ข่าว

โครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก สร้างพลังพลเมืองตื่น

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หลังจากที่เยาวชนนับร้อยคนจากพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรีและสมุทรสงคราม ได้เข้าร่วม “โครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ ภูมิสังคมภาคตะวันตก” ในปีที่ 2 ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)  ตลอดระยะเวลากว่า 1 ปี พวกเขามีโอกาสเรียนรู้เครื่องมือ กระบวนการในการวิเคราะห์ต้นทุน สถานการณ์ชุมชน การออกแบบโครงการพัฒนาชุมชนภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านการลงมือทำจริง โดยมีหน่วยงานสำคัญคือ ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่ทำหน้าที่เป็นโคชหนุนเสริมพัฒนาศักยภาพให้กับพี่เลี้ยงในพื้นที่ รวมถึงเยาวชนในโครงการฯ ส่งผลให้พวกเขาเหล่านี้ตกผลึกแห่งความเป็นพลเมืองตื่นรู้ (Active Citizen) ของสังคม ได้รับทักษะองค์ความรู้ สามารถสร้างนวัตกรรมในการแก้ปัญหา ตลอดจนเกิดบทเรียน และประสบการณ์สำคัญที่ประเมินค่ามิได้

          ด้วยเหตุนี้จึงมีการจัดงานมหกรรมพลังเด็กและเยาวชนภาคตะวันตกขึ้น เมื่อวันที่ 28  มกราคม ที่ผ่านมา ณ บริเวณโครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ (มูลนิธิชัยพัฒนา) อำเภออัมพวา จ.สมุทรสงคราม มีเป้าหมายที่จะเปิดพื้นที่ให้เยาวชนในโครงการได้มีโอกาสได้นำเสนอและถ่ายทอดแนวคิดที่จะแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาชุมชนของตนเอง  รวมทั้งจัดการความรู้จากประสบการณ์และบทเรียนจากการทำโครงการที่นำไปสู่เส้นทางการเป็นพลเมืองตื่นรู้ (Active Citizen) เพื่อสื่อสารต่อสาธารณะชน ในกิจกรรม “World cafe” ซึ่งกิจกรรมดังกล่าว ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากทั้งผู้ใหญ่ และเยาวชนคนรุ่นใหม่ในพื้นที่  ซึ่งเข้ามาร่วมเรียนรู้เยี่ยมชม และซักถามข้อมูลตามฐานการเรียนรู้ ทั้ง 5 ประเด็น  ได้แก่ 1.ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม 2.การจัดการทรัพยากรน้ำ 3.ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญา 4.สืบสานคุณค่ามะพร้าวในชุมชนแม่กลอง และ 5.พลังอาสาสมัครกับการพัฒนาชุมชน รวมทั้งสิ้น 24 โครงการ

วางรากฐานการพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับพื้นที่ภาคตะวันตก          

           นายชิษณุวัฒน์          มณีศรีขำ ผู้บริหารโครงการศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า โครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก เน้นสร้างกระบวนการเรียนรู้และเตรียมสร้างกลุ่มเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ๆ ให้เข้ามาสานต่อการวางรากฐานของชุมชนให้การพัฒนาที่ยั่งยืนในพื้นที่ภาคตะวันตก โดยกระบวนการเรียนรู้เรื่องราวท้องถิ่นทำให้เยาวชนกลุ่มนี้จะตระหนักถึงการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรวดเร็วในด้านต่างๆ เพื่อให้พวกเขาเติบโตเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพในอนาคต

ทั้งนี้การทำกิจกรรมของเยาวชนตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา มีกระบวนการสร้างการเรียนรู้ที่เรียกว่า “เวทีเรียนรู้นับ  1-5” คือ  1) สร้างสำนึกปลุกพลเมือง  2) ยั่วให้คิด ยุให้ทำ 3) รู้สิทธิ รู้หน้าที่ คนต้นเรื่องทำความดีเพื่อสังคม 4) Check Point พลเมือง และ 5) Citizen’s Network การมองโลกและสังคมเชิงระบบ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการเรียนรู้และปรับพฤติกรรมของเยาวชนที่ร้อยเรียงตามลำดับขั้นตอนของโครงการ ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวจะนำไปสู่การจัดทำฐานข้อมูลการยกระดับความรู้และสรุปบทเรียนจากการขับเคลื่อนโครงการ ตลอดจนพัฒนากลไกการขับเคลื่อนงานเด็กและเยาวชนในพื้นที่เพื่อนำไปสู่การสร้างสำนึกพลเมืองร่วมกัน

บทบาทพี่เลี้ยง: ไม่ออกคำสั่ง แต่ต้องตั้งคำถามชวนคิด

นางสาวรัตนาภรณ์ บูรณัติ (พี่หญิง) เจ้าหน้าที่ อบต.บางสะแก พี่เลี้ยงโครงการส้มแก้วต้อง Strong เล่าว่า ตนเองได้เข้ามาทำหน้าที่พี่เลี้ยงให้กับน้อง ๆ กลุ่มนี้ ก็เพราะเคยผ่านการอบรม “หลักสูตรนักถักทอชุมชน” ของมูลนิธิสยามกัมมาจล ธ.ไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) มาก่อน จึงเป็นเหตุให้อยากกลับมาสานต่อในการทำหน้าที่เชื่อมโยงคนรุ่นใหม่กับชุมชน บทบาทหลักของพี่หญิงต่อโครงการนี้ ก็คือการเป็นตัวกลางในการประสานทีม รวมถึงชุมชน และเครือข่ายต่างๆ ต้องทำหน้าที่ในการชวนน้องคิด ชวนคุยถอดบทเรียนการทำงาน สร้างกติกาในการทำงานร่วมกัน ทั้งข้อตกลงเรื่องเวลา การรับฟังความคิดเห็นคนในทีม ฯลฯ  เพื่อให้น้องๆ สามารถทำกิจกรรมได้สำเร็จและเกิดคุณค่ามากที่สุด

 "ช่วงแรกๆ ที่เริ่มทำก็คิดว่ายาก แต่พอได้ทำจริงและเรียนรู้ไปทีละขั้นพร้อมๆ กับกระบวนการหนุนเสริมของโหนดพี่เลี้ยง ทำให้เรารู้ว่าการทำงานไม่ว่างานอะไร ต้องเริ่มตั้งแต่การคิดวางแผนก่อน ที่สำคัญคือต้องค้นหาข้อมูล ต้องรู้มากกว่าน้อง ต้องให้เวลากับการคิด และร่วมลงมือทำไปกับน้องๆ ด้วย ต้องทำให้เขาเข้าใจว่าทำไปเพื่ออะไร ต้องตั้งคำถามนำให้เขาคิดได้ และชวนสะท้อนบทเรียนก่อนและหลังการทำกิจกรรมได้” พี่หญิงกล่าว

หลักพอประมาณ-การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี

จ.สมุทรสงครามขึ้นชื่อว่า มีสารพัดของดีที่เกิดจากความอุดมสมบูรณ์ในภูมิสังคมภาคตะวันตก  หนึ่งในนั้นก็คือ “ส้มแก้ว” ผลไม้ขึ้นชื่อที่นิยมใช้ในเทศกาลตรุษจีนแต่ปัจจุบันการปลูกลดลงมากเนื่องจากชาวบ้านหันไปปลูกผลไม้ชนิดอื่น ชาวสวนรุ่นใหม่เชื่อว่าส้มแก้วดูแลรักษายากและไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน

น้องอ้อม - นางสาวปภาวดี  บุญมาก โรงเรียนถาวรนุกูล  ตัวแทนจากโครงการส้มแก้วต้อง  STRONG  เล่าถึงประสบการณ์การเข้าร่วมโครงการว่า ที่ผ่านมาไม่เคยสนใจเรื่องราวของชุมชน ยิ่งส้มแก้วยิ่งไม่เคยสนใจ  รู้จักแต่ส้มโอกับลิ้นจี่เท่านั้น แต่โครงการนี้ทำให้เห็นว่าส้มแก้วเป็นทรัพยากรที่สำคัญอย่างมากต่อบ้านของเรา  แต่กลับมีคนปลูกไม่มากนัก จึงอยากศึกษาเรื่องส้มแก้วโดยมีเป้าหมายเพื่อหาความรู้และปรับทัศนคติเรื่องส้มแก้วและเพื่ออนุรักษ์พันธุ์ส้มแก้วให้อยู่คู่กับตำบลบางสะแกต่อไป

“การทำโครงการส้มแก้วฯ ทำให้เข้าใจถึงปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  เนื่องจากส้มแก้วเป็นผลไม้ที่สามารถให้ผลผลิตได้มากที่สุดเกือบ 1,000 ผลต่อต้นต่อปี แต่หากเราเก็บผลผลิตหมดทั้งหมด ต้นส้มแก้วก็จะล้มตายไปแต่ถ้าเก็บน้อยไปก็อาจจะไม่คุ้มกับเงินลงทุน ซึ่งเป็นหลักการที่พระองค์ท่านได้พระราชดำรัสในเรื่องหลักพอประมาณ ความมีเหตุผลและการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับประชาชน”

เรียนรู้ร่วมกับผู้ใหญ่เพื่อสร้างความเข้าใจและลดความขัดแย้งในชุมชน

ด้านกลุ่มเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการด้านการบริหารจัดการน้ำ น้องนุช - นางสาวกัญญารัตน์ แก้วเมืองเพชร ตัวแทนทีมโครงการน้ำต่อชีวิต ตำบลเขากระปุก อำเภอท่ายาง จ.เพชรบุรี  เล่าว่าการทำโครงการมีเป้าหมายเพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาของชุมชนที่เคยเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างหนัก ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานฎีกาให้กรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยสงสัยอย่างเร่งเด่นในช่วงปี 2535-2536 แม้ปัญหาการขาดแคลนน้ำจะคลี่คลายลงแต่กลับเกิดปัญหาความขัดแย้งเรื่องการใช้น้ำ จากการที่ชุมชนขาดความรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำ

“กลุ่มของเราได้เข้ามาเรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรร่วมกับผู้ใหญ่ แล้วนำข้อมูลที่ได้ไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ปากต่อปากแก่ผู้ปกครองคนในชุมชนเพื่อช่วยให้ชุมชนเข้าใจถึงสถานการณ์การใช้น้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยสงสัยในปัจจุบัน โดยมีทีมพี่เลี้ยงในพื้นที่ช่วยเหลือให้ข้อมูล ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนในชุมชนช่วยกันดูแลน้ำและมีน้ำใช้อย่างเหมาะสม” น้องนุชกล่าว

 วิถีชีวิตเชื่อมโยงเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม

น้องติน – นายธนะวรรธ  บัวทอง ตัวแทนจากโครงการเรียนรู้สู่วิถีมะพร้าว จ.สมุทรสงคราม กล่าวว่า แรงบันดาลใจในการริเริ่มโครงการนี้ เกิดจากตนเองที่เป็นลูกหลานที่นี่และเติบโตมากับสวนมะพร้าว ซึ่งปัจจุบันวิถีชีวิตของคนเริ่มเปลี่ยนแปลงไป จากการขายที่ดินให้นายทุน การย้ายถิ่นฐาน และไม่มีคนสานต่ออาชีพขึ้นมะพร้าว ฯลฯ เป้าหมายโครงการนี้จึงต้องการรวบรวมความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องมะพร้าวทั้งหมด เพื่อเผยแพร่ให้คนรุ่นใหม่ได้รู้ และส่งคืนกลับให้ชุมชนได้ตระหนักและกลับมาเห็นคุณค่าดังเดิม

“จากการลงพื้นที่เรียนรู้กันเป็นทีม ทำให้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ใหญ่จนเข้าใจถึงความเป็นมา ความสำคัญของมะพร้าว ที่สามารถเชื่อมโยงให้เห็นถึงวิถีชีวิตดั้งเดิม การรักษาระบบนิเวศสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่ ประโยชน์จากมะพร้าวต่อการสร้างอาชีพรายได้ การพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการสร้างความมั่นคงทางอาหาร นอกจากนั้นสิ่งสำคัญที่ได้รับจากโครงการก็คือการได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีม และการเข้าไปสร้างความสัมพันธ์กับชาวบ้าน ทำให้คนในพื้นที่เริ่มกลับมาตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของมะพร้าว ก่อให้เกิดความร่วมมือในการทำโครงการครั้งนี้” น้องตินกล่าว

“โครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก” จึงเป็นกระบวนการสร้างคนรุ่นใหม่ให้เป็นพลเมืองของสังคม ที่เริ่มตระหนักต่อเรื่องใกล้ตัว ไม่นิ่งดูดายต่อปัญหาที่เกิดขึ้น มีจิตสาธารณะ เชื่อมั่นในพลังบวกของตนเอง และใช้ศักยภาพของตนเองผ่านการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่จะช่วยแก้ปัญหาของชุมชน  ท้องถิ่น โดยดึงคนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อรับรู้  ช่วยเหลือ  แก้ไข พัฒนาชุมชน ท้องถิ่นของตนเอง นำไปสู่การพัฒนาประเทศเพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไป

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ