ชีวิตดีสังคมดี

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว- อช.น้ำหนาว ภูกระดึง ขึ้นแท่น ‘มรดกอาเซียน’

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เติมเต็มศักยภาพด้านสิ่งแวดล้อม เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว -อช.น้ำหนาว และ อช.ภูกระดึง ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นอุทยาน ‘มรดกอาเซียน’ แห่งที่ 56 และ 57 อย่างเป็นทางการ

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปกท.ทส.) เปิดเผยว่า ตนได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 17 หรือ 17th AMME (the 17th ASEAN Ministerial Meeting on the Environment) ในระหว่างวันที่ 23 – 24 สิงหาคม 2566 ณ นครหลวงเวียงจันทร์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ร่วมกับคณะผู้แทนทั้งจากสำนักงานปลัดกระทรวงฯ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมทรัพยากรน้ำ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนพิจารณากำหนดนโยบาย ข้อการตัดสินใจ รวมถึงแผนงานและโครงการต่าง ๆ ที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียน

 

“ในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 17 นี้ ได้มีการรับรองเอกสารสำคัญ ได้แก่ ร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 (ASEAN Joint Statement on Climate Change to UNFCCC COP 28) ที่จะนำไปนำเสนอในที่ประชุม COP 28 ที่จะมีขึ้น ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในช่วงระหว่างวันที่ 30 พ.ย – 12 ธ.ค. 2566 ที่จะถึงนี้ เพื่อแสดงให้ทั่วโลกเห็นถึงความร่วมมือของภูมิภาคอาเซียนในการร่วมกันแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจัง นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีการรับรองแผนปฏิบัติการอาเซียนเพื่อการจัดการชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน (ASEAN Action Plan on Invasive Alien Species: IAS) เพื่อยกระดับความร่วมมือในการจัดการชนิดพันธุ์ต่างถิ่น ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศที่สำคัญประการหนึ่ง” นายจตุพร กล่าว

 

มรดกอาเซียน

 

"สิ่งสำคัญ ที่เป็นเรื่องน่ายินดีที่สุดสำหรับประเทศไทย ในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมครั้งนี้ คือ อุทยานแห่งชาติ 2 แห่งของประเทศไทย ได้รับการรับรองให้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานมรดกอาเซียน (ASEAN Heritage Park: AHP) แล้วอย่างเป็นทางการ ประกอบด้วย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว - อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานมรดกอาเซียนแห่งที่ 56 และอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานมรดกอาเซียนแห่งที่ 57 แสดงถึงศักยภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทย ในการคงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศจนมีความสำคัญในระดับอาเซียน ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในการอนุรักษ์ดูแลพื้นที่ทั้ง 2 แห่ง และทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทยต่อไป"

 

 

อีกเรื่องที่น่ายินดีสำหรับประเทศไทยในการประชุมครั้งนี้ คือ การเข้ารับรางวัล ASEAN Eco-School ระดับมัธยมศึกษาและระดับประถมศึกษา ของโรงเรียนสาธิตเทศบาลบ้านหัวหิน ในฐานะตัวแทนประเทศไทย ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีการพัฒนาการเรียนการสอนตามหลักการของโรงเรียนอีโคสคูล (Eco-School) หรือโรงเรียนสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นศูนย์การเรียนรู้โรงเรียน Eco-School ซึ่งเป็นโครงการภายใต้การดำเนินงานร่วมกับกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่นำแนวคิดการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ หรือ Whole School Approach ทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ด้านนโยบาย ด้านการจัดการเรียนการสอน ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน และด้านการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วม มาเป็นกรอบในการพัฒนาโรงเรียน จนมีการสร้างความตระหนักและจิตสำนึกด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้กับผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง มีการจัดกระบวนการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมศึกษาให้กับผู้เรียนในทุกระดับชั้น ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญของการสร้างเด็กและเยาวชนในการเติบโตขึ้นเป็น “พลเมืองเพื่อสิ่งแวดล้อม” ของประเทศต่อไป นอกจากนี้ นายมนตรี เจือไธสง จากโรงเรียนสาธิตเทศบาลบ้านหัวหิน ยังได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้ารับรางวัล ASEAN Youth Eco-Champions ในการประชุมครั้งนี้อีกด้วย” นายจตุพร กล่าว

 

มรดกอาเซียน

 

นายจตุพร กล่าวเสริมว่า ในการมาเข้าร่วมประชุม ณ สปป.ลาว ครั้งนี้ ยังได้เดินทางไปติดตามความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างสวนรุกขชาติไทย – ลาว ณ โรงเรียนมัธยมสมบูนนาซอน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กับกรมสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สปป.ลาว เพื่อพัฒนาให้เป็นสวนรุกขชาติและศูนย์การเรียนรู้ (Learning Center) ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยประเทศไทยพร้อมให้การสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรของ สปป.ลาว ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการอนุรักษ์พื้นที่อุทยานแห่งชาติ เพื่อให้โครงการสวนรุกขชาติไทย - ลาว แห่งนี้เกิดความยั่งยืนต่อไป”

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ