ข่าว

หน้า 1 อี2/ ยาคายางดิ่ง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หน้า 1 อี2/ ยาคายางดิ่ง ชาวสวนระทม "ยาง" ราคาดิ่งเหลือ กก.ละ 30 นัดรวมพล 13 ธ.ค. บุกศาลากลางจังหวัดทั่วประเทศ จี้ผู้ว่าฯ ประกันราคาก่อนสิ้นปี สมาคมยางพาราไทย ชี้ยังไม่ถึงจุดต่ำสุด แนะปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำต่อลมหายใจเกษตรกร ...... สถานการณ์ราคายางพาราที่ตกต่ำต่อเนื่องในระยะนี้ จากราคายางแผ่นดิบชั้น 3 อยู่ที่กิโลกรัมละ 100 บาท ล่าสุด วันที่ 9 ธันาคม เหลือเพียงกิโลกรัมละ 25-30 บาทนั้น นายสมศักดิ์ พงศ์ภัณฑ์รักษ์ นายกสมาคมชาวสวนยางจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้เรียกประชุมด่วนกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางภาคใต้ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว นายสมศักดิ์กล่าวว่า ปัจจุบันราคายางแผ่นดิบชั้น 3 อยู่ที่กิโลกรัมละ 30 บาท ขณะที่ต้นทุนเกษตรกรตกกิโลกรัมละ 53 บาท ทำให้ขาดทุนทันที 21 บาทต่อกิโลกรัม ถือเป็นการซ้ำเติมชาวสวนยางอย่างหนัก โดยเฉพาะรายย่อยยิ่งสาหัส เนื่องจากราคาซื้อขายยางแผ่นดิบในท้องถิ่นอยู่ที่กิโลกรัมละ 25-28 บาทเท่านั้น "วันนี้ (9 ธ.ค.) ราคายางตกต่ำรุนแรงที่สุดในรอบ 5 ปี กลุ่มจึงมีมติเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเร่งจัดสรรนำงบประมาณจังหวัดมาประกันราคายางในอัตราราคาเท่าต้นทุน หรือ 50-53 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งกลุ่มชาวสวนยางทั่วประเทศจะร่วมกันเข้ายื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการทุกจังหวัดภายในวันที่ 13 ธันวาคมนี้ เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหา" นายสมศักดิ์กล่าว นำร่องจี้ผู้ว่าฯ กระบี่ช่วย 10 ธ.ค.นี้ นายบุญส่ง นับทอง นายกสมาคมชาวสวนยางจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า ราคายางที่ร่วงอย่างรุนแรงทำให้เกษตรกรเดือดร้อนอย่างหนัก โดยเฉพาะในภาคใต้ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมทำให้เกษตรกรไม่มีรายได้เข้ามาจุนเจือครอบครัว เบื้องต้นจึงมีมติเร่งด่วนนำร่องการยื่นหนังสือไปยังผู้ว่าฯ กระบี่ ในวันที่ 10 ธันวาคมนี้ เพื่อให้เร่งแก้ไขปัญหาด่วน โดยเฉพาะมาตรการระยะสั้นที่เน้นช่วยเหลือเกษตรกรแต่ละจังหวัด เช่น นำงบประมาณของจังหวัดประมาณ 40 ล้านบาท มาจัดสรรเป็นมาตรการช่วยเหลือเฉพาะหน้าแก่เกษตรกร เช่น ประกันราคายาง หรือสนับสนุนสินเชื่อพิเศษให้ชาวสวน โดยมีผลภายในสิ้นเดือนธันวาคมนี้ "สำหรับนโยบายระดับประเทศให้รัฐประกันราคายางทั่วประเทศโดยราคาต้องไม่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต คือ กิโลกรัม 53 บาท พร้อมสนับสนุนสินเชื่อพิเศษสำหรับเกษตรกร ซึ่งเป็นระดับนโยบายที่องค์กรชาวสวนยางได้ร่วมกันผลักดันเป็นแนวทางเดียวกัน" นายบุญส่งกล่าว นัดชุมนุมใหญ่กดดันรัฐก่อนสิ้นปี ด้านนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานกิตติมศักดิ์สมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้ยื่นข้อเสนอรัฐให้แก้ไขปัญหายางมาโดยตลอด ตั้งแต่ยางเริ่มลดราคาจากกิโลกรัมละ 100 บาท เหลือกิโลกรัมละ 50 บาท แต่ทุกอย่างไม่มีความคืบหน้า กระทั่งปัจจุบันราคายางในตลาดกลางยางพาราหาดใหญ่ เหลือกิโลกรัมละ 30-32 บาท ก็ยังไม่มีมาตรการใดๆ ออกมา นายอุทัยกล่าวอีกว่า ผลกระทบดังกล่าวทำให้เกษตรกรทั่วประเทศเดือดร้อนอย่างหนัก จึงได้นัดหมายกันออกมารวมตัวเคลื่อนไหวเรียกร้องรัฐบาลอีกครั้งเพื่อให้รัฐบาลเร่งออกมาตรการช่วยเหลือภายในเดือนธันวาคมนี้ โดยการเรียกร้องดังกล่าวจะปฏิบัติพร้อมกันทั่วประเทศเพื่อกระตุ้นให้เกิดรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นทางการ เนื่องจากเหลือเวลาไม่ถึง 1 เดือน จะเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลกรีดยาง ซึ่งหากยังปล่อยให้ราคายางต่ำกว่า 50 บาท จะทำให้เกิดปัญหาระบบกลไกตลาดในปี 2552 อย่างรุนแรงจนยากที่จะแก้ไข ชี้ราคายังไม่ถึงจุดต่ำสุด ส่วนราคายางแผ่นดิบจะถึงจุดต่ำสุดเมื่อใดนั้น น.ส.ปิยภรณ์ แซ่ลิ่ม ผู้จัดการสมาคมยางพาราไทย กล่าวยอมรับว่า ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ แม้นักวิเคราะห์หลายรายเชื่อว่าราคาในปัจจุบันคือจุดต่ำสุดแล้วก็ตาม แต่เมื่อประเมินจากปัจจัยภาวะเศรษฐกิจการเงินโลกในขณะนี้อาจทำให้ราคาผันผวนได้อีก น.ส.ปิยภรณ์กล่าวถึงกรณีชาวสวนออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาด้วยการแทรกแซงราคาว่า ไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการบิดเบือนกลไกตลาด เนื่องจากภาวะที่เกิดขึ้นเหตุผลหลักมาจากภาวะเศรษฐกิจโลก ทำให้ยอดการใช้ยางพาราในโลกลดลง ประกอบกับอุตสาหกรรมยานยนต์ลดกำลังการผลิตและปิดตัวไปหลายราย ดังนั้นความต้องการใช้ยางจึงลดลงตามไปด้วย นอกจากนี้จีนก็สั่งซื้อน้อยลง ส่วนทางออกนั้น ผู้จัดการสมาคมยางพาราไทยระบุว่า เห็นด้วยกับแนวทางการกำหนดปริมาณการกรีดยางในอัตราลดลงหลังจากโหมกรีดต่อเนื่องช่วงราคายางกิโลกรัมละ 100 บาท เพื่อฟื้นฟูต้นยาง โดยให้สหกรณ์กำหนดวันซื้อ-ขาย เพื่อลดปริมาณยางออกสู่ตลาดในช่วงเวลาเดียวกัน กำหนดช่วงเวลาการเปิด-ปิดตลาดกลางยางพาราทุกแห่ง รวมถึงตลาดประมูลยางของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง(สกย.) ทั่วประเทศ เพื่อไม่ให้มีที่ระบายยางไปสู่โรงงาน ขณะที่รัฐต้องเร่งเพิ่มมูลค่ายางพาราให้เกษตรกร เพื่อให้ไทยเป็นผู้กำหนดราคาในตลาดโลกได้ในฐานะผู้ส่งออกยางอันดับ 1 ของโลก ร่วมถึงการปล่อยกู้ปลอดดอกเบี้ย หรือดอดเบี้ยต่ำให้สหกรณ์ต่างๆ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในการรับซื้อยาง "ยืนยันว่ามาตรการดังกล่าวมาถูกทางแต่อาจจะเห็นผลช้ากว่าการแทรกแซงราคายาง ซึ่งการแทรกแซงราคาจะไม่เป็นผลดีในระยะยาว เพราะจะส่งผลกระทบต่อระบบกลไกลราคาในอนาคต" ผู้จัดการสมาคมยางพาราไทย กล่าว โอดเฟอร์นิเจอร์ไม้ยางทรุด ขณะเดียวกัน นายเพชร ศรีหล่มสัก ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ราคายางพาราตกต่ำส่วนหนึ่งเกิดจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก และความมั่นคงทางการเมืองของไทย ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจส่งออกเช่นกัน โดยเฉพาะธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ไม้ยางพารา ที่ผ่านมาตลาดสหรัฐอเมริกาถือว่าเป็นตลาดสำคัญ แต่ภายหลังจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐตกต่ำ ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวและมุ่งหาตลาดใหม่ นายเพชรกล่าวอีกว่า ถึงจุดนี้ถือว่าราคายางพาราตกอย่างรุนแรง แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่ยอมโค่นต้นยางขาย เพราะยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่ทำรายได้ในภาคใต้ ส่วนบางรายที่โค่นก็จะเลือกเฉพาะต้นยางที่ไม่สามารถกรีดน้ำยางได้ รับซื้อปาล์มราคาประกันแล้ว ส่วนความคืบหน้าโครงการแทรกแซงตลาดน้ำมันปาล์มดิบปี 2551-2552 ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2551 นายสามารถ ลักขณา เกษตรจังหวัดตรัง กล่าวว่า ขณะนี้มีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมโครงการประมาณ 3,000 ราย รวมพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน 121,144 ไร่ ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ที่ให้ผลผลิตแล้ว 20,572 ไร่ ซึ่งให้เฉลี่ยปีละ 2.6 แสนตัน โดยทางองค์การคลังสินค้า (อคส.) รับซื้อผลผลิตของเกษตรกรในราคาประกันกิโลกรัมละ 3.50 บาท แต่จะต้องมีเปอร์เซ็นต์น้ำมันอยู่ที่ร้อยละ 17 ทั้งนี้ เกษตรกรจะได้โควตาขายไม่เกินเดือนละ 12.5 ตัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคมนี้ เป็นต้นไป ที่โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มที่เข้าร่วมโครงการ 4 โรงงาน ใน จ.ตรัง ได้แก่ บริษัท ล่ำสูง (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท โอทาโก้ จำกัด บริษัท พิทักษ์ปาล์มออยส์ จำกัด ตั้งอยู่ที่ ต.กะลาเส อ.สิเกา และ บริษัท ตรังน้ำมันปาล์ม จำกัด ตั้งอยู่ที่ ต.นาเมืองเพชร อ.สิเกา
logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ