Lifestyle

“สงขลา” ถามเวลาว่าหยุดได้ไหม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เรื่องและภาพ : นิภาพร ทับหุ่น

มันคงเป็นบ่ายที่ร้อนระอุที่สุดในรอบสัปดาห์ เขายกมือขึ้นปาดเหงื่อที่ไหลอาบอยู่บนใบหน้า ก่อนจะหันมาสนทนากับผู้ร่วมเดินทางอีกครั้ง

“เมืองเก่าสงขลามันควรมาเดินเที่ยวแบบนี้แหละ” พี่ดวง - ปราการ ศิริพานิช มัคคุเทศก์วัฒนธรรมท้องถิ่น ที่พ่วงตำแหน่งประธานกลุ่มรักษ์นครใน บอกแบบนั้น ก่อนจะพาเราสวนทางกับรถรา แล้วเดินทอดน่องเข้ามาในย่านที่เรียกว่า “เมืองเก่า” ทันที

แม้จะรู้ดีว่าการเดินทางท่ามกลางแสงแดดแผดจ้าไม่ใช่ความสบาย แต่พวกเราหลายคนก็ยอมเสียน้ำในร่างกายให้ระเหิดระเหยไป เพื่อแลกกับการได้เห็นสถาปัตยกรรมของอาคารและสัมผัสวิถีชีวิตอันเรียบง่ายของชาวสงขลา

“เข้ามานั่งพักข้างในให้เย็นๆ ก่อนสิ” / “ให้ชิมนะ ไม่ได้ให้ซื้อ” / “แกลเลอรี่ยังไม่เปิด แต่เข้ามาชมก่อนก็ได้” / “เชิญหนูก่อนเถอะ ไม่เป็นไร ลุงไม่รีบ” / “อันนี้ป้าแถมให้จ้ะ” ฯลฯ

เห็นรึยังว่า คนสงขลาน่ารักขนาดไหน แล้วทำไมเราจะไม่เลือกใช้วิธีการเดิน

สงขลา เป็นเมืองเก่าที่สามารถย้อนประวัติไปได้ไกลหลายร้อยปี โดยปรากฏชื่อครั้งแรกๆ ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 แห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 1893 ว่าเป็นเมืองประเทศราชในจำนวน 16 หัวเมือง หลังจากนั้นก็มีทั้งเอกสารและบันทึกอีกมากมาย ที่เด่นๆ คือบันทึกของพ่อค้าและนักเดินเรือชาวอาหรับเปอร์เซีย ระหว่างปี พ.ศ. 1993-2093 ที่ระบุชื่อเมือง “ซิงกูร์” หรือ “ซิงกอรา” ซึ่งสันนิษฐานว่าคือเมืองสงขลา แต่ในหนังสือประวัติศาสตร์เและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม ของนิโกลาส แซร์แวส กลับเรียกว่า “เมืองสิงขร” ซะอย่างนั้น จนทำให้มีการตีความกันไปต่างๆ นานา แต่ไม่ว่าจะเคยเรียกอะไร “สงขลา” ก็เป็นชื่อสุดท้ายที่ถูกใช้มาจนถึงทุกวันนี้

เราแหงนเงยหน้าขึ้นไปมองที่อาคารแบบชิโนยูโรเปียนหลังนั้น ปูนปั้นลวดลายจีนที่อยู่ข้างหน้าต่างวงโค้งเกือกม้าสไตล์ยูโรเปียน แม้จะเป็นศิลปะต่างวัฒนธรรม แต่ก็ดูเข้ากันได้เป็นอย่างดี

“ที่นี่เป็นชุมชนพหุวัฒนธรรม คือชาวไทยพุทธมุสลิมอยู่ร่วมกันได้โดยไม่แปลกแยก” พี่ดวง บอกแบบนั้น ก่อนจะพาเราเดินลัดเลาะมาเข้า “ร้านเกาะไทย” ร้านโจ๊กเจ้าอร่อยที่ใครมาสงขลาแล้วขอความกรุณาว่า อย่าพลาด

โจ๊กร้อนๆ ที่เสิร์ฟมาพร้อมปาท่องโก๋หั่นชิ้นจานเล็กนั้นดูน่ากินเกินกว่าจะห้ามใจ ขณะดูดดื่มกับรสชาติอันแสนอร่อยไป ตาก็กวัดไปเห็นกำแพงอาคารทรงจีนแบบดั้งเดิมที่อยู่ฝั่งตรงข้าม เยื้องๆ กับร้านเกาะไทย

ภาพชายชรา 3 คนในร้านน้ำชาฟุเจาคือศิลปะบนกำแพง (Wall Street Art) ชิ้นแรกๆ ของเมืองเก่าสงขลา ดวงบอกว่า บุคคลในภาพมีตัวตนอยู่จริง และหนึ่งในนั้นก็คือ อ.ก้อย-วุฒิชัย เพ็ชรสุวรรณ นักวิชาการท้องถิ่น ที่พยายามอนุรักษ์คุณค่าเมืองเก่าสงขลาไว้อย่างดีที่สุด

และไม่ใช่เรื่องบังเอิญอย่างที่เข้าใจ เพราะในวันนี้พี่ดวงนัดแนะ อ.ก้อย ให้มาพบปะพูดคุยกับพวกเราด้วย

“สงขลาปัจจุบันเป็นบ้านเป็นเมืองมานาน 180 ปี ตั้งแต่มีการย้ายเมืองมาอยู่ที่ฝั่งบ่อยางในสมัยรัชกาลที่ 3 จะเห็นว่าบ้านในย่านเมืองเก่าจะเป็นแบบผสมผสาน มีชาวจีนอยู่เยอะ ซึ่งจีนเข้ามาประมาณสมัยกรุงธนบุรี มีบทบาททางการเมือง คนจีนสงขลาคือจีนฮกเกี้ยน จริงๆ เดิมมีคนพุทธ พอจีนเข้ามาก็เป็นจีนแบบพุทธ เป็นพุทธมหายาน แล้วก็อยู่ร่วมกับชาวมุสลิมบ้านบนได้”

สิ่งหนึ่งที่ยืนยันถึงการอยู่ร่วมกันได้ของคนหลายวัฒนธรรมคือภาพเจ้าแม่กวนอิมที่ตั้งอยู่เหนือประตูคู่กับภาพนางกวัก ณ ร้านเกาะไทย ซึ่งแม้เชื้อสายจะเป็นจีนกวางตุ้ง แต่ก็ให้เกียรติความเชื่อแบบไทยๆ ประมาณว่า อะไรดี อะไรถูก ก็บูชาไปแบบนั้น

“เคยได้ยินมั้ย พัทลุงมีดอน นครมีท่า ตรังมีนา สงขลามีบ่อ นี่เป็นอัตลักษณ์ในการกำหนดขอบเขตของคนในแถบนี้ ซึ่งสงขลาที่เราอยู่นี่เรียกว่าบ่อยาง ส่วนที่มุสลิมอยู่จะเรียกบ่อพลับ นั่นก็เพราะสงขลาถูกขนาบด้วยทะเล ฝั่งหนึ่งเป็นอ่าวไทย อีกฝั่งเป็นทะเลสาบ ทำให้ต้องขุดบ่อเพื่อหาน้ำจืดมาใช้ สงขลาจึงมีบ่ออยู่มากมาย และใช้บ่อเป็นอัตลักษณ์”

ไม่ผิดจากที่ อ.ก้อย บอกเลย เพราะระหว่างเดินเข้าไปชมอาคารบ้านเรือนหลายๆ หลังในตัวเมืองเก่าสงขลา เราพบว่าภายในบ้านจะต้องมี “บ่อน้ำ” เป็นหนึ่งในส่วนประกอบสำคัญของบ้านเสมอๆ

สงขลาบ่อยางมีความสำคัญในแง่ของการเป็นเมืองท่า เป็นเมืองการค้าที่มีการค้าขายแลกเปลี่ยนคึกคัก ซึ่งภาพความรุ่งเรืองนั้นถูกฉายชัดผ่านสถาปัตยกรรมตึกรามบ้านช่องบนถนนเก่าแก่ที่สำคัญ 3 สาย คือ ถนนนครนอก ถนนนครใน และถนนนางงาม(เดิมคือถนนเก้าห้อง)

“เราพยายามพัฒนาเมืองเก่าให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง” พี่ดวง บอกพร้อมๆ กับพาเราเดินข้ามถนนไปยังร้านรวงต่างๆ ที่ตั้งอยู่บนถนนนางงาม

บนถนนเส้นนี้เต็มไปด้วยร้านรวงที่ดำรงอยู่มาตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งส่วนใหญ่ชื่อร้านก็มักจะเป็นภาษาจีน อย่าง “ร้านตั้งฮั่วกิม” ที่จำหน่ายขนมจีบ-ซาลาเปารสชาติดี แถมภายในตกแต่งสไตล์วินเทจ สามารถเข้าชมได้แบบไม่ต้องจ่ายสตางค์ ซึ่งเจ้าของร้านคนปัจจุบันเล่าว่า ในสมัยรัชกาลที่ 6 ที่นี่เคยเป็นโรงแรม ก่อนจะเปลี่ยนเป็นร้านน้ำชาและมีซาลาเปาขายแบบในปัจจุบัน

อีกร้านถัดมาที่อยู่ไม่ไกลกันคือ “ร้านเกียดฟั่ง” ที่แปลว่า กลิ่นหอม, สะอาด ที่นี่เปิดบริการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2480 ของเด่นๆ ที่เห็นคือซาลาเปาอีกเช่นกัน แต่ซาลาเปาเกียดฟั่งดังถึงขนาดที่มีพ่อค้าแม่ค้ามารับไปขายต่อหลายเจ้าทีเดียว แต่จริงๆ ทีเด็ดของร้านนี้คือการเป็นต้นตำรับของอาหารพื้นถิ่นแบบที่เรียกว่า “ข้าวสตู” อร่อยแค่ไหนไม่มีใครรู้ จนกว่าจะได้ชิมดูนั่นแหละ

เรากระจายรายได้ให้กับของกินแสนอร่อยไปหลายร้าน รวมถึงของหวานที่ “ร้านขนมไทยแม่ฉวี” ซึ่งมีเมนูเด็ดอยู่ที่ขนมต้มสามเหลี่ยมแบบมีไส้ และร้านไอศกรีมไข่แข็งของคุณยายที่ “ร้านจิ่นกั้วหยวน”

“แค่ทัวร์กินอย่างเดียวก็คุ้มแล้ว” ใครบางคนในคณะเราเอ่ยขึ้น แล้วทุกคนก็พยักหน้าเป็นการสนับสนุน

กี่องศาไม่รู้ รู้แต่ว่าผ้าเช็ดหน้าที่พกมาเปียกไปหมด หลังเดินออกจาก “ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง” เราพากันเดินมุ่งหน้าสู่ย่านที่มีคาเฟ่ดีๆ ซึ่งมัคคุเทศก์นำทางก็ไม่ทำให้ผิดหวัง เพราะร้านกาแฟแต่ละร้านถึงแม้ภายในจะแต่งเก๋ชิคอย่างไร แต่ก็มีความกลมกลืนกับความเป็นย่านเก่าโบราณได้อย่างแยกไม่ออก

และไม่ใช่เรื่องบังเอิญอีกเช่นกันที่เราได้พบกับ “พ่อเมืองสงขลา” ในร้านกาแฟที่ชื่อว่า “บลูสไมล์คาเฟ่”

ทรงพล สวาสดิ์ธรรม เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาได้เพียง 1 ปี แต่ดูเหมือนว่า ท่านจะรู้จักเมืองนี้เป็นอย่างดีทุกซอกทุกมุม อย่าแปลกใจไปเลยที่เป็นแบบนั้น เพราะพื้นเพภูมิลำเนาของท่าน เป็นลูกหม้อของเมืองสงขลานี่แหละ

ทันทีที่เข้ามาทำงาน ผู้ว่าฯ ทรงพล ก็วางกลยุทธ์ในการพัฒนาจังหวัดสงขลาหลายๆ ด้าน หนึ่งในนั้นคือเรื่องของการท่องเที่ยว ซึ่งหลายพื้นที่ของสงขลามีศักยภาพมากพอที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเยี่ยมชม แน่นอนว่า เขตเมืองเก่าสงขลาก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ทางจังหวัดมองว่าสำคัญ

“ย่านเมืองเก่าเราจะพัฒนาให้เป็น “ถนนสายศิลปะ” หรือ Street Art โดยมีภาพงานศิลปะบนกำแพงและงานประติมากรรมที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวเมืองสงขลาดั้งเดิม ขณะเดียวกันก็มีรูปแบบใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์นักท่องเที่ยวในยุคออนไลน์ด้วย ซึ่งผลงานศิลปะที่จะเพิ่มขึ้นมามีจำนวนทั้งสิ้น 20 ชิ้น รวม 10 จุด จัดแสดงไว้ในมุมต่างๆ ภายใต้ภูมิทัศน์ของเมืองเก่าที่งดงาม”

นอกจากนี้ทางเครือข่ายภาคเอกชน ภาคีคนรักเมืองสงขลา และกลุ่มรักษ์นครใน ยังพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวทางทะเลสาบขยายมาสู่ถนนนครใน กลายเป็น “นครในสตรีท” (NAS : Nakornnai Art Street) ที่เชื่อมโยงกับ “ฮาลาลสตรีท” ในย่านมัสยิดบ้านบน

ผู้ว่าฯ ทรงพล ว่า เป้าหมายต่อไปจะมีการปิดถนนในช่วงวันหยุดเพื่อให้เมืองสงขลากลายเป็นเมืองวัฒนธรรมน่าเดิน แล้วนำสามล้อที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองสงขลากลับมาให้บริการ คล้ายกับเมืองมรดกโลกแห่งอื่นๆ (ปัจจุบันกำหนดปิดถนนนครในทุกวันเสาร์เวลา 16.00-20.00 น.)

จะเรียกว่าเป็นย่าน “ฮิป” ที่สุดในเมืองเก่าก็ว่าได้ สำหรับ “นครใน” ซึ่งปัจจุบันมีร้านดีๆ พิพิธภัณฑ์เก๋ๆ และห้องสมุด 2 เล ที่เป็นศูนย์รวมของ “กลุ่มรักษ์นครใน” โดยมีพี่ดวงเป็นประธาน

“ห้องสมุด 2 เล” เป็นห้องสมุดที่ให้บริการยืมหนังสืออ่านฟรี ไม่มีกำหนด จะนั่งอ่านที่ร้านไปพร้อมกับการดื่มชารสดีที่มีจำหน่ายก็ได้ หรืออ่านไม่จบจะหยิบยืมติดมือกลับบ้านไป พี่ตาวัน วิเศษสินธุ์ เจ้าของห้องสมุด 2 เล ก็ไม่ว่ากัน

พี่ตาวัน บอกว่า เปิดห้องสมุดมาเพราะอยากให้ทุกคนรู้ถึงคุณค่าของการอ่าน ซึ่งปัจจุบันดูเหมือนว่าจะถูกลดความสำคัญลง การมีห้องสมุดดีๆ อยู่ในทำเลที่ผู้คนผ่านไปมา จึงน่าจะช่วยฟื้นนิสัยรักการอ่านให้กลับมาได้

และจริงๆ แล้ว ห้องสมุด 2 เล ก็เปิดให้บริการอยู่ในบ้านที่ชื่อว่า “ดวงเฮง” ซึ่งเป็นบ้านของพี่ดวง ประธานกลุ่มรักษ์นครในที่ให้พี่ตาวันแห่งห้องสมุด 2 เล เข้ามาใช้พื้นที่ได้ฟรี ถือเป็นความเอื้ออาทรที่มิตรมีต่อมิตรที่ดี

สถาปัตยกรรมของอาคารบ้านเรือนในย่านนี้แม้จะมีความแตกต่างกันบ้าง แต่โดยรวมแล้วยังมีกลิ่นอายของอาคารสไตล์โบราณอยู่เยอะ ไม่ว่าจะเป็น “ร้านอ่องเฮียบฮวด” ที่เป็นอาคารเก่าแบบชิโนยูโรเปียน ภายในจัดแสดงของสะสมโบราณ พร้อมกับเป็นร้านจำหน่ายกาแฟด้วย

เราเดินเข้าไปที่บ้านที่อยู่ทางซ้ายมือ ซึ่งหน้าบ้านมีป้ายติดไว้ว่า “238 แกลเลอรี่ และพิพิธภัณฑ์ผ้า” เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวันเสาร์และอาทิตย์ เวลา 09.30-16.30 น. เมื่อเห็นว่าเป็นเวลาที่เหมาะสม เราจึงเดินเข้าไป

ภายในบ้านที่มีโครงสร้างคล้ายเรือสำเภานี้เป็นบ้านของชาวจีนฮกเกี้ยนที่มาตั้งรกรากอยู่ในเมืองไทย แต่ปัจจุบัน พี่ต้อม-ปัญญา พูลศิลป์ นักสะสมผ้าทอ ใช้เป็นพิพิธภัณฑ์แสดงผ้าทอโบราณ และผ้าพื้นเมืองสำคัญๆ ของชาวสงขลา ส่วนใครที่ชอบสถาปัตยกรรมของบ้านสามารถขอเข้าชมได้

จริงๆ เอาแค่เดินชมสถาปัตยกรรมในย่านเก่าแบบนี้ให้ครบทุกซอยก็สนุกแล้ว เพราะมีรูปแบบมากมาย ไม่ว่าจะเป็นบ้าน อาคาร ศาลเจ้า โรงสีเก่า หรือวัด ต่างก็มีรูปแบบของสถาปัตยกรรมที่แตกต่างกัน

หรือใครเป็นสายกินจะเดินตามหาร้านอร่อย ในย่านเก่าเมืองสงขลาก็ควรจะต้องวางแผน(การกิน)ดีๆ ไม่เช่นนั้นอาจทำให้พุงโตเกินขนาดที่ต้องการเหมือนกับเราได้

จะว่าไป แดดร้อนๆ ของสงขลาก็ไม่ได้น่ากลัวสักเท่าไร ในทางกลับกัน ความร้อนร้ายเหล่านั้นทำให้เรามีโอกาสได้แวะไปเยี่ยมเรือนบ้านเรือนและร้านรวงต่างๆ ได้พูดคุยซักถาม ได้เห็นแง่งามของการใช้ชีวิตของผู้คนที่นี่ จนอยากจะหยุดเวลาไว้ซะเดี๋ยวนี้เลย

...............

การเดินทาง

สงขลาอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครราว 950 กิโลเมตร สามารถเดินทางได้หลายวิธี หากขับรถไปแนะนำให้ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 ผ่านประจวบคีรีขันธ์, ชุมพร, สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช, ตรัง, พัทลุง แล้วเข้าสงขลา แต่ถ้ามารถโดยสารประจำทาง ที่สถานีขนส่ง(สายใต้) มีรถให้บริการทุกวัน ดูข้อมูลได้ที่ www.transport.co.th

ส่วนรถไฟมีลงที่สถานีหาดใหญ่ สอบถาม โทร. 1690 หรือ www.railway.co.th สุดท้ายมาง่ายๆ ได้โดยใช้บริการเครื่องบิน มีสายการบินหลายบริษัทให้บริการ เช่น การบินไทย โทร. 1566 แอร์เอเชีย โทร.0 2515 9999 นกแอร์ โทร. 1318

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ