Lifestyle

นครโอเค เมืองสงขลาในสายตาของศิลปิน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เรื่อง/ภาพ ปิ่นอนงค์ ปานชื่น

การเดินทางมาเยี่ยมเพื่อนที่ตัดสินใจจะมาใช้ชีวิตหลังเกษียณอยู่ที่ย่านเมืองเก่าสงขลา ไม่เพียงแต่จะทำให้ นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล ศิลปินไทยเชื้อสายอินเดียจากเชียงใหม่ ได้เพลิดเพลินไปกับอาหารอร่อยและตึกรามบ้านช่องที่เต็มไปด้วยร่องรอยของวัฒนธรรมอันหลากหลาย

เสน่ห์ของสงขลา ยังกระตุ้นให้เขาริเริ่มโครงการศิลปะกับชุมชน โดยใช้เวลา 1 ปี เต็มในการสร้างสรรค์จิตรกรรมสุดอลังการและวิดีทัศน์ ที่ย้อนวันวานของชุมชนย่านเมืองเก่าสงขลาผ่าน นครโอเค ซิงกอร่า เหนือกาลเวลา

พร้อมเปิดแสดงแล้วทุกวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ วันนี้ – 30 ตุลาคม 2559 ณ โรงหนังสหภาพยนตร์ และ โรงกลึงไม่มีชื่อ ย่านเมืองเก่า อ.เมือง จ.สงขลา

วันเปิดวิก

ภาพวาดโปสเตอร์หนังใหญ่ยักษ์ที่หน้าวิกสหภาพยนตร์ ดูเผินๆก็ไม่ต่างอะไรกับภาพวาดโปสเตอร์สมัยย้อนยุคไปสัก 30 -40 ปีก่อน

หากสิ่งที่พิเศษออกไป คือ ภาพใบหน้าของบุคคลในภาพนั้นหาใช่พระเอก นางเอกภาพยนตร์ชื่อดังไม่ ทว่าเป็นใบหน้าของชาวเมืองที่อาศัยอยู่ในย่านเมืองเก่าสงขลา ตั้งแต่รุ่นเล็ก รุ่นกลาง รุ่นใหญ่ และที่น่าตื่นตาตื่นใจคือ ตัวจริงของบุคคลในภาพนับร้อยชีวิตต่างมารวมตัวกันในวันเปิดวิกแสดงผลงานจิตรกรรมหน้าสหภาพยนตร์ โรงหนังเก่าแก่ของเมืองที่เลิกรากิจการไปนาน ทว่ายังคงเหลือโครงสร้างอาคารที่เคยติดป้ายโฆษณาอยู่

“เห็นเด็กผู้ชายฝาแฝดนั่นมั้ย ? ผมเองตอนเด็กๆ” เฮียเจ้าของร้านกาแฟหน้าโรงหนังร้านเดียวในเมืองที่ใช้ชาซีลอนชงชาได้หวานหอมจนต้องขอเบื้ลสองบอกกับเราด้วยสีหน้าที่เต็มไปด้วยความสุข

ในขณะที่เรามองบุคคลในภาพไล่เรียงไปตามผู้คนที่เพิ่งได้พบเจอก่อนงานเลี้ยงเปิดนิทรรศการ นครโอเค ซิงกอร่า เหนือกาลเวลา ไม่นานก็ได้พบกับครอบครัวร้านข้าวมันไก่สะพานเหล็ก ร้านแรกที่เราไปฝากท้องทันทีที่ถึงเมืองนี้ และก็เป็นคนแรกที่ชักชวนให้เรามาร่วมงานวันนี้เช่นกัน

บุคคลในภาพพร้อมครอบครัวพากันมาชมภาพจิตรกรรมขนาดใหญ่ วาดโดยใช้เทคนิคแบบคัทเอาท์โฆษณาในสมัยก่อน ได้เห็นภาพของตัวเอง เพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง รวมถึงเหตุการณ์สำคัญที่อยู่ในความทรงจำของผู้คน

ไม่ว่าจะเป็น ป้ามิ้น สาวประเภทสองที่เป็นตำนานอยู่คู่ถนนนางงาม พี่เหิรฟ้า นักพากย์เสียงทองคนดัง รวมไปถึงน้องเกรซทายาทรุ่นเยาว์ของโรตีอาม่าร้านดัง รวมเรื่องเล่าอยู่ในภาพและพากันมาปรากฎตัว

จะรออะไรอยู่ จากนั้นชาวเมืองต่างก็พากันโพสต์ท่าถ่ายรูปกับโปสเตอร์หนังใหญ่ยักษ์ที่มีนักแสดงนำเป็นคนเมืองเก่าสงขลากันอย่างรัวๆ เป็นที่สนุกสนานยิ่ง

ยังมีต่อ

หลังจากเปิดตัวภาพวาดหน้าโรงหนังขนาดอลังการแล้ว นาวิน ลาวัลย์ชัยกุลและทีมงานนาวินโปรดักชั่น ยังจัดภาคต่อด้วยการพาไปชมภาพจิตกรรมชุมชน ที่โรงกลึงไม่มีชื่อบนถนนนครนอก ซึ่งจัดแสดงพร้อมกับจัดฉายวิดีทัศน์ และมิวสิกวิดีโอที่พวกเขาสร้างสรรค์ขึ้นจากการสัมภาษณ์ผู้คนที่อาศัยอยู่ในย่านเมืองเก่า ที่ประกอบไปด้วยผู้คนต่างเชื้อชาติและหลากหลายอาชีพ เพื่อเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ของเมือง ผ่านมุมมองของศิลปินผู้มาเยือน

โรงกลึงเดิมเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานเป็นแกลลอรีได้อย่างมีเสน่ห์ เมื่อนำภาพจิตรกรรมรูปบุคคลในชุมชนมาจัดแสดง โดยมีสีสันและอารมณ์ที่แตกต่างออกไปจากผลงานที่หน้าโรงภาพยนตร์ เนื่องจากผลงานทั้ง 70 ชิ้นนี้ วาดขึ้นมาด้วยเทคนิคที่เสมือนภาพถ่ายขาวดำในอดีต โดยมีการรวบรวมผู้คนในชุมชน สถานที่สำคัญของเมืองสงขลามาจัดองค์ประกอบใหม่ เสมือนเป็นการซ้อนทับเรื่องราวในอดีตและปัจจุบันเข้าด้วยกัน

เมื่อประกอบกับวิดีทัศน์ที่เปิดฉายอยู่อีกมุมหนึ่ง เรื่องราวของเมืองเก่าในยุคคุณตาที่เล่าให้หลานสาววัยรุ่นฟัง เน้นย้ำให้เห็นถึงเสน่ห์ของเมืองและวิถีชุมชนที่เต็มไปด้วยความเอื้ออาทร

เดินลึกเข้าไปด้านในของโรงกลึง หน้าต่างกระจกบานใหญ่เปิดภาพเรืองประมงที่จอดอยู่ใกล้แค่เอื้อม เบื้องหน้าคือทะเลสาบสงขลา แค่นึกว่าได้มานั่งอยู่ในห้องโถงนี้นิ่งๆเพียงสิบนาทีคงจะดีไม่น้อย

คำตอบของคำถาม

ทำอะไร ? ทำไปทำไม ? เป็นคำถามที่ นาวิน ได้รับมาตลอดระยะเวลา 1 ปี ที่ลงมือทำโครงการศิลปะกับชุมชน ร่วมกับโปรเจคสงขลา (ที่นี่+ตอนนี้) โดยมูลนิธิเกี่ยวกับศิลปะ-อาร่า ดำเนินงานโดย เกล้ามาศ ยิบอินซอย และ นพดล ขาวสำอางค์ คู่สามีภรรยาที่ตัดสินใจจะมาใช้ชีวิตหลังเกษียณที่เมืองเก่าสงขลา

“คนส่วนใหญ่มีคำถามว่าเรามาทำเพื่ออะไร ? ใครให้เงิน ? แรกๆชุมชนไม่เข้าใจว่าศิลปะมาเกี่ยวข้องกับชุมชนยังไง คือ เขารู้จักพี่โก๋ (นพดล ) กับเหมียว (เกล้ามาศ) รู้ว่าเราเป็นเพื่อน แต่ทำอะไรยังไม่ค่อยเข้าใจ หลังๆ ร้านข้าวแทบจะให้ข้าวเรากินฟรีเพราะเห็นว่าเรามาทำงานศิลปะโดยใช้ทุนตัวเอง” นาวินเล่า

“ แนวคิดแรกอยากทำ ซิงกอร่า ( ชื่อที่ชาวต่างชาติเรียกสงขลาในอดีต) ไดอารี่ เหมือนเป็นเรื่องราวของตัวเราที่เหมือนนักเดินทางที่เข้ามาในเมือง สัมภาษณ์ผู้คน ตั้งใจเขียนเป็นบทหนัง 9 วันที่เรามาที่นี่ แต่ดูแล้วเป็นส่วนตัวไปหน่อย จึงตัดสินใจเก็บไว้ทำหนังสือดีกว่า เป็นบันทึกที่เราเห็นคนๆนี้แล้วเราคิดถึงเรื่องอะไร

นอกจากทำตรงนี้เราอยากเชื่อมโยงกับชุมชนบ้านเกิดเราที่เชียงใหม่ เลยคิดถึงร้านขายผ้าของพ่อ คือ ปลายปีนี้จะปิดแล้ว พ่ออายุมากขึ้น เรานำชื่อร้าน โอเค นำมาใช้เป็นชื่อสตูดิโอเค เหมือนส่งต่อจากรุ่น”

ประกอบกับแนวคิดในการทำงานศิลปะกับชุมชนที่ญี่ปุ่น ที่มีชื่อว่า เกาะโอเค จึงนำมาสู่การทำงานใน นครโอเค ซิงกอร่า เหนือกาลเวลา

“เดือนที่แล้วเราไปทำงานที่ญี่ปุ่น บนเกาะเล็กๆที่ชิโกกุ มีคนอาศัยอยู่ 14 ครอบครัว ในความหมายของชุมชนคือเมืองที่ไม่มีใครไปอยู่ ผู้คนไปอยู่ในเมืองกันหมด เป็นเกาะที่มีแต่คนแก่อยู่ เราทำโปรเจคโอเคนี่ล่ะ ไปสร้างโอเคทาวเวอร์ขนาดใหญ่ วันแรกที่ไปทำคนก็มาถามว่ามาทำอะไร?เพื่ออะไร? มีประโยชน์ยังไง? ตอนนี้มีแต่คนอยากรักษาไว้ นักท่องเที่ยวก็เริ่มเข้ามา

พอทำเกาะโอเคแล้ว เรามาคิดว่าที่นี่มีถนนนครนอก นครใน มีนครโอเคอีกมั้ย? มันจะอยู่ที่ไหนก็ตามเป็นดินแดนในจินตนาการ”

เมื่อถามถึงเหตุผลที่พยายามเชื่อมโยงเรื่องราวส่วนตัวกับชุมชนที่ได้เดินทางไปสัมผัส เขาตอบว่า ฟังแล้วอาจดูเหมือนเป็นเรื่องตลก

“ถ้าเราแปลความหมายของโอเค คือ ความพอดี ความสวยงามที่ไม่มากไม่น้อยไป อยากให้มีความโอเคแม้ว่าจะถูกกระทำจากอะไรก็ตาม

มีคนถามว่าคุณภูมิใจกับความประวัติเป็นตัวเองเหรอ ก็ใช่นะ เราภูมิใจกับการที่บรรพบุรุษเราเดินเท้ามาจากอินเดีย ในขณะเดียวกันเวลาคนมาดูงานเราอยากให้เขานำไปคิดต่อกับชีวิต สังคม เรื่องของครอบครัว

เราได้แต่หวังว่าศิลปะที่เราและทีมงานได้สร้างขึ้นจะก่อประโยชน์บ้าง เท่านั้นเอง”

นี่คือตำตอบของคำถามที่ว่า มาทำอะไร ? และ ทำไปทำไม ?

หมายเหตุ : นครโอเค ซิงกอร่า เหนือกาลเวลา เป็นโครงการศิลปะกับชุมชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจคสงขลา (ที่นี่ + ตอนนี้) โดยมูลนิธิเกี่ยวกับศิลปะ - อาร่า สอบถามรายการเข้าชมโทร. 08 9759 8647

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ