ชีวิตดีสังคมดี

สะพรึงเหตุ 'ภัยพิบัติ' เกิดขึ้นในรอบ 100 ปี แต่รุนแรงคร่าชีวิตคนจำนวนมาก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รวมเหตการณ์สุดสะพรึงเกิดจาก 'ภัยพิบัติ' ธรรมชาติเกิดขึ้นในรอบ 100 ปี รุนแรงสร้างความเสียหาย คร่าชีวิตคนจำนวนมาก ทั้งน้ำท่วมใหญ่ แผ่นดินไหว เขื่อนแตก

ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องสำหรับ "ภัยพิบัติ" ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นฝนตกหนักที่สุดในรอบ 100 จนน้ำทะลักเข้าท่วมเมือง แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในประเทศที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนรอยเลื่อน ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องปกติ หรือเกิดขึ้นตามธรรมชาติ เพราะในบางประเทศ นี่ถือว่าเป็นครั้งแรกในปี 100 กว่าปี ที่เกิดเหตุการณ์ ภัยพิบัติ ขึ้น หนำซ้ำยังมีความรุนแรงจนคร่าชีวิตประชากรไปเป็นจำนวนมาก  
 

สำหรับเหตุการณ์ "ภัยพิบัติ" ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาของต่างประเทศ มีเหตุการณ์ใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้น และสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก โดย คมชัดลึก สรุปเหตุการณ์ "ภัยพิบัติ" มาให้ดังนี้  

1.เหตุการณ์ น้ำท่วมฮ่องกง เพราะฝนตกหนักในรอบ 140 ปี 

ช่วงต้นเดือนก.ย. ที่ผ่านมาหลายคนได้อ่านข่าว น้ำท่วมฮ่องกง อย่างหนักแบบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดย "ภัยพิบัติ" ดังกล่าว เกิดจากพายุไต้ฝุ่นไห่ขุย ส่งผลให้ฝนตกหนักในรอบ 140 ปี   สำนักงานอุตุฯฮ่องกง รายงานปริมาณน้ำฝนสุดถึง 158.1 มิลลิลิตร(มล.) ภายใน 1 ชั่วโมง เป็นฝนที่ตกหนักที่สุดนับตั้งแต่ปี 1884 ส่งผลให้ทางการต้องออกคำเตือนพายุฝนระดับสีดำ อากาศที่รุนแรงยังสร้างความโกลาหลให้กับเมืองเสิ่นเจิ้นซึ่งเป็นศูนย์อุตสาหกรรมไฮเทคของจีน ซึ่งมีประชากรกว่า 17,700,000  คน โดยเฉพาะย่านเพิร์ลริเวอร์เดลตาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจได้รับผลกระทบรุนเเรง อย่างไรก็ตามน้ำท่วมหนักในครั้งนี้ ส่งผลให้โรงเรียน ธุรกิจต่างๆ รวมทั้งตลาดหุ้นปิดทำการในช่วงเช้าเนื่องจากห้างสรรพสินค้า ถนน และสถานีรถไฟใต้ดิน รวมทั้งเที่ยวบินที่ต้องหยุดให้บริการเป็นการชั่วคราว  

 

 

 

2. แผ่นดินไหวโมร็อกโก รุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี 

วันที่ 8 ก.ย. 2566 ที่ผ่านเกิด "ภัยพิบัติ" ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศโมร็อกโก โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่วัดความรุนแรงได้ราว ๆ 7 ริกเตอร์ โดยสำนักงานสำรวจทางธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USGS) ระบุว่า ศูนย์กลางของเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ ซึ่งเกิดขึ้นหลังเวลา 23.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นเพียงเล็กน้อย เกิดขึ้นในพื้นที่ที่ห่างออกไปจากเมือง มาร์ราเกชทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 75 กิโลเมตร ด้วยความลึกกว่า 18.5 กิโลเมตร 

มีรายงานความเสียหายครั้งใหญ่ ที่เกิดขึ้นในเมืองมาร์ราเกช แหล่งมรดกโลกที่ได้รับการประกาศโดยองค์การยูเนสโก จากเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่นี้ ไม่ใช่แค่มรดกโลกเท่านั้นที่เสียหา แต่ยังส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก  จากรายงานของสถาบันธรณีฟิสิกส์แห่งชาติของโมร็อกโก ระบุว่า แรงสั่นสะเทือนจากเหตุแผ่นดินไหว 7 ริกเตอร์ในโมร็อกโกในครั้งนี้ นับเป็นเหตุแผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดที่เกิดขึ้นในรอบศตวรรษที่ผ่านมา ล่าสุดพบตัวเลขผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการเพิ่มขึ้นเป็น 2,862 คน บาดเจ็บอีกมากกว่า 2,500 คน ส่วนองค์การอนามัยโลกประเมินว่ามีประชาชนได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติในครั้งนี้มากถึง 300,000 คน

 

 

 

3.น้ำท่วมปักกิ่ง ประเทศจีนฝนตกหนักเสียชีวิต สูญหาย จำนวนมาก 

เหตุน้ำท่วมกรุงปักกิ่งและพื้นที่โดยรอบ อันเนื่องจากฝนตกหนักสุดในรอบ 140 ปี "ภัยพิบัต" ที่รุนแรงในครั้งนี้ พบว่ามีผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็นอย่างน้อย 30 คน โดย 11 คนพบเสียชีวิตในกรุงปักกิ่ง และ 10 คนเสียชีวิตในเมืองเป่าติ้ง มณฑลเหอเป่ย ซึ่งเป็นจุดที่ได้รับความเสียหายหนักจากน้ำท่วม ส่วนในมณฑลจี๋หลินพบผู้เสียชีวิต 4 คน และสูญหาย 6 คน  โดยอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า กรุงปักกิ่งเมืองหลวงของจีนเผชิญกับปริมาณน้ำฝนสูงสุดในรอบ 140 ปี จากอิทธิพลของไต้ฝุ่นทกซูรีพัดถล่มหลายประเทศในเอเชีย ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน และชีวิตของพลเมืองจีนอย่างมาก ประชากรจีนบางคนต้องทิ้งบ้านเรือนเพื่อเอาตัวรอด 

 

 

 

4.เขื่อนแตกลิเบีย เสียชีวิตอย่างน้อย 5,000 คน 

เหตุการณ์ "ภัยพิบัติ" ล่าสุดเกิดขึ้นที่ประเทศลิเบีย โดยมีรายงานว่าเกิดเขื่อนจำนวน 2 แห่งแตกจนทำทะลักเข้าท่วมเมืองส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหายจำนวนมาก  สาเหตุที่ทำให้เกิด "ภัยพิบัติ" ในลิเบีย นั้นเนื่องจากเกิดพายุแดเนียลพัดถล่มอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจาก โฆษกกระทรวงมหาดไทยของรัฐบาลฝ่ายลิเบียตะวันออก ว่า มีผู้เสียชีวิตในเมืองเดอร์นา 5,300 คน จากก่อนหน้านี้หน่วยงานรับมือเหตุฉุกเฉิน เปิดเผยรายงานเบื้องต้นว่ามีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,300 คน บาดเจ็บ 7,000 คน สูญหาย 5,000 คน คาดว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตอาจสูงมากขึ้น เนื่องจากร่างผู้เสียชีวิตจำนวนมากถูกพัดลงทะเล และอาจติดอยู่ใต้ซากปรักหักพัง

 

 

 

ที่มา:

https://www.aa.com.tr
https://www.reuters.com
https://edition.cnn.com

logoline