ชีวิตดีสังคมดี

พิสูจน์ตัวตนคืนสิทธิ 'กลุ่มเปราะบาง' เพิ่มโอกาสให้เข้าถึงบริการ บัตรทอง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เร่งพิสูจน์ตัวตน คืนสิทธิให้ 'กลุ่มเปราะบาง' เพิ่มโอกาสให้เข้าถึงระบบบริการ บัตรทอง ตั้งโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ เป็นหน่วยเก็บ DNA แห่งแรกในกรุงเทพฯ

ยังมี "กลุ่มเปราะบาง" อีกหลายคนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานได้เนื่องจากตกหล่น ไม่มีตัวตน ซึ่งปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐาน และการดูแลทางการแพทย์ที่ควรจะได้รับ  โดยข้อมูลจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่น (พม.) ระบุว่า "กลุ่มเปราะบาง" มีอยู่ทั่วประเทศ จากการสำรวจพบว่ามีอยู่ราวๆ  81,816 ราย แบ่งเป็นในพื้นที่ กทม. 10,064 ราย และส่วนภูมิภาค 71,752 ราย ประกอบด้วย 1.เด็กและเยาวชน 15,404 ราย 2.คนพิการ 17,693 ราย 3. ผู้สูงอายุ 11,688 ราย 4.ผู้ป่วยติดเตียงและป่วยเรื้อรัง 1,235 ราย 5.คนเร่ร่อนและคนไร้ที่พึ่ง 3,729 ราย 6.สตรีตั้งครรภ์ 141 ราย 7. ผู้ประสบปัญหาทางสังคมอื่นๆ 31,926 ราย

เพื่อให้การแก้ไขปัญหา  "กลุ่มเปราะบาง" เข้าไม่ถึงสิทธิและระบบสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร จึงได้ร่วมมือกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) .สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  Kick off โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ เป็นหน่วยเก็บสิ่งส่งตรวจสารพันธุกรรม (DNA) โซนธนบุรี พื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อพัฒนาการเข้าถึงบริการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ให้กับกลุ่มคนไทยที่มีปัญหาสิทธิสถานะในพื้นที่ กทม.

รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จากการสำรวจตัวเลขของผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิบัตรทอง ทั้งประเทศมีประมาณ 500,000 คน ในส่วนพื้นที่ของ กทม. มีตกหล่นอยู่หลายประเภทซึ่งยังไม่ได้มีการสำรวจอย่างจริงจังแต่อนุมานได้ว่ามีไม่ต่ำกว่า 10,000 ราย  ดังนั้น กทม. ได้ให้ความสำคัญและร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับการดำเนินงานเพื่อพัฒนาการเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพ ให้กับคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน โดยบทบาทของการดำเนินงานที่ผ่านมา ได้ทำการสำรวจข้อมูลและต้นทุนการใช้บริการสุขภาพของคนกลุ่มนี้ ในสถานบริการสังกัดสำนักการแพทย์ และสำนักอนามัย กทม. พร้อมสนับสนุนการแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการ โดยจะขยายผลไปยังโรงพยาบาลกลาง และโรงพยาบาลสิรินธรในระยะต่อไป

 

 

 

"ทาง กทม. เราได้ทำการ Kick off ให้โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ เป็นหน่วยเก็บสิ่งส่งตรวจให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งถือเป็นแห่งแรกในพื้นที่ กทม. ที่จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับการพิสูจน์ตัวตน โดยเฉพาะประชาชนที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนในโซนธนบุรี ซึ่งหวังว่าจะช่วยเพิ่มโอกาสให้คนกลุ่มนี้ได้เข้ารับการพิสูจน์ตัวตน เพื่อให้ได้รับบัตรประชาชน และสามารถมีสิทธิเข้ารับบริการสุขภาพได้เช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป"  รศ.ทวิดา กล่าว

 

 

สิทธิบัตรทอง ถือเป็นกลไกหลักของประเทศไทย ที่ช่วยดูแลประชาชนให้เข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นอย่างครอบคลุมและทั่วถึง อย่างไรก็ตามยังคงมีประชากรจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธินี้ได้เนื่องมาจากการมีปัญหาสถานะทางทะเบียน ด้วยปัจจัยสาเหตุต่างๆ เช่น ไม่ได้รับแจ้งเกิด เอกสารบุคคลสูญหาย เป็นต้น ส่งผลให้ไม่มีเลขบัตรประชาชน 13 หลัก จึงไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานได้เฉกเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป โดยส่วนใหญ่เป็น "กลุ่มเปราะบาง" กลุ่มคนไร้บ้าน กลุ่มคนไร้สิทธิ ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันแก้ปัญหาเพื่อให้คนเหล่านี้ได้รับการคุ้มครองสิทธิ 

 

 

 

โดยนำมาสู่การลงนามบันทึกความร่วมมือการดำเนินงานพัฒนาการเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพของคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนระหว่าง 9 หน่วยงาน ตั้งแต่วันที่ 8 ก.ค. 2563 เพื่อเชื่อมโยงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบและบูรณาการพัฒนาระบบข้อมูลของคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนร่วมกัน สำหรับ 9 หน่วยงาน ที่ลงนามบันทึกความร่วมมือดังกล่าว ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กทม. สสส. สปสช. องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย โดยที่ผ่านมาหน่วยงานทั้ง 9 ต่างขับเคลื่อนการดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่และภารกิจของแต่ละแห่งเพื่อแก้ปัญหาสิทธิของคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน

 

 

เดิมทีในการพิสูจน์ตัวตนนั้น ประชาชนอาจจะต้องกลับไปดำเนินการตามภูมิลำเนาเดิม แต่ปัจจุบัน กรมการปกครองได้อำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถพิสูจน์ตัวในพื้นที่ กทม. ได้ ผ่านหน่วยใน กทม. ที่มี 2 แห่ง คือ 1. สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งให้บริการทั้งในรูปแบบเดินทางเข้ามาตรวจที่สถาบัน กับรูปแบบการลงพื้นที่หรือใช้เครือข่ายหน่วยเก็บสิ่งส่งตรวจส่งให้สถาบันฯ 2. โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งให้บริการตรวจที่โรงพยาบาลเท่านั้น

 

 

สำหรับกระบวนการพิสูจน์และสืบข้อมูลบุคคลที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน สำหรับในพื้นที่ กทม. นั้น ทางเจ้าหน้าที่เขตจะทำการพูดคุยและรวบรวมหลักฐานที่มี หรือที่สำนักงานเขตหาได้ ซึ่งหากการพิสูจน์ผ่านไปได้ด้วยดี ก็จะนำไปสู่การทำบัตรประชาชน และสามารถใช้สิทธิต่างๆ ได้ทันที แต่หากกรณีที่มีหลักฐานไม่มากเพียงพอ ตามระบบจะมีการเก็บสิ่งส่งตรวจสารพันธุกรรม หรือ DNA เป็นอีกช่องทางในการพิสูจน์ตัวตน โดยจะดำเนินการร่วมกับโรงพยาบาลในพื้นที่ที่เข้าร่วม โดยที่ประชาชนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด 
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ