Lifestyle

แอ่วน่าน สักการะพระธาตุแช่แห้ง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ไหว้พระ เสริมดวง แก้ชง ต้อนรับปีระกา

พิมพ์พัดชา กาคำ { บายไลน์}

แม้ว่าเราจะเคยไปเมือง น่าน มาแล้ว ทว่าหนาวนี้มีคนชวนไปแอ่วน่าน สักการะพระธาตุแช่แห้ง ไหว้พระ เสริมดวง แก้ชง ต้อนรับปีระกา พ.ศ.2560 แม้ว่าเราไม่ชงเพราะไม่ได้เกิดปีเถาะหรือปีระกา แต่เราก็ยังไม่เคยไปยลพระธาตุแช่แห้ง อำเภอภูเพียง วัดโบราณที่มีพระธาตุคู่บ้านคู่เมือง และเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนเกิดปีเถาะ หรือปีนักษัตรกระต่าย จึงตกปากรับคำผู้เชิญชวนด้วยความเต็มใจ เรียกได้ว่าเที่ยวกันแบบ one day trip ไปเช้าเย็นกลับก็ยังได้

เทศกาลปีใหม่ทุกปี จุดหมายของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ถ้าไม่ขึ้นเขา ดูทะเลหมอก ชมดอกไม้เมืองหนาว เนื่องจากอุณหภูมิที่หนาวเย็น ระหว่าง 8-15 องศาเซลเซียส นับว่าเหมาะแก่การแพ็คกระเป๋าขึ้นเหนือท่องเที่ยวตามสถานที่สวยงามที่สำคัญของไทย แต่ก็ยังมีนักท่องเที่ยวที่เน้นท่องเที่ยวแบบครอบครัวที่มักจะเข้าวัดทำบุญ เส้นทางสายเหนือก็คงเป็นอีกจุดหมายหนึ่งที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เลือกกัน เพราะนอกจากอากาศจะเย็นสดชื่นแล้ว วัดวาทางภาคเหนือก็มีความสวยงาม โดดเด่น และน่าไปสักการะ

งานนี้ พระเดชพระคุณพระชยานันทมุนี เจ้าอาวาสวัดพระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน เล่าถึงประวัติความเป็นมาของตำนานพระธาตุแช่แห้งให้ฟังว่า ในสมัยก่อน อาณาจักรล้านนา ล้านช้าง และพม่า ต่างเป็นแว่นแคว้นข้างเคียงที่มีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกันมาก่อน การกำหนดให้มีการไหว้พระธาตุประจำปีเกิด จึงเป็นกลไกอย่างหนึ่งของการเดินทางติดต่อกัน ทำให้คนแต่ละเมืองที่อยู่ในเขตวัฒนธรรมเดียวกัน มีความสัมพันธ์ไปมาหาสู่กันได้อย่างใกล้ชิดขึ้น หลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พุทธศาสนิกชนต่างก็ให้ความสำคัญต่อ พระบรมสารีริกธาตุ หรือกระดูกของพระพุทธเจ้า ซึ่งมักจะเรียกกันสั้น ๆ ว่า “พระบรมธาตุ” หรือ “พระธาตุ” เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจาก เป็นเศษส่วนจากพระวรกายที่เหลืออยู่ไม่มากนัก จึงต้องเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี

ในสมัยโบราณ มีการประดิษฐานพระบรมธาตุไว้ใต้เนินดิน มีลักษณะเป็นรูปครึ่งวงกลม แล้วปักฉัตรไว้ด้านบน เพื่อยกย่องและแสดงเกียรติยศของผู้ตายตามธรรมเนียมอินเดียโบราณ ต่อมาในสมัยพระเจ้าอโศก ได้ทรงโปรดให้ขุดและแจกจ่ายพระบรมสารีริกธาตุออกไปบูชายังเมืองต่าง ๆ ทำให้มีการสร้างสถูปบรรจุพระบรมธาตุขึ้นทั่วไป โดยมีรูปแบบแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น สถูปเจดีย์สำคัญของบ้านเมืองต่าง ๆ ล้วนได้รับการอธิบายว่าเป็นสถานที่บรรจุพระบรมธาตุ ฉะนั้นบางครั้งจึงนิยมเรียกสถูปเจดีย์เหล่านั้นว่า พระธาตุ ซึ่งหมายถึง พระบรมธาตุที่บรรจุอยู่ภายในสถูปเจดีย์นั่นเอง ดังนั้นการไหว้สถูปเจดีย์ ไม่ว่าจะมีรูปทรงงดงามแปลกพิสดารเพียงใดก็ตาม แต่หัวใจของการไหว้ที่แท้จริงแล้วก็คือ การกราบพระบรมสารีริกธาตุ ของพระพุทธเจ้า ที่บรรจุอยู่ภายในสิ่งก่อสร้างเหล่านั้น ดังนั้น การสักการะจึงควรกระทำด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ ปราศจากกิเลสตัณหา และที่สำคัญต้องระลึกเสมอว่า พระบรมธาตุไม่ใช่ผู้บันดาลสิ่งต่าง ๆ จึงไม่ควรขอสิ่งใดนอกจากความเป็นสวัสดิมงคล

เจ้าอาวาสวัดพระธาตุแช่แห้งเล่าว่า จากพงศาวดารเมืองน่านกล่าวว่า ในปี พ.ศ.1896 สมัยพญาการเมือง เจ้าเมืองวรนคร ได้ส่งช่างไปร่วมสร้างวัดหลวงที่สุโขทัย พระยาลือไทยจึงมอบถวายพระธาตุ 7 พระองค์ และพระพิมพ์คำ พระพิมพ์เงิน อย่างละ 20 องค์ ให้แก่พญาการเมืองเป็นการตอบแทน พญาการเมืองรู้สึกปีติยินดียิ่ง ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปบรรจุไว้ ณ ดอยภูเพียงแช่แห้ง ก่อเป็นพระเจดีย์ “พระธาตุแช่แห้ง” ที่อยู่คู่เมืองน่านมาจนทุกวันนี้ ตั้งอยู่ที่บ้านหนองเต่า ตำบลม่วงตึ๊ด อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน

จุดเด่นของพระบรมธาตุแช่แห้งถือเป็นศิลปะการก่อสร้างที่มีความวิจิตรงดงามอีกแห่งหนึ่งของภาคเหนือ รูปแบบขององค์พระเจดีย์นั้นเป็นแบบล้านนา ยังคงได้รับอิทธิพลจากเจดีย์พระธาตุหริภุญชัย เพียงแต่มีการต่อเติมแก้ไขลวดลายบางส่วนจากอิทธิพลศิลปะพม่า เช่น ฐานหน้ากระดานกลม แก้เป็นหน้ากระดานสี่เหลี่ยม และแปดเหลี่ยม และชั้นบัวคว่ำเหนือฐานแปดเหลี่ยมตกแต่งเป็นลายกลีบบัวแทน ฐานขององค์พระธาตุแช่แห้งเป็นฐานสี่เหลี่ยมซ้อนกันขึ้นไปจนสูง ใช้แผ่นทองเหลืองบุรอบฐาน แล้วลงรักปิดทอง ตัวพระธาตุนั้นตั้งอยู่บนเชิงเนินปูด้วยอิฐ ลาดขึ้นไปยังยอดเนิน กว้างประมาณ 20 วา มีบันไดขนาบทั้งสองข้าง

ตามตำนานเมื่อครั้งสมัยพุทธกาลกล่าวว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทับสรงน้ำที่ริมฝั่งแม่น้ำน่าน ทางทิศตะวันออก ที่บ้านห้วยไคร้ และเสวยผลสมอแห้ง ซึ่งพระยามลราชนำมาถวาย แต่ผลสมอนั้นแห้งมาก พระพุทธเจ้าจึงทรงนำผลสมอนั้นไปแช่น้ำก่อนเสวย และทรงพยากรณ์ว่า ต่อไปที่นี่จะมีผู้นำพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐาน จึงเรียกพระสถูปที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุแห่งนี้ว่า พระธาตุแช่แห้ง พระบรมธาตุแช่แห้งนี้ ยังใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีน้ำอภิเษกน้ำบ่อแก้ว จังหวัดน่าน ใช้ทำน้ำอภิเษก โดยเมื่อปี พ.ศ.2373 เจ้าเมืองน่าน ได้ขุดบริเวณลอมเชียงของ พบว่า มีพลอยมีสีน้ำผึ้ง ขุดลึก 4 เมตร มีน้ำพุขึ้นในบ่อ น้ำก็ขึ้นมาเต็มปากบ่อ ประชาชนเชื่อถือว่าน้ำในบ่อนี้เป็นน้ำวิเศษ เรียกว่า น้ำบ่อแก้ว ซึ่งคำว่า “แช่แห้ง” นี้ ถือว่าเป็นปริศนาธรรมอย่างหนึ่ง โดยอาจารย์สมเจตน์ วิมลเกษม ได้ให้ความหมายไว้ดังนี้

แช่แห้ง เป็นคำที่เป็นมงคลยิ่งและเป็นปรัชญาทางพระพุทธศาสนาขั้นสูงที่นักปราชญ์โบราณได้ใช้คำที่มีความหมายที่ขัดแย้งกันอย่างรุนแรงเป็นปฏิปักและตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงมาผสมกัน คือคำว่า “แช่” หมายถึงการนำวัตถุสิ่งของต่าง ๆ ทำให้จมลงในน้ำ จึงทำให้วัตถุสิ่งของนั้นเกิดการเปียกขึ้น เปรียบเสมือนคนเราที่จมอยู่ในห้วงกิเลสตัณหาทั้งปวง ส่วนคำว่า “แห้ง” หมายถึง การนำวัตถุสิ่งของที่ทำให้เปียกนั้นมาทำให้แห้ง เปรียบเสมือนคนเราที่ได้นำเอาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์มาปฏิบัติจนหลุดพ้นจากห้วงกิเลสตัณหาทั้งหลายเหล่านั้นนั่นเอง

ดังนั้นคำว่า “แช่แห้ง” จึงได้ความหมายทางพุทธปรัชญาว่า บุรุษหรือสตรีที่จมอยู่ในภาวะความเปียกของโลภะ โทสะ โมหะ กิเลสตัณหา อวิชชาต่าง ๆ ยอดมหาบุรุษหรือยอดสตรีเท่านั้นที่จะทำตัวให้แห้งให้พ้นจากภาวะความเปียกของกิเลสตัณหาทั้งหลายเหล่านี้ได้ เพราะคำว่าแช่เปรียบก็คือต้นเหตุแห่งทุกข์ คำว่าแห้งก็ย่อมหมายถึงทางแห่งการดับทุกข์ซึ่งตรงกับอริยสัจสี่ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค รวมความทั้งหมดแล้วคือ หนทางแห่งนิพพาน มีลำดับและวิธีการไหว้ที่มีหลักการและเหตุผลอยู่ โดยมีลำดับในการไหว้ดังนี้

จุดแรก คือ พญานาค ทางขึ้นของพระบรมธาตุแช่แห้งนี้ จะมีพญานาค 2 องค์ ขนาบคู่ทางขึ้นอยู่ นามว่า ท้าวศรสุนโธ และ แม่ศรีปทุมมา นอกจากศิลปะการปั้นและทิวทัศน์ที่สวยงามแล้ว ยังมีความเชื่อกันว่า พญานาคสองตนนี้ เปรียบเสมือนเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่คอยปกปักรักษาพระธาตุแช่แห้งไว้ให้ลูกหลานชาวเมืองน่านได้เข้ามาขอพรสักการะ ดังนั้น ก่อนเข้าชมวัดพระธาตุ ควรกราบขอขมาองค์พญานาคทั้งสองฝั่งเพื่อแสดงถึงการขออนุญาตเข้าไปรับบุญกุศลภายในสถานที่ เพื่อที่จะรับบุญกุศลอย่างเต็มเปี่ยม

จุดที่สอง คือ องค์พระธาตุแช่แห้ง องค์พระธาตุแช่แห้งเป็นพระธาตุที่มีขนาดสูงถึง 55.5 เมตร ตั้งอยู่บนฐาน สี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 22.5 เมตร มีสีเหลืองอร่าม เนื่องจากบุด้วยแผ่นทองเหลือง ลักษณะของเจดีย์ทรงระฆัง ส่วนฐานทำเป็นฐานหน้ากระดานสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ รองรับฐานบัวลูกแก้ว ย่อเก็จ ถัดขึ้นไปเป็นฐานหน้า กระดานสี่เหลี่ยมและแปดเหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกัน 3 ชั้น องค์ระฆังมีขนาดเล็ก บัลลังก์ทำเป็นแท่นสี่เหลี่ยม ย่อเก็จ ฐานหน้ากระดานกลมเป็นกระดานสี่เหลี่ยมและแปดเหลี่ยม และชั้นบัวคว่ำเหนือฐานแปดเหลี่ยม ตกแต่งคล้ายกลีบบัว หรือลายใบไม้แทนลายดังกล่าวนี้คงได้รับอิทธิพลจากศิลปะพม่า ซึ่งนำมาต่อเติมขึ้นภายหลัง เมื่อล่วงเข้า พุทธศตวรรษที่ 24 แล้ว

จุดที่สาม คือ วิหารพระเจ้าทันใจ ไม่ปรากฏหลักฐานในการสร้าง แต่ที่มีบันทึกในพงศาวดารไว้ในสมัยพญาหน่อคำเสถียรไชยสงคราม ในปี พ.ศ. 2103 บูรณะในสมัยพระเจ้าอัตถวรปัญโญ พ.ศ.2336 และในสมัยพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช พ.ศ.2448 โดยองค์พระเจ้าทันใจนั้น เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ 3 องค์ ปางมารวิชัย 2 องค์ และปางสมาธิ 1 องค์ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นมาพร้อม ๆ กับการสร้างองค์พระธาตุแช่แห้ง เมื่อครั้งที่พญาการเมืองย้ายเมืองจากเมืองปัวมาตั้งอยู่เวียงภูเพียงแช่ ซึ่งเชื่อกันว่าเมื่อขอพรจากพระเจ้าทันใจแล้ว จะสมหวังรวดเร็วทันใจ โดยด้านหลังพระเจ้าทันใจนั้นมีฆ้องใหญ่อยู่สองฝั่ง มีความเชื่อกันว่าเมื่อขอพรจากพระเจ้าทันใจและเคาะฆ้องใหญ่นี้แล้ว คำขอพรจะดังตามเสียงฆ้องไปถึงตัวยอดพระธาตุ ช่วยให้พรนั้นสมดั่งใจปรารถนาได้มากยิ่งขึ้น ภายในวิหารนั้น ยังมี “แมงหมาเต๊า” ที่เป็นตัวคล้ายกบยักษ์ มีความเชื่อกันว่า ให้กราบไหว้แมงหมาเต๊า จะช่วยดูแลทรัพย์สมบัติให้ปลอดภัย ถือเป็นอีกหนึ่งจุดแปลกของวัดพระธาตุแช่แห้ง

จุดที่สี่ คือ พระวิหารพระเจ้าอุ่นเมือง หรือเรียกว่าพระวิหารหลวง ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของเจดีย์องค์พระธาตุ ตรงเชิงบันไดด้านหน้าทางเข้าพระวิหารมีสิงห์คู่นั่งชันขาอยู่สองข้างทางเข้าเฝ้าอยู่หน้าประตู ตัวด้านฝั่งซ้ายเรียกว่า สิงห์สรวล ฝั่งขวาเรียกว่า สิงห์คายนาง เป็นประติมากรรมปั้นปูนแบบพม่าที่ดูสวยงามและแลดูมีชีวิตชีวาน่าเกรงขามอย่างยิ่ง ส่วนบนซุ้มเหนือประตูทางเข้า มีลวดลายปูนปั้นเป็นรูปพญานาคราช 8 ตัว เกี่ยวกระหวัดรัดกันเป็นบ่วงอยู่เรียกว่า อัฏฐพญานาค ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งปริศนาธรรมแห่งพระธาตุแช่แห้ง ภายในวิหารหลวง เสาคู่ด้านหน้าตรงทางเข้ามีลวดลายปูนปั้นเป็นรูปสัตว์ในป่าหิมพานต์คล้ายกับ ฐานชุกชีที่ประดิษฐานพระประธานก็มีลวดลายในลักษณะเดียวกันนี้ ถือเป็นลายปูนปั้นของสกุลช่างเมืองน่าน ที่หาดูที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว ส่วนพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ภายใน มีความน่าสนใจอยู่หลายองค์ด้วยกัน นำโดย พระเจ้าล้านทอง องค์พระประธานปางมารศรีวิชัยศิลปะล้านนา ที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2065 มีพุทธลักษณะงดงาม เป็นหนึ่งในพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองน่าน ร่วมด้วยพระพุทธรูปปางประทับยืน และ พระอุ่นเมือง อันเป็นศิลปะสกุลช่างน่านอันแสนงดงาม ผู้ใดที่มากราบไหว้ จะได้รับบุญกุศล รวมถึงขัดเกลาจิตใจให้สงบผ่องใสอีกด้วย

จุดที่ห้า วิหารพุทธไสยาสน์ เมื่อเดินผ่านเส้นทางนาคขึ้นไป ทางด้านซ้ายมือก่อนถึงองค์พระธาตุนั้น จะมีวิหารพระพุทธไสยาสน์ (พระนอน) ที่ภายในประดิษฐานพระนอนองค์สีทองอร่าม ยาว 14 เมตร สูง 2 เมตร และยังมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยเก่าแก่ สร้างในปี พ.ศ. 2129 ในสมัยพระยาหน่อคำเสถียรไชยสงคราม ให้พุทธศาสนิกชนสักการบูชาอีกด้วย นับเป็นอีกหนึ่งสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ภายในวัดพระธาตุแช่แห้ง ที่ผู้คนนิยมกราบไหว้บูชา เจ้าหลวงท้าวขาก่าน เป็นแม่ทัพที่พระเจ้าติโลกราชได้ทรงแต่งตั้งให้มาปกครองนครน่านในปี พ.ศ.2019 และได้นำพลรบออกต้านข้าศึกของพวกแกว ที่ยกรี้พลมาตีเมืองหลวงพระบาง และเมืองน่าน ในปี พ.ศ.2023 จนได้รับชัยชนะ ปราบพวกแกวและยึดเอาช้างเอาม้ามาถวายแด่ พระเจ้าติโลกราช ก่อนที่พระเจ้าติโลกราช จะให้ท้าวขาก่านไปอยู่เชียงราย เป็นผู้ปกครองเมืองน่านเป็นลำดับองค์ที่ 22

จุดที่หก คือ พระมหาเจดีย์ชเวดากองจำลอง เจดีย์สีขาวองค์ใหญ่ ตั้งสง่าอยู่นอกระเบียงที่ล้อมองค์พระธาตุแช่แห้ง ซึ่งทางวัดจัดสร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่เกิดในปีมะเมียได้สักการะ เพราะเจดีย์ชเวดากองในประเทศพม่านั้น เป็นพระธาตุประจำปีเกิดปีมะเมีย แม้ว่า พระธาตุแช่แห้งเป็นพระธาตุประจำปีเถาะ แต่เป็นวัดสำคัญประจำจังหวัดน่าน ที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาสักการะมากมายแม้ว่าจะไม่ได้เกิดปีเถาะก็ตาม ทางวัดจึงจัดสร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่เกิดปีมะเมีย ได้มากราบสักการบูชาเสริมความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต

จุดที่เจ็ด พระอุโบสถมหาอุตม์ ที่มีอายุมากกว่า 400 กว่าปี พระอุโบสถประดับด้วยลายหม้อดอกปูรณะฆฏะ สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพระยาหน่อคำเสถียรไชยสงคราม ในปีกดสันจุลศักราช 922

ภายมีพระมหาอุตม์ประดิษฐานอยู่ภายใน มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย เอกลักษณ์ศิลปะเมืองน่าน พระอุโบสถมหาอุตม์นี้ มักใช้ประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ปลุกเสกวัตถุมงคล และ ประกอบพิธีสำคัญต่าง ๆ ได้แก่พิธี บวชพระ พิธีมหาพุทธาภิเษก และเจริญพระพุทธมนต์ พิธีมงคลที่สำคัญเท่านั้น โดยตามความเชื่อและวัฒนธรรมประเพณีล้านนาแล้ว พระอุโบสถหลังนี้จะห้ามสตรีเข้าโดยเด็ดขาด ปัจจุบันเปิดให้ผู้ชายเข้าไปกราบนมัสการได้ เชื่อกันว่าพระมหาอุตม์จะประทานความอุดมสุข อุดมทรัพย์ อุดมโชค ต่อผู้สักการะ

จุดที่แปด ลานพระประจำวันเกิด อยู่บริเวณพื้นที่สำหรับการทำบุญ บริจาคกระเบื้องที่ดิน บูชาดอกไม้ธูปเทียน ฯลฯ มีต้นโพธิ์สูงใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขาไปทั่ว ด้านโคนต้นเป็นที่ประดิษฐานพระประจำวันเกิดให้เราได้ทำบุญเสริมชะตากันไป โดยพระประจำวันเกิดนี้ เป็นปางพระพุทธรูปที่แตกต่างกันไปในแต่ละวันเกิด

จุดที่เก้า คือ ลานลูกนิมิต การทำบุญปิดทองลูกนิมิต เป็นอีกหนึ่งสิ่งเชื่อกันว่าจะช่วยเสริมสิริมงคล สร้างบุญบารมีแก่ชีวิต

สำหรับความเชื่อเรื่อง “ปีชง” หรือใครที่เกิดในปีเถาะนั้น อาจารย์คฑา ชินบัญชร นักพยากรณ์ชื่อดังให้ข้อมูลว่า ตามความเชื่อทางโหราศาสตร์ของจีน โดยเกี่ยวข้องกับองค์เทพไท้ส่วย หรือที่รู้จักกันดีในนาม “เทพเจ้าผู้คุ้มครองดวงชะตา” ซึ่งเป็นเทพผู้ทรงอิทธิฤทธิ์ และมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนในแต่ละปี คำว่า “ไท้ส่วย” ยังมีความหมายถึงดาวพฤหัสบดีในภาษาจีนโบราณ ซึ่งดาวพฤหัสบดีนี้เองก็ถือว่าเป็นประธานของดาวศุภเคราะห์ ซึ่งหมายถึง คุณธรรม ความดี โชคลาภ ทรัพย์สิน ในความเชื่อทางโหราศาสตร์ของไทย ดังนั้นจึงมีการเชื่อมโยงว่าหากดาวพฤหัสบดีไม่ดีในความเชื่อทางโหราศาสตร์ไทย หรือหากปีนักษัตรใดปะทะหรือได้รับผลร้ายจากเทพ “ไท้ส่วย” จะทำให้ปีนั้นจะเป็นปีที่ได้รับผลไม่ดี หรือที่เราเรียกว่า “ปีชง” และสำหรับปีที่ได้รับผลไม่ดีในปี พ.ศ.2560 ที่จะถึงนี้ ตามคามเชื่อจะมีอยู่ด้วยกัน 4 ปีได้แก่ “ปีชง” คือปีที่ได้รับผลเสียมากที่สุดหรือที่เราเรียกกันว่าชงโดยตรง นั่นก็คือคนที่เกิดปีเถาะ หรือ ปีกระต่าย ส่วน “ปีคัก” คือปีที่เป็นปีนักษัตรเดียวกับปีนั้น ๆ ก็คือคนที่เกิดปีระกา หรือปีไก่ สำหรับ “ปีเฮ้ง” คือปีที่ได้รับผลกระทบในเรื่องเคราะห์กรรม และ “ปีผั่ว” คือปีที่ได้รับผลกระทบในเรื่องสุขภาพ ซึ่งก็คือคนที่เกิดปี มะเมีย และปีชวด ซึ่งเรามักเรียกว่าปีชงร่วมจะได้รับผลกระทบน้อยกว่า

นอกจากวัดพระธาตุแช่แห้งจะเป็นจุดสักการะขอพรจากผู้ที่เกิดปีเถาะแล้ว ทางวัดยังได้จัดทำ “เหรียญดวงดีรับปีชง” เพื่อให้ผู้ที่เกิดปีเถาะและพุทธศาสนิกชนทั่วไปได้เช่าบูชาไว้ติดตัวเพื่อสะเดาะเคราะห์ หลีกเคราะห์ และรับโชคอีกด้วย

ส่วนคนที่เกิดในปีอื่น ๆ ที่ไม่ได้เป็นปีชงหรือปีชง เช่นเดียวกับเราที่ไม่ได้เกิดปีชงก็สามารถมาเที่ยวพระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่านได้ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต และถือเป็นการเที่ยวพักผ่อนกับครอบครัวในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลปีใหม่ เพราะนอกจากจังหวัดน่านจะมีสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และพุทธสถานแล้ว ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามอีกมากมาย เช่น ดอยเสมอดาว ที่เรียกว่าเป็นสถานที่สุดโรแมนติกของน่าน หรือ จะไปเที่ยว บ่อเกลือ ก่อนเดินทางกลับแวะเที่ยวโบราณสถานอื่น ๆในเมืองน่านได้อีก เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ วัดหัวข่วง หรือ วัดภูมินทร์ ซึ่งก็มีความสวยงามของศิลปะและสถาปัตยกรรมของล้านนา-ล้านช้างที่น่าสนใจเช่นกัน สำหรับร้านอร่อยเราแนะนำ ครัวกระแต อยู่ใกล้สนามบิน มีอาหารอร่อยหลายอย่าง เริ่มตั้งแต่ส้มตำ ผัดฉ่าปลาคัง ต้มยำปลาคัง ผัดคะน้าปลาเค็ม ฯลฯ แม้กระทั่งไข่เจียวยังอร่อยเลย เรียกได้ว่ามาทริปนี้ อิ่มบุญ อิ่มใจ มีแรงสู้ต่อไปในปี 2560 ที่กำลังจะมาถึง ขอให้โชคดีรับปีใหม่นี้กันทุกคนนะคะ...

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ