Lifestyle

ชีวิตหรรษา ณ แม่แตง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เรื่องและภาพ : นิภาพร ทับหุ่น

เชียงใหม่ เป็นจังหวัดที่ฉันเดินทางมาเยือนนับครั้งไม่ถ้วนในแต่ละปี ตลอดชีวิตนี้มีมากกว่า 30 ครั้งแน่ๆ แต่เชื่อมั้ย...ไม่เคยมีสักครั้งที่ฉันจะพาตัวเองไปเยือน แม่แตง แหล่งท่องเที่ยวที่โอบล้อมไปด้วยสีเขียวๆ ของผืนป่า

นี่ไงล่ะ ความผิดพลาดที่ฉันบ่นถึง

“แดนน้ำสามแม่ ล่องแพขี่ช้าง แอ่วอ่างแม่งัด กาดนัดแม่มาลัย โป่งเดือดใหญ่ล้ำค่า หมอกฟ้าห้วยน้ำดัง มนต์ขลังเมืองแกน ท่องแดนถ้ำบัวตอง”

แค่คำขวัญประจำอำเภอเพียงไม่กี่บรรทัดก็ทำให้รู้แล้วว่า แม่แตงนั้นมีทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวมากมายขนาดไหน และที่นี่ก็เหมาะสมกับคนไทยที่ชื่นชอบทั้งธรรมชาติ วัฒนธรรม และกิจกรรมแอดเวนเจอร์ที่สุด

ตามสไตล์ผู้หญิงสายแข็ง(แรง) เมื่อเห็นว่าแม่แตงครบเครื่องขนาดนี้ ก็ยอมไม่ได้ที่จะปล่อยให้เกิดความผิดพลาดขึ้นอีกในชีวิต และทันทีที่ได้รับการเชิญชวนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กองตลาดภาคเหนือ เพื่อร่วมกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวภาคเหนือ ภายใต้ภาพลักษณ์ “เหนือฝัน...ล้านแรงบันดาลใจ” ในเขตพื้นที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ผู้หญิงสายแข็งคนนี้ก็ตอบตกลงในทันที

หลังอิ่มอร่อยกับ “มาการอง” รสดีที่สายการบินไทยสไมล์บริการแก่ผู้โดยสารในช่วงที่มีการเฉลิมฉลองครบรอบ 4 ปีของการให้บริการแล้ว เราเปลี่ยนมาใช้รถตู้คันโตเป็นพาหนะเพื่อเดินทางต่อไปยังจุดหมายปลายทางในครั้งนี้ นั่นก็คือ แม่แตง

แม่แตง เป็นอำเภอที่โอบล้อมไปด้วยภูเขาสูงชัน โดยมีพื้นที่ราบเชิงเขาที่พอให้อยู่อาศัยและประกอบอาชีพเกษตรกรรมเพียง 30 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด แน่นอนว่า ที่เหลือคือภูเขา และนั่นก็คือแหล่งท่องเที่ยวของเรานั่นเอง

รถตู้พาเราเลี้ยวซ้ายเข้าสู่เส้นทางท่องเที่ยวสายหลักของอำเภอแม่แตง สีเขียวๆ ของต้นไม้และผืนป่าที่หนาแน่นอยู่ 2 ข้างทางช่วยกระตุ้นความรู้สึกสดชื่นของนักเดินทางบนรถได้เป็นอย่างดี

เราผ่านปางช้างที่มีกิจกรรมท่องเที่ยวที่เกี่ยวกับช้าง ทั้งการแสดงช้าง ช้างวาดรูป ช้างอาบน้ำ แต่ที่นักท่องเที่ยว โดยเฉพาะชาวต่างชาติชื่นชอบมากๆ ก็คือ กิจกรรมนั่งช้างชมไพร และนั่นก็ทำให้แม่แตงมีจำนวนช้างมากมายกว่า 100 เชือก

ไม่เพียงแค่การท่องเที่ยวเท่านั้น ด้วยสภาพภูมิประเทศที่สวยงาม กอปรกับมีช้างเป็นทรัพยากรหลัก แม่แตงจึงกลายเป็นโลเคชั่นชั้นดีที่กองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศสนใจ และในวันที่เราเดินทางไปนั้นกองถ่ายภาพยนตร์จากประเทศอินเดียก็กำลังถ่ายฉากสำคัญ

นั่งช้างอย่างเดียวอาจจะไม่จุใจพอ เดี๋ยวนี้มีบริการนั่งรถวัวเทียมเกวียนด้วย ตอนแรกๆ ที่เห็นนึกว่ามีเพียงไม่กี่คัน แต่พอรถแล่นผ่านไปเรื่อยๆ น่าจะมีเกวียนหลายร้อยคันเลยทีเดียว ดูแล้วคล้ายภาพพีเรียดที่ได้ย้อนไปในอดีตสมัยที่มีการทำสัมปทานป่าไม้ก็ไม่ปาน

รถตู้มาจอดกึกที่ แก่งกื๊ด ถึงเวลาที่สาวๆ ขาแข็งแรงอย่างพวกเราต้องออกมายืดเส้นยืดสายกันแล้ว ไม่ต้องเดามาก มาถึงแม่แตง ไม่ขี่ช้างก็ต้องล่องแก่งนั่นแหละ

ตามคำขวัญว่า แม่แตงเป็นดินแดนสามแม่ นั่นหมายถึงการมีแม่น้ำ 3 สายไหลผ่าน คือ แม่น้ำปิง ที่มีต้นทางอยู่ในอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนแม่น้ำแม่แตงก็มีต้นสายจากเชียงดาวเหมือนกัน แต่เส้นทางแตกต่าง สุดท้ายคือแม่น้ำแม่งัด ต้นน้ำอยู่ในเขตอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ไหลมารวมกับแม่น้ำปิง โดยมีเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลเป็นปลายทาง

แม่น้ำแม่แตง มีระยะทางยาวประมาณ 35 กิโลเมตร แต่สำหรับเส้นทางล่องแก่งใช้แม่น้ำแม่แตงเพียง 10 กิโลเมตร จากบ้านสบก๋ายถึงบ้านเมืองกื๊ด โดยมีระดับความยากง่ายแตกต่างกันไป จริงๆ ถ้ามีเวลาสามารถล่องตั้งแต่ต้นทางที่บ้านสบก๋ายได้เลย ซึ่งจะมีความยากของแก่งตั้งแต่ระดับ 1-5 เลยทีเดียว (บ้างก็ว่าถ้าน้ำแรงจะปีนขึ้นไปถึงระดับ 6-7 โน่นเชียว) ซึ่งมีแก่งให้ล่องแบบสนุกๆ มากถึง 14 แก่ง

แต่สตรีสาย strong ที่มีเวลาเป็นของตัวเองเพียงน้อยนิดอย่างเรา เลือกล่องแก่งระยะทางสั้นๆ ที่บ้านเมืองกื๊ด ระยะทางประมาณ 3.5 – 4 กิโลเมตร ใช้เวลาล่องเพียง 30-45 นาที แต่ก็ถือว่าสนุกสนานพอสมควร เพราะแก่งกื๊ดมีความยากน่าจะระดับ 3-4 ได้ เรียกเสียงกรี๊ดจากสาวๆ ไปไม่น้อยเหมือนกัน ซึ่งระยะทางนี้บริษัทท่องเที่ยวหลายๆ แห่งนิยม เพราะไม่ยาวจนเกินไป

ผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้า ดื่มน้ำดื่มท่าเรียบร้อยเราก็ออกเดินทางต่อไปยัง เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล หรือที่เรียกสั้นๆ กันว่า “เขื่อนแม่งัด” ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติศรีล้านนา เพราะฉะนั้นการเดินทางเข้าไปเที่ยวชมจะต้องเสียค่าธรรมเนียมการชมอุทยานฯ กันด้วย คนไทยแค่คนละ 20 บาทเท่านั้น

เขื่อนแม่งัด สร้างขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทำการชลประทานให้แก่พื้นที่เพาะปลูกในลุ่มน้ำแม่งัด ปัจจุบันเขื่อนนี้มีความสำคัญทั้งในแง่เกษตรกรรมและการท่องเที่ยว เพราะรอบๆ เขื่อนนั้นมีภูมิทัศน์ที่สวยงาม เหมาะแก่การเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่สุด ทุกวันนี้เขื่อนแม่งัดจึงกลายเป็นปลายทางยอดฮิตของชาวเชียงใหม่ ตลอดจนนักท่องเที่ยวที่มาจากแดนไกล เพราะในเขื่อนมีแพท่องเที่ยวให้บริการ

แพท่องเที่ยวเหล่านี้นอกจากจะมีที่พักที่อิงแอบแนบชิดกับธรรมชาติให้บริการแล้ว ยังมีเครื่องเล่นทางน้ำที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมไว้ให้นักท่องเที่ยวได้เล่นกันอย่างสนุกสนานด้วย ส่วนใครอยากพายเรือก็มีคายัคให้บริการ ใครอยากตกปลา ดูนก จัดไปตามใจชอบ แต่สำหรับเราเลือกนั่งดูน้องๆ เขาเล่นกันก็เพลินแล้ว

ได้ค้างบนเขื่อนแม่งัด 1 คืน เหมือนได้เติมออกซิเจนเข้าไปจนเต็มปอด เมื่อร่างกายสดชื่นดีแล้วเราออกเดินทางกันต่อ คราวนี้ปลายทางอยู่ที่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ ชื่อที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้จัก แต่เมื่อมาแล้วจะหลงรัก เชื่อเถอะ

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่แตง ซึ่งโอบล้อมไปด้วยภูเขาสูงชัน มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ 700-1,250 เมตร อุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 24 องศา เรียกว่า กำลังสบายๆ

คล้ายกับโครงการหลวงอื่นๆ ทั่วไปที่เกิดขึ้นจากความห่วงใยในราษฎรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพื้นที่ภูเขาส่วนใหญ่มีชาวบ้านที่เป็นชนเผ่าต่างๆ อาศัยอยู่ และอาชีพหลักของพวกเขาก็คือการปลูกฝิ่นและการทำไร่เลื่อนลอย ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนาประเทศ

ธัญนันท์ เหล่าใจ เจ้าหน้าที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ เล่าให้ฟังว่า บนดอยม่อนเงาะมีหมู่บ้านทั้งหมด 7 แห่ง ประชากรที่นี่มีทั้งคนเมืองและชาวม้ง ซึ่งม้งจะมีอยู่ 2 หมู่บ้าน คือ บ้านม่อนเงาะ และบ้านกิ่วป่าหอบ หลังจากโครงการหลวงเข้ามาตั้งศูนย์ในปี 2528 ภารกิจหลักก็คือการส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกพืชทดแทนการปลูกฝิ่น ซึ่งปัจจุบันทดแทนได้แล้ว 100 เปอร์เซ็นต์

“พืชหลักของเราคือฟักทองญี่ปุ่น ตอนแรกๆ เราปลูกรวมๆ กันเหมือนการปลูกทั่วไป ไม่รู้ต้นไหนเป็นต้นไหนปนกันไปหมด จากนั้นเราก็เริ่มศึกษาและคิดหาวิธีปลูก ราวๆ ปี 2552 ก็ศึกษาการเลื้อยของฟักทอง จนในที่สุดก็ค้นพบวิธีการปลูกฟักทองแบบเข้าแถว”

นั่งฟังอยู่ก็อึ้งกับการศึกษาเรื่องนี้ของเจ้าหน้าที่โครงการหลวงม่อนเงาะ เพราะมันสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการปลูกพืชตระกูลแตงได้ทั้งหมด ซึ่งวิธีปลูกก็ไม่ยาก ธัญนันท์ บอกว่า แค่สังเกตว่าตอนกล้าฟักทองขึ้นมาใบแรกคือใบไหน การเลื้อยของฟักทองจะเลื้อยตรงข้ามกับใบแรกที่เป็นใบจริงเสมอ และเมื่อลองปลูกแบบนั้นจึงได้ฟักทองเข้าแถวที่เลื้อยไปในทิศทางเดียวกันเป๊ะๆ มองจากมุมสูงจะเห็นว่าเลื้อยลงมาเป็นสาย จนบางคนก็เรียกว่า ฟักทองสายธารา หรือฟักทองน้ำตก ดูแล้วน่าอัศจรรย์จริงๆ

นอกจากฟักทองก็มีกะหล่ำปลีหัวใจ ผักคอส ซิมบิเดียม(ออกดอกช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน) เสาวรส อโวคาโด พลับ พลัม เห็ดหลินจือ เห็ดหอม ไร่ชา กาแฟ และกิจกรรมท่องเที่ยวในพื้นที่มากมาย

“เป็นการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ซึ่งเราจะให้ชาวบ้านเป็นคนจัดการเอง โดยสโลแกนการท่องเที่ยวของที่นี่คือ ทะเลหมอกสุดสายตา ผ่านม่านฟ้า 2 วัฒนธรรม คือม้งและคนเมือง”

การท่องเที่ยวบนดอยม่อนเงาะเริ่มต้นจริงจังราวปี 2552 แรกๆ เป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ มีการปลูกป่าและการล่องแพเป็นกิจกรรมหลัก นักท่องเที่ยวที่มาไม่ได้พักแรมบนดอยม่อนเงาะ แต่จะไปพักที่ม่อนแจ่ม ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวในอำเภอแม่ริมแทน แต่ระยะหลังมีการพัฒนาพื้นที่ รวมถึงเพิ่มเติมสถานที่พัก นักท่องเที่ยวจึงเข้ามามากขึ้น

“เรามีจุดท่องเที่ยวหลักคือจุดชมวิวบนดอยม่อนเงาะ ซึ่งสามารถมองเห็นทัศนียภาพฝั่งห้วยน้ำดัง และอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอนได้ และถ้าลงไปอีกทางก็จะมีกิจกรรมล่องแก่งที่บ้านสบก๋าย มีไร่ชาลุงเดช ส่วนที่พักมีบ้านพักของโครงการหลวงจำนวน 5 หลัง และบ้านพักของชาวบ้านอย่างไร่ชาลุงเดช โฮมสเตย์บ้านเหล่าพัฒนา นอกจากนี้ยังมีจุดกางเต็นท์บนยอดดอย ช่วงหน้าหนาวนักท่องเที่ยวจะขึ้นมากางเต็นท์กันเยอะ”

รับฟังข้อมูลพอหอมปากหอมคอก็ได้เวลาที่สาวๆ จะขึ้นไปชมความสวยงามของดอยม่อนเงาะที่ว่าแล้ว แต่เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นภูเขาสูงชัน เราจึงต้องใช้รถของคนในพื้นที่ในการเดินทาง หากนักท่องเที่ยวมาก็ควรจะจ้างรถชาวบ้านเหมือนกัน เพราะคล่องตัวและมั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดอุบัติเหตุ เนื่องจากชำนาญทาง

เรามาถึงตีนดอยเอาตอนบ่ายเล็กๆ พอดีกับที่เมฆฝนเริ่มทำงาน เจ้าหน้าที่จึงชี้ชวนให้เราเดินชมหมู่บ้านม่อนเงาะ ซึ่งเป็นบ้านชาวม้งก่อน จากนั้นจึงพากันเดินทางต่อไปยังยอดดอย

ระยะทางในการเดินเท้าราว 500 เมตรดูไม่ไกลเลยเมื่อสองข้างทางที่เราเดินผ่านมีความงดงามให้เห็นเป็นระยะ ต้นปรงหลากหลายขนาดคือหนึ่งในพืชที่บ่งชี้ได้ถึงความอุดมสมบูรณ์ เราเดินฝ่าดงเฟิร์นขนาดใหญ่ขึ้นไปจนถึงยอดดอยม่อนเงาะ

ความสูงจากระดับน้ำทะเลราว 1,250 เมตร ทำให้รู้สึกราวกับว่าสามารถแตะขอบฟ้าได้ เพราะภาพที่เห็นภูเขาน้อยใหญ่ทอดยาวเรียงรายสลับซับซ้อน บนยอดเขาแต่ละแห่งมีหมอกฝนไหลผ่านเอื่อยๆ และดูจะเรื่อยเลยมาจนถึงยอดดอยม่อนเงาะ

ละอองไอเย็นๆ ห่มคลุมยอดเขาไว้หมดแล้ว เราต่างมองไม่เห็นหน้าของกันและกัน พักเดียวเท่านั้นฝนก็ทิ้งตัวลงมาห่าใหญ่ ขืนยืนอยู่ต่อไปต้องเปียกปอนไม่เป็นท่าแน่ๆ ว่าแล้วพวกเราก็รีบสาวเท้ากลับลงมาข้างล่างทันที

เสียดายที่เรามาจังหวะเดียวกับฝนฟ้าทำงานหนัก เลยมีโอกาสได้ชมม่อนเงาะแค่บางส่วนเท่านั้น แต่เพราะเรื่องราวที่น่าสนใจทำให้เราตั้งมั่นในเจตนารมณ์ว่า จะขอกลับมาเยือนอีกครั้ง หรือหลายๆ ครั้งแน่ๆ

แม่แตงเป็นแหล่งท่องเที่ยวสีเขียวที่ทั้งอุดมสมบูรณ์และสวยสดงดงาม แล้วทำไมเราเพิ่งจะได้มาเยือน “แม่แตง”

การเดินทาง

อำเภอแม่แตงอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ราว 40 กิโลเมตร สามารถเดินทางโดยใช้ทางหลวงหมายเลข 107 มุ่งหน้าไปทางอำเภอแม่ริม จนถึงตัวอำเภอแม่แตง แนะนำให้ใช้รถยนต์ส่วนบุคคล หรือรถเช่า เพราะแหล่งท่องเที่ยวแต่ละแห่งอยู่ห่างไกลกัน ถ้าเป็นรถประจำทางจะไม่ค่อยสะดวก สอบถามข้อมูลการเดินทางหรือรายละเอียดต่างๆ ได้ที่ ททท.สำนักงานเชียงใหม่ โทรศัพท์ 0 5324 8604-5

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ