้เน้นการคัดกรองหรือถามผู้ป่วยที่เข้ามารักษาด้วยว่ามีการสูบบุหรี่หรือไม่ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเลิกบุหรี่

“หากขับเคลื่อนทั้ง 3 ระยะไปพร้อมกัน ก็มั่นใจระดับหนึ่งว่าจะสามารถช่วยลดอัตราการสูบบุหรี่ของคนไทยลงได้อย่างต่อเนื่อง และมีความเป็นไปได้ที่จะไปถึงเป้าหมายในที่สุด” ดร.นพ.บัณฑิต กล่าว

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ