ข่าว

ประชาธิปไตยที่รัก//พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ [email protected]

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ประชาธิปไตยที่รัก//พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ [email protected] + เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้ง + คงเป็นเรื่องที่ปฏิเสธได้ยากว่าการเลือกตั้งนั้นเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของประชาธิปไตย โดยเฉพาะในระดับ "อุดมคติ" ที่ทุกคนนั้นฝันเห็นการเลือกตั้งที่โปร่งใส บริสุทธิ์ และยุติธรรม นักวิชาการด้านประชาธิปไตยของต่างประเทศจึงมักจะมองว่าการเลือกตั้งนั้นเป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญที่สุดในระบอบประชาธิปไตย หรืออยากกล่าวได้ว่า การปล่อยให้มีการเลือกตั้งที่มีการแข่งขันกันนั้นเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญว่าสังคมนั้นเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ (แต่การเลือกตั้งจะบริสุทธิ์ยุติธรรมในความหมายของการมีการซื้อเสียง หรือการบังคับในเชิงเทคนิคในรูปแบบต่างๆ หรือไม่นั้น ไม่ได้อยู่ในตัวชี้วัดดังกล่าว) อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงความเป็นจริงที่ปรากฏขึ้นของการเลือกตั้งในสังคมไทย เราอาจจะพบลักษณะที่น่าสนใจต่อการให้ความหมายและเข้าไปแทรกแซงกระบวนการเลือกตั้งอยู่หลายประการ (แทรกแซงในความหมายของการเข้าไปมีส่วนเกี่ยวพันต่อ "ผล" ของกระบวนการเลือกตั้งให้เป็นไปตามที่ตนต้องการ หรืออาจทำให้เกิดผลที่ไม่ได้ตั้งใจก็เป็นไปได้) หนึ่ง การยืนยันว่าการเลือกตั้งเป็นทุกอย่างของประชาธิปไตย (เสียงข้างมากนิยม) ในความหมายที่เชื่อว่าการเลือกตั้งนั้นคือการตัดสินใจของประชาชนในทุกๆ เรื่อง โดยเชื่อว่าการยุบสภาและการเลือกตั้งใหม่นั้นคือทางออกในทุกๆ ครั้งที่เกิดความขัดแย้งทางการเมือง แม้กระทั่งในความขัดแย้งที่รัฐบาลเสียงข้างมากที่สามารถยึดกุมจิตใจของประชาชนนั้นกระทำความผิดเสียเอง แต่จะว่าไปแล้ว เราก็ไม่สามารถมองว่าประชาชนนั้นไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับรัฐบาลเสียงข้างมาก ดังที่จะเห็นถึงคะแนนนิยมของรัฐบาลทักษิณในช่วงสุดท้ายนั้นลดลงเป็นอย่างมากจากผลการเลือกตั้งครั้งสุดท้าย ที่ประชาธิปัตย์ถอนตัว สอง แทนที่จะพิจารณาเฉพาะเรื่องของตัวผลการเลือกตั้ง เราอาจจะต้องเข้าไปพิจารณาตัวเนื้อหาของการรณรงค์หาเสียง ที่หมายถึงการสร้างกรอบในการอ้างอิงให้เกิดการตัดสินใจในการเลือกตั้ง (framing) ซึ่งรวมไปถึงเรื่องของการรณรงค์การทำประชามติต่างๆ ประเด็นนี้เราจะเห็นว่า การเลือกตั้งไม่ใช่เรื่องการเลือกตัวแทนในความหมายง่ายๆ ว่า เราเลือกคนที่เราต้องการให้เป็น แต่อาจหมายถึงการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมืองในมิติอื่นๆ เช่นการเลือกตั้งเพื่อความสมานฉันท์ หรือเลือกเพื่อให้การเมืองเดินหน้า สิ่งที่สำคัญที่จะขอย้ำก็คือ การเลือกตั้งอาจไม่ใช่เรื่องของการเลือกนโยบาย หรือตัวแทนที่เราพึงใจให้ไปทำงาน แต่อาจถูกกำกับโดยเรื่องของความหวาดกลัว หรือข้อมูลอื่นๆ ที่อาจบิดเบือนได้เหมือนกัน ดังนั้นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมนั้นจึงไม่ควรจะถูกตีความให้แคบเพียงเรื่องของการซื้อเสียงเท่านั้น แต่ต้องหมายถึงการสร้างกรอบความคิดให้เกิดการตัดสินใจเพื่อผลประโยชน์ของผู้ที่กำหนดกรอบเหล่านั้น สาม เราอาจจะมองว่าการเลือกตั้งในท้องถิ่นนั้นแตกต่างจากสิ่งที่เรามองจากศูนย์กลาง เพราะการเลือกตั้งนั้นในประการหนึ่งได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมอันเป็นปกติที่ดำเนินไปในชุมชนท้องถิ่น มากกว่าความเชื่อ(ข้อกล่าวหา)ว่าการเลือกตั้งคือประชาธิปไตยนาทีเดียว หากแต่การเลือกตั้งนั้นกลายเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมการตัดสินใจสาธารณะในชุมชน ซึ่งอาจจะมีลักษณะที่ต่างไปจากมุมมองและปฏิบัติการของประชาธิปไตยของคนที่อยู่ในเมือง นั่นหมายความว่าการเลือกตั้งนั้นเกาะเกี่ยวอยู่กับการตัดสินใจต่างๆ ในท้องถิ่นอย่างไร มากกว่าความเชื่อแค่ว่ามีการเอาเงินมาให้ในพื้นที่เท่านั้น แต่ยังหมายถึงการนำเสนอความต้องการของชุมชนผ่านตัวแทนของชุมชนและการเจรจากับผู้เลือกตั้งในหลากหลายรูปแบบ รวมทั้งการจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างความแตกต่างในเรื่องความคิดเห็นทางการเมืองกับการอยู่ร่วมกันในมิติอื่นๆ ของชุมชนเดียวกัน มาถึงตรงนี้จะเห็นว่าการเลือกตั้งนั้นมีเรื่องราวมากมายอยู่ภายในนั้น และการทำความเข้าใจถึงความซับซ้อนนี่เองที่จะทำให้การจัดความสัมพันธ์ระหว่างการเลือกตั้งกับประชาธิปไตยนั้นทำให้ประชาธิปไตยยั่งยืนมากกว่าการลดพื้นที่ของการเลือกตั้งลงแต่เพียงเท่านั้น
logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ