Lifestyle

การเมือง หน้า 1-e2

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การเมือง หน้า 1-e2 โหวตเลือกนายกฯ สะดุด "ชัย" ชี้ยังไม่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เปิดสภา 8-9 ธ.ค.นี้ เกาะเก้าอี้แน่น ไม่ผิด-ไม่ออก ประธาน กกต.ผนึกอดีตตุลาการศาล รธน.ชี้ "ชวรัตน์-ชัย" สิ้นสภาพตาม พปช.ไม่ควรเสี่ยงทำหน้าที่ต่อ แกนนำเพื่อไทยหัก "เจ๊แดง" เมินยกโควตานายกฯ ให้พรรคร่วม "37 ส.ส.ก๊วนเนวิน" แทงกั๊กย้ายพรรค-ขอสงวนสิทธิ์เลือกนายกฯ แม้ว่านายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี จะออกมาระบุว่าได้หารือกับนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ว่า จะให้มีการเปิดประชุมสภาในวันที่ 8-9 ธันวาคมนี้ เพื่อพิจารณาลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่แทนนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญเพิกถอนสิทธิทางการเมือง 5 ปี จากคดียุบพรรคพลังประชาชน แต่ล่าสุดท่าทีของประธานสภาบอกว่ายังไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะมีการเปิดประชุมสภาในวันดังกล่าวได้หรือไม่ นายชัยกล่าวถึงการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ว่า ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่ามีการเปิดประชุมสภาเพื่อเลือกนายกฯ คนใหม่ได้ในวันที่ 8-9 ธันวาคมนี้หรือไม่ เนื่องจากยังไม่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญลงมา ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนเลือกนายกฯ ควรให้มีการตีความเรื่องสถานภาพ ส.ส.สัดส่วน ออกมาชัดเจนก่อนหรือไม่ นายชัยกล่าวว่า ก็ดีเหมือนกัน โดยประธานวุฒิสภาก็ต้องดำเนินการตามที่มี ส.ว.ยื่นเรื่องมา โดยส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญภายใน 7 วัน และเมื่อส่งเรื่องไปก็ต้องเลื่อนเลือกนายกรัฐมนตรีออกไป ส่วนที่ระหว่างยังไม่มีความชัดเจน นายชัยซึ่งเป็น ส.ส.สัดส่วนด้วยเช่นกัน ควรจะหยุดทำหน้าที่ประธานสภาหรือไม่ และการที่สถานะประธานสภายังไม่ชัดเจน หากมีการโหวตเลือกนายกฯ จะเป็นความเสี่ยงต่อนายกฯ คนใหม่หรือไม่ นายชัยกล่าวว่า เขายังไม่ได้ไล่ออก ตนก็ทำตามกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้ง เมื่อเลือกตั้งมาแล้ว เราก็ทำหน้าที่ ส.ส. "เมื่อยังไม่มีความผิด ยังไม่ตาย และยังไม่ลาออก ยังไม่ถูกจำคุก ยังไม่มีเรื่องที่ทำให้สภาเสียหาย ก็ยังไม่มีเรื่องอะไร ซึ่งการเลือกตั้ง ส.ส.สัดส่วนถือว่ายากกว่า ส.ส.เขต เนื่องจาก ส.ส.สัดส่วน มีพื้นที่เลือกตั้งถึง 8 จังหวัด และถ้าไม่หาเสียงเอาแต่ชื่อพรรค ก็ไม่ได้เป็น ส.ส. แต่ถ้าศาลสั่งมาอย่างใด ผมก็พร้อมปฏิบัติตาม" นายชัยกล่าว และว่า การปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย จะไม่มีความเสี่ยงต่อการเลือกนายกรัฐมนตรี อย่าไปตีความแบบศรีธนญชัย บ้านเมืองจะวุ่นวาย นายชัยยังกล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่าเป็นหนึ่งในแคนดิเดตนายกฯ ว่า "โอ๊ย วาสนาจะถึงรึ ตอนนี้ไม่มีใครทาบทามมา มีแต่หนังสือพิมพ์ลงเป็นข่าว ไม่มีใครสนับสนุนผมหรอก เป็นประธานสภาก็พอแล้ว" ขณะเดียวกันยืนยันว่า ที่ผ่านมายังไม่ได้พูดคุยกับนายเนวิน ชิดชอบ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย และถ้ามีการเสนอชื่อตนเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วใครจะเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า แสดงว่าจะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใช่หรือไม่ นายชัยกล่าวว่า เป็นเรื่องอนาคต ยื่นตีความส.ส.สัดส่วน-รักษาการนายกฯ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา พร้อมด้วยกลุ่ม 40 ส.ว. ยื่นหนังสือต่อนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เพื่อให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย 3 ประเด็น คือ 1.ส.ส.สัดส่วนของพรรคพลังประชาชนจะสิ้นสภาพความเป็น ส.ส.หรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 93 วรรคห้า เนื่องจาก ส.ส.สัดส่วนมาจากการลงคะแนนเลือกพรรคการเมือง จึงไม่สามารถย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองอื่นได้ เช่นเดียวกับ ส.ส.เขต หากย้ายไปพรรคเพื่อไทย พรรคดังกล่าวไม่มี ส.ส.และไม่เคยผ่านการเลือกตั้ง 2.ให้วินิจฉัยว่า ครม.นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ทั้งคณะ ต้องสิ้นสุดไปด้วยหรือไม่ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญมีวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชน ตามมาตรา 180 วรรคหนึ่ง (1) มาตรา 180 วรรคสอง มาตรา 182 (5) มาตรา 174 (4) มาตรา 102 (3) และมาตรา 100 (2) เนื่องจากมี ส.ส.สัดส่วนหลายคนเป็นรัฐมนตรี แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะย้ายพรรคได้หรือไม่ และ 3.ให้วินิจฉัยว่านายชวรัตน์ ชาญวีระกูล จะสามารถดำรงตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่ เนื่องจากมาตรา 171 วรรคสอง บัญญัติให้นายกฯ ต้องเป็น ส.ส.แต่นายชวรัตน์ไม่ได้เป็น ส.ส. น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.กล่าวว่า ขอตั้งข้อสังเกตถึงประธานสภาว่า จะสามารถทำหน้าที่เป็นประธานสภาต่อไปได้หรือไม่ เพราะเป็น ส.ส.สัดส่วน ซึ่งยังมีปัญหาตามที่คณะ ส.ว.ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และจะสามารถทำหน้าที่ประธานสภาในวันโหวตเลือกนายกฯ ได้หรือไม่ จึงน่าจะรอความชัดเจนเรื่องนี้ก่อน รวมถึงรักษาการนายกฯ ที่ไม่ได้เป็น ส.ส.จะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายประสพสุขกล่าวว่า จะตรวจสอบการยื่น และจะส่งศาลรัฐธรรมนูญโดยเร็วที่สุด ส่วนการประชุมสภาสมัยวิสามัญที่คาดว่าจะมีขึ้นวันที่ 8-9 ธันวาคม นั้น ถ้าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ถือว่านายชัยยังอยู่ในตำแหน่งเหมือนเดิม ถ้ามีการโปรดเกล้าฯ พ.ร.ฎ.เปิดสมัยประชุมก็สามารถประชุมได้ กกต.-ตุลาการชี้"ชวรัตน์-ชัย"สิ้นสภาพ นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ความเห็นกรณีนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล และนายชัย ชิดชอบ ว่า ไม่ควรเสี่ยงปฏิบัติหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีและประธานสภา เพราะจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ ควรให้มีการตีความให้แน่เสียก่อนว่าสมาชิกภาพของ ส.ส.สัดส่วนสิ้นสุดลงพร้อมการยุบพรรคหรือไม่ เพราะ ส.ส.สัดส่วนย้ายพรรคไม่ได้ในกรณีปกติ ด้านนายปราโมทย์ นาครทรรพ อดีตตุลาการรัฐธรรมนูญ และนายชัยอนันต์ สมุทวณิช นายกราชบัณฑิตสภา อดีตตุลาการรัฐธรรมนูญ มีความเห็นพ้องกันว่า สมาชิกภาพของ ส.ส.สัดส่วนสิ้นสุดลงตามการยุบพรรค ไม่สามารถถ่ายโอนไปยังพรรคอื่นๆ ได้ เพราะจะขัดกับหลักรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง ซึ่งจะต้องฟรี, แฟร์, แอ็กคิวเรต แอนด์ รีพรีเซ็นเททีฟ คือ สุจริต เที่ยงธรรม และมีความเป็นตัวแทนอย่างถูกต้อง ปราศจากข้อสงสัย กกต.เคาะเลือกตั้ง22จังหวัด11ม.ค. นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต.เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกต.วันนี้ (4 ธ.ค.) ได้พิจารณาเรื่องวันเลือกตั้งแทนตำแหน่ง ส.ส.29 คน 26 เขต ใน 22 จังหวัด จาก 3 พรรคการเมืองที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งเพิกถอนสิทธิ์ โดยจะเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาต่อที่ประชุม ครม. กำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 11 มกราคม 2552 รับสมัครเลือกตั้งวันที่ 22-26 ธันวาคม 2551 เลือกตั้งล่วงหน้าวันที่ 3-4 มกราคม 2552 ส่วนกรณี ส.ส.สัดส่วนจะย้ายพรรค และมีสถานภาพ ส.ส.ที่จะโหวตนายกฯ ได้หรือไม่ รวมถึงสถานะของนายชัย ชิดชอบ ยังเป็นประธานสภาอยู่หรือไม่เมื่อย้ายไปเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย นายสุทธิพลกล่าวว่า ที่ประชุมเห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของสภาที่จะพิจารณา แต่หากมีการร้องเรียนก็คงต้องยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เบื้องต้น กกต.ได้ประสานขอคำวินิจฉัยคดียุบพรรคจากศาลรัฐธรรมนูญมาประกอบการพิจารณาด้วย ซึ่งจะได้คำวินิจฉัยในวันจันทร์ที่ 8 ธันวาคมนี้ เพื่อไทยหัก"เจ๊แดง"เมินพรรคร่วม รายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทยแจ้งว่า นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กำลังประสานพรรคร่วมรัฐบาลเดิมในการจับขั้วการเมืองตั้งรัฐบาลใหม่ต่อไป แม้พรรคร่วมรัฐบาลจะยื่นเงื่อนไขว่า ควรเปลี่ยนให้พรรคอื่นเสนอบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี เช่น พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร หรือนายเสนาะ เทียนทอง แทนโควตาของพรรคเพื่อไทย เพื่อป้องกันความวุ่นวายทางการเมือง เบื้องต้นนางเยาวภายอมรับหลักการนี้ไปแล้ว แต่ทราบว่าแกนนำพรรคเพื่อไทยหลายส่วนไม่ยอมยกโควตานี้ให้พรรคร่วมรัฐบาล และย้ำว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่ต้องเป็นคนของพรรคเพื่อไทยเท่านั้น ข่าวแจ้งด้วยว่า หากการเจรจาลงตัวเมื่อใดนั้น อายุของนายกรัฐมนตรีคนใหม่น่าจะทำงานไปสักระยะคือ 2 เดือน เพื่อให้ ส.ส.จัดการย้ายพรรคให้จบและมีความมั่นคงโดยกฎหมายรองรับ และเมื่อเรียบร้อยเมื่อใดก็จะยุบสภาทันที แนะทางออกแยกตัวไปจับขั้วปชป. รายงานข่าวจาก ส.ส.กลุ่มเพื่อนเนวินเปิดเผยว่า ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา แกนนำกลุ่มเพื่อนเนวิน รวมทั้งแกนนำจากพรรคภูมิใจไทย (พรรคมัชฌิมาธิปไตยเดิม) พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา พรรคประชาราช รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ นัดหารือเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลขั้วใหม่ หลังจากบุคคลเหล่านี้ได้รับคำแนะนำจากผู้ใหญ่ในบ้านเมืองคนหนึ่งที่เสนอทางออกทางการเมือง โดยได้รับคำแนะนำว่า พรรคร่วมรัฐบาลเดิมจะแยกตัวออกจากพรรคเพื่อไทย และขอให้ไปรวมกับพรรคประชาธิปัตย์ตั้งรัฐบาล โดยให้นายชวน หลีกภัย เป็นนายกฯ รายงานข่าวกล่าวว่า คำแนะนำของผู้ใหญ่ในบ้านเมืองคนดังกล่าว ระบุต่อมาว่า พรรคขนาดกลางและพรรคเล็กในวันนี้ เช่น พรรคเพื่อแผ่นดิน ที่มี ส.ส.24 คน พรรคภูมิใจไทย (พรรคมัชฌิมาธิปไตย) ที่มี ส.ส.11 คน พรรครวมใจไทยฯ ที่มี ส.ส. 9 คน พรรคประชาราชที่มี ส.ส.5 คน รวมแล้ว 49 คน หากรวมกับกลุ่มเพื่อนเนวิน 37 คน จากเดิมที่เคยมี ส.ส.80 คน และตอนนี้เหลือ 37 คน โดยกลุ่มนี้จะแยกตัวออกมาและกำลังเลือกว่าจะไปสังกัดกับพรรคภูมิใจไทย พรรคมหาชน พรรคประชาราช หรือพรรคประชาธิปัตย์ บางส่วนของกลุ่มเพื่อนเนวินอาจจะสังกัดพรรคเพื่อไทยบ้าง แต่พรรคขนาดกลางและพรรคเล็ก หากรวมกันก็จะมี ส.ส.เกือบร้อยคน และเป็นขั้วที่สามทางการเมืองที่มีความสำคัญทันที เมื่อไปรวมกับพรรคประชาธิปัตย์ที่มี ส.ส.164 คน ก็จะตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากคือ 260 กว่าเสียงได้ สูตรนี้ยังไม่รวม ส.ส.พรรคชาติไทยที่จะย้ายไปพรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งเหลือ ส.ส.15 คนจากเดิม 34 คน และยังไม่ให้คำตอบใดๆ ว่าเห็นด้วยและยอมรับแนวคิดนี้หรือไม่ หากพรรคชาติไทยพัฒนายอมรับสูตรนี้ก็จะมี ส.ส.เพิ่มขึ้นอีก รายงานข่าวกล่าวว่า คำแนะนำของผู้ใหญ่ในบ้านเมืองก็มีเงื่อนไขทางการเมืองว่า หากพรรคขนาดกลางและพรรคเล็ก รวมทั้งกลุ่มเพื่อนเนวินยังร่วมงานกับพรรคเพื่อไทยนั้น ความวุ่นวายทางการเมืองจะไม่มีทางยุติ และคดีความทางการเมืองที่ ส.ส.เหล่านี้ยังค้างคาอยู่ เช่น คดีทุจริตที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) สอบสวน ครม.ไทยรักไทย, มติ ครม.เขาพระวิหาร, การย้ายพรรคของ ส.ส.สัดส่วน ที่ต้องหาพรรคใหม่สังกัดภายใน 60 วัน แม้จะหาพรรคได้แล้วก็ตาม คดีความเหล่านี้จะโดนเช็กบิล และ ส.ส.สัดส่วนจะหมดสภาพการเป็น ส.ส.ทันที โดยข้อเสนอของผู้ใหญ่คนดังกล่าวเบื้องต้นนักการเมืองเหล่านี้ยอมรับและน่าจะปฏิบัติตามแล้วด้วย
logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ