ข่าว

“อีอีซี” ความหวังใหม่ยกระดับไทยสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

....

โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) หรือ EEC กำลังเป็นอีกหมุดหมายสำคัญที่จะชี้ชะตาอนาคตเศรษฐกิจประเทศไทยในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า ด้วยถูกตั้งเป้าให้เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของการพัฒนาด้านเศรษฐกิจที่ช่วยปรับเปลี่ยนโครงสร้างและยกระดับประเทศไทยให้พ้นจากกับดักอัตรารายได้ปานกลาง ด้วยการลงทุนอย่างเต็มประสิทธิภาพ 

โอกาสใหม่ประเทศไทย

ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวถึงโครงการอีอีซีว่า เป็นจุดเริ่มต้นการผลักดันไทยแลนด์ 4.0 แบบก้าวกระโดด ซึ่งจากการที่ประเทศไทยไม่ได้มีโครงการขนาดใหญ่ปรากฏมาเป็นเวลานานแล้วกว่าสามสิบปี ดังนั้นบทบาทสำคัญของอีอีซีคือการเป็นแม่เหล็กสำคัญที่ดึงดูดนักลงทุนทุกมุมโลกให้กลับมาประเทศไทยอีกครั้ง เฉกเช่นเดียวกับความสำเร็จในการผลักดันแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดเคยทำให้เศรษฐกิจประเทศไทยขยายตัวถึงร้อยละ 8 มาแล้วในอดีต

“อย่างไรก็ดี อีอีซี ไม่ใช่มิติใดมิติหนึ่ง แต่ยังเป็นจุดเริ่มการลงทุนของการสร้างสิ่งใหม่ และปรับเปลี่ยนประเทศ ที่ไม่ใช่แค่อุตสาหกรรมหรือผู้ประกอบการเท่านั้น แต่เป็นเรื่องการสร้างเมือง ชุมชนเมือง เมืองใหม่ ยกระดับคุณภาพเมืองที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นที่เป็นสากล สร้างรากฐานความเจริญใหม่ให้กับพื้นที่และกับประเทศ”

เพื่อการพัฒนาโครงการอีอีซี ให้เป็นสปริงบอร์ดการลงทุนครั้งใหญ่นำมาสู่แผนด้านการลงทุนระดับ “เมกะโปรเจคท์” ที่เป็นความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนถึงกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ในระยะเวลา 5 ปี เพื่อพัฒนาพื้นที่ใน 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทราให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ เพื่อรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ รวมถึงการยกระดับให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียนที่จะเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันอีอีซี ให้เป็นที่จูงใจนักลงทุนทั่วโลกในระยะยาว

 

แอคชั่นแพลนที่เป็นรูปธรรม

ดร.อุตตม ยังเปิดเผยถึงโรดแมปแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี กับเส้นทางยกระดับประเทศไทยสู่การเป็น “World-Class Economic Zone” ด้วยอีอีซีว่า ในการเตรียมพื้นที่เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย รัฐบาลจะขับเคลื่อนให้มีการลงทุนในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ซึ่งเชื่อว่า หากมีอุตสาหกรรมเต็มศักยภาพจะก่อให้เกิดการลงทุนที่จะกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ยราวร้อยละ 5 ต่อปี เกิดการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการนับ 100,000 อัตราต่อปี และสร้างฐานรายได้เพิ่มไม่น้อยกว่า 4.5 แสนล้านบาทต่อปี ให้กับประเทศ

ในระยะแรก ซึ่งเป็นการดำเนินงานระหว่างปี 2560-2564ถือเป็นช่วงเตรียมการ 4 โครงการหลัก คือ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง การก่อตั้งศูนย์ซ่อมสร้างอากาศยาน และการพัฒนาศักยภาพท่าเรือสองแห่งมาบตาพุดและแหลมฉบัง รวมถึงการจัดตั้งศูนย์กลางนวัตกรรม 2 แห่ง คือ อีอีซีไอ พัฒนาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี และศูนย์อีอีซีดี จะเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมดิจิตอลเทคโนโลยี ซึ่งแต่ละโครงการล้วนมีความสำคัญเชื่อมโยงกัน โดยจะขาดโครงการใดโครงการหนึ่งไม่ได้

อีกหนึ่งสัญญาณที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลกับแผนปั้นอีอีซี นอกจากการสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างเต็มรูปแบบ คือการตั้งเป้าส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth)  รวมถึงการตั้งเป้าหมายในการพัฒนาเอสเอ็มอีและเป้าหมายในการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับชุมชนและพื้นที่ที่ได้รับการพัฒนา ขณะเดียวกันรัฐบาลยังมีนโยบายปรับปรุงการมอบสิทธิประโยชน์สำหรับนักลงทุนต่างๆ เพื่อจูงใจให้เข้ามาลงทุน ไม่ว่าจะเป็นด้านภาษีนิติบุคคล และภาษีบุคคล

“แน่นอนว่า เรากำลังจะสร้างอุตสาหกรรมเป้าหมาย ประโยชน์คือ การสร้างโอกาสเรื่องงานใหม่ ซึ่งอาจยังไม่ใช่กับรุ่นเราโดยตรง แต่เป็นลูกหลานในยุคต่อไปของคนในพื้นที่ ถ้ามีอุตสาหกรรมใหม่เกิดขึ้น อย่างไรก็ดี ในการทำงานรัฐบาลต้องมีความแน่ใจว่าผู้คนนอกอีอีซีก็ได้รับประโยชน์อย่างไรด้วยเช่นกัน”

 

คำนึงถึงชุมชน-ตอบโจทย์ประเทศ

อย่างไรก็ดี รมว.อุตสาหกรรมยังคงย้ำถึงโจทย์สำคัญของการดำเนินโครงการที่เป็นหัวใจหลัก คือทุกกระบวนการต้องตอบทุกคำถามของประชาชนในพื้นที่ได้

“ท่านนายกรัฐมนตรีจะพูดเสมอว่า อีอีซี สิ่งสำคัญที่สุดคือคนในพื้นที่เราต้องตอบโจทย์ก่อนว่าเขาได้อะไร และไม่เพียงเท่านั้น ทำอีอีซีแล้วคนไทยอื่นได้อะไร ซึ่งอีอีซีไม่ใช่แค่เรื่องอุตสาหกรรม เราเน้นเรื่องการสร้างสภาพแวดล้อมเมืองเพื่อให้คุณภาพชีวิตคนในชุมชนดียิ่งขึ้น ได้มาตรฐานสากล ซึ่งเป็นประโยชน์ในตัวเอง ขณะเดียวกันนอกจากได้ประโยชน์แล้ว ในด้านผลกระทบเป็นสิ่งที่รัฐบาลและคณะทำงานคำนึงสูงสุดด้วย”

ดังนั้นเป้าหมายสำคัญในการพัฒนา รัฐบาลจึงมุ่งไปสู่การพัฒนาระยะยาวที่ยั่งยืนของทุกภาคส่วน ผลก็คือการวางทิศทางการดำเนินงานอีอีซีจึงเป็นการออกแบบพัฒนาที่คำนึงในทุกมิติ ทั้งด้านการศึกษา การสาธารณสุข ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ

รวมถึงในระหว่างการวิเคราะห์ศึกษาโครงการอีอีซี จึงมีคณะทำงานลงพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากคนในพื้นที่ต่อเนื่อง โดย รมว.อุตสาหกรรมย้ำว่า หากมีผลกระทบเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือมีเรื่องที่อาจจะสร้างผลกระทบให้เกิดขึ้น ก็จำเป็นต้องรีบหารือเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบดังกล่าว หรือหากต้องเกิดผลกระทบ จะต้องหามาตรการที่จะเข้าไปช่วยเยียวยาว่าควรเป็นอย่างไร

ซึ่งอีกหนึ่งมาตรการของการผลักดันดังกล่าว การเสนอร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่วันนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดร.อุตมยืนยันว่าร่างพ.ร.บ. อีอีซีคือกลไกที่จำเป็นต้องมี เพราะการดำเนินงานอีอีซีเป็นการทำงานแบบมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน ทั้งยังเป็นโครงการต่อเนื่อง

“การมี พ.ร.บ. อีอีซี นอกจากการสร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการว่ารัฐมีการดำเนินการต่อเนื่องแล้ว ในการรับฟังความคิดเห็นต้องมีกฏหมายรองรับ และการดำเนินโครงการจำเป็นต้องมีมาตรการดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ทั้งประชาชนในพื้นที่ ชุมชน สภาพแวดล้อม จึงต้องมีกฏหมายรองรับเช่นกัน นอกจากนี้ ใน พ.ร.บ. ยังมีข้อกำหนดไว้เลยว่ารัฐต้องมีการตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาชุมชน สนับสนุนทั้งด้านการศึกษา สุขอนามัย และสภาพแวดล้อมในอีอีซี ถือเป็นกลไกอย่างหนึ่งตาม พ.ร.บ.เพื่อให้มีการดูแลชุมชนในพื้นที่”

ท้ายสุด รมว. อุตสาหกรรมยังให้ข้อสรุปว่าการพัฒนาพื้นที่อีอีซีอย่างเต็มรูปแบบในวันนี้จะเป็นต้นแบบที่ประเทศไทยสามารถเรียนรู้ และนำไปเป็นตัวอย่างในการพัฒนาพื้นที่อื่นๆ ได้ในอนาคต

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ