'ถอดรหัสพันธุกรรม' 5 หมื่นคน รักษาโรคหายาก-มะเร็งแม่นยำ
'สกัดดีเอ็นเอ' ผู้ป่วย 5 หมื่นราย 'ถอดรหัสพันธุกรรม' เพื่อรักษา 5 โรคแม่นยำ รวมถึงวางแผนป้องกันและทำนายโรคได้
ข้อมูลทางการแพทย์ ระบุว่า ทั่วโลกยังมีโรคที่วินิจฉัยไม่ได้หรือ "โรคหายาก" กว่า 7,000 โรค และโรคหายากร้อยละ 80 พบว่าเป็นโรคทางพันธุกรรม ทำให้แพทย์ยังคงพยายาม "ถอดรหัสพันธุกรรม" เพื่อการรักษาโรคให้แม่นยำ รวดเร็ว รวมไปถึงการวางแผนป้องกัน
อุปสรรคสำคัญที่ทำให้เกิดความล่าช้าในการรักษาโรคเหล่านี้คือ ยังไม่ได้รับความสนใจจากภาครัฐที่มากพอในการสนับสนุนเงินช่วยเหลือ เพราะการส่งตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคในห้องแล็บ ที่ต้องมีการตรวจเพิ่มเติม ต้องออกแบบวิธีการตรวจขึ้นมาใหม่โดยเฉพาะ หรือต้องส่งไปตรวจที่ต่างประเทศ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูงมาก การค้นคว้าและวิจัยวิธีการรักษาก็ใช้เวลานาน อีกทั้ง ประเทศไทยมีแพทย์เฉพาะทาง "โรคหายาก" เพียงแค่หลักสิบเท่านั้น
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้สัมภาษว่า การรักษาโรคให้ถูกทางและแม่นยำ ต้องได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์ แต่ยังมีอีกหลายโรคที่ไม่สามารถวินิจฉัยได้ "ถอดรหัสพันธุกรรม" จึงเป็นหนทางที่จะวินิจฉัยโรคได้รวดเร็ว ขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเครือข่ายวิจัยทางคลินิกด้านจีโนมิกส์ 36 แห่งทั่วประเทศได้ช่วยกันเก็บตัวอย่างเลือดจากผู้ป่วยจำนวน 50,000 ราย ใน 5 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคที่วินิจฉัยไม่ได้หรือโรคหายาก โรคเรื้อรัง โรคติดเชื้อ และด้านเภสัชพันธุศาสตร์
ขณะนี้ "สกัดดีเอ็นเอ" และถอดรหัสพันธุกรรมแล้วมากกว่า 10,000 ตัวอย่าง และตัวอย่างเลือดที่ถูกสกัดดีเอ็นเอแล้วทั้งหมดจำนวน 23,024 ตัวอย่าง ปัจจุบันสามารถสกัดสาร "พันธุกรรม" ได้ประมาณ 800-900 ตัวอย่างต่อสัปดาห์ ตั้งเป้า 5 ปี (2563-2567) "ถอดรหัสพันธุกรรม" ผู้ป่วยชาวไทย 50,000 ราย ใช้งบประมาณถึง 4,470 ล้านบาท
ตัวอย่างสารพันธุกรรมจะถูกขนส่งภายใต้อุณหภูมิต่ำกว่า -20 องศา เพื่อการ "ถอดรหัสพันธุกรรม" ทั้งจีโนมที่ศูนย์บริการทดสอบ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า "ถอดรหัสพันธุกรรม" ครั้งแรกในเดือนเม.ย. ปี 2565 ซึ่งปัจจุบันสามารถถอดรหัสพันธุกรรมได้ประมาณ 350 ตัวอย่างต่อสัปดาห์ และมีตัวอย่างดีเอ็นเอที่ถูกถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมไปแล้วจำนวน 10,751 ตัวอย่าง
ข้อมูลการ "ถอดรหัสพันธุกรรม" ที่อยู่ในรูปแบบไฟล์ดิจิทัลขนาดใหญ่ถูกส่งไปเพื่อวิเคราะห์และจัดเก็บที่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อให้พร้อมสำหรับการวิเคราะห์ ศึกษาวิจัย และจัดเก็บอย่างเป็นระบบ ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัย
"ข้อมูลทาง "พันธุกรรม" ของผู้ป่วยได้นำไปใช้สนับสนุนการดูแลผู้ป่วยที่โรงพยาบาลในเครือข่ายวิจัยแล้ว ซึ่งเป็นประโยชน์ทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข การวินิจฉัย การเลือกวางแผนการรักษาให้แก่ผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการทำนายโอกาสการเกิดโรคต่างๆ ได้อย่างแม่นยำและมีคุณภาพมากขึ้นต่อไป" นพ.ศุภกิจ กล่าวในที่สุด