Lifestyle

การเมือง หน้า 1-e5

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การเมือง หน้า 1-e5 "แม้ว" ซื้อคืน 20 ส.ส.ก๊วนเนวิน รู้ดีแค่เกมต่อรองราคา "เนวิน" ประกาศนำ 37 ส.ส.ฝ่าทางตัน อ้างให้บ้านเมืองสงบ เมินทักษิณหลังถูกเรียกพบ ด้าน "พจมาน" กลับไทยคุมเกมจัดตั้งรัฐบาล-สยบก๊วนพยศ ผบช.สตม.เผยเข้าเมืองตามปกติ ไม่มีหมายจับ "อริสมันต์" ชี้มาเคลียร์ทรัพย์สิน "ชวน" ปัดรับนายกฯ รับเปลี่ยนขั้วเป็นไปได้ยาก การหารือระหว่าง 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม คือ พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา และพรรคประชาราช เมื่อกลางดึกวันที่ 4 ธันวาคม ที่ผ่านมา ที่อาคารชินวัตร 3 แม้จะได้ข้อสรุปว่ายังคงจับมือกันจัดตั้งรัฐบาล แต่ปัญหาเรื่องการเสนอชื่อบุคคลขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ดูเหมือนยังติดขัดอยู่บ้าง ในขณะที่กลุ่มเพื่อนเนวินเดินเกมต่อรองการย้ายเข้าสังกัดพรรคเพื่อไทย รวมทั้งยังขอสงวนสิทธิ์การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ทำให้คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภริยาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เดินทางกลับมาประเทศไทย เพื่อแก้ปัญหาความวุ่นวายจากกลุ่มก๊วนต่างๆ ด้วยตัวเอง ตลอดทั้งวันที่ 5 ธันวาคม มีกระแสข่าวหนาหูว่าคุณหญิงพจมานจะเดินทางกลับถึงประเทศไทย ในเวลาประมาณ 22.00 น. วันที่ 5 ธันวาคมนี้ โดยสายการบินไทยเที่ยวบิน ฮ่องกง-สุวรรณภูมิ กระแสข่าวดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางความปั่นป่วนในพรรคเพื่อไทย ซึ่งกำลังรอให้อดีต ส.ส.พรรคพลังประชาชนย้ายพรรคเข้ามา โดยกลุ่มที่ยังมีปัญหาคือกลุ่มเพื่อนเนวิน ซึ่งจนขณะนี้ยังไม่มีวี่แววว่าจะย้ายเข้าพรรคเพื่อไทยแต่อย่างใด ซึ่งการเดินทางกลับมาของคุณหญิงพจมาน มีการคาดหมายว่าจะเข้ามาสยบความเคลื่อนไหวและเงื่อนไขต่อรองจากกลุ่มต่างๆ ได้อย่างลงตัว นอกจากนี้ยังมีความเป็นได้ที่คุณหญิงพจมานอาจเข้าไปมีส่วนสังเกตการณ์การประชุมพรรคเพื่อไทยที่จะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 7 ธันวาคมนี้ด้วย ก่อนหน้านี้คุณหญิงพจมานพร้อมด้วย พ.ต.ท.ทักษิณ ได้เดินทางหลบหนีออกจากประเทศไทยในช่วงต้นเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา ไปพำนักที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน และไม่ยอมเดินทางมาขึ้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในวันที่ 11 สิงหาคม 2551 ซึ่งเป็นวันนัดตัดสินคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินรัชดาฯ โดยศาลมีคำสั่งจำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ ผบช.สตม.ชี้มาปกติ-ไม่มีหมายจับ พล.ต.ท.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ผบช.สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ให้สัมภาษณ์ว่า คุณหญิงพจมานจะเดินทางกลับเข้าประเทศไทย เวลาประมาณ 22.00 น. โดยเครื่องจะลงที่สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นการเดินทางเข้าเมืองตามปกติ ออกช่องทางปกติเหมือนผู้เดินทางเข้าเมืองคนอื่นๆ เพราะไม่ได้มีหมายจับแล้ว หมายจับก่อนหน้านี้ก็ได้ยกเลิกแล้ว ตม.ไม่มีบันทึกหมายจับ และไม่มีการเตรียมการเชิญตัวหรือจับกุมตัวแต่อย่างใด ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการตรวจคนเข้าเมืองปกติ อริสมันต์เผยกลับมาเคลียร์ทรัพย์สิน นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง สมาชิกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า วันนี้คุณหญิงพจมานและลูกๆ จะเดินทางจากฮ่องกงกลับเมืองไทย โดยสายการบินไทย ฮ่องกง-สุวรรณภูมิ เที่ยวบินทีจี 607 เวลา 22.30 น. การกลับเมืองไทยครั้งนี้ คุณหญิงพจมานกลับมาได้เพราะไม่มีข้อหาหรือคดีใดๆ ติดตัว นายอริสมันต์ กล่าวต่อว่า การเดินทางกลับไทยของคุณหญิงพจมานในครั้งนี้ ทราบว่าหลังจากหย่าขาดจาก พ.ต.ท.ทักษิณเเล้ว คุณหญิงพจมานต้องมาดำเนินการทางกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สิน และสินสมรสต่างๆ "ทักษิณ" ซื้อคืน 20 ส.ส.กลุ่มเนวิน แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หลังจากที่กลุ่ม 37 ส.ส.ของนายเนวิน ชิดชอบ ประกาศจุดยืนว่าจะไม่ร่วมรัฐบาลที่มีนายกฯ มาจาก ส.ส.พรรคเพื่อไทยนั้น มีความเคลื่อนไหวจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่เตรียมจะเสนอเงื่อนไขที่ไม่อาจปฏิเสธได้ให้แก่ ส.ส.ในกลุ่มของนายเนวินบางส่วน เพื่อกลับมาโหวตเลือกนายกฯ ที่มาจากพรรคเพื่อไทย แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทยระบุว่า ในการเจรจากับ ส.ส.ของกลุ่มนายเนวินบางส่วน พร้อมที่จะกลับมายืนข้างพรรคเพื่อไทยแล้วร่วม 20 ราย ซึ่งจะทำให้กลุ่มของนายเนวิน เหลือ ส.ส.ประมาณ 17-20 คน ทำให้การต่อรองที่จะพลิกขั้วการเมืองลำบาก "พ.ต.ท.ทักษิณ รู้นิสัยของนักการเมืองกลุ่มนี้ดี ที่เคลื่อนไหวพลิกขั้วไม่มีอะไรมากไปกว่าการต่อรองทางการเมือง ทั้งตำแหน่งนายกฯ ตำแหน่งรัฐมนตรี และเงิน โดยในส่วนตำแหน่งนายกฯ นั้น กลุ่มเนวินยื่นเงื่อนไขที่จะเสนอชื่อนายชัย ชิดชอบ ประธานสภา หรือนายสันติ พร้อมพัฒน์ หรือ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย พร้อมทั้งขอโควตากระทรวงใหญ่ เช่น คมนาคม มหาดไทย พาณิชย์ แต่ข้อต่อรองนี้จะไม่มีผล เพราะ ส.ส.ในกลุ่มเนวินจะถูกซื้อคืน" แหล่งข่าวระบุ ขณะที่แกนนำจากพรรครวมใจไทยฯ เปิดเผยถึงการหารือของ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิมเมื่อคืนวันที่ 4 ธันวาคม ที่ผ่านมาว่า ข้อสรุปเบื้องต้นที่พรรคเพื่อไทยเสนอมายังพรรคร่วมรัฐบาลคือ โควตารัฐมนตรีเดิมของพรรคจะยังเหมือนเดิมไม่มีการปรับ ส่วนปัญหาเรื่องกลุ่ม 37 ส.ส.ของนายเนวินนั้น ทางพรรคเพื่อไทยรับปากว่า สามารถเจรจาได้และมั่นใจว่าจะกลับมาเข้าสังกัดพรรคเพื่อไทย โดยไม่มีการย้ายขั้วแน่ "ตอนนี้พรรคร่วมรัฐบาลได้แต่เพียงรอดูการแก้ปัญหาของพรรคเพื่อไทยว่า จะสามารถเคลียร์กับกลุ่ม 37 ส.ส.ของนายเนวินได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ก็มีแนวโน้มว่าขั้วรัฐบาลใหม่จะพลิกไปที่ฟากประชาธิปัตย์เช่นกัน โดยเงื่อนไขที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอมาให้พรรคร่วม ก็ไม่ได้น้อยไปกว่าพรรคเพื่อไทยเลย" แหล่งข่าวระบุ "เนวิน"ลั่นฝ่าทางตัน-เมินพบแม้ว ด้านนายเนวิน ชิดชอบ แกนนำกลุ่มเพื่อนเนวิน ให้สัมภาษณ์ถึงจุดยืนของ ส.ส.ในกลุ่มเพื่อนเนวินว่า ขณะนี้บ้านเมืองเสียหายมากแล้ว ทุกอย่างกลับมาเริ่มต้นนับศูนย์ใหม่ จึงถือเป็นโอกาสที่พรรคการเมืองจะเปลี่ยนแปลงอนาคตของประเทศ มันหมดเวลาแล้วที่ผู้มีอำนาจจะนึกถึงการกลับเข้าประเทศ โดยใช้ประชาชนเป็นตัวประกัน แต่เราจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรักษาสถาบันหลัก คือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เอาไว้เหนือสิ่งอื่นใด "พรรคการเมืองต้องร่วมกันฝ่าทางตัน เพื่อให้บ้านเมืองเกิดความสงบเรียบร้อย ดังนั้น ส.ส.กลุ่มเพื่อนเนวินทั้ง 37 คน จะช่วยและสนับสนุนให้ได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่สามารถสร้างความเชื่อมั่น และกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจของประเทศไทย" นายเนวินกล่าว มีรายงานว่า หลังจากมีข่าวกลุ่มเพื่อนเนวินจะพลิกไปจับขั้วกับพรรคประชาธิปัตย์ในการตั้งรัฐบาล โดยตั้งเงื่อนไขให้นายชวนเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ปรากฏว่า จากเดิมกลุ่มเพื่อนเนวินประกาศว่ามี ส.ส.37 คน ที่ขอใช้เอกสิทธิ์ในการเลือกนายกรัฐมนตรีแล้ว ล่าสุดจะมี ส.ส.เข้ากลุ่มเพิ่มอีก รวมแล้วไม่น้อยกว่า 50 คน โดยขอให้จับตาการทยอยเดินทางไปขอถอนใบสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยว่าจะมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่ง ส.ส.นอกกลุ่มก็จะมาร่วมด้วย เนื่องจากวิเคราะห์แล้วว่า หากยังจับขั้วเดิมกับพรรคเพื่อไทยตั้งรัฐบาลก็คงอยู่ได้ไม่นาน "หลังจากมีความชัดเจนว่า กลุ่มเพื่อนเนวินจะไม่สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ปรากฏว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่พอใจเรื่องนี้มาก และติดต่อให้นายเนวิน เดินทางไปพบ แต่นายเนวินไม่ได้เดินทางไปพบตามที่มีการติดต่อมา" แหล่งข่าวกล่าว รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้แกนนำกลุ่มเพื่อนเนวินกำลังยกร่างหนังสือ เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในหลายประเด็น อาทิ นิยามของคำว่า "พรรคการเมืองอื่น" เป็นอย่างไร เพราะสงสัยว่าจะเป็นพรรคการเมืองที่ กกต.ให้การรับรอง หรือว่าต้องเป็นพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง หรือเป็นพรรคการเมืองที่มี ส.ส.ทั้งระบบสัดส่วน และแบบเขตเลือกตั้ง รวมทั้งกรณี ส.ส.สัดส่วนจะย้ายพรรคได้หรือไม่ และอำนาจของ ครม.รักษาการ ซึ่งทางกลุ่มต้องการทราบความชัดเจนนี้ เพื่อจะได้ตัดสินใจเข้าสังกัดพรรคการเมืองได้ก่อนที่จะครบกำหนด 60 วันที่กฎหมายให้เวลาไว้ โดยคาดว่าจะมีการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ภายในสัปดาห์หน้า คาดโหวตเลือกนายกฯ 12 ธ .ค. แหล่งข่าวกล่าวว่า การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่นั้น มีการประเมินกันว่า หากคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) สามารถรวบรวมรายชื่อ ส.ส.ได้ครบ 1 ใน 3 เพื่อเสนอร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา ภายในวันที่ 8 ธันวาคม ก็คาดว่าจะสามารถโหวตเลือกนายกฯ ได้เร็วที่สุดในวันที่ 12 ธันวาคม ทั้งนี้ พรรคร่วมรัฐบาลได้ยืนยันว่าจะเปิดโอกาสให้พรรคเพื่อไทยเสนอชื่อนายกฯ ตามประเพณีปฏิบัติ แต่อยากขอให้เป็นคนที่มีแผลน้อยที่สุด เพื่อให้รัฐบาลอยู่ได้นานๆ แต่ถ้าพรรคเพื่อไทยไม่สามารถหานายกฯ ที่มีคุณสมบัติดังกล่าวได้ ก็ควรเปิดโอกาสให้พรรคร่วมที่มีคะแนนเสียงลำดับรองๆ ลงไปเสนอชื่อต่อไป "นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ ได้แสดงความมั่นใจว่าจะไม่มีปัญหาเรื่องคะแนนเสียงในสภาแน่ เพราะ ส.ส.ทั้งหมดจะไหลไปสังกัดพรรคเพื่อไทย ส่วนบางกลุ่มที่ยังไม่สมัครเป็นสมาชิก เช่น กลุ่มเพื่อนเนวิน ก็มี ส.ส.เพียง 30 เสียง กลุ่มภาคกลางอีกกว่า 10 เสียง แต่เชื่อว่าสุดท้ายจะต้องกลับมารวมกัน นอกจากนี้ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รักษาการนายกรัฐมนตรี ยังยืนยันกลางที่ประชุมว่า จะไม่ยุบสภาเด็ดขาด อยากให้พวกเราอยู่ด้วยกันให้นานที่สุด มีงานอะไรคั่งค้างจะได้ช่วยกันทำ ขณะที่แกนนำพรรคร่วมทุกพรรคต่างยืนยันไม่พลิกขั้วไปร่วมตั้งรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์แน่นอน" แหล่งข่าวกล่าว "ชวน"ปัดรับนายกฯ-รับพลิกขั้วยาก นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการเสนอให้พรรคประชาธิปัตย์ เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งสถานการณ์ขณะนี้คล้ายกับช่วงที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่นายชวนต้องขึ้นมาเป็นนายกฯ แทนว่า สถานการณ์ในขณะนั้นต่างกัน แต่ความคล้ายกันคือ มีวิกฤติขณะนี้เกิดขึ้นภายนอกและภายใน ปัญหาขณะนั้นเกิดจากวิกฤติภายใน พล.อ.ชวลิตประกาศชัดเจนว่าประเทศเหมือนคนไข้จะตายแล้วจึงได้ประกาศลาออก ขณะนั้นพรรคประชาธิปัตย์มีเสียงน้อยกว่ารัฐบาลเพียง 2 เสียงเท่านั้น แล้ววันนั้นประชาชนไม่ยอมรับรัฐบาลนั้นแล้ว พรรคร่วมรัฐบาลก็เข้ามาร่วมกับประชาธิปัตย์ โดยที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ต้องไปวิ่งเต้นหรือหว่านล้อม ทุกคนหันเข้ามาขอให้พรรคประชาธิปัตย์มาแก้วิกฤติ "ฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นทำได้ง่ายกว่าปัจจุบัน และปัจจุบันเสียงของพรรคพลังประชาชนและพรรคประชาธิปัตย์ แตกต่างกันมาก แต่ก็ทราบดีว่ามีคนที่คิดอยากจะเปลี่ยนขั้วรัฐบาล ซึ่งเป็นแค่คนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่คนส่วนใหญ่ ดังนั้น ถ้าจะทำให้ได้จริงคงเป็นไปได้ยาก" นายชวนกล่าว นายชวนยังกล่าวถึงกระแสข่าวที่มีความพยายามผลักดันจากกลุ่มต่างๆ ให้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แทนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ว่ายิ่งเป็นไปได้ยาก การเปลี่ยนขั้วว่ายากแล้ว ตัวบุคคลก็ยิ่งยาก เพราะมีระบบพรรคการเมืองอยู่ "โดยหลักแล้ว เราต้องยกย่องหัวหน้าพรรค ถือว่าหัวหน้าพรรคคือหลัก ซึ่งคุณอภิสิทธิ์ไม่ได้ติดประเด็นเหล่านี้ เพราะคุณอภิสิทธิ์เคยพูดด้วยตัวท่านเองเสมอว่า ถ้าจำเป็นอะไรก็ไม่ต้องติดระบบพรรคเสมอไป ดังนั้น อย่าเพิ่งไปห่วงเรื่องตัวบุคคล เราคิดในโครงสร้างการเปลี่ยนแปลงเปลี่ยนขั้วเป็นไปได้หรือไม่ ก็เป็นเรื่องยาก แต่ถ้ามีนักการเมืองมีความเห็นสอดคล้องอย่างนั้น ซึ่งยอมรับว่ามี ส.ส.ในพรรคพลังประชาชนเดิมที่ผมสนิทด้วยอยากเปลี่ยนแปลง แต่ก็เป็นส่วนน้อย ส่วนใหญ่คงไม่ได้คิดเรื่องนี้" นายชวนกล่าว ปชป.หวังริบหรี่พลิกขั้วตั้งรัฐบาล ด้านแหล่งข่าวระดับสูงจากพรรคประชาธิปัตย์ ยอมรับว่า หลังจากที่นายชวนออกมาบอกว่าจะไม่รับเป็นนายกฯ และการย้ายขั้วลำบากนั้น น่าจะทำให้โอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์ได้จัดตั้งรัฐบาลน้อยลง "ตอนนี้ความเห็นของผู้ใหญ่ในพรรคแตกหลายขั้ว นายอภิสิทธิ์มองว่าแม้พรรคร่วมรัฐบาลจะย้ายขั้วมาอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ แต่รัฐบาลก็ใช่ว่าจะบริหารงานได้ง่าย ไหนจะมีปัญหากับม็อบเสื้อแดงอีก ทางเลือกที่น่าจะดีที่สุดคือ เมื่อขั้วพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ น่าจะยุบสภามากกว่า ขณะที่นายสุเทพกลับเห็นว่า ถ้าพรรคประชาธิปัตย์มีจังหวะที่จะตั้งรัฐบาล ก็ควรจะรีบชิงตั้ง แม้การบริหารจะมีอุปสรรค แต่การต่อสู้ในสนามการเมืองจำเป็นที่จะต้องมีทุน" แหล่งข่าวระบุ "สุเทพ"รอคลื่นลมสงบคุยพรรคร่วม นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์กรณีที่กลุ่มเพื่อนเนวินออกแถลงการณ์จะไม่รับนายกรัฐมนตรีที่จะสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นอีกว่า เป็นเรื่องที่น่าชื่นชม ที่มีความชัดเจนที่จะร่วมแก้วิกฤติของประเทศ ซึ่งถ้ากลุ่มเพื่อนเนวินยังยืนยันแนวทางนี้ ภายใน 1-2 วัน ก็จะหาโอกาสไปพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่า จะทำงานร่วมกันได้อย่างไร ส่วนกรณีของอดีตพรรคร่วมรัฐบาลยังจับขั้วกันเหมือนเดิมนั้น นายสุเทพกล่าวว่า ได้ฟังความชัดเจนว่าอดีตพรรคร่วมรัฐบาลก็ยังยืนยันที่จะจับมือกันต่อไป แต่ละคนถือว่าเป็นผู้ใหญ่ในวงการเมืองมานาน ต้องการเห็นบ้านเมืองสงบสุข ดังนั้น รอให้คลื่นลมสงบก่อน คงจะได้มีโอกาสพูดคุยเช่นกัน สำหรับโอกาสเปลี่ยนขั้วทางการเมือง นายสุเทพกล่าวว่า การเมืองเป็นไปได้ทั้งนั้น ถ้าทุกคนเห็นแก่ประเทศ แต่พรรคประชาธิปัตย์มี 166 เสียง คงไม่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในบ้านเมืองได้ หากจะทำให้เกิดการเปลี่ยนได้ ต้องดูท่าทีของอดีตพรรคร่วมรัฐบาล นายสุเทพกล่าวถึงกระแสข่าวผลักดันให้นายชวนกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง หากมีการเปลี่ยนขั้วว่า อดีตพรรคร่วมรัฐบาลเป็นนักการเมืองเก่าแก่ ต้องเข้าใจกฎเกณฑ์กติกา ส่วนตัวคิดว่าไม่น่าจะมีข้อเสนอนี้ เพราะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เมื่อรัฐบาลทำงานไม่ได้ ก็ควรเปิดโอกาสให้นายอภิสิทธิ์ทำหน้าที่ "อภิสิทธิ์"แนะโหวตนายกฯกลางธ.ค. ขณะที่นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า สนับสนุนมติคณะรัฐมนตรีที่ยกเลิก พ.ร.ฎ.เปิดประชุมรัฐสภา วันที่ 8-9 ธันวาคมนี้ เพราะการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (อาเซียน ซัมมิต) ได้เลื่อนออกไปแล้ว ดังนั้น จึงเป็นเวลาดีที่สุดที่ทุกฝ่าย โดยเฉพาะนักการเมืองจะได้ทบทวนท่าทีการทำงานที่ผ่านมา ส่วนตัวเห็นว่าการเปิดประชุมสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี ควรเป็นช่วงกลางเดือนธันวาคม จะเหมาะสมที่สุด ส่วนที่ ส.ส.กลุ่มเพื่อนเนวินประกาศว่าจะใช้เอกสิทธิ์ในการเลือกนายกรัฐมนตรี และอาจมาร่วมงานกับพรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ไม่ทราบ และเห็นว่ากระแสข่าวต่างๆ ขณะนี้สร้างความสับสน จึงควรใช้เวลารอดูความชัดเจน อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าที่ผ่านมามีโอกาสคุยกับ ส.ส.หลายพรรค เกี่ยวกับอนาคตทางการเมือง แต่ ส.ส.ที่ถูกยุบพรรคยังมีเวลาอีก 60 วัน ที่จะตัดสินใจไปร่วมงานกับพรรคการเมืองที่ตัวเองสนใจได้ ต่อข้อถามถึงความเป็นไปได้ที่นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รักษาการนายกรัฐมนตรี จะชิงยุบสภา ถ้ามีแนวโน้มเปลี่ยวขั้วการเมือง นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ยังไม่เคยมีปรากฏมาก่อนว่า รักษาการนายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภา แต่ในกฎหมายก็ไม่ได้ระบุข้อห้ามไว้
logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ