ข่าว

แพร่พระอัจฉริยภาพ “ในหลวง ร. 9” แก่ชาวต่างชาติ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“อาย” อุรีรัชต์ รัตนพฤกษ์ กงสุลใหญ่ไทย ณ นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม เปิดบ้านงาน “รอยัล แจ๊ส อิน รีเมมบรานซ์ ออฟ ฮิส มาเจสตี คิง ภูมิพล อดุลยเดช”

      แพร่พระอัจฉริยภาพ “ในหลวง ร. 9” แก่ชาวต่างชาติ

     เมื่อแม่งานคนสำคัญ “อาย” อุรีรัชต์ รัตนพฤกษ์ กงสุลใหญ่ไทย ณ นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม ต้องการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมเผยแพร่และบอกกล่าวในพระอัจฉริยาภาพของพระองค์ให้แก่ชาวต่างชาติและคนเวียดนามได้รับรู้ เรื่องของการทรงดนตรีและเพลงพระราชนิพนธ์ก็เป็นหนึ่งเรื่องราวที่สามารถเข้าถึงผู้คนทุกเพศทุกวัยทุกชาติทุกภาษาได้โดยง่าย ว่าแล้วจึงรังสรรค์บ้านพักกลางเมืองโฮจิมินห์รังสรรค์งาน “รอยัล แจ๊ส อิน รีเมมบรานซ์ ออฟ ฮิส มาเจสตี คิง ภูมิพล อดุลยเดช”(Royal jazz in Remembrance of His Majesty King Bhumibol Adulyadej) เมื่อเร็วๆ นี้

แพร่พระอัจฉริยภาพ “ในหลวง ร. 9” แก่ชาวต่างชาติ

เจิ่น หมั่น ต๊วน - อุรีรัชต์ รัตนพฤกษ์

      บรรยากาศในงานรื่นรมย์ไปด้วยดอกกุหลาบสีขาวพร้อมนิทรรศการที่เผยแพร่พระอัจฉริยาภาพทางด้านดนตรีของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทั้งพระบรมฉายาลักษณ์ทรงดนตรี โน๊ตเพลงพระราชนิพนธ์ รวมทั้งแซกโซโฟน เครื่องคนตรีทรงโปรดที่เรียกความสนใจให้กับแขกผู้มีเกียรติที่เป็นกงสุลใหญ่และผู้แทนจากประเทศต่างๆ รวมทั้งนักธุรกิจชาวเวียดนามและนักธุรกิจชาวไทยที่ไปลงทุนทำธุรกิจที่โฮจิมินห์และพื้นที่ใกล้เคียง อาทิ ธงชัย พานทอง, นิน่า มิตชยานันท์, เชาวณี วันทนสมบัติ, ไหม ลี, โอห์มาร์ ฮาร์เดกเกอร์ กงสุลใหญ่สวิตเซอร์แลนด์ประจำนครโฮจิมินห์และภริยา, ลาน กิบบอนส์ ผู้แทนจากกงสุลอังกฤษประจำนครโฮจิมินห์, ด่วน ต้วน ลินห์ตัวแทนจากกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม, ทิบอร์ บาโลช์ดิ กงสุลใหญ่ฮังการีประจำนครโฮจิมินห์, แอนเดรียส์ ซีเกล กุงสุลใหญ่เยอรมนีประจำนครโฮจิมินห์และภริยา, หวิ่น จุง นาม นักธุรกิจคนดังของเวียดนาม ฯลฯ

แพร่พระอัจฉริยภาพ “ในหลวง ร. 9” แก่ชาวต่างชาติ

หวิ่น จุง นาม-ลาน กิบบอนส์-ทิบอร์ บาโลช์ดิ

      โดยกงสุลใหญ่ไทย ณ นครโฮจิมินห์ “อาย” อุรีรัชต์  กล่าวว่า อยากทำอะไรให้ในหลวงสักอย่างหนึ่ง เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระองค์ท่าน ก่อนสวรรคตตั้งใจที่จะจัดคอนเสิร์ฟเพลงพระราชนิพนธ์อยู่แล้ว และเมื่อผ่าน 100 วันแล้ว มีความรู้สึกว่ามีวิธีการน้อมรำลึกถึงพระองค์ท่านในหลายรูปแบบ ทรงมีพระอัจฉริยภาพมากในเรื่องของดนตรี สามารถถ่ายทอดง่ายและสื่อถึงคนต่างชาติ ทั้งเวียดนาม กงสุล คณะทูตต่างๆ ได้ง่าย ที่สำคัญเราได้เจอกับนักดนตรีคนหนึ่งที่มีความเคารพนับถือพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชอยู่แล้ว เหมือนพระองค์ท่านทรงเป็นแรงบันดาลใจสำหรับเขา ที่ได้เรียนรู้เรื่องดนตรี จึงได้ร่วมงานกันมาถ่ายทอดบทเพลงพระราชนิพนธ์ให้กับคณะกงสุลและแขกผู้ที่เกียรติในคำคืนนี้

แพร่พระอัจฉริยภาพ “ในหลวง ร. 9” แก่ชาวต่างชาติ

 แอนเดรียส์ ซีเกลและมาดาม

       “วันที่พระองค์ท่านสวรรคตคิดว่าคนที่นี่มีความเสียใจไม่น้อยไปกว่าคนไทย ในช่วงนั้นที่เราเปิดให้มีการลงนามถวายความอาลัยเป็นเวลา 2 สัปดาห์ สำหรับคณะทูตและชุมชนทั่วไป มีคนเวียดนามที่เคยไปเกิดและเติบโตที่เมืองไทย เขารู้สึกว่าเขาได้พึ่งพระบารมีพระองค์ท่านในการที่จะใช้ชีวิตในประเทศไทยอย่างมีความสุข เขาพูดกับเราเลยว่าไม่เคยลืมข้าวแดงแกงร้อนของคนไทยที่สนับสนุนเขามา มีท่านหนึ่งบอกว่าไม่ใช่เพียงการสูญเสียเฉพาะคนไทย แต่มันเป็นการสูญเสียของคนเวียดนามด้วย ทำให้เห็นว่าพระบารมีของพระองค์ท่านไม่ได้อยู่เฉพาะในประเทศไทย คือมันแผ่ไพศาลมาถึงประเทศเพื่อนบ้านและทั่วโลก กงสุลประเทศต่างๆ ที่มาวันนี้เคยมาลงนามถวายความอาลัย ส่วนใหญ่ใช้เวลานานมากที่จะเขียนบรรยายความรู้สึก คนเหล่านี้อาจไม่ได้ศึกษาลึกซึ้งด้านดนตรี แต่ในวันนี้เขาได้ประจักษ์แล้วว่าพระองค์ไม่ใช่กษัตริย์นักพัฒนาอย่างเดียว แต่ว่าทรงมีพระอัจฉริยภาพหลายด้าน” กงสุลใหญ่เปิดเผยความรู้สึก  

แพร่พระอัจฉริยภาพ “ในหลวง ร. 9” แก่ชาวต่างชาติ

  เจิ่น หมั่น ต๊วน บรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์

      ไฮไลท์ในงานนอกจากนิทรรศการเผยแพร่พระอัจฉริยภาพแล้วคือการแสดงของ เจิ่น หมั่น ต๊วน นักดนตรีแจ๊สชาวเวียดนามที่รักและศรัทธาในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูิมพลอดุลยเดช โดยเป่าแซกโซโฟนบรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์ทั้งสิ้น 5 เพลงด้วยกันได้แก่ ยามเย็น, แสงเดือน, แสงเทียน, เอช.เอ็ม บลู และในดวงใจนิรันดร์ พร้อมกันนี้ยังกล่าวด้วยว่า ประมาณ 10 ปีที่แล้วได้มีโอกาสเล่นคอนเสิร์ตรวมกับนักดนตรีแจ๊สของไทยในงานสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม โดยมีบทเพลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชด้วย รู้สึกซาบซึ้งในพระอัจฉริยภาพจึงศึกษาพระราชประวัติและพบว่าทรงเป็นนักประพันธ์และทรงเป็นนักดนตรีที่เก่งมากที่สุดพระองค์หนึ่งของโลก บทเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ทรงได้นำความเป็นเอเชียมาผสมผสานกับความเป็นตะวันตก ความทันสมัยได้อย่างลงตัวและดีเยี่ยม จากนั้นมาทรงเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญของตัวเองในเรื่องของดนตรีที่อยากให้คนเวียดนามรับรู้ในเรื่องของวัฒนธรรมและผสมผสานกับความสมัยใหม่ไปพร้อมๆ กัน

      “ในเวลานี้ผมอยากจะบอกว่าเพลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชไม่ใช่ของคนไทยเท่านั้น ผมอยากให้เพลงพระราชนิพนธ์เป็นที่รู้จักในหมู่ของคนเวียดนามและคนในโลกนี้” นักดนตรีแจ๊สคนดังของเวียดนามกล่าวปิดท้าย    

  

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ