Lifestyle

จากเชียงรายถึงสายน้ำโขง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เรื่องและภาพ : นิภาพร ทับหุ่น

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เชียงราย กำลังเป็นดอกไม้หอมที่มีแต่คนรุมดอมดมอยู่ไม่ขาด เพราะตั้งแต่เปิดสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 ที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย นักท่องเที่ยวจากจีนแผ่นดินใหญ่ก็กรูกันเข้ามา และยิ่งมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อย่างเป็นทางการด้วยแล้ว ใครๆ ก็อยากมาสัมผัสเชียงราย

ไม่ต้องเอ่ยอ้างใครมากมาย เอาแค่ตัวเรา ปีนี้มาเชียงรายกี่รอบก็ยังตอบตัวเองไม่ได้

ศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของเชียงรายมีมากมายพอที่จะเที่ยวได้ทั้งปีแบบไม่มีเบื่อ จัดสรรวันว่าง พร้อมๆ กับเลือกเส้นทาง แล้วออกไปสัมผัสความสวยงามของเชียงรายด้วยกัน

1.อย่างที่บอก ต้องเลือกเส้นทางดีๆ เพราะเชียงรายเต็มไปด้วยแหล่งท่องเที่ยว ก่อนหน้านี้เราเคยไปชมงานศิลปะ ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเชียงราย ก็ดีแสนดี มีแผนที่ท่องเที่ยวหอศิลป์ในถิ่นเชียงรายให้ตามไปชมด้วย หรือจะเป็นเส้นทางสายกาแฟ ไล่มาตั้งแต่ดอยช้าง ดอยวาวี ดอยตุง ระหว่างทางก็มีร้านฮิพๆ เก๋ๆ มากมาย ขาปั่นจักรยานต้องบอกเลยว่า มาให้ได้ เส้นทางจักรยานที่เชียงรายสวยจนลืมไม่ลง ไหนจะนักชิม นักช้อป นักนิยมชมชอบธรรมชาติ ถ้ามีโอกาสขอให้มาเถอะ รับรองไม่ผิดหวัง(โฆษณาเหมือนได้ตังค์)

คราวนี้มาเพราะสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงราย ชวนมาสำรวจเส้นทางท่องเที่ยวในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจ 3 อำเภอ นั่นคือ แม่สาย เชียงแสน และเชียงของ ซึ่งเป็นชายแดนที่สำคัญของไทย เอาแค่แม่สายอำเภอเดียวก็มีผู้คนเข้า-ออกที่ด่านพรมแดนมากถึงปีละกว่า 2 ล้านคน เชียงแสนอยู่ที่ราวๆ 3 แสนคน ส่วนเชียงของยังต้องรอข้อมูลที่ถูกต้องจากจังหวัดอีกที นักท่องเที่ยวเข้า-ออกเยอะขนาดนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เชียงรายจะมีสถานท่องเที่ยวหลากหลายรูปแบบ

แม่สาย เป็นอำเภอที่อยู่ทางทิศเหนือสุดของเชียงรายและเหนือสุดของประเทศไทยด้วย ซุ้ม “เหนือสุดแดนสยาม” จึงตั้งตระหง่านอยู่ที่รอยต่อชายแดนระหว่างแม่สายของไทยและเมืองท่าขี้เหล็กของเมียนมา ใครผ่านมาเป็นต้องโพสท่าถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึกกันทั้งนั้น

จะบอกว่า “ตลาดชายแดนแม่สาย” เป็นดาราชูโรงของเชียงรายเลยก็ได้ เพราะที่นี่เป็นแหล่งซื้อขายสินค้าขนาดใหญ่ที่มีเม็ดเงินหมุนเวียนมากถึงปีละ 1-2 หมื่นล้านบาท แต่นอกจากความคึกคักวุ่นวาย แม่สายยังมีมุมสบายๆ ให้นักท่องเที่ยวสายชิลล์ได้เลือกสัมผัสกันด้วย

เรากำลังหมายถึง ชุมชนปางห้า หมู่บ้านท่องเที่ยวที่อยู่ไม่ไกลชายแดนไทย-เมียนมา เท่าไรนัก ที่นี่เป็นชุมชนที่รวบรวมผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์เอาไว้ เพราะฉะนั้นในหมู่บ้านจึงเต็มไปด้วยความหลากหลายทั้งภาษา ศิลปะ วัฒนธรรม และการดำรงชีวิต

การท่องเที่ยวในชุมชนปางห้า จะเป็นลักษณะของการท่องเที่ยวชุมชนโฮมสเตย์ โดยสามารถเข้าพักในบ้านของชาวบ้านได้ และมีฐานต่างๆ ให้ได้เรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็น “บ้านคนเอาถ่าน” ที่มี “ครูต้อย” คอยเปิดบ้านต้อนรับนักท่องเที่ยวที่อยากเรียนรู้เกี่ยวกับการผลิตถ่านที่มีควันน้อยและใช้ได้นาน ส่วน “บ้านเทียน 12 ราศี” เน้นการผลิตเทียนมงคลให้กับทุกคนที่มาเยี่ยมเยือน

“บ้านขนมพิมพ์” เหมาะสำหรับคนรักการชิมอย่างยิ่ง เพราะที่นี่จะมีขนมอร่อยๆ ให้ได้ลิ้มลองมากมาย ใครไปแล้วอย่าลืมชิม “ขนมล็อคนา” ของป้าบุญออนด้วยนะ รับรองว่า อร่อยเด็ด แต่ถ้ายังไม่อิ่มไปที่ “บ้านอิ่มอุ่น” ที่นี่สอนทำอาหารไทลื้อ จะเลือกบ้านนี้ไว้ฝากท้องในมื้อใดมื้อหนึ่งของวันก็ได้

จินนาลักษณ์ Miracle of Saa คือชื่ออย่างเป็นทางการของร้านกระดาษสาทำมือ หนึ่งในฐานเรียนรู้ด้านการท่องเที่ยวที่อยู่ในชุมชนปางห้า ซึ่งจุดเด่นของกระดาษสาจินนาลักษณ์อยู่ที่การนำวัสดุธรรมชาติในชุมชน เช่น ต้นกล้วย ดอกไม้ เปลือกกระเทียม หญ้าแฝก ฯลฯ มาผลิตและพัฒนาจนได้กระดาษสาที่มีสีสันสวยงาม ลวดลายและเนื้อกระดาษแตกต่างกันไปตามเส้นใยของพืช เป็นผลิตภัณฑ์รายแรกของประเทศไทยและของโลกที่ได้รับรางวัล UPCYCLE – Carbon Footprint โดยเป็นการนำวัสดุเหลือใช้มาผลิตเป็นกระดาษสาเส้นใยธรรมชาติที่นอกจะมีคุณภาพแล้ว ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น ความเด็ดดวงของกระดาษสาจินนาลักษณ์ยังสร้างความสนใจให้กับนานาชาติได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเกาหลีใต้ เพราะทุกๆ ปีในงานแฟชั่นโชว์ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ดีไซเนอร์ชื่อดังจะนำกระดาษสาจินนาลักษณ์มาดีไซน์เป็นชุดวิวาห์ที่สวยงาม ทันสมัย และสวมใส่ได้จริง โดยหลังจากงานแฟชั่นโชว์ ชุดวิวาห์จากกระดาษสาจะถูกเก็บไว้ ณ พิพิธภัณฑ์กระดาษสา ในเมืองชอนจู ประเทศเกาหลีใต้

แน่นอนว่า ความรู้ควรมาควบคู่กับความสนุก หลังได้รับข้อมูลต่างๆ ที่เป็นประโยชน์แล้ว ใครจะลงมือทำกระดาษสาที่เป็นฝีมือของตัวเองแบบที่เรียกว่ามีเพียง “แผ่นเดียวในโลก” ก็ลงมือทำได้เลย ทางร้านมีบริการอยู่แล้ว หรือใครสนใจจะ “มาร์คหน้าทองคำ” โดยใช้แผ่นใยไหมที่เดินเส้นอย่างเป็นระเบียบโดยหนอนไหมที่ถูกเลี้ยงมาอย่างดีก็ได้ และนี่ก็เป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งที่สร้างรายได้อันงดงามให้กับชุมชนปางห้า

2.หากขับรถเลาะจากอำเภอแม่สายซึ่งเป็นชายแดนไทย-เมียนมาลงมาเรื่อยๆ จะพบกับ เชียงแสน ดินแดนที่เคยเป็นอดีตอันรุ่งเรืองของอาณาจักรเชียงแสนแห่งล้านนาไทย โดยมีภูมิประเทศตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง สายน้ำแห่งชีวิตของผู้คนกว่า 70 ล้านคนใน 7 ประเทศ คือ ทิเบต, จีน, พม่า, ลาว, ไทย, กัมพูชา และเวียดนาม

เชียงแสนตั้งอยู่บนแผ่นดินที่เรียกว่า “สามเหลี่ยมทองคำ” โดยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับเพื่อนบ้าน มีบริการเรือนำเที่ยวทั้งแบบระยะใกล้และไกล ถ้าใกล้ก็สามารถข้ามไปเที่ยวชายแดนเพื่อนบ้านอย่างลาวและเมียนมาได้ แต่ถ้าไกลต้องพึ่งบริการเรือนำเที่ยวขนาดใหญ่ ซึ่ง บริษัท แม่โขง เดลต้า ทราเวล เอเจนซี่ จำกัด มีเรือ “กาสะลองคำ1-2” ที่ติดตั้งระบบ AIS (Automatic Identification System) หรือระบบรายงานตนอัตโนมัติให้บริการ สามารถนำพานักท่องเที่ยวลัดเลาะเกาะแก่งและโขดหินที่สวยงามที่มีอายุมากกว่าพันปีขึ้นไปถึงเขตปกครองชนชาติไทในสิบสองปันนาของจีนได้ ส่วนใครที่อยากไปหลวงพระบางก็เดินทางได้ด้วยเรือกาสะลองที่มีระบบความปลอดภัยเท่าเทียมกัน

ไม่นั่งเรือก็มานั่ง “รถรางนำเที่ยว” ก็ได้ เพราะที่นี่มีบริการสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเป็นหมู่คณะ เพียงแค่ติดต่อล่วงหน้าไปที่สำนักงานเทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน ก็จะได้รับการอำนวยความสะดวกทั้งรถรางและมัคคุเทศก์นำเที่ยว

เชียงแสนเป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่มีเรื่องราวความเป็นมายาวนานกว่า 700 ปี มีความสมบูรณ์ชัดเจนทุกแง่มุม ทั้งรูปแบบของศิลปกรรม สถาปัตยกรรม คูเมือง ป้อมประตู รวมถึงโบราณสถานที่พบอยู่ทั้งในและนอกตัวเมืองอีกกว่า 150 แห่ง ดังนั้นเชียงแสนจึงมีต้นทุนด้านการท่องเที่ยวที่สมบูรณ์

รถรางจะเคลื่อนขบวนพานักท่องเที่ยวไปรอบๆ เมืองโบราณ โดยจะผ่านกำแพงเมืองเก่าไปเรื่อยๆ ผ่านวัดโบราณมากมาย แต่ไฮไลท์สำคัญอยู่ที่ วัดป่าสัก วัดร้างที่สร้างขึ้นโดยพญาแสนภู โดยมี “เจดีย์ป่าสัก” รูปแบบสถาปัตยกรรมได้รับอิทธิพลมาจากหิริภุญไชยเป็นจุดสำคัญ

เจดีย์ป่าสักเป็นเจดีย์มณฑปยอดระฆัง 5 ยอด ที่ฐานเจดีย์เป็นซุ้มพระ 12 ซุ้ม รูปแบบฐานคล้ายกับองค์เจดีย์กู่กุดจังหวัดลำพูน ด้านศิลปกรรมได้รับอิทธิพลมาจาก พุกาม ขอม สุโขทัย รวมๆ กันแล้วเจดีย์วัดป่าสักจึงค่อนข้างพิเศษ ดูแปลกตา ซึ่งนักวิชาการหลายสาขากำหนดให้เป็นเจดีย์แบบพิเศษ (แบบเชียงแสน-เชียงใหม่)

อีกวัดที่สำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือ วัดพระธาตุเจดีย์หลวง โบราณสถานเก่าแก่ที่อยู่คู่กับเมืองเชียงแสนมาตั้งแต่สมัยพญาแสนภู โดยหลักฐานในชินกาลมาลีปกรณ์บันทึกไว้ว่า สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1875 หลังจากพญาแสนภูสร้างเมืองเชียงแสนได้ 3 ปี ลักษณะเจดีย์เป็นทรงระฆัง ฐานสูงแปดเหลี่ยมแบบล้านนา มีความสูง 88 เมตร ฐานกว้าง 24 เมตร ถือเป็นเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองเชียงแสน

ความที่เป็นอาณาจักรแห่งความรุ่งเรืองมายาวนาน ทำให้เชียงแสนมีโบราณสถานเป็นมรดกล้ำค่าส่งทอดมาถึงยุคปัจจุบันมากมาย แต่ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของซากปรักหักพัง ทว่า ควรค่าแก่การไปเยี่ยมไปเยือนที่สุด

3.เมืองสงบงามริมแม่น้ำโขงที่ชื่อ เชียงของ แม้จะเป็นเมืองเล็กๆ แต่ก็มีประวัติศาสตร์ยาวนานเคียงคู่มาพร้อมกับเมืองหิรัญนครเงินยาง(เชียงแสน) หากถามในมุมของประวัติศาสตร์อาจมีน้อยคนนักที่จะรู้ แต่ถ้าย้อนดูในเรื่องของการท่องเที่ยว เชียงของเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวแนวแบกเป้มาตั้งแต่สมัยที่คนไทยยังไม่นิยมแบกเป้เที่ยว เพราะเชียงของเป็นจุดล่องเรือที่จะพานักท่องเที่ยวไปสู่เมืองมรดกโลกอย่างหลวงพระบางได้รวดเร็วที่สุด (ในสมัยนั้น)

กระทั่งปัจจุบัน มีการพัฒนาเกิดขึ้นมากมาย และที่แน่นอนที่สุด เชียงของมีสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งใหม่ ที่ทำให้การเดินทางไปมาหาสู่กันระหว่างไทยกับเพื่อนร่วมแผ่นดินในทวีปเอเชียทำได้ง่ายขึ้น

หากเป็นสายปั่น สายชิลล์ การขี่จักรยานชมเมืองเชียงของถือเป็นเรื่องที่ควรลองที่สุด เพราะที่นี่เป็นเมืองเล็กๆ ที่มีตรอกซอกซอยแยกย่อยมากมาย ถ้าจะเดินก็ได้ แต่ปั่นไปก็เพลินดี ส่วนเส้นทางการปั่นไม่ต้องวางแผนมาก เพราะผังเมืองไม่ซับซ้อน ปั่นให้หลงยังไงก็สามารถหาทางกลับมาได้ไม่ยาก

จะปั่นไปชมบรรยากาศที่ท่าเรือขนถ่ายสินค้าก็ได้ เลยไปอีกหน่อยก็ถึง “โฮงเฮียนแม่น้ำของ” ของครูตี๋-นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา ไปนั่งคุยเรื่องเชียงของสายเขียว(Green) กับครูตี๋ก็สนุกได้สาระดี หรือวัดวาอารามในเชียงของก็มีมากมาย แวะไหว้พระสักวัดสองวัดก็น่าจะช่วยให้จิตใจสงบสบายขึ้น เย็นๆ ปั่นไปดูพระอาทิตย์ตกริมขอบโขงแถวๆ “ท่าผาถ่าน” ก็โรแมนติกไม่น้อย

แต่สำหรับ พิพิธภัณฑ์ลื้อลายคำ ไม่แนะนำให้ขี่จักรยานไป ยกเว้นสายแข็ง เพราะอยู่ที่บ้านศรีดอนชัย ซึ่งไกลจากตัวเมืองออกไปพอสมควร ที่นี่เป็นแหล่งรวบรวมประวัติศาสตร์และความเป็นมาของชาวไทลื้อที่มาจากสิบสองปันนา ภายในจัดเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงประวัติ การอยู่อาศัย และลวดลายบนผืนผ้าของชาวไทลื้อไว้อย่างน่าสนใจ

พื้นที่ตรงกลางคือ “ข่วงวัฒนธรรม” เป็นลานกว้างสำหรับจัดแสดงวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตของชาวไทลื้อ เช่นการปั่นฝ้าย สาวฝ้าย มีกาดหมั้วครัวฮอม และการแสดงต่างๆ รวมถึงการรับขวัญเรียกขวัญในแบบของชาวไทลื้อด้วย

ด้านในสุดของพื้นที่คือ “ร้านกาแฟซังวาคาเฟ่” ซึ่งนอกจากจะสดชื่นไปกับเครื่องดื่มรสดี พร้อมเค้กและไอศกรีมที่ชวนอิ่มอร่อยแล้ว ทิวทัศน์สีเขียวๆ นอกระเบียงร้านยังช่วยให้จิตใจเบิกบานแจ่มใสได้ด้วย ใครจะเดินลงไปด้านล่างเพื่อเดินชมสะพานไม้ไผ่ “โขมาอีเก้อ” ขอแนะนำให้ไปช่วงเย็นๆ แสงอ่อนตอนตะวันใกล้จะลับขอบฟ้าช่วยเพิ่มบรรยากาศให้ดูโรแมนติกขึ้นเป็นสิบเท่า

ปิดท้ายด้วย ไร่แสงอรุณ รีสอร์ทและฟาร์มเกษตรอินทรีย์ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง ที่นี่นอกจากจะมีบรรยากาศดีๆ ที่แวดล้อมไปด้วยธรรมชาติอันแสนบริสุทธิ์แล้ว ข้าวปลาอาหารก็ยังการันตีได้ว่าสะอาด ปลอดภัย และห่างไกลจากสารเคมีที่สุด

ส่วนจุดถ่ายรูปยอดนิยมคงหนีไม่พ้นสะพานไม้ที่ทอดยาวสุดสายตา ผ่านท้องทุ่งและไร่นา ไปจนถึงบ้านพักที่อยู่บนเนินผานั่นเอง

จะด้วยผู้คน ประวัติศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ ศิลปะ หรืออะไรก็ตาม เชียงรายยังคงงดงามและควรค่าแก่การไปเยี่ยมไปเยือนอยู่เสมอ ต้องเตือนไว้ว่า ถ้าเผลอไปแล้ว 1 ครั้ง จะมีอีกหลายๆ ครั้งตามมา

การเดินทาง

เชียงรายอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครเกือบ 800 กิโลเมตร ถ้าขับรถไปอาจต้องใช้เวลานานหน่อย ทางที่ดีแนะนำให้นั่งเครื่องบินแล้วไปเช่ารถเที่ยวจะดีกว่า สายการบินมีให้บริการหลายสาย แนะนำ ไทยสไมล์ โทรศัพท์ 0 2118 8888 หรือ www.thaismileair.com ไลอ้อนแอร์ โทรศัพท์ 0 2529 9999 หรือ www.lionairthai.com แอร์เอเชีย โทรศัพท์ 0 2515 9999 หรือ www.airasia.com

ส่วนรถไฟไม่มีถึงสถานีเชียงราย ต้องไปลงที่เชียงใหม่ หรือลำปางแล้วต่อรถขึ้นมาอีกที รถโดยสารมีทั้งธรรมดาและปรับอากาศ ออกจากสถานีขนส่งสายเหนือ(หมอชิต) ทุกวัน สอบถาม บริษัท ขนส่ง จำกัด โทรศัพท์ 1490 หรือ www.transport.co.th

สอบถามรายละเอียดการท่องเที่ยวได้ที่ สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงราย โทรศัพท์ 0 5315 0192 หรือ ททท.สำนักงานเชียงราย โทรศัพท์ 0 5371 7433

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ