ข่าว

‘กองทุนสวัสดิการชุมชน’ พัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างหลักประกันมั่นคง ชุมชนยั่งยืน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แนวคิดเรื่องการจัดสวัสดิการสังคม เป็นแนวคิดของการช่วยเหลือซึ่งกันและกันของคนในชุมชนที่ได้เกิดขึ้นมาเป็นเวลานาน โดยมีรูปแบบการบริหารจัดการที่แตกต่างกันออกไปและมีความหลากหลาย

แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการจัดสวัสดิการช่วยเหลือแค่ด้านใดด้านหนึ่งหรือเฉพาะด้าน อาจไม่ครอบคลุมในทุกประเด็น ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการเกิดกองทุนสวัสดิการชุมชน ที่เน้นครอบคลุมในทุกมิติคือ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและ วัฒนธรรม โดยแนวคิดของกองทุนฯ นั้น ต้องเกิดมาจากคนในชุมชน บนหลักของการพึ่งพาและช่วยเหลือเกื้อกูลกัน รวมถึงการเห็นคุณค่าของกันและกันภายในชุมชนที่นำเอาภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นมาใช้ในการบริหารจัดการเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาชุมชนที่ยั่งยืน

วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เครือข่ายสวัสดิการชุมชน ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กระทรวงวัฒนธรรม คณะอนุกรรมการส่งเสริมองค์กรสวัสดิการชุมชนในคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และมูลนิธิมั่นพัฒนา เห็นถึงความสำคัญ ของระบบสวัสดิการชุมชนที่เป็นรากฐานที่สำคัญของการสร้างหลักประกันความมั่นคงของคนในชุมชน บนพื้นฐานของคำกล่าวที่ว่า “ให้อย่างมีคุณค่า รับอย่างมีศักดิ์ศรี” จึงร่วมกันจัดงานมอบรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน: ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนรางวัลจากสถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ดำเนินการตามแนวคิด “คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ของ ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย

โดยในปีนี้เป็นปีที่ 2 ของการจัดงานมอบรางวัล ภายใต้ชื่อ “ธรรมาภิบาลดีเด่น แห่งปี 2560” ซึ่งมีกองทุนสวัสดิการชุมชนที่ผ่านการคัดเลือกและมีผลงานสำคัญดีเด่น  8 กองทุน แบ่งตามประเภทต่างๆ เช่น  ด้านการพัฒนาเด็กเยาวชนและการศึกษา เพื่อการเติบโตเป็นคนดี และมีคุณภาพ ด้านการพัฒนาการประกอบอาชีพ พัฒนาระบบเศรษฐกิจของครัวเรือนและชุมชน และการแก้ปัญหาหนี้สิน ด้านการบริหารจัดการกองทุนที่ดีและมีธรรมาภิบาล เป็นต้น

สร้างเยาวชน ปั้นฝัน พัฒนาคุณภาพชีวิต

กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลสรรพยาคือหนึ่งในกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นที่ได้รับรางวัล “ด้านการพัฒนาเด็กเยาวชนและการศึกษา เพื่อการเติบโตเป็นคนดี และมีคุณภาพ” กองทุนฯ นี้มุ่งเน้นการพัฒนาเด็กและเยาวชน ให้มีจิตสำนึก และตระหนักรู้ในคุณค่าของตนเองเพื่อนำไปสู่การเป็นเยาวชนที่เติบโตเป็นคนดี มีคุณภาพและสามารถกลับมาพัฒนาชุมชนให้เกิดความยั่งยืนได้

นางสมหมาย  กฤษฌัมพก ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลสรรพยา อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท กล่าวว่า กองทุนฯ เริ่มดำเนินการจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2551 โดยเริ่มมาจากปัญหาภายในชุมชน เดิมทีตำบลสรรพยา มีประชากรส่วนใหญ่ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและมีฐานะยากจน คนวัยทำงานต่างทิ้งลูกหลานไว้ให้ผู้สูงอายุเลี้ยงดูอยู่ที่บ้านและไปทำงานที่อื่น เป็นเหตุให้ครอบครัวแตกแยกและเกิดการหย่าร้าง เด็กและเยาวชนไม่ได้รับความสนใจและความอบอุ่นจากครอบครัวจนนำไปสู่ปัญหาทางสังคมต่างๆ นี่จึงเป็นก้าวแรกของการพัฒนากองทุนสวัสดิการชุมชนของตำบลสรรพยาที่มองเห็นปัญหาจึงหันมาให้ความสำคัญกับสถาบันครอบครัวเป็นอันดับแรกโดยเน้นการพัฒนาเด็ก การสร้างครอบครัวอบอุ่น และการดูแลผู้สูงอายุเพราะเราเชื่อว่า “ครอบครัวมีบทบาทสำคัญในการสร้างคน เด็กและเยาวชนคือรากฐานของชาติ”

“กองทุนฯ ให้ความสำคัญกับการสร้างครอบครัวที่อบอุ่นของชุมชนเป็นอย่างมาก โดยผู้ปกครองได้ตั้งกลุ่มเครือข่ายผู้ปกครองขึ้น เพื่อป้องกัน ช่วยเหลือและคุ้มครองครอบครัวให้อยู่ในชุมชนได้อย่างปลอดภัย มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ซึ่งจะมีการประชุมหารือทุกเดือนเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาร่วมกัน”

นางสมหมาย กล่าวเพิ่มเติมว่า กองทุนฯ มีการจัดสวัสดิการ 2 ส่วน คือ สวัสดิการพื้นฐานทั่วไป และสวัสดิการเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่เน้นด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน ได้แก่ ค่ายเยาวชน คนอาสา พัฒนาห้องสมุด โดยเมื่อปี 2558 กองทุนฯ ได้จัด “ค่ายเยาวชนไทยก้าวไกลสู่ ASEAN 2015” เพื่ออบรมการใช้ภาษาอังกฤษให้แก่เด็กนักเรียน ม.2-ม.5 จำนวน 80 คน และในปีนี้ยังมีแผนจัดโครงการค่ายนักเรียนแลกเปลี่ยน และโครงการแข่งขันเยาวชนอาเซียนภาษาอังกฤษ

นอกจากนี้กองทุนฯ ยังได้ให้ความสำคัญการแก้ไขปัญหาแม่วัยใส เนื่องจากจังหวัดชัยนาท  เป็นจังหวัดที่มีแม่วัยใส หรือ ท้องก่อนวัยมากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ (ข้อมูลสำนักงานพัฒนาสังคมจังหวัดชัยนาท) เฉพาะในตำบลสรรพยาเองมีเยาวชนอายุ 12-17 ปี ท้องก่อนวัยถึง 5 คน กองทุนฯ จึงตระหนักและต้องการแก้ไขปัญหาแม่วัยใส จึงจัดทำโครงการ “วัยรุ่นวัยใส ห่วงใยสุขภาพ” ขึ้นมา  โดยเริ่มจากจัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้ เฝ้าระวังตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ถามไถ่ให้กำลังใจแก่เด็กและผู้ปกครองที่ประสบปัญหาคุณแม่วัยใส และขยายผลสร้างเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อป้องกันไม่ให้เพิ่มจำนวนคุณแม่วัยใส  ทำให้ปัจจุบันปัญหาแม่วัยใสลดลง

 “ตลาดชุมชน” สร้างรายได้ ปลดหนี้นอกระบบคนหนองม่วง

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลหนองม่วง เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างกองทุนสวัสดิการชุมชนที่มีแนวคิดและการดำเนินการ “โดดเด่น” “ด้านการพัฒนาการประกอบอาชีพ พัฒนาระบบเศรษฐกิจของครัวเรือนและชุมชน และการแก้ปัญหาหนี้สิน”  ซึ่งช่วยสร้างรายได้ และแก้ปัญหาหนี้สินของชุมชนหนองม่วงได้สำเร็จ

นางอำนวย บุตรวิเศษ  ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลหนองม่วง อำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว บอกว่า  ปัญหาหลักของชุมชนตำบลหนองม่วง เกิดจากเป็นหนี้นอกระบบกันมาก ทำให้รายได้ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ  จากการสำรวจหนี้สินต่อครัวเรือนของชุมชนทั้งหมด 14 หมู่บ้าน จำนวน 1,000 ครัวเรือน พบว่า  มีหนี้สินนอกระบบเฉลี่ย 40,000-50,000 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งเป็นปัญหาจากการกู้ยืมนายทุน เพื่อนำมาทำอาชีพเกษตร จากปัญหาของชุมชนดังกล่าว คณะกรรมการกองทุนฯ จึงได้วางแนวทางการสร้างอาชีพให้แก่สมาชิก และส่งเสริมการออมไปพร้อมๆ กัน เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้และแก้ปัญหาหนี้สินของชุมชนให้ลดลง

ขณะเดียวกัน กองทุนฯ ได้จัดตั้ง “สถาบันการเงินชุมชนหนองม่วง” ขึ้น  เพื่อเป็นเงินหมุนเวียนประกอบอาชีพ และแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบให้สมาชิก รวมทั้งส่งเสริมการออมเงินชุมชนให้เพิ่มขึ้นด้วยการออมวันละ 1 บาท หรือการลงหุ้นกับสถาบัน ทำให้สถาบันการเงินชุมชนมีเงินหมุนเวียนแล้วประมาณ 5 ล้านบาท ช่วยแก้ไขปัญหาของสมาชิกในตำบล 204 ราย

นางอำนวย ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า กองทุนฯ ได้ร่วมกับสภาองค์กรชุมชนทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก จัดสร้างร้านค้าชุมชน เป็น “ตลาดชุมชน” ในใจกลางตำบล ให้สมาชิกเช่าขายสินค้า ผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อสร้างรายได้ให้กับครัวเรือน และในปีนี้อยู่ระหว่างสร้างตลาดเพิ่มขึ้น ทำให้ปัจจุบันสมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้นวันละไม่ต่ำกว่า 100 บาท หรือ เดือนละ 3,000-4,000 บาท แล้วยังมีเงินออมอีกเดือนละ 600 บาทจากการเก็บเงินออมตลาดชุมชน โดยตลาดชุมชนจะทำให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้นและแก้ปัญหาหนี้นอกระบบที่นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน

“มีส่วนร่วม- โปร่งใส- เป็นธรรม” หัวใจสำคัญของการบริหารกองทุนฯ

 กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบางเป้า เป็น 1 ใน 8 กองทุนสวัสดิการชุมชนที่ได้รับรางวัลด้านการบริหารจัดการกองทุนที่ดีและมีธรรมาภิบาล  นางศศิธร เกลือกลิ่น ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบางเป้า อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง  กล่าวว่า ปัญหาของตำบลบางเป้า ประชาชนส่วนใหญ่ยังยากจนและมีปัญหายาเสพติด  คนไม่มีหลักประกันในชีวิต ขาดความสามัคคี และไม่รู้จักการรวมกลุ่ม  จึงได้ริเริ่มจัดตั้ง “กลุ่มสุขภาพสมสิบ” ขึ้นมา เพื่อให้ชาวบ้านใช้เวลาว่างด้วยการออกกำลังกายและเก็บออมเงิน จนกระทั่งตั้งเป็นกองทุนฯ

หัวใจสำคัญของการบริหารจัดการกองทุนฯ ตำบลบางเป้าจะเน้นหลักการมีส่วนร่วม มีความโปร่งใส และมีคุณธรรม โดยมีคณะกรรมการกองทุนที่ทำงานเป็นทีม และร่วมตัดสินใจในปัญหาที่สำคัญ  กรรมการและสมาชิกมีความเป็นเอกภาพในการปฏิบัติตามระเบียบ มีระบบฐานข้อมูลที่เปิดเผย

“ผลจากการที่เราจัดสวัสดิการที่หลากหลาย ด้วยความเสมอภาคเท่าเทียมและทั่วถึง  จึงทำให้เรามีสมาชิกที่หลากหลายทุกเพศทุกวัย สมทบเงินเข้าอย่างสม่ำเสมอ  คณะกรรมการและสมาชิกมีความซื่อสัตย์สุจริต เสียสละ อดทน ขยันหมั่นเพียร เห็นได้จากยังไม่มีข้อร้องเรียนใดๆจากสมาชิกหรือบุคคลอื่นๆ ในพื้นที่เลย” นางศศิธร กล่าว

 

กองทุนสวัสดิการชุมชน จะกลายเป็นต้นแบบการบริหารจัดการชุมชนที่มุ่งหวังให้คนในสังคมมีปัจจัยพื้นฐาน ได้รับสวัสดิการสังคมครอบคลุมในทุกๆ ด้าน เป็นการสร้างความมั่นคงเพื่อเป็นหลักประกันที่ทำให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งในระดับครอบครัว ชุมชน ประเทศชาติ อีกทั้งการจัดงานในครั้งนี้ ยังเป็นการจัดเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการสร้างเสริมสังคม สวัสดิการ ที่มีการพัฒนาในรูปแบบที่หลากหลายยิ่งขึ้น สอดคล้องกับสถานการณ์สังคมปัจจุบันและเหมาะสมกับบริบทของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งจะก่อให้เกิดเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของชุมชนต่อไป

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ