Lifestyle

หน้าศก./กนง.ฉีดยาแรงลดดอกเบี้ย1%

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หน้าศก./กนง.ฉีดยาแรงลดดอกเบี้ย1% ห่วงเศรษฐกิจชะลอตัวมาก-หั่นเป้าจีดีพีปีนี้เหลือ3% ห่วงเศรษฐกิจแย่หนัก กนง.ฉีดยาแรง ลดดอกเบี้ยนโยบายรวดเดียว 1% ชี้ปัญหาการเมืองส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในไตรมาส 4 ต่อเนื่องไปถึงปีหน้า หมดห่วงปัญหาเงินเฟ้อหลังราคาน้ำมันร่วง ยันแม้ลดต่ำมากแต่ไม่เกิดเงินฝืดขึ้นในปีหน้าแน่นอน หวังธนาคารพาณิชย์ตอบรับสัญญาณโดยเร็ว พร้อมหั่นเป้าเศรษฐกิจปีนี้เหลือ 3-3.4% ส่วนปีหน้าเติบโตราว 2.8-4% น.ส.ดวงมณี วงศ์ประทีป ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สายนโยบายการเงิน แถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2551 ว่า กนง.มีมติให้ลดดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร (อาร์/พี) ระยะ 1 วัน ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 1% ทำให้ดอกเบี้ยลดลงมาอยู่ที่ 2.75% และเป็นการลดดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 16 เดือน เนื่องจากปัญหาการเมืองส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจในไตรมาส 4 ปีนี้ จนถึงปี 2552 มีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวสูง "หวังว่าการลดดอกเบี้ยในครั้งนี้ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะค่อนข้างใกล้ เพระเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงในการชะลอตัวลงมาก เพราะฉะนั้น เป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า จะใช้นโยบายดอกเบี้ยดูแลเศรษฐกิจ ขณะที่เงินเฟ้อไม่มีปัญหา และแม้เงินเฟ้อจะลดลงต่ำมากใกล้ศูนย์ แต่จะไม่เกิดเงินฝืด เพราะเรายังมีกิจกรรมเศรษฐกิจ จะไม่เห็นเงินฝืดในประเทศไทย" น.ส.ดวงมณี กล่าวและว่า เมื่อ กนง.ลดดอกเบี้ยแล้ว ในส่วนของธนาคารพาณิชย์จะปรับลดลงเมื่อไร คงต้องขึ้นกับสภาพคล่องของแต่ละธนาคาร แต่ กนง.หวังว่าธนาคารพาณิชย์จะตอบรับอย่างเร็วที่สุด น.ส.ดวงมณีกล่าวว่า ปัญหาการเมืองภายในประเทศมีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเฉพาะความเชื่อมั่นและการท่องเที่ยว ขณะที่แรงกระตุ้นจากภาครัฐมีข้อจำกัด ทั้งเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณและการลงทุน ทำให้ต้องใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลงมาช่วยฟื้นเศรษฐกิจ โดย กนง.ยังประเมินด้วยว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยปรับลดลงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ ซึ่งเดิมในปี 2551 คาดว่าจีดีพีน่าจะขยายตัว 4.3-5% ลดลงเหลือประมาณ 3-3.4% ส่วนในปี 2552 เดิมคาดว่าจะขยายตัว 3.8-5% ลดลงเหลือ 2.8-4% ทั้งนี้ เมื่อพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยอมสลายการชุมนุมไปแล้ว ก็ต้องติดตามว่าประเทศไทยจะเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับมาได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไปว่าการเมืองจะนิ่งจริงหรือไม่ รัฐบาลจะบริหารงานได้อย่างต่อเนื่อง ผลักดันโครงการต่างๆ ให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ได้หรือไม่ ซึ่งยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามดูในระยะ 2 สัปดาห์ข้างหน้าในการตั้งรัฐบาลชุดใหม่ แต่ยอมรับว่า ขณะนี้เกิดความล่าช้าในนโยบายกระตุ้นการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาล ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ช้า นอกจากนี้ ยังต้องติดตามวิกฤติการเงินโลก ซึ่งมีผลกระทบต่อประเทศอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจรุนแรงกว่าที่คาด และส่งผลต่อการส่งออกของไทย
logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ