Lifestyle

สมุทรปราการ พลาดได้ไง…ใกล้แค่นี้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บายไลน์ / ภัณฑิรา เจริญพิพัฒน์พิมพา

ยิ่งใกล้ตามักถูกมองข้าม นี่คือสิ่งที่สมุทรปราการกำลังเป็นอยู่ แม้จะอยู่ใกล้กรุงเทพมหานครแต่เป็นได้เพียงเมืองทางผ่านในฐานะจังหวัดปริมณฑลเท่านั้น

หลายคนใช้สมุทรปราการเพื่อไปยังจุดหมายปลายทางอื่น แต่แทบไม่มีใครรู้เลยว่า เมืองปากแม่น้ำเมืองนี้มีความหลากหลายด้านการท่องเที่ยวทั้งแง่ประวัติศาสตร์ ธรรมชาติ ประเพณีและวัฒนธรรมอย่างน่าอัศจรรย์ใจ

ในแง่ประวัติศาสตร์...เมืองสมุทรปราการถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ เนื่องจากมีปากน้ำเป็นประตูเข้าออกสู่ลำน้ำเจ้าพระยา ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงสถาปนาเมืองสมุทรปราการขึ้นใหม่ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งป้อมสำคัญขึ้น 6 ป้อม และเมื่อทรงเห็นเกาะหาดทรายอยู่ท้ายป้อมผีเสื้อสมุทรที่เป็นเกาะกลางน้ำ เหมาะแก่การที่จะประดิษฐานพระเจดีย์เป็นอนุสาวรีย์ จึงโปรดเกล้าฯให้มีการจัดสร้างขึ้น โดยพระราชทานนามพระมหาเจดีย์นี้ว่า พระสมุทรเจดีย์

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ซึ่งต่อมาเสด็จขึ้นครองราชย์เป็น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 กับเจ้าพระยาพระคลัง ( ดิศ บุญนาค ) เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการให้เป็นผู้อำนวยการจัดสร้างจนแล้วเสร็จตามแบบที่ทรงมีพระราชประสงค์ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีรูปทรงเป็นสี่เหลี่ยมไม้สิบสอง มีกำแพงแก้วล้อมรอบ และศาลามุงด้วยกระเบื้องจีนทั้ง 4 ทิศ

ต่อมามีคนใจบาปขึ้นไปขโมยพระบรมสารีริกธาตุ ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ ให้องค์พระเจดีย์มีลักษณะแบบลอมฟาง มีการสร้างวิหารใหญ่หันหน้าสู่ทะเล สร้างศาลาที่ประทับทางทิศเหนือ สร้างหอเทียนคู่หนึ่ง และหอระฆังคู่หนึ่งทางทิศใต้ ซึ่งภายในวิหาร ได้ทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ 12 พระองค์ และทรงประดิษฐานพระปฏิมากรไชยวัฒน์ และพระห้ามสมุทร ไว้ภายในให้ได้สักการะกันอีกด้วย

พอสิ้นรัชกาลที่ 4 พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีรัชกาลต่อๆ มา ก็ได้ทรงอุปถัมภ์อยู่เสมอ และหากพระมหากษัตริย์เสด็จโดยชลมารค ผ่านเข้าและผ่านออก ก็จะต้องหยุดเรือพระที่นั่ง แล้วทรงบูชาด้วยเครื่องสักการะทุกครั้ง

ในสมัยรัชกาลที่ 7 ภาพพระสมุทรเจดีย์ ได้รับการคัดเลือกให้ปรากฏด้านหลังธนบัตรฉบับใบละ 1 บาท 5 บาท และ 20 บาท โดยด้านหน้าเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่นเดียวกับธนบัตรฉบับใบละ 1 บาท ที่เคยใช้ในรัชกาลปัจจุบันก็ปรากฏภาพพระสมุทรเจดีย์อยู่กับพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

เครื่องยืนยันถึงประวัติศาสตร์ของสมุทรปราการที่เด่นชัดที่สุดคงหนีไม่พ้น ป้อมพระจุลจอมเกล้า ตั้งอยู่ที่บริเวณริมปากแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลแหลมฟ้าผ่า ป้อมพระจุลฯ เป็นป้อมที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการปกป้องอธิปไตยของชาติ เพราะเคยยิงต่อสู้กับศัตรูมาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อ ร.ศ.112 เป็นป้อมที่จารึกอยู่ในความทรงจำของคนไทยและประวัติศาสตร์ชาติไทยมายาวนาน เพราะในสมัยนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเห็นว่า ประเทศอังกฤษและฝรั่งเศสกำลังแสวงหาเมืองขึ้น บรรดาประเทศต่างๆ ที่อยู่ติดเขตแดนไทย ก็ถูกประเทศทั้งสองเข้าครอบครองไปหมดแล้ว นับเป็นภัยใหญ่หลวงสำหรับประเทศเล็กๆ อย่างประเทศไทย พระองค์จึงทรงหาวิธีป้องกันต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องการป้องกันทางน้ำ ทรงดำริให้ปรับปรุงป้อมต่างๆ ทางปากน้ำ โดยจ้างชาวต่างประเทศที่ชำนาญการทหารเรือเป็นที่ปรึกษาวางแผนในการปรับปรุงกิจการทหารเรือในครั้งนั้นด้วย ซึ่งภายในป้อมพระจุลจอมเกล้า มีพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงฉลองพระองค์ในชุดจอมทัพเรือ พระหัตถ์ถือกระบี่ บรรยากาศโดยรอบแวดล้อมไปด้วยแมกไม้นานาชนิดดูร่มรื่น ใต้ฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ เป็นพิพิธภัณฑ์แสดงประวัติความเป็นมาของป้อมพระจุลฯ และเหตุการณ์ในสมัย ร.ศ.112

วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 หรือเรียกอีกอย่างว่า “สงครามฝรั่งเศส - สยาม” เป็นเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างราชอาณาจักรสยามกับฝรั่งเศสในสมัยสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 3 ซึ่งเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2436 จากการอ้างอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในวิกฤตการณ์ครั้งนี้คือนายโอกุสต์ ปาวี รองกงสุลฝรั่งเศสประจำนครหลวงพระบาง ซึ่งเป็นหัวหอกสำคัญในการแสวงหาผลประโยชน์ของฝ่ายฝรั่งเศสในดินแดนลาว โดยใช้ประโยชน์จากจุดอ่อนของสยามที่ไม่สามารถดูแลหัวเมืองชายแดนได้ทั่วถึง มีการก่อกบฏในเวียดนามที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ ทวีความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลสยามกับรัฐบาลฝรั่งเศสที่กรุงปารีส ผลของวิกฤตการณ์ครั้งนี้ทำให้ฝ่ายไทยจำต้องยอมยกดินแดนลาวฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส นับเป็นการขยายอิทธิพลครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของฝรั่งเศสในภูมิภาคอินโดจีน และนำไปสู่การสูญเสียดินแดนประเทศราชของไทยในเขมรและลาวที่เหลืออยู่ในเวลาต่อมาอีกด้วย

ทางด้านซ้ายของป้อมพระจุลฯนั้นเป็นพิพิธภัณฑ์เรือหลวงแม่กลอง เรือรบหลวง หรือ เรือรบหลวงแม่กลอง เป็นเรือรบที่ประจำการนานที่สุดในกองทัพเรือ โดยมีประวัติการใช้งานยาวนานเป็นเวลาถึง 20 ปี จนกระทั่งกระทรวงกลาโหม ได้พิจารณาเห็นว่า เรือรบหลวงแม่กลองมีสภาพทรุดโทรมมาก การซ่อมเพื่อใช้งานราชการต่อไปคงไม่คุ้มค่า จึงให้ปลด เรือรบหลวงแม่กลองออกจากระวางประจำการตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2539 เพื่ออนุรักษ์ เป็นพิพิธภัณฑ์ เรือหลวงแม่กลองต่อไป

และเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริว่า กองทัพเรือควรจะอนุรักษ์เรือรบเก่าไว้ แล้วจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ทางทหารเพื่อเผยแพร่ความรู้แก่สาธารณชน ดังนั้นในมหามงคลวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ครบ 50 ปี ในวันที่ 9 มิถุนายน 2539 กองทัพเรือจึงน้อมเกล้าฯ ถวายเรือรบหลวงแม่กลอง ให้จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ ณ บริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้า นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์อาวุธยุทโธปกรณ์กลางแจ้ง ตลอดจนบทบาทในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล

จัดแบ่งเป็น 5 กลุ่มคือ กลุ่มปืนเสือหมอบ ปืนรุ่นแรกที่บรรจุทางท้ายกระบอก, กลุ่มปืนและอาวุธสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6, กลุ่มปืนและอาวุธในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1,2 ยุทธนาวีที่เกาะช้าง, กลุ่มปืนและอาวุธที่กองทัพเรือมีใช้ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงปัจจุบัน และการจัดแสดงสิ่งก่อสร้างและส่วนประกอบต่างๆ เพื่อแสดงให้เห็นถึงบทบาทของกองทัพเรือในยามสงบ และการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ให้นักท่องเที่ยวได้มาศึกษาหาความรู้กัน ซึ่งทางด้านข้างของพิพิธภัณฑ์เรือหลวง มีสโมสรท้ายเรือหลวงแม่กลอง เป็นที่พักรับประทานอาหาร มีอาหารที่หลากหลาย โดยเฉพาะอาหารทะเล สดและอร่อยมาก

ร่องรอยทางประวัติศาสตร์บนแผ่นดินเมืองปากแม่น้ำนี้ยังส่งให้ชื่อ บ้านสาขลา กลายเป็นส่วนหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์ ย้อนไปตั้งแต่ครั้งเกิดสงคราม 9 ทัพ ในสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อหมู่บ้านถูกรุกรานโดยกองทัพพม่า ในหมู่บ้านมีแต่ผู้หญิง คนแก่และเด็ก เนื่องจากผู้ชายถูกเกณฑ์ไปรบกันหมด แต่ผู้หญิงก็ยังใจสู้จับอาวุธต่อกรปกป้องหมู่บ้านไว้ได้อย่างกล้าหาญ จนได้ชื่อว่า “หมู่บ้านสาวกล้า” ก่อนจะเพี้ยนมาเป็น “หมู่บ้านสาขลา” หมู่บ้านนี้ตั้งอยู่ที่ตำบลนาเกลือ อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จุดเด่นของหมู่บ้านนี้ คือชาวบ้านทุกคนเห็นคุณค่าและภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ถิ่นเกิดของตนเอง รวมถึงขนบธรรมเนียมประเพณีและวิถีชีวิตดั้งเดิมที่สืบเนื่องมาจากบรรพบุรุษ และยังอนุรักษ์ให้สืบต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือแม้ในปัจจุบันคนบ้านสาขลาก็ยังมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ผูกพันกับวัดอย่างแน่นแฟ้น และคงจะเป็นด้วยอิทธิพลของพุทธศาสนา พวกเขาจึงพอใจในความสันโดษเรียบง่าย พร้อมจะแจกรอยยิ้มที่เปี่ยมไปด้วยน้ำใจเปิดกว้าง เมตตาอารีแก่ผู้มาเยือนได้ตลอดเวลา

ภายในหมู่บ้านนี้ เป็นที่ตั้งของวัดสาขลา ซึ่งสิ่งแรกที่เห็นอยู่หน้าวัดเลย คือ พระปรางค์เอน ที่ถือเป็นสัญลักษณ์เฉพาะของวัดนี้ ในช่วงน้ำหลากนั้นมีการถมที่ให้พ้นจากน้ำ และมีการยกองค์อุโบสถ และวิหาร ให้สูงขึ้นด้วย ซึ่งนำไปสู่การขุดพบพระพุทธรูปโบราณสำคัญ 2 องค์ตรงใต้ฐานหลวงพ่อโต

หลวงพ่อโตเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ประจำวัด เป็นศิลปะสมัยอู่ทอง ปางมารวิชัย ในคืนวันที่ 6 มกราคม 2526 เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ในหมู่บ้าน ลุกลามจนเกินความสามารถของชาวบ้านที่จะดับ ชาวบ้านที่ออกไปหาปูเห็นเหตุการณ์จากที่ไกล มองเห็นเป็นภาพนิมิตพระชรายืนเอาจีวรโบกไฟที่กำลังโหมจนค่อยๆดับลง พร้อมกันนั้นชาวบ้านก็ได้ยินเสียงสวดมนต์อย่างต่อเนื่อง พอตอนเช้าชาวบ้านจึงแห่กันไปดูที่วัด แล้วพากันตกตะลึงเมื่อเห็นองค์หลวงพ่อโตดำไปด้วยเขม่าทั้งองค์ ผ้าที่ห่มกรอบไหม้ หลังจากนั้นชาวบ้านจึงพร้อมใจกันทำบุญให้หลวงพ่อโตทุก วันที่ 6 มกราคม ของทุกปีจนทุกวันนี้

ส่วนพระพุทธรูปที่ขุดพบนั้นมีลักษณะหันหลังชนกัน องค์หนึ่งปางประทานพร อีกองค์หนึ่งปางห้ามสมุทร ซึ่งด้านล่างของบ่อที่ขุดพบนั้นเป็นบ่อน้ำจืดซึ่งผิดวิสัยของพื้นที่ติดทะเล และยังเป็นบ่อน้ำจืดอยู่จนถึงปัจจุบัน วัดแห่งนี้เต็มเปี่ยมไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มีจุดท่องเที่ยวให้เดินเยี่ยมชมอย่างเพลิดเพลินได้ทั้งวัน เช่น ห้องประดิษฐานองค์รูปเหมือนของพระเกจิชื่อดังของไทยซึ่งมีครบทุกองค์ พิพิธภัณฑ์เทพศรีสาขลาที่ประดิษฐานองค์พระตรีมูรติ องค์พระพิฆเณศ นอกจากนี้ยังมีเรือนไทยเป็นที่ประดิษฐานองค์พระพุทธรูปและรอบพระพุทธบาทที่งดงามมากทีเดียว

เกือบ 20 ปีที่ “ป้าสุนทร” สุนทร สุวรรณนาวิน ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรนาเกลือพัฒนาสาขลา ปักหลักแปรรูปกุ้งขาว กุ้งรู ทำเป็นผลิตภัณฑ์ “กุ้งเหยียดป้าสุนทร” มีแห่งเดียวในประเทศไทย ที่ได้รับการคัดสรรให้เป็นสุดยอดผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์กุ้งเหยียดป้าสุนทรเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับจากลูกค้าอย่างแพร่หลาย แต่ละวันป้าสุนทรนั่งขายกุ้งเหยียดหน้าบ้านได้ถึง 6,000 บาท ยังไม่รวมออเดอร์จากลูกค้าประจำที่สั่งไปขายต่ออีกจำนวนหนึ่ง

ป้าสุนทรบอกว่า “ การทำกุ้งเหยียดนั้น เป็นการต่อยอดภูมิปัญญาชาวบ้าน เพราะหมู่บ้านสาขลาเป็นหมู่บ้านที่อยู่ใกล้ทะเล แต่ก่อนชาวบ้านส่วนใหญ่ทำอาชีพประมง บางส่วนทำนาเกลือ แต่น้ำทะลักเข้ามาบ่อย ทำให้การทำนาเกลือค่อนข้างลำบาก ต่อมานาเกลือกลายเป็นนาร้าง และมีน้ำทะเลทะลักเข้ามา ทำให้ปูทะเล ปลา กุ้ง ทั้งกุ้งขาว กุ้งรู กุ้งบ๊วย เข้ามาอยู่เยอะ ชาวบ้านจึงจับมาทำเป็นอาหารและขาย แต่สมัยก่อนยังไม่เจริญ ไม่มีไฟฟ้า ชาวบ้านไม่มีตู้เย็นที่จะเก็บอาหารไว้ได้นาน จึงนำกุ้งที่จับมาได้มาต้มเค็ม เพื่อเป็นการถนอมอาหาร “

ป้าสุนทรจะเลือกขายกุ้งเหยียด ซึ่งดัดแปลงจากกุ้งต้มเค็มนั่นเอง "รุ่นคุณพ่อคุณแม่ของป้าจะทำเป็นเหมือนกุ้งต้มเกลือทั่วไป แต่ป้ามาดัดแปลง จากเดิมใส่เกลืออย่างเดียว มาเติมน้ำตาลเล็กน้อยให้รสชาติออกมัน เค็มนิดๆ หวานหน่อยๆ กลมกล่อมดี กินกับข้าวสวย ข้าวต้ม หรือเป็นของกินเล่นๆ กับแกล้มก็ได้ ส่วนรูปทรงของกุ้งเหยียดจะเป็นรูปทรงตรง ไม่งอเหมือนกุ้งต้มเค็มธรรมดา “

การทำกุ้งเหยียดสูตรป้าสุนทร ปัจจุบันทำจากกุ้งแชบ๊วย กรรมวิธีเริ่มจาก เตรียมหาอุปกรณ์ที่เป็นส่วนผสม คือ หม้อใส่กุ้ง 4 กก., น้ำตาลทราย 1.5 กก., เกลือ 170 กรัม นำกุ้งแชบ๊วยไปล้างให้สะอาด และนำกุ้งไปวางเรียงให้ตรงในหม้อเรียงประมาณครึ่งหม้อ จากนั้นจะโรยน้ำตาลทรายครึ่งกิโลและเกลือป่นหนึ่งกำมือ แล้วเรียงกุ้งต่อจนเต็มหม้อ โรยน้ำตาลทรายครึ่งกิโลและเกลือป่นหนึ่งกำมืออีกครั้ง โดยไม่ต้องใส่น้ำแต่อย่างใด เสร็จแล้วให้นำเขียงทับกุ้งเพื่อไม่ให้กุ้งงอ ยกขึ้นไปตั้งบนเตา เปิดไฟเบาๆ ใช้เวลาทั้งหมด 1 ชั่วโมง ก็เสร็จเรียบร้อยพร้อมรับประทานได้เลย โดยตัวกุ้งยังตรงเหยียดเป็นมันวาว รสชาติหวานมันเค็มลงตัว อร่อยเลยทีเดียว

แม้ว่าสมุทรปราการจะเป็นเพียงจังหวัดเล็กๆ แต่เพียบพร้อมไปด้วยเสน่ห์ เป็นจังหวัดที่ต่อให้มีเวลาแค่หนึ่งวันก็เที่ยวได้เกือบครบถ้วน ไม่ต้องเดินทางไกลแถมยังเที่ยวได้ตลอดทั้งปี ถ้าหากสุดสัปดาห์นี้ยังไม่มีโปรแกรมไปไหน มาลองทำความรู้จักกับเมืองใกล้ตาอย่างสมุทรปราการดูนะ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ