Lifestyle

อาหารไทย ในบ้านบางยี่ขัน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พิมพ์พัดชา กาคำ [email protected]

เสียงไวโอลิน คลอเคล้ากับเสียงซอ บรรเลงเพลงไทยได้หวานจับใจ ท่ามกลางบรรยากาศแสนชุ่มฉำ่ของฟ้าหลังฝน ณ บ้านบางยี่ขัน เมื่อ 113 ปีก่อน...

บ้านบางยี่ขัน สร้างเมื่อปี พศ.2446 ในสมัยรัชกาลที่ 5 จากบ้านสไตล์พาลาดิโอ ที่มีกลิ่นอายของความเป็นไทย จีน และฝรั่ง ผสมผสานกันอย่างลงตัว สร้างขึ้นเพื่อเป็นวิมาณแห่งรักระหว่าง อำมาตย์เอก พระยาชลภูมิพานิช ขุนนางและคหบดีเชื้อสายจีนผู้มั่งคั่ง กับ คุณหญิงส่วน (สกุลเดิมคือ อุทกภาชน์)

ภายหลังบ้านถูกทิ้งร้างแล้วกลับฟื้นขึ้นมาใหม่ในปี 2552 กลายเป็น โรงแรมพระยาพาลาซโซ แปลว่า คฤหาสน์แห่งพระยาชลภูมิพานิช วันนี้เราได้ไปเยือนสถานที่สุดคลาสสิก ตามคำเชิญของสถานีโทรทัศน์ PPTV ซึ่งนำละครโทรทัศน์เรื่อง สี่แผ่นดิน เวอร์ชั่นของผู้กำกับ หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล (หม่อมน้อย) กลับมาฉายใหม่ในรอบ 12 ปี ด้วยระบบเอชดี คมชัดสูง ได้รับการยกย่องว่าเป็นเวอร์ชั่นที่สมบูรณ์แบบที่สุด จัดถวายในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 72 พรรษา เมื่อ 12 ปีที่แล้ว

อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ ผู้ดูแลองค์ประกอบศิลป์และเครื่องแต่งกายของละครเรื่อง ‘สี่แผ่นดิน’ เผยว่า

“ด้วยความที่เราสอนเกี่ยวกับเรื่องเครื่องแต่งกายผ้าไทยอยู่แล้ว จึงให้เด็ก ๆ ทำรายงานกลุ่ม ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการแต่งกายของสามัญชน กลุ่มละ 10 ปี โดยให้ค้นหาจากหนังสืองานศพ ซึ่งจะมีรูปผู้ล่วงลับตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ ไล่มาถึงปัจจุบัน ส่วนของเจ้านายชั้นต่าง ๆ นั้นหาข้อมูลในหอจดหมายเหตุเป็นหลัก นอกจากนี้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้เขียนบทประพันธ์ ยังบรรยายภาพออกมาเป็นตัวหนังสือได้อย่างละเมียดละไมมาก ทำให้เราได้ข้อมูลที่ละเอียด ฉากและเครื่องแต่งกายได้สมจริงที่สุด

ในเรื่องของการแต่งกายสมัยรัชกาลที่ 5 เราได้รับวัฒนธรรมมาจากตะวันตกอย่างชัดเจน เมื่อพระชนมายุได้ 17-18 พรรษา ได้เสด็จไปสิงคโปร์ โดยนำข้าราชการ เสนาบดีไปกว่า 200 คน เพื่อดูความเจริญของที่นั่น ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ มีการปรับรูปแบบการแต่งกายแบบฝรั่ง เช่น การใส่กางเกง ใส่เสื้อแจ็คเก็ต เมื่อเสด็จกลับ ก็ได้นำมาใช้กับประเทศไทย โดยเปลี่ยนเป็นเสื้อราชประแตน คอเนห์รู ใส่กับโจงกระเบนเป็นท่อนล่าง ประยุกต์เข้าด้วยกัน คือท่อนบนเป็นฝรั่ง แต่ท่อนล่างยังคงความเป็นไทยอยู่ ส่วนเจ้านายผู้หญิงใส่เป็นทรงมิลิทารี่แจ็คเก็ต ที่ได้รับอิทธิพลมาจากอังกฤษ อเมริกา จากนั้นก็พัฒนามาเป็นเสื้อแขนหมูแฮมแบบที่แม่พลอยใส่ในละคร แต่ด้านล่างเป็นโจงกระเบนหรือจีบหน้านาง ซึ่งผ้าส่วนใหญ่เป็นผ้านำเข้าทั้งหมด

ในสมัยรัชกาลที่ 6 เราเริ่มส่งกองทหารไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 ประกอบกับลูกเสนาบดี ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ไปเรียนต่างประเทศแล้วกลับมาพอดี อย่างเช่นลูกของคุณเปรมกับแม่พลอย ดังนั้นผู้ชายก็แต่งเป็นฝรั่งเลย คือใส่แจ็คเก็ต ใส่สูท ส่วนผู้หญิงจะเริ่มแต่งตัวเป็นแบบ ‘แกสบี้’ มากขึ้น หรือหากใครยังเป็นประเพณีนิยมอยู่ ก็จะนุ่งผ้าซิ่น แต่นุ่งสั้นมาถึงใต้เข่า เป็นทรงกระโปรงแสก ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 5-6 นั้นยังไม่มีเครื่องซักรีดในไทย ต้องส่งใส่เรือไปซักถึงประเทศสิงคโปร์ ดังที่คุณเปรมส่งไปซักในละคร

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 7 พระมหากษัตริย์ท่านทรงพระสนับเพลาทรงสแล็กหมดเลย รวมถึงสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ก็ทรงฉลองพระองค์เลียนแบบแกสบี้ อาจจะเป็นทรงคอกว้างขึ้น หรือเป็นทรงคอถ่วงบ้าง และที่สำคัญคือแขนล้ำ แขนกุด ถือว่าสุภาพ เข้าวังได้ แต่ปัจจุบันไม่ได้ รวมถึงฉลองพระองค์ส่วนใหญ่ จะรับมาจากตะวันตกจำนวนมาก เช่น ห้องเสื้อลองแวง ในปารีส ส่วนสมัยรัชกาลที่ 8 เราเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ยุคที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม เริ่มนำไทยไปสู่มหาอำนาจ ให้ใส่หมวก ทำตัวเป็นฝรั่งจ๋าเลย เพื่อที่จะให้เราทันสมัยมากขึ้น

ไล่มาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 9 ในปัจจุบัน ท่านเสด็จออกไปศึกษาต่อต่างประเทศ และในช่วงปี พ.ศ. 2496 เสด็จออกเยี่ยมราษฎร ถือเป็นช่วงที่เราหันไปใช้เสื้อผ้าต่างประเทศทั้งหมด ในหัวเมืองหลัก ๆ การใช้ผ้าทอน้อยลงมาก ส่วนใหญ่ใช้ผ้าทอต่างประเทศ แต่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ครั้งเมื่อทรงออกเยี่ยมราษฎรทั้ง 72 จังหวัด ทำให้ได้เห็นถึงการแต่งกายแบบพื้นถิ่นนิยม จึงกลับมาฟื้นการแต่งกายแบบดั้งเดิม อย่างผ้าถุง ผ้าซิ่น อีกครั้ง จนกระทั่งเปิดศูนย์ศิลปาชีพขึ้น”

ด้านทรงผมนั้น แต่เดิมในสมัยรัชกาลที่ 1-4 ยังคงไว้ทรงดอกกระแจว ดอกทุ่มอยู่ แต่เมื่อเข้าสู่รัชกาลที่ 5 ผู้หญิงเริ่มไว้ผมยาวมากขึ้น ในสมัยรัชกาลที่ 6 นั้น มีการไว้ยาวหรือสั้นบ้าง เป็นทรงบ็อบ เพราะเข้ากันกับแฟชั่นแกสบี้ รวมถึงเริ่มมีการดัดผม โดยเครื่องดัดสมัยนั้น คือแท่งเหล็กที่นำไปอังไฟ แล้วนำมาม้วนเลย เพราะฉะนั้น หากแรงหรือร้อนเกินไป จะทำให้ผมขาดได้

ในส่วนของอาหารการกิน สมัยรัชกาลที่ 5 เริ่มมีกุ๊กต่างชาติ อย่างจีน ฝรั่ง เข้ามา ทำให้มีอาหารที่หลากหลาย รัชกาลที่ 5 ท่านถือเป็นต้นแบบของการพระราชทานเลี้ยงมาจนถึงปัจจุบัน คือโปรดเริ่มต้นเป็นเครื่องฝรั่ง อย่างซุป ตามด้วยสลัด และตามด้วยเมนคอร์ส หลังจากนั้นจะลงเป็นเครื่องไทย มีข้าวและกับข้าวอีก 5-6 อย่าง ดังนั้น คนที่ไม่เคยเข้ารับพระราชทานเลี้ยงเลย มาถึงก็จะกินอาหารฝรั่งกันจนหมด เมื่อลงเครื่องไทยก็กินกันไม่ไหว ถัดจากอาหารไทยแล้วก็จะมีผลไม้ ตามด้วย ชา กาแฟ ช็อกโกแลต ขนมไทย ซึ่งสมัยนั้น อาหารที่รับจากตะวันตกส่วนใหญ่ก็ยังไม่หลากหลายมากนัก ด้วยอุปกรณ์ เครื่องใช้ ในการเก็บรักษาไม่เอื้ออำนวย

ส่วนของเล่น ของสะสมนั้น สามัญชนมักเล่นพวกตุ๊กตา เครื่องปั้นดินเผาเป็นหลัก หากมีฐานะขึ้นมาหน่อย ก็จะเล่นตลับงา เครื่องลายคราม ซึ่งคนสมัยก่อนมักจะฝึกแม่บ้าน การเรือนมากกว่า ต้องหัดหั่นหัดซอยอยู่ในครัวเสียมากกว่า”

ถือเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง ทั้งศิลปะ วัฒนธรรม และประเพณี จริง ๆ สำหรับเหตุการณ์ในสมัยรัชกาลที่ 5-8 และส่งผลมาสู่ยุคปัจจุบัน ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้นั้น ยังปรากฏให้เห็นในละครเรื่องนี้

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ