Lifestyle

ของเยี่ยม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ดร.กรุณา นนทรักส์

การไปโรงพยาบาลในทุกครั้งได้เห็นทั้งภาพสุขและเศร้าค่ะ ช่วงก่อนหน้านั้นคุณพ่อยังอยู่ที่ตึกสวัสดิ์-ล้อม โอสถานุเคราะห์ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เลยได้มาสังเกตการณ์อยู่บ่อยๆ

สิ่งหนึ่งที่ติดไม้ติดมือกันมาคือ “ของเยี่ยม” ที่มีทั้งในรูปแบบกระเช้าและส้มสูกลูกไม้ใส่ถุงมาแบบง่ายๆ ซึ่งของแทนใจที่ว่าเหล่านี้ที่จริงก็อาจต้องการ “ฝากญาติ” เพราะเป็นผู้เฝ้าดูแลอยู่ใกล้ชิดด้วยตัวคนไข้เองก็อาจมีข้อจำกัดที่รับประทานไม่ได้

ก่อนจะให้ต้องดูว่ามอบแล้วไม่กระทบผู้ป่วยหรือญาติเกินไปนะคะ

คนเรารักกันชอบกันก็ย่อมมีน้ำใจเอื้อเฟื้อให้แก่กัน ดังดิฉันได้เห็นการทำงานของคุณหมอและคุณพยาบาลที่ดูแลอาการให้คุณตาแล้วประทับใจยิ่ง ด้วยสิ่งหนึ่งที่จำได้คืออาจารย์หมอกฤษดา ศิรามพุช เคยบอกว่าบุคลากรที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์นั้นดูแลคนไข้อย่าง “ครบ” มาตรฐาน ดิฉันก็เห็นจริงว่า ทั้งความรู้และความเอาใจใส่นั้นเป็นเลิศจริงๆ

แต่อาจารย์กฤษดายังบอกว่า มีความพิเศษอีกคือ “ความอารีอารอบ” ดิฉันเห็นว่าทั้งหมดนี้ตอบโจทย์ของคุณหมอ คุณพยาบาล คุณผู้ช่วยพยาบาลและนักการ ณ ตึกสวัสดิ์-ล้อม ชั้น 3 นี้จริงแท้ค่ะ

ส่วนเรื่องของเยี่ยมที่จะคุยกันวันนี้ก็เพราะอยากให้ทุกบ้านที่มาเยี่ยมไข้กันมีความสุขของฝากที่มาจากใจไม่ต้องกังวลมากค่ะ เรื่องของเยี่ยมไข้ก็อาจกลายเหมือนกันโดยเฉพาะ “ของกิน” ที่เราอาจมอบแบบไม่ต้องคิดมากให้คนทั่วไปได้แต่ไม่ใช่กับผู้ป่วย

โรคปวดเก๊าท์ยูริกเกินจะต้มซุปไก่ฝากก็คงไม่เหมาะนัก ป่วยไตวายก็ต้องไม่มอบของกินที่อุดมด้วยโปรตีนหรือขนมปังที่ใส่ผงฟูเพราะทำให้ไตทำงานหนักได้

ฟังดูเหมือนมีรายละเอียดมากแต่ที่จริงแล้วไม่เลยค่ะ เพราะถ้ามีหลักอายุรวัฒน์อยู่ในหัวใจแล้ว

เราก็จะคิดเป็นขั้นอย่างรอบคอบโดยอัตโนมัติดังตัวอย่างต่อไปนี้

๐ ของเยี่ยมที่เหมาะเจาะ

1) ถ้าเป็นผู้ป่วยติดเชื้อก็ต้องระวังเรื่องความสะอาด แม้ดอกไม้เยี่ยมถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ควรวางไว้หัวเตียงเพราะอาจมีเชื้อโรคและเชื้อรามารบกวนคนไข้ได้ เรื่องนี้จำเป็นแม้กระทั่งการเตรียมตัวของคนเข้าเยี่ยมทั้งเปลี่ยนรองเท้า เสื้อผ้าและแน่นอนค่ะ...ล้างมือทั้งก่อนและหลังสัมผัสคนไข้

2) คนไข้หลังผ่าตัด ก็ควรต้องดูว่าเกี่ยวกับตับไตไส้พุงใดๆ หรือไม่เพราะถ้าผ่าตัดช่องท้องจะต้องระวังเรื่องอาหารที่ย่อยยากหรือของที่มีกากมากเกินไป แต่ถ้าเริ่มกินได้อาหารที่ดีอย่างหนึ่งคือโปรตีนและอาหารจำพวกไข่

3) คนไข้ที่นอนนาน ไม่ควรให้รับประทานของที่เค็มจัดเกินไปเพราะจะทำให้ขาดน้ำ แม้แต่นมผงสำหรับผู้ใหญ่ก็ต้องดูกัน เพราะไม่ควรมีแคลอรี่สูงเกินจนทำให้คนไข้ติดเตียงตัวเต่งอ้วนจนเกิดแผลกดทับได้

4) คนไข้โรคเรื้อรังอย่างเบาหวาน หัวใจ ไต ตับและโรคปอด ท่านเหล่านี้ควรระวังเรื่องของการติดเชื้อเป็นอันดับหนึ่งจึงควรเลี่ยงของสดทั้งอาหารและดอกไม้ ส่วนของกินที่มีผลไปรบกวนโรคอย่างหวานจัด เค็มจัดหรือไขมันสูงก็ไม่ควรนำไปฝาก หากปรารถนาจริงควรเลือกชนิดที่ไม่กระทบโรคและเช็คดูให้ดีว่าอาการของโรคคุมดีหรือยัง

เรื่องสำคัญคือ “ขอให้ทราบข้อมูลจำเป็นบ้าง” อย่างน้อยก็จะได้รู้ว่าของเยี่ยมอะไรที่ต้องห้ามกับโรคที่ผู้ป่วยเป็น ด้วยคนเราไม่อาจรู้ได้ทั้งหมดแต่การทำการบ้านมาก่อนก็เหมือนกับเป็นของเยี่ยมที่ดีแล้วนะคะ

ดีกว่าให้ไปแล้วต้องมานั่งสงสัยว่าจะได้ใช้หรือเปล่า

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ