ดูดวงประจำวัน

พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1 (ฝาง)...สร้างจากรัก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1 (ฝาง)...สร้างจากรัก +++++++++ รูปอยู่ในถังไลฟ์ชื่อ Royal ++++++++++ เพราะยาเสพติดมิได้ส่งผลร้ายต่อคนในชาติเพียงอย่างเดียว แต่ยังส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของประเทศไทยด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทุ่มเทพระวรกายและพระราชหฤทัยต่อการแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจัง โดยทรงใช้วิธีการให้ชาวบ้านปลูกพืชทดแทน จวบจนถึงปัจจุบันนี้ "การปลูกฝิ่น" ได้หายไปจากเมืองไทยอย่างสิ้นเชิง จนทั่วโลกระบุว่า ถ้าหากจะเรียนรู้การแก้ไขปัญหาด้านนี้ต้องมาเรียนรู้จากประเทศไทย ปี 2515 โรงงานหลวงแห่งแรกถือกำเนิดขึ้น ที่บ้านยาง หมู่ 12 ต.แม่งอน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ เพื่อรับพืชผลการเกษตรมาแปรรูปจำหน่ายเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้าน จนเมื่อเกิดเหตุอุทกภัยและโคลนถล่มในปี 2549 ส่งผลให้พื้นที่บริเวณโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) เสียหายอย่างหนัก จากนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริให้ดำเนินการฟื้นฟูและพัฒนาจนเป็น พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1 (ฝาง) ขึ้น มูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ นำโดย ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ร่วมกับบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) มูลนิธิเกี่ยวกับศิลปะ บริษัท อินทีเรียอาร์คิเทกเชอร์ 103 จำกัด รักลูกกรุ๊ป บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด และศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) จึงได้ร่วมกันจัดงานแถลงข่าวเปิดตัวพิพิธภัณฑ์ฯ ขึ้นเมื่อวันก่อน ดร.จิรายุ กล่าวถึงพิพิธภัณฑ์ฯ แห่งนี้ว่า นอกจากจะใช้เป็นแหล่งเรียนรู้และพัฒนาอย่างยั่งยืนด้านอุตสาหกรรมการเกษตรแปรรูปแล้ว ยังสร้างขึ้นเพื่อเกื้อหนุนและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาชุมชนโดยรอบ อีกทั้งยังใช้เป็นสถานที่รวบรวมและจัดแสดงแนวพระราชดำริในการพัฒนา และเพื่อความคงอยู่อย่างยั่งยืนของโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และเชิงเกษตร "ที่นี่ไม่ใช่เป็นเพียงอาคารจัดแสดงนิทรรศการ วัตถุสะสมและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในรูปแบบต่างๆ แต่เป็น ไซท์ มิวเซียม (Site Museum) ที่รวบรวมและนำเสนอความทรงจำที่เกี่ยวเนื่อง อันเกิดขึ้นในพื้นที่โรงงานหลวงฯ และบริเวณโดยรอบ ผ่านรูปแบบของกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้และความร่วมมือต่างๆ ระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชนในพื้นที่" ดร.จิรายุกล่าว ขณะที่ เกล้ามาศ ยิบอินซอย ประธานกรรมการ มูลนิธิเกี่ยวกับศิลปะ กล่าวถึงหนึ่งในนิทรรศการที่จัดแสดงภายในโรงงานหลวงฯ ซึ่งได้แค่ นิทรรศการ นพคุณคีรี (ดอยแห่งทองคำ) ว่าเป็นการนำเสนอภาพถ่ายบันทึกพระราชกรณียกิจที่แสดงให้เห็นถึงพระราชอัจฉริยภาพ และพระราชวิสัยทัศน์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการพัฒนาประเทศและมาตรฐานความเป็นอยู่ของชาวบ้านในถิ่นทุรกันดาร โดยมีโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) เป็นหนึ่งในโครงการที่เป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ยังมีภาพถ่ายของ 3 ช่างภาพ ซึ่งสะท้อนบริบทด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรงงานหลวงฯ ด้วย โดย สุภาวดี หาญเมธี ประธานกรรมการ รักลูกกรุ๊ป กล่าวเสริมถึงนิทรรศการส่วนอื่นๆ ที่จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ฯ ว่า จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนได้แก่ โครงการหลวง "พลิกฟื้นชีวิตด้วยพืชพระราชทาน" โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) และ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด "คนที่เข้าไปเที่ยวชมนิทรรศการนอกจากจะได้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการผลิตแล้ว ยังจะเห็นความรักโดยเฉพาะความรักที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย รวมถึงความรักของคนในชุมชนที่รักและหวงแหนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเอง" สุภาวดีกล่าว ด้าน คุณหญิงประจิตต์ กำภู ณ อยุธยา ประธานกรรมการ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด เล่าถึงโรงงานสีเขียวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก้าวพร้อมชุมชนว่า โดยเริ่มต้นให้ความรู้แก่ชาวบ้านในการปลูกพืชปลอดสารพิษให้ได้มาซึ่งวัตถุดิบไร้สาร ขณะที่ขบวนการผลิตก็เลิกใช้น้ำมันเตาแล้วหันมาใช้ก๊าซธรรมชาติทดแทน ซึ่งได้จากการบำบัดน้ำเสียภายในโรงงาน และสุดท้ายก็ได้นำเศษวัตถุดิบที่เหลือจากขบวนการผลิตต่างๆ มาทำเป็นปุ๋ยชีวภาพสำหรับใช้ภายในโรงงานต่อไป ทั้งนี้ ดร.จิรายุ กล่าวเชิญชวนทิ้งท้ายว่า "พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1 (ฝาง) พร้อมจะเปิดให้เข้าชมได้ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2552 เป็นต้นไป นอกจากนักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสถึงพิพิธภัณฑ์ชีวิตแล้ว ยังมีกิจกรรมต่างๆ เพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ตลอดจนสินค้าที่ระลึกประเภทต่างๆ ที่ผลิตขึ้นเป็นพิเศษเฉพาะผู้มาเยือน ซึ่งผลิตจากภูมิปัญญาท้องถิ่นอันทรงคุณค่าด้วย" +++++++++++++++
logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ