ข่าว

สานพระราชดำริในหลวงร.9 เพิ่มพื้นที่ต้นแบบ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คนส่วนใหญ่ของประเทศยังทุกข์ยากจากความยากจน จนเกิดเป็นความเหลื่อมล้ำในประเทศ จึงจำเป็นต้องมีหน่วยงานต่างๆ เกิดขึ้นเพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรอย่างยั่งยืน

      สาเหตุที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ต้องทรงงานหนักมาตลอด 70 ปีแห่งการครองราชย์ ทั้งที่ประเทศไทยส่งออกสินค้าทางการเกษตรและอุตสาหกรรมรายใหญ่แห่งหนึ่งของโลก ทั้งข้าว น้ำตาล อาหารทะเล แม้แต่รถยนต์ ส่วนหนึ่งมาจากรายได้ความมีกินมีใช้กระจุกอยู่ในกลุ่มคนเล็กๆ เพียงกลุ่มเดียว ขณะที่คนส่วนใหญ่ของประเทศยังทุกข์ยากจากปัญหาความยากจน จนเกิดเป็นความเหลื่อมล้ำในประเทศ จึงจำเป็นต้องมีหน่วยงานต่างๆ เกิดขึ้นเพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรอย่างยั่งยืน และหนึ่งในนั้นก็คือ สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ภายใต้มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ โดยมี ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ ถือโอกาสที่ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง 7 ปี จัดแถลงผลการดำเนินงานปี 2559 รวมถึงเล่าถึงทิศทางการดำเนินงาน 5 ปีข้างหน้า ตลอดจนเชิญผู้นำชุมชนมาถ่ายทอดประสบการณ์ หัวข้อ “การรวมกลุ่มชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยจัดขึ้นที่ สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันก่อน

สานพระราชดำริในหลวงร.9 เพิ่มพื้นที่ต้นแบบ

ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล 

     ม.ร.ว.ดิศนัดดา กล่าวว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าต้นเหตุเกิดจากการบริหารประเทศ และคนส่วนใหญ่มีการศึกษาน้อยจึงมีโอกาสในการพัฒนาตัวเองได้ไม่มากนัก แต่ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีหลักการทรงงานและหลักการแก้ไขปัญหาประเทศชาติ 3 ประการ คือ 1.น้ำ ถือว่าสำคัญที่สุด 2.หลักเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ ที่ต้องเดินคู่กันเสมอ และ 3.ความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ซึ่งต้องมีความขยันและอดทน อย่างมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ เกิดขึ้นมา 7 ปีด้วยการนำศาสตร์พระราชาไปเพิ่มโอกาสให้คนชนบทได้มีที่ยืน มีความเท่าเทียม หรือใกล้เคียงกับคนเมืองมากขึ้น ผ่านการร่วมมือกับองค์กรต่างๆ เน้นการทำงานให้เป็นต้นแบบในชุมชน แล้วกระจายไปในพื้นที่อื่นๆ ซึ่งก็เป็นการทำงานตามหลักของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่เน้นการทำงานเริ่มจากการทำเล็กๆ ก่อนจะขยายไปใหญ่ๆ

สานพระราชดำริในหลวงร.9 เพิ่มพื้นที่ต้นแบบ

      “ปี 2559 ที่ผ่านมา มูลนิธิฯ สามารถพัฒนาระบบน้ำ เพิ่มพื้นที่รับประโยชน์ในพื้นที่ต้นแบบเดิม 3,828 ไร่ จาก 17,476 ไร่ เป็น 21,304 ไร่ สามารถส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ จนทำให้ในพื้นที่ต้นแบบทุกพื้นที่มีรายได้จากภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 118.7 ล้านบาท เฉลี่ยครัวเรือนละเกือบ 35,000 บาท ทำให้มีครัวเรือนที่มีรายได้ผ่านเกณฑ์ความจำเป็นพื้นฐานหรือครัวเรือนพ้นความยากจนเพิ่มขึ้นร้อยละ 16 นอกจากนี้ปิดทองหลังพระฯ ยังส่งเสริมความเข้มแข็งในการประกอบอาชีพไปสู่รัฐวิสาหกิจชุมชน ปัจจุบันเรามีกองทุนและกลุ่มอาชีพต้นแบบ 32 กองทุน ซึ่งมีมูลค่ารวม 10 ล้านบาท เงินรวม 3.5 ล้านบาท ทรัพย์สินรวม 6.7 ล้านบาท ขณะที่ล่าสุดในปี 2560 ปิดทองหลังพระฯ ได้เข้าไปใน ต.ทุ่งโป่ง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ซึ่งประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในการทำการเกษตร แม้ว่าจะอยู่ติดเขื่อนอุบลรัตน์ เช่นเดียวกับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ แม้จะได้ชื่อว่าเป็นเมืองฝน 8 แดด 4 กลับไม่มีน้ำสำหรับทำนา ก็มาจากปัญหาการจัดการน้ำเช่นกัน ยังไม่นับปัญหาความมั่นคง ซึ่งการพัฒนาในพื้นที่ต่างๆ สามารถไปได้ไกลกว่าที่เกิดขึ้น ถ้ามีความร่วมมือกันอย่างเป็นระบบแทนที่จะเป็นการร่วมมือกันเฉพาะกิจ” ม.ร.ว.ดิศนัดดา กล่าว

สานพระราชดำริในหลวงร.9 เพิ่มพื้นที่ต้นแบบ

 ปัทมพร พิชัย

     ภายหลังพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ เพื่อบูรณาการร่วมกันในการประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาชนบทเชิงพื้นที่ ระหว่างสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ปัทมพร พิชัย ที่ปรึกษารัฐวิสาหกิจกลุ่มผู้ปลูกมะนาวบ้านยอด อ.สองแคว จ.น่าน เล่าว่า ทำการเกษตรตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงทำเกษตรแบบพอเพียง ทำให้เรารู้จักพอ ไม่อิจฉาริษยาใคร พอเพียงในแบบของเรา และสามารถพัฒนาตนเองได้ ถือว่าเป็นการเดินตามแนวพระราชดำริของพระองค์ท่าน สิ่งสำคัญก็คือ การที่คนในพื้นที่ไม่ต้องไปหางานทำนอกพื้นที่ มาอยู่ในบ้านของตนเอง

สานพระราชดำริในหลวงร.9 เพิ่มพื้นที่ต้นแบบ

ศิริชัย จันทร์นาค

     ด้าน ศิริชัย จันทร์นาค ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรบ้านลาด จำกัด เล่าว่า เมื่อมีการรวมกลุ่มกันแรกๆ ไม่มีเงินทุนผลผลิตก็ถูกกดราคา จึงได้รวมกลุ่มเล็กๆ เอาเงินทุนตัวเอง โดยมีภาครัฐและมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ สร้างความเข้มแข็งให้กลุ่ม ช่วยบูรณาการทุกหน่วยงานให้อยู่ได้ด้วยตัวเอง สร้างความยั่งยืน โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาใคร จากที่เคยมีปัญหาในเรื่องการตลาด เพราะไม่รู้ว่าจะไปจำหน่ายที่ไหน ก็ทำให้มีช่องทางมากขึ้น ปัจจุบันยกระดับตลาดในประเทศ กลายเป็นสินค้าของฝากที่มีชื่อเสียงของ จ.เพชรบุรี และส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศด้วย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ