Lifestyle

ราชบุรี....ริมนทีแม่กลอง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เรื่องและภาพ : คมฉาน ตะวันฉาย

“...ราชบุรีเป็นเมืองเก่า...” จากหลักฐานการขุดค้นพบโบราณวัตถุหลายอย่าง นักโบราณคดีว่าเมืองนี้เป็นตัวตนมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 6 เป็นชุมชนที่เติบโตมาจากการติดต่อค้าขายทางเรือ ซึ่งในเรื่องทะเลโบราณ ผมเคยบอกไปแล้วว่าเดิมทะเลมันกินอาณาบริเวณเข้ามาในแผ่นดินปัจจุบันค่อนข้างลึก ชุมชนค้าขายตามเมืองท่าจึงเกิดขึ้น ราชบุรีก็คงเริ่มแต่นั้น แต่อาจจะไม่ใช่ชื่อราชบุรีอย่างทุกวันนี้

ต่อมาบ้านเมืองก็พัฒนาการมาเรื่อย ผ่านยุคสมัยต่างๆ มีการขุดค้นพบผังเมืองเก่า และโบราณวัตถุมากมายที่คูบัว ซึ่งนักโบราณคดีเขาสันนิษฐานว่าเป็นเมืองหรือชุมชนระดับเมืองย่อยๆ ในสมัยทวาราวดี (พุทธศตวรรษที่ 11-15) ครั้นตามไปดูที่โบราณสถานเขางู ที่ผมเคยอ้างอิงถึงคราวที่เขียนเรื่องพระห้อยบาท มีพระพุทธรูปห้อยบาทสลักบนผนังถ้ำที่เขางู ราชบุรี พระพุทธรูปองค์นี้มีพุทธลักษณะที่นักโบราณคดีเขาสอนกันมาว่าเป็นแบบทวาราวดีที่ชัดเจน ผมก็จำขี้ปากเขามาว่าต่อ พอเห็นพระพุทธรูปสมัยทวาราวดี ก็มักจะนึกถึงพระพุทธรูปองค์นี้มาเป็นเกณฑ์ทุกที

ในตำราว่าราชบุรีตกอยู่ในอิทธิพลของยุคสมัยทวาราวดีราว 500 ปี หลังจากนั้นขอมก็เข้ามามีอิทธิพลในดินแดนย่านนี้อยู่ราว 300 ปี(พุทธศตวรรษที่ 16-18) ราวพุทธศตวรรษที่ 17 อำนาจของขอมเริ่มถดถอย ดินแดนย่านนี้ก็รวมตัวกันตั้งอาณาจักรสุโขทัย ราชบุรีก็ถูกเข้ามารวมเป็นเมืองที่สำคัญในยุคสมัยต่อๆ มา

ถ้าเคยอ่านประวัติศาสตร์และจำได้ จะมีช่วงหนึ่งที่เขียนบอกว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) พระองค์เคยรับราชการเป็นยกกระบัตรเมืองราชบุรี เขียนมาถึงตรงนี้ผมขอแทรกนิดหนึ่งเผื่อใครยังไม่รู้ ตำแหน่งยกกระบัตรนั้น ก็คล้ายตำแหน่งอัยการในปัจจุบันที่ออกไปอยู่ตามหัวเมืองเพื่อดูเรื่องอรรถคดีต่างๆ เพราะเหตุนี้ กรมอัยการเขาถึงยกย่อง รัชกาลที่ 1 เป็นบุคคลสำคัญในหน่วยงานเขานั่นเอง (ไหนๆ ก็ไหนๆ ผมแถมชื่อหน่วยงานโบราณอีกสักชื่อ เกียกกาย....เป็นฝ่ายหาเสบียงในกองทัพ คงประมาณกรมพลาธิการในปัจจุบัน)

ราชบุรีมีโบราณสถานเก่าแก่ที่ปรากฏให้เห็นในเมืองหลายอย่าง “เจดีย์หัก” นอกเมืองทางไปจอมบึงนั่นก็ชวนฉงน หรือ “วัดมหาธาตุฯ ราชบุรี” ก็ยืนยันอิทธิพลขอม-สุโขทัยได้เป็นอย่างดี

แม่น้ำแม่กลอง ถือเป็นสัญลักษณ์คู่กับเมืองราชบุรีเต็มๆ แม้ว่าแม่กลองจะเริ่มจากปลายเมืองกาญจน์ แต่ก็โดดเด่นเป็นสง่าคู่เมืองราชบุรีมานาน จนไปไหลออกทะเลที่สมุทรสงครามหรือชื่อเดิมคือเมืองแม่กลอง แม่น้ำที่ไหลผ่านก็เรียกชื่อแม่น้ำแม่กลองไปด้วย แม่น้ำที่ไหลผ่านเมืองราชบุรีนี้นั้น บางคนก็เรียกแม่น้ำราชบุรี ไม่ได้เรียกแม่น้ำแม่กลองก็มี เขาให้เหตุผลว่าเรียกแม่น้ำแม่กลองเฉพาะอยู่ในเขตสมุทรสงคราม อันนี้ผมยังหาข้อสรุปไม่ได้ ท่านผู้อ่านก็ฟังๆ ไปเป็นข้อมูลก่อนก็แล้วกัน เดี๋ยววันหลังมีโอกาสเขียนเรื่องสมุทรสงครามค่อยว่ากันอีกที

เมื่อทางรถไฟสายใต้พร้อมให้บริการ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เสด็จพระราชดำเนินเพื่อประกอบพระราชพิธีเปิดสะพานรถไฟจุฬาลงกรณ์ที่ข้ามแม่น้ำแม่กลองช่วงที่ผ่านตัวเมืองราชบุรี ในปี พ.ศ. 2444 และมีสถานีอยู่ใกล้แม่น้ำ ความเจริญของเมืองราชบุรีสมัยใหม่จึงเริ่มที่ริมแม่น้ำใกล้ทางรถไฟ ซึ่งอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำคือค่ายภาณุรังษี ค่ายใหญ่ของเหล่าทหารสื่อสารนั่นเอง

ห่างจากตลาดตรงนี้ไปไม่มาก ตรงหัวมุมตลาดหน้าสถานีตำรวจราชบุรีจะเป็น 5 แยก ซึ่งหัวมุมฝั่งแม่น้ำ จะมีอาคารศาลแขวงเมืองราชบุรี อาคารที่มีสถาปัตยกรรมแบบยุโรปที่โดดเด่น สร้างสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งมีการจัดระเบียบการปกครองหัวเมืองขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2437 เรียกว่าระบอบมณฑลเทศาภิบาลมณฑลราชบุรี โดยให้มีเมืองในมลฑล 6 เมือง คือ เมืองราชบุรีเป็นที่ตั้งศาลาว่าการมณฑล เมืองกาญจนบุรี เมืองสมุทรสงคราม เมืองเพชรบุรี เมืองปราณบุรี และเมืองประจวบคีรีขันธ์ รวมเป็นมลฑลราชบุรี

ถ้าเราเดินเลาะแม่น้ำไปอีกนิดก็จะเห็นศาลาว่าการมลฑลเก่า ต่อมาเป็นศาลากลางเมืองราชบุรีหลังเก่า ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติราชบุรีไปแล้ว ซึ่งพออนุมานได้ว่า ย่านริมน้ำย่านนี้แต่เดิมเป็นทั้งศูนย์ราชการและย่านค้าขายที่เป็นความเจริญมาพร้อมทางรถไฟ

เมืองราชบุรีเป็นเมืองสงบ ร่มเย็น น่าพักผ่อน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหลายพระองค์เคยเสด็จฯ ทั้งทรงพระราชกรณียกิจหรือเสด็จประพาส ในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยเสด็จฯ ถ้ำจอมพล ที่จอมบึง เคยเสด็จฯไปสักการะพระพุทธรูปที่ถ้ำเขางู ฯลฯ ททท.สำนักงานภาคกลาง เขาจึงอยากให้คนไทยเราลองท่องเที่ยวตามรอยเสด็จไปเมืองราชบุรีดูบ้าง

กลางคืนศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ เขามีถนนคนเดินตรงตลาดโกยกี่(ริมแม่น้ำใกล้สะพานรถไฟ) ถ้าทางเทศบาลเปิดไฟตกแต่งอาคารศาลแขวงหรือพิพิธภัณฑ์เพิ่มอีกหน่อยก็จะสมบูรณ์ในการเป็นเมืองท่องเที่ยวทางเลือกใหม่มากยิ่งขึ้น เสียดายที่ทุกวันนี้ยังทึมๆ ทึบๆ

แต่ถึงอย่างไร ราชบุรีก็ยังควรค่าแก่การไปเยี่ยมชม....

และเพื่อเป็นการตอบแทนสังคม ทำความดีตามรอยในหลวง รัชกาลที่ 9 และเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงในดวงใจของพวกเรา ผมทำคู่มือเที่ยวทางเลือกในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เพื่อแบ่งเบาการท่องเที่ยวบนเขาใหญ่ที่แออัดอย่างมากในช่วงเทศกาล เพื่อให้เป็นทางเลือกในการท่องเที่ยวในแนวพักแรม เป็นรูปแบบของหนังสือ โดยท่านผู้อ่านสามารถไปดาวน์โหลดได้ฟรีที่เว็บไซต์ตะวันยิ้มแฉ่ง www.tawanyimchang.com ทำความดีที่เราสามารถทำได้ เพื่อเป็นไปตามพระราชปณิธานของรัชกาลที่ 9 ในหลวงในดวงใจของเรากันครับ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ