Lifestyle

ย้อนอดีตไปกับ พิพิธภัณฑ์ผ้า สงขลา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พิมพ์พัดชา กาคำ {เรื่อง/ภาพ}

สร้อยลูกปัดโบราณเรียงร้อยผสมผสานกับแก้วจากโรมัน เม็ดกลางสีส้มสวยเด่นเป็นลูกปัดจากอียิปต์โบราณ คล้องอยู่ในหุ่นสวมสไบสีเหลือง ดูมีเสน่ห์ชวนมองเป็นยิ่งนัก ปัญญา พูนศิลป์ หรือ ต้อม หนุ่มวิศวกร บริษัท ปตท. สผ. วัย 46 ปี เจ้าของ พิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณ เล่าว่า เขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากนักสะสมผ้าโบราณ อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ และนักสะสมผ้าทางภาคเหนือ เห็นว่าทางภาคใต้ยังไม่มีการเก็บสะสมผ้าของทางใต้ พอบริษัทส่งตัวมาทำงานที่สงขลา ประกอบกับเจอบ้านโบราณในเขต ‘นครใน’ เป็นบ้านของ ครูรจิต สินธุรสัท ท่านเสียชีวิตไปเมื่อ 5 ปีก่อน(หากมีชีวิตอยู่ปัจจุบันครูรจิตอายุ 90 ปี) และยกบ้านให้กับมูลนิธิภิกษุณีธัมธีปา ทางมูลนิธิฯ ปล่อยทิ้งบ้านไว้เฉยๆ เขาจึงขอเช่าแล้วซ่อมแซมเดินสายไฟ ยึดหลักการอนุรักษ์ความดั้งเดิมเอาไว้ ระหว่างซ่อมแซมบ้าน 1 เดือน เขาได้ออกเดินทางไปเสาะแสวงหาผ้าโบราณ ตามหมู่บ้าน และเมืองเก่าของจังหวัดสงขลา

“ผมชอบสะสมของเก่าอยู่แล้ว เคยสะสมผ้า-ของโบราณทางเหนือ มีอยู่วันหนึ่ง อาจารย์เผ่าทองบอกว่า อยู่ใต้ทำไมไปเก็บผ้าทางเหนือ ผ้าทางภาคใต้ยังไม่มีใครเก็บเลยนะ ก็เลยเกิดเป็นแรงบันดาลใจ ซึ่งสงขลาเองเป็นเมืองโบราณ คนมักเข้าใจว่าผ้าพื้นถิ่นของสงขลามีเฉพาะที่เกาะยอเท่านั้น คนจะคิดว่ามีแต่เกาะยอเท่านั้นที่ทอผ้า พอเราไปสืบค้นก็เลยรู้ว่าคนสงขลาสมัยก่อนทอผ้าใช้เองทุกบ้าน บางทีก็ไปเจอผ้าคล้ายๆ กับทางเหนือ คนใต้ไม่ได้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเอง น่าจะสั่งวัสดุมาจากที่อื่น พอเราสืบไปเรื่อยๆ ก็ไปเจอผ้าซิ่นอินเลพม่า อายุประมาณ 140 ปี ผ้าอินเดียอายุประมาณ 80 ปี ไปเจอผ้ายกซงเค็ตมลายู เป็นของกลันตัน อินโดนีเซีย ตระกูลผ้ายกซงเค็ตมีราคาแพง นิยมใช้เฉพาะงานพิธีสำคัญสำหรับคนมีฐานะเท่านั้น ผมไปเจอผ้าอีกกลุ่มที่สูญหายไปแล้วก็คือ ผ้าปะลางิ อายุประมาณต้นรัตนโกสินทร์ มาเจอที่ ‘บ้านหัวเขา’ สืบถามจึงรู้ว่าบางบ้านต้นตระกูลเป็นคนปัตตานีแล้วมาแต่งงานกับคนที่นี่”

นอกจากเจอผ้าแล้ว คุณต้อมยังเจอหลักฐานการทอผ้าใช้เองในท้องถิ่นของที่นั่น โดยพบ โรงทอผ้าโบราณ หลังคากระเบื้องดินเผา 3-4 โรง ปัจจุบันกลายเป็นโกดังบ้าง ห้องพักสำหรับนักท่องเที่ยวบ้าง นอกจากบ้านหัวเขาแล้ว ยังไปเจอที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ตอนนั้นไปทำเรื่องมโนราห์จึงไปพบอุปกรณ์การแต่งกายของมโนราห์ มีเครื่องทอผ้าอยู่ใต้ถุนบ้าน เป็นหลักฐานยืนยันได้ ว่าคนสงขลาทอผ้าใช้เองหลายแห่ง ไม่เพียงเฉพาะที่เกาะยออย่างที่เคยเข้าใจ

เรียกได้ว่ายิ่งค้นหาก็ยิ่งเจอผ้าโบราณล้ำค่าที่คิดว่าสาบสูญไป เช่นผ้าโบราณ จวนตานี ตามประวัติบอกไว้ว่า ผ้าจวนตานี หรือ ผ้าล่องจวน เป็นผ้าทอดั้งเดิมในพื้นที่ทางภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เดิมมีศูนย์กลางคือเมืองปัตตานีในอดีต ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญเมืองหนึ่งในคาบสมุทรมลายู มีความสัมพันธ์ทางการค้าและการเมือง มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและวัฒนธรรมกับประเทศต่างๆ ที่เข้ามาติดต่อค้าขาย เช่น จีน อินเดีย ประเทศในแถบอาหรับ ยุโรป และมาลายา โดยมีสินค้าประเภทผ้าไหม เส้นไหม และฝ้าย เป็นสินค้าที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนอยู่ด้วย

จึงนับได้ว่าเมือง ปัตตานี เป็นเมืองสำคัญในการค้าขายสินค้าผ้าไหมและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมเกี่ยวกับผ้าแห่งหนึ่ง

ไม่มีหลักฐานปรากฏชัดเจน ว่ามีการใช้และการทอผ้าเริ่มในภาคใต้เมื่อใด แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่าเริ่มมีมาก่อนราชอาณาจักรศรีวิชัยเจริญรุ่งเรือง จากการที่มีการติดต่อและการค้าขายกับประเทศจีนและอินเดีย

ชาวพื้นเมืองของปัตตานี ที่อาจจะมีความรู้ในการทอผ้าอยู่แล้วได้มีการรับและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม เกิดการสร้างสรรค์สิ่งทอขึ้นใหม่ ผ้าทอท้องถิ่นแบบง่ายถูกแทนที่ด้วยกรรมวิธีมัดหมี่และทอแบบประณีต ที่มีรูปแบบที่เรียกว่า ‘จวนตานี’ หรือ ผ้าลิมา หรือ ผ้ายกตานี ขณะที่เมื่อเวลาผ่านไป คุณภาพและความงามของสิ่งทอเหล่านี้ กลายเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในช่วงสมัยอยุธยา และเป็นสิ่งที่มีคุณค่าชุมชนในภาคใต้ โดยเฉพาะในสามจังหวัดภาคใต้ชายแดนไทย-มาเลเซีย

ผ้าจวนตานี ยังได้รับการกล่าวถึงในการแต่งกายในวรรณคดีไทย ตัวอย่างเช่นข้อความที่ตัดตอนมาจากวรรณคดีไทยเรื่อง ขุนช้างขุนแผน พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 กล่าวถึงเครื่องแต่งกายของตัวละคร เป็น ผ้าตานีสองชั้น ชั้นในทำจากผ้าไหมที่ประณีตสวยงามและมีสีสัน ชั้นนอกปักและฉลุเป็นลวดลายสลับซับซ้อน

และจากเรื่อง อิเหนา พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 กล่าวถึงวิธีการแต่งตัวของตัวละครที่มีตำแหน่งสูงสวม ผ้าโสร่งจวนตานี ทำจากไหมลวดลายรูปดาว สวมเสื้อผ้าแบบหลวมๆ คาดทับด้วยเข็มขัดทอง

เจ้าของพิพิธภัณฑ์พาเดินชมพร้อมกับอธิบายว่า “ผ้ามัดหมี่แถวบนกับแถวกลางทั้งหมดที่โชว์อยู่ ผมเจอที่บ้านคนมุสลิม ซึ่งมีกฎห้ามนุ่งห่มอะไรที่เกี่ยวกับสัตว์อย่างผ้าไหม ห้ามมีลวดลายและสัญลักษณ์เกี่ยวกับสัตว์ แต่ที่เห็นจะเป็นลายพญานาค ไม่แน่ใจว่าเขาอาจจะไม่รู้ เขาก็นุ่งกัน เป็นมัดหมี่ที่ไม่เหมือนอีสานเสียทีเดียว เพราะลายจะใหญ่มาก และสีค่อนข้างสดใส เขาจะใช้สีตัดกันอย่างชัดเจน เช่น สีเขียว-แดง-เหลือง บางทีก็เป็นสีส้ม-เขียว บางผืนสีเหลือง-ชมพู แต่ถ้าเป็นทางอีสานจะเป็นลวดลายเล็กๆ สีจะทึมๆ เช่นสีน้ำตาลอ่อน น้ำตาเข้ม ก็เลยมีข้อสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นการสั่งมาใช้ที่นี่ อีกข้อสันนิษฐานก็คือ ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีการย้ายคนจากภาคอีสานมาอยู่ทางภาคใต้ แต่ก็ไม่เจอหลักฐาน หรือไม่ก็อาจจะมีการเดินทางไปมาหาสู่กัน”

ทั้งนี้ต้องยอมรับว่า ‘ผ้า’ เป็นของสะสมที่เก็บรักษายาก เพราะเสียหายได้ง่ายกว่าของสะสมอื่นๆ อย่างเช่น ‘เครื่องกระเบื้องจีน’ ที่คุณต้อมเองก็สะสมไว้ พอตัดสินใจจะทำพิพิธภัณฑ์ผ้า หลังเลิกงานเขาก็เดินทางเข้าหมู่บ้านไปเสาะหา โดยมีเจ้าถิ่นนำทาง ได้มาบ้านละ 2-3 ผืน เก็บเล็กผสมน้อยภายในครึ่งปีสะสมได้มากโข

“คนมุสลิมจะเก็บผ้าดีกว่าคนไทย ผ้าของคนที่ตายไปแล้ว ถ้าไม่บริจาคให้คนอื่น ก็เก็บไว้อย่างดีในตู้ ทีแรกเขาก็ไม่ยอมขายให้ เพราะกลัวเราเอาไปทำไสยศาสตร์หรือเปล่า เขาจะมีความเชื่อของเขาอยู่ เราก็อธิบายให้ฟัง ว่าเรากำลังสืบค้น นอกจากเกาะยอแล้ว น่าจะมีที่อื่นๆ โดยเฉพาะย่านเมืองเก่า เขาก็เลยยอมขาย อย่างผ้ายกพุมเรียงของสุราษฎร์ก็เหมือนกัน ความจริงคนพุมเรียงก็คือคนสงขลาสมัยก่อน ก็คือมุสลิมที่ถูกย้ายตอนที่กองทัพสุลัยมานแตก พวกเขามีฝีมือด้านการทอผ้า เพราะต้นตระกูลของพวกเขาก็คือแขกเปอร์เซีย ซึ่งทอผ้ายกได้ดีที่สุดในโลก พอเราเริ่มเห็นอะไรที่เป็นจิกซอว์ตัวหนึ่ง ก็สนุกที่จะค้นหาไปเรื่อยๆ”

คำกล่าวที่ว่า “สงขลาเคยเป็นเมืองท่าที่เจริญมาก” หลักฐานหนึ่งอาจจะมาจากการค้นพบผ้าโบราณที่มาจากแหล่งหลากหลาย เช่น ผ้าพม่า ผ้าเขมร ผ้าอินเดีย อายุนับร้อยๆ ปี จึงน่าจะเชื่อถือได้ว่า สงขลาเคยเป็นเมืองท่าโบราณสำคัญในอดีต

ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มี ผ้าโบราณ กว่าพันผืน ไม่นับ ‘ผ้าสไบ’ ที่เก็บไว้ในตู้อีกมาก

“ส่วนผ้าซิ่นที่เห็นอยู่ในหุ่น อายุประมาน 100-140 ปี สไบที่ห่มความจริงเป็นผ้าคลุมไหลเฉยๆ ลวดลายดอกไม้สีทองบนผ้าคลุมไหล่สีบานเย็นที่เห็น เป็นผ้ามาจากอินเดีย เขาจะทายางไม้ก่อนแล้วโรยด้วยกากเพชร ส่วนผ้านุ่งเป็นไหมสมัยก่อนในโลกโบราณ ผ้าไหมที่ดีที่สุดต้องมาจากอินเดีย หรือจีน ผมเอามาโชว์ไว้ในหุ่น ใช้จริงไม่ได้ ถ้านุ่งแล้วนั่งจะขาด เพราะผ้ามีอายุมากแล้ว จึงเปื่อยง่าย ผมมีทั้งผ้าซิ่นลายดอกเบญจมาศมาจากจีน และผ้าลายมลายู”

ตามบันทึกโบราณ.. สุวรรณทวีป ก็คือทั้งทวีปติดกับอินเดียและจีน ดังนั้น พม่า ไทย ลาว กัมพูชา อยู่กึ่งกลางระหว่างตะวันออกและตะวันตก ไม่ว่าจะเดินทางด้วยเรือ หรือทางบก ก็ต้องหยุดพักแถวๆ นี้เพื่อหาน้ำจืด เสบียง อาหาร เช่น ลูกปัดยุโรปเองก็ขุดค้นเจอแถวๆ บ้านเราเยอะมาก

นอกจากสะสมผ้าซิ่นโบราณทางภาคใต้แล้ว ต้อม-ปัญญา ยังสะสมลูกปัดโบราณจากปราจีนบุรี เพราะที่นั่นมีเมืองโบราณยุคทราวดี ลูกปัดจากลพบุรี กาญจนบุรี บางชิ้นเดินทางมาไกลจากอียิปต์โบราณ อายุ 1,000-4,000 ปีขึ้นไป รวมทั้งหิน หยกรูปช้าง ทับทิม ควอตซ์ โอปอลดำ โอปอลสีเขียว อเมทิสต์ ตรีรัตนของอินเดียโบราณ เป็นต้น

“ผมไม่คิดเงินค่าเข้าชม มีคนถามเยอะว่า แล้วผมจะได้อะไร คำตอบก็คือ ทั้งหมดนี้ทำเพื่อความสุข ผมว่า ‘ความสุข’ ไม่จำเป็นต้องแปลงเป็นตัวเงิน เพราะบางทีเงินมันยังแปลงเป็นความสุขไม่ได้เลยด้วยซ้ำ เคยมีความรู้สึกแบบนี้ไหม วันนี้เรามีความสุขมากเลย แต่เราไม่มีเงินเลย บางวันมีเงินแต่เราไม่มีความสุขเลย แล้วมันจะมีประโยชน์อะไร ผมว่ามีคนมาชมแล้วได้ความรู้ มีความสุข ผมก็พอใจแล้ว เราอาจจะมีเงินกินอาหารวันละ 1,000 บาท แต่เรากินแค่ 50 บาท ที่เหลือเก็บไว้ซื้อของเหล่านี้ เราก็มีความสุขในการเก็บสะสม ใครมาแล้วรู้สึกภูมิใจ ดีใจกับสิ่งที่เราทำ ก็คือกำไรสูงสุดแล้วนะผมว่า ถ้ามีความสุขก็ทำไปเรื่อยๆ”

พิพิธภัณฑ์ผ้าแห่งนี้ อยู่แถวถนนนครใน เปิดให้บริการเข้าชมฟรีทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 09.30 -16.00 น. มีโอกาสไปเที่ยวสงขลา ลองแวะไปชื่นชมบ้านเก่าสงขลาแท้ที่ยังหลงเหลืออยู่พร้อมล่องลอยไปกับเสื้อผ้าอาภรณ์ย้อนอดีต

แล้วคุณจะรู้ว่า ‘ความสุข’ นั้นมีอยู่จริง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ