ข่าว

ส่งเสริมนักวิจัยรุ่นใหม่ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” สร้างคุณค่างานวิจัยสู่ชนบทไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จากการตอบรับและความตั้งใจดีของนักวิจัยรุ่นใหม่ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญต่อการพัฒนางานวิจัยเชิงพื้นที่ มูลนิธิมั่นพัฒนา และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จึงร่วมมือกันจัดเวทีเสวนา TSDF – TRF Sustainability Forum 2/2016 พื้นที่ชนบทไทย: โอกาสและความท้าทายของนักวิจัยรุ่นใหม่ ขึ้นเมื่อวันที่ 11 – 13 พฤศจิกายน 2559

ที่ผ่านมา โดยได้รับความร่วมมือจาก วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ที่เข้ามาช่วยสร้างการเรียนรู้ในกระบวนการศึกษาชุมชน

            การจัดเวทีเสวนาเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายในการสร้างแรงบันดาลใจพร้อมทั้งกระตุ้นให้นักวิชาการ นักวิจัยในสาขาต่างๆ ที่มีความสนใจต่อการทำงานวิจัยเชิงพื้นที่ ได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงความสำคัญ ได้เห็นถึงบทบาทของนักวิจัยต่อการสร้างองค์ความรู้และการพัฒนาเชิงพื้นที่ชนบท การฝึกใช้เครื่องมือเพื่อการศึกษาชุมชน โดยเปิดโอกาสให้นักวิจัยได้เรียนรู้ประสบการณ์ตรงจากการลงพื้นที่จริง เพื่อเป็นการฝึกฝนการบูรณาการในการทำงานวิจัยร่วมกันของนักวิจัยต่างสาขาที่นำไปสู่สหวิชาการ จนสามารถพัฒนาให้เกิดประเด็นในงานวิจัยเพื่อสร้างความยั่งยืนต่อพื้นที่ได้

 

             ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี และที่ปรึกษามูลนิธิมั่นพัฒนา ให้ทรรศนะถึงบทบาทและความท้าทายของนักวิจัยรุ่นใหม่ต่อการพัฒนาชนบทไทยให้เกิดความยั่งยืนว่า นักวิจัยรุ่นใหม่ควรปรับบทบาทของตัวเองในการทำงานวิจัยเชิงพื้นที่ จากการลงไปศึกษาหาคำตอบอย่างเช่นที่เคยปฏิบัติมาแต่เดิม เปลี่ยนเป็นผู้ที่เข้าไปมีบทบาทในการส่งเสริมให้ชาวนาชาวไร่กลายเป็นนักวิจัยด้วยตัวเอง

“นักวิจัยต้องทำหน้าที่พัฒนาให้คนในชุมชน รวมถึงชาวไร่ชาวนารู้ถึงวิธีการวิจัย ต้องทำให้พวกเขาสามารถเรียนรู้วิธีหาความรู้ และแก้ปัญหาด้วยตัวเอง แต่ก่อนที่จะไปถึงขั้นนั้นได้ ตัวของนักวิจัยเองควรทำความเข้าใจชุมชนให้ถ่องแท้เสียก่อน ถึงแม้นักวิจัยจะมีข้อได้เปรียบด้านความรู้เรื่องระเบียบการวิจัย แต่อาจไม่เข้าใจถึงวิธีคิด และวิถีชีวิตของแต่ละชุมชนจริงๆ อีกทั้งชุมชนในปัจจุบันต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงและปัจจัยที่หลากหลาย ส่งผลให้ปัญหาของชุมชนมีความลึกซึ้งและซับซ้อนมากขึ้น ดังนั้นหน้าที่ของนักวิจัยที่จะเข้าไปทำงานในชุมชนได้นั้น จำเป็นต้องทำความรู้จักชุมชน ต้องอดทน และเปิดใจกว้าง จึงจะทำให้เข้าใจบริบทได้ชัดเจน ส่งผลต่อการตั้งโจทย์วิจัยและออกแบบกระบวนการศึกษาวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลังจากนั้นจึงรวบรวมชาวบ้านให้เป็นทีมแล้วฝึกอบรมให้เขาเป็นนักวิจัยด้วยตนเองจนสามารถสร้างหน่วยงานวิจัยในชุมชน ไว้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของชุมชน เพื่อยกระดับความรู้และก้าวสู่การยกฐานะของชุมชนได้ นั่นจึงจะเป็นเป้าหมายการทำงานวิจัยที่มีคุณค่าสูงสุดและเป็นการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืนในที่สุด”

ทั้งนี้ ศ.นพ. สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อํานวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ตอกย้ำถึงความสำคัญของนักวิจัยต่อพื้นที่ชนบทไทยว่า นับเป็นโอกาสอันดีที่การวิจัยในพื้นที่ชุมชนจะทำให้นักวิจัยได้ศึกษาทุกกระบวนการอย่างเป็นระบบ ทั้งรูปแบบการใช้ชีวิต วัฒนธรรมท้องถิ่นและอัตลักษณ์ชุมชน เพื่อให้เกิดการสร้างแผนที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งผลงานของนักวิจัยไม่เพียงให้ประโยชน์ต่อตัวนักวิจัยเองเท่านั้น แต่ยังส่งผลดีต่อชุมชนเพราะจะนำไปสู่การปฏิบัติการเพื่อยกระดับชีวิตของชุมชน ซึ่งสอดรับกับยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศในปัจจุบัน  

ด้านเลขาธิการมูลนิธิมั่นพัฒนา นางวรรณวิมล ศุภประเสริฐ ยังได้กล่าวถึงภารกิจสำคัญของมูลนิธิฯ ที่จะดำเนินต่อไป ก็คือการสืบสานพระราชปณิธานแนวทางการพัฒนาประเทศในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ด้วยการส่งเสริมให้นักวิจัยรุ่นใหม่ได้มีโอกาสเรียนรู้และนำประสบการณ์ความเชี่ยวชาญลงไปทำงานวิจัยในพื้นที่จริง โดยยึดหลักเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ก่อให้เกิดการพัฒนาชนบทไทยอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนการเผยแพร่ผลสำเร็จให้เป็นแบบอย่างสืบไป

ภายในเวทีเสวนาฯ ได้รับเกียรติจากนักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิที่มากด้วยประสบการณ์การวิจัยเชิงพื้นที่ มาร่วมสร้างแรงบันดาลใจ จากการถอดประสบการณ์การทำงานวิจัยในพื้นที่ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการและแนวทางในการลงไปทำงานวิจัย พร้อมทั้งชี้ให้เห็นว่างานวิจัยมีความสำคัญในการเชื่อมต่อชนบทไทยสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างไร

ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้สะท้อนภาพชีวิตคนในชนบทและปัญหาที่ซุกซ่อนอยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็งว่า ผลพวงจากกลไกตลาดเสรีส่งผลให้เกิดการช่วงชิงทรัพยากรอย่างรุนแรง และเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนในชนบทไปโดยสิ้นเชิง ซึ่งนักวิจัยอาจมองไม่เห็น ความสำคัญของการลงไปทำงานวิจัยในพื้นที่ จึงต้องมุ่งค้นหาปัญหาแท้จริงที่ซ่อนอยู่ รวมทั้งมายาคติต่างๆ พร้อมเปิดรับโอกาสใหม่ที่จะเข้ามาอยู่เสมอ เพื่อสร้างระบบงานที่ยืดหยุ่นและหลากหลายไว้ใช้แก้ปัญหา อีกทั้งควรให้ความสำคัญกับการค้นหากลไกใหม่ๆ  ในการจัดการ

ด้าน รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี แสดงความเห็นว่า กลไกในการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นจำเป็นต้องมีความรู้ เข้าถึง และการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยทุกชุมชนควรจะต้องมีกระบวนการเรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเอง ซึ่งหน้าที่ของนักวิจัยนั้นต้องทำให้ชาวบ้านคิดเป็น แลกเปลี่ยนปัญหาระหว่างกัน สะท้อนและถอดรหัสปัญหาที่แท้จริงออกมา เพื่อมุ่งลดช่องว่างชนบทและให้ชนบทก้าวให้เร็วกว่านี้ ส่วนความเห็นของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อารี วิบูลย์พงศ์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางการพัฒนาชนบทไทยควรเป็นแนวคิดเดียวกันตั้งแต่ระดับครัวเรือน ชุมชน และประเทศ โดยยึดหลักสร้างความเป็นธรรม คำนึงถึงมิติสังคมรอบด้าน และขยับเป้าหมายให้เข้าใกล้ความเป็นจริงมากที่สุด ซึ่งแกนหลักที่นักวิจัยควรคำนึงถึงคือการพัฒนาเศรษฐกิจสมดุล ทั้งการใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสมและจำเป็นต้องรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อให้สังคมเป็นสุข

และเพื่อให้นักวิจัยเห็นแนวทางการทำงานที่ชัดเจนขึ้นก่อนการลงมือปฏิบัติจริง จึงได้นำเสนอต้นแบบการใช้ความรู้สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน จากกรณีศึกษาพื้นที่คลองโยง – ลานตากฟ้า อ.นครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เพื่อเป็นการจุดประกายให้นักวิจัยมองเห็นลักษณะการทำงานและสะท้อนความเห็นของคนในชุมชน ซึ่ง รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง ผู้อํานวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการและถือเป็นคนในพื้นที่ อธิบายว่าภูมิประวัติศาสตร์เป็นแก่นที่นักวิจัยต้องให้ความสำคัญ ซึ่งจากการลงพื้นที่และปฏิบัติจริงในชุมชนคลองโยง – ลานตากฟ้า พบว่าเป็นโฉนดชุมชนซึ่งชุมชนมีกรรมสิทธิ์ในการถือครองเพื่อทำเกษตร ย่อมมีกระบวนการทำงานที่ต่างจากท้องถิ่นอื่นอยู่บ้าง ตลอดจนต้องวิเคราะห์ชีวิตความเป็นอยู่และอาชีพของคนในชุมชนให้เข้าใจอย่างแท้จริง เช่น การทำนาข้าวพันธุ์พื้นเมือง ข้าวทุ่งนครชัยศรี และความหลากหลายของสายพันธุ์ เป็นต้น ในขณะที่ส่วนหนึ่งของชุมชนมีความพยายามเป็นเกษตรอินทรีย์เต็มขั้น แต่บางส่วนยังคงใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงอยู่ และเป็นเกษตรผสมผสาน ทั้งนากุ้ง นาบัว ฯลฯ ย่อมทำให้แผนงานวิจัยจำเป็นต้องเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่นเดียวกับ ผศ.ธนพร ศรียากูล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเสริมว่าหากนักวิจัยต้องการลงมาทำในพื้นที่ลักษณะนี้ อาจต้องคำนึงถึงนโยบายจัดการพื้นที่ ด้วยการจำแยกพื้นที่และบริหารจัดการที่ยืดหยุ่นเพิ่มขึ้น

ปิดท้ายด้วยบทสรุปจากตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ นางนันทา ประสารวงษ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน บ้านโฉนดชุมชน คลองโยง-ลานตากฟ้า กล่าวถึงความสำคัญของนักวิจัยที่มีต่อพื้นที่ชนบทว่า จากการเปิดพื้นที่ให้นักวิจัยและนักวิชาการเข้ามาศึกษาดูงานทำให้ชุมชนเกิดการตื่นตัวและมองเห็นประโยชน์ของการพัฒนาชุมชน ซึ่งการเข้ามาของนักวิจัยด้วยความบริสุทธิ์ใจที่จะช่วยเหลือชาวบ้าน ย่อมทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลและต่อยอดสู่แนวทางแก้ปัญหาได้จริง ซึ่งความพยายามเชื่อมโยงข้อมูลในวิถีของชาวบ้านให้เข้ากับทางแก้ปัญหาที่ถูกต้องและเหมาะสมจากความคิดของนักวิจัย จะกลายเป็นผลงานวิจัยที่มีประโยชน์และมีคุณค่าอย่างมาก

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ