ข่าว

น้อมนำคำสอนภูมิคุ้มกันชีวิต

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

น้อมนำคำสอนของพระองค์ในเรื่องของหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้เหมือนเป็นภูมิคุ้มกันให้ชีวิต

   สำหรับบรรยากาศภายในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเปิดให้ประชาชนเข้าถวายสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เป็นวันที่ 111 ยังคงมีประชาชนจำนวนมากจากทั่วประเทศทะยอยเดินทางมากราบสักการะพระบรมศพตลอดอย่างต่อเนื่องโดยเจ้าหน้าที่เปิดประตูให้เข้าตั้งแต่เวลา 04.40 น.

น้อมนำคำสอนภูมิคุ้มกันชีวิต

บุญเลิศ สิริภัทรวณิช

   นายบุญเลิศ สิริภัทรวณิช นายกสมาคมช่างทองไทย กล่าวว่า รู้สึกปลื้มใจและถือเป็นเกียรติสูงสุดที่ได้มีโอกาสนำสมาชิกในสมาคมฯ มากราบพระบรมศพ เพราะในกลุ่มสังคมของช่างทองพวกเราได้ยึดถือพระองค์ท่านเป็นต้นแบบ นอกเหนือจากการเคารพรักซาบซึ้งในสิ่งที่พระองค์ทรงทำเพื่อประชาชนแล้ว ด้วยพระอัจฉริยภาพที่มีในทุกด้านทุกแขนงโดยเฉพาะด้านช่าง พระองค์ทรงประดิษฐ์สิ่งของ ทรงต่อเรือใบด้วยพระองค์เอง นับเป็นพระมหากษัตริย์ที่เป็นศิลปิน ขณะเดียวกันทรงมีความรู้เรื่องโมเดิร์นเทคโนโลยีที่จะนำเข้าไปผสานกับงานประดิษฐ์ต่างๆ

   “ทั้งนี้ได้น้อมนำคำสอนของพระองค์ในเรื่องของหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้เหมือนเป็นภูมิคุ้มกันให้ชีวิต โดยรู้จักใช้จ่ายอย่างประหยัด ใช้ความรู้ด้านช่างทองที่พระองค์ทรงอยากให้มีการอนุรักษ์ไว้ก็ได้นำมาสร้างอาชีพสร้างรายได้ช่วยเหลือจุนเจือครอบครัว”นายบุญเลิศ เผยเพิ่มเติม

น้อมนำคำสอนภูมิคุ้มกันชีวิต

เสวต สมิทธาภิรดี

   “ช่างฝ้าย” นายเสวต สมิทธาภิรดี อายุ 72 ปี อดีตอาจารย์พิเศษวิทยาลัยช่างทองวังหลวง เผยก่อนหน้านี้เมื่อ 30 ปีที่แล้ว มีความรู้สึกปลาบปลื้มมากในฐานะช่างทองไทย สมัยทำงานเป็นผู้จัดการดูแลฝ่ายผลิต ที่บริษัทบิวตี้เจมส์ แล้วมีโอกาสได้ร่วมผลิตเครื่องทรงพระแก้วมรกตทั้ง 3 ฤดู ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาถึงวันนี้ ที่พระองค์ท่านเสด็จสวรรคต ก็มีโอกาสได้นำคณะช่างทองไทยเข้าร่วมเป็นเจ้าภาพในพิธีสวดพระอภิธรรมพระบรมศพ จึงนับว่าเป็นอีกครั้งในชีวิตที่มีความปลื้มปิติอย่างมากที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณในครั้งนี้

  “แม้ว่าตัวเองจะไม่มีโอกาสได้ถวายงานต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่รัชกาลที่ 9 โดยตรงแต่ก็มีโอกาสได้ถวายงานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยรับเป็นอาจารย์พิเศษสอนที่วิทยาลัยช่างทองหลวง และเป็นคนแรกที่ร่วมสร้างหลักสูตรให้กับอาชีวศึกษาและในวิทยาลัยช่างทองหลวง รวมถึงเป็นครูสอนตามสถานศึกษาต่างๆ ซึ่งสมเด็จพระเทพฯ ทรงมีรับสั่งเน้นย้ำว่า ให้ช่วยกันอนุรักษ์และอย่าทอดทิ้งช่างทองไทย เพราะเป็นศิลปะของคนไทย ในส่วนของคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 นั้น อย่างที่ประชาชนคนไทยทราบกันดีว่า พระองค์ท่านทรงสอนทุกๆ อย่าง โดยเฉพาะเรื่องการเรียนรู้ การพัฒนา ความประหยัดและความพอเพียง ซึ่งถือว่าเป็นหลักใหญ่ที่สุด ดังนั้นในฐานะช่างทองไทย ก็ได้นำหลักการพัฒนาตัวเองมาใช้ในวิชีพ รวมถึงความซื่อสัตย์สุจริต ความซื่อตรง และจากคำสอนตรงนี้ ตัวเองจึงจัดตั้งสมาคมช่างทองไทยขึ้น เมื่อ 8 ปีที่แล้ว เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้รุ่นหลังต่อๆ ไป” ช่างฝ้ายหรือครูฝ้ายของช่างทองไทย กล่าวด้วยน้ำเสียงปลาบปลื้ม

น้อมนำคำสอนภูมิคุ้มกันชีวิต

วิวัฒน์ จิตนวล

    นายวิวัฒน์ จิตนวล ประธานกรรมาธิการสถาปนิกทักษิณ สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะตัวแทนสมาคมสถาปนิกสยามฯ ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ร่วมเป็นเจ้าภาพบำเพ็ญพระกุศลฯ เผยว่า สมาคมฯ ซึ่งมีพันธกิจในการส่งเสริมกิจกรรมทางวิชาการวิชาชีพของงานสถาปัตยกรรมหรืองานสถาปนิก และองค์กรอยู่ภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งก็ต้องสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นแบบอย่างในแนวทางต่างๆ ทรงพระราชทานคำแนะนำในการออกแบบบ้านให้แก่ประชาชนทีได้รับความเดือดร้อนทั่วประเทศ โดยทรงเน้นย้ำให้ออกแบบภายใต้โจทย์หลักเศรษฐกิจพอเพียง เน้นใช้วัสุดในพื้นถิ่นในแต่ละภูมิภาคสะท้อนให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของชาติ เป็นรูปแบบสวยงาม ทว่าต้องเป็นการใช้วัสดุอย่างคุ้มค่าต่อการใช้ประโยชน์ด้วย ดังนั้นการมาในวันนี้นอกจากมาเพื่อถวายความอาลัยแล้ว ยังร่วมแสดงถึงการน้อมนำพระราชดำริต่างๆ ซึ่งพระองค์ท่านต่อสู้กับความยากจนของประชาชนคนไทยมาโดยตลอด

   “ในฐานะที่ตัวเองประกอบอาชีพเป็นทั้งอาจารย์และประกอบอาชีพสถาปนิก สิ่งที่ตั้งใจดำเนินตามรอยพระยุคลบาทของพระองค์ท่านคือ ท่านต่อสู้กับความยากจนของประชาชนมาโดยตลอด ดังนั้นการจะทำอย่างไรให้ประเทศชาติประชาชนได้อยู่ดีกินดีได้ ก็คือต้องสร้างความรู้สร้างอาชีพให้ประชาชน แต่ต้องอยู่ภายใต้ของความพอเพียง ดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข ซึ่งหลักความพอเพียงนี้ก็มีในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นแบบอย่างซึ่งไม่เพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ในต่างประเทศก็ยังน้ำไปใช้และปฏิบัติ เราคนไทยเป็นปวงข้าประชาชนของพระองค์ท่านก็ต้องคิดถึงจุดนี้แล้วเราจะอยู่ได้อย่างถาวรยั่งยืน” นายวิวัฒน์ กล่าว

น้อมนำคำสอนภูมิคุ้มกันชีวิต

ทวีศักดิ์ แพทย์พิบูลย์(คนกลาง)

   นายทวีศักดิ์ แพทย์พิบูลย์ อายุ 46 ปี อาชีพรับจ้างและเกษตรกร ชาว ต.ชำราก อ.เมืองตราด จ.ตราด กล่าวว่า พึ่งจะเดินทางมาเป็นครั้งแรก วันนี้มากับภรรยาและเพื่อนบ้าน โดยเช้ารถตู้มากันเอง รู้สึกตื้นตันใจที่ได้มีโอกาสมากราบในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านทำเพื่อประชาชนทุกอย่าง ทำโดยไม่คิดถึงพระองค์เอง ตนมีอาชีพรับจ้างและอาชีพเกษตรกรด้วย ก็ได้ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์มาปรับใช้ โดยพอใจในสิ่งที่มี ใช้จ่ายอย่างประหยัด ซึ่งตนมีที่ดินน้อยจึงทำในที่ดินที่มีอยู่ให้คุ้มค่า จึงได้ทำเกษตรแบบผสมผสาน ทั้งเลี้ยงปลานิลและปลาหมอเทศ ปลูกปาล์ม ปลูกยางพารา และมีการปลูกหญ้าแฝกในสวนยาง เพื่อป้องกันดินพังทลายและรักษาหน้าดิน

   “เราต้องทำหลายๆ อย่าง ปลูกอะไรก็อย่าปลูกเพียงอย่างเดียว ถ้าปลูกอย่างเดียวอยู่ไม่ได้ เพราะราคาพืชผลไม่แน่นอน หากปลูกหลายๆ อย่างก็พอจะช่วยพยุงกันไปได้ ผมยึดหลักของพระองค์ท่านมาปรับใช้ทุกอย่าง สิ่งที่พระองค์ท่านทรงสอนไว้ดีทั้งหมดถ้าเรานำมาปฏิบัติ รู้สึกตื้นตันเวลาคิดถึงพระองค์ท่าน” นายทวีศักดิ์ กล่าว

น้อมนำคำสอนภูมิคุ้มกันชีวิต

ครอบตรัวโพธิโต

   ด้านครอบครัวโพธิโต ที่มีภูมิลำเนาอยู่ที่จ.สิงห์บุรี ปัจจุบันอาศัยอยู่ย่านสำเหร่ เขตธนบุรี กรุงเทพฯ เดินทางมาพร้อมกันรวม 10 คน มาต่อแถวตั้งแต่เวลา 05.00 น. และได้เข้ากราบสักการะราว 09.30 น. โดยนายเสน่ห์ โพธิโต อาชีพค้าขายดอกไม้ที่ปากคลองตลาด กล่าวว่า เดินทางมาพร้อมภรรยา ลูกและหลาน ๆ ซึ่งทุกคนตั้งใจที่จะเดินทางมา โดยเลือกมาในวันธรรมดา เพราะมีผู้คนเดินทางมาไม่มาก และอยากให้ช่วงสุดสัปดาห์คนต่างจังหวัดได้เดินทางมากราบสักการะในหลวงรัชกาลที่ 9 ตน ตนและครอบครัวซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่ในหลวงทรงมีต่อประชาชนคนไทยเหมือนกับคนไทยทุก ๆ คน และภูมิใจตนยังมีโอกาสได้รับเสด็จพระองค์ท่านครั้งที่เสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรในพื้นที่ สิงห์บุรี และพื้นที่ใกล้เคียง ราวปี พ.ศ. 2515 แม้ว่าจะผ่านมานานหลายสิบปีภาพพระองค์ก็ยังแจ่มชัด และแม้ว่าพระองค์จะสวรรคตแต่เชื่อว่าพระองค์จะยังสถิตย์ในหัวใจของคนไทยทุกคน

   “เมื่อวันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของในหลวงรัชกาลที่9 ตัวเองพร้อมกับชาวปากคลองตลาดได้มีการจัดดอกไม้เพื่อถวายความอาลัยแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อเป็นตัวแทนของคนไทยทุกคนระลึกถึงพระองค์ท่าน พระองค์ท่านเป็นพระมหากษัตริย์ที่ดีและยากที่จะหาใครเทียบได้ และยังได้สอนลูกหลานให้ยึดพระองค์ท่านเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติตน ทั้งในด้านความพอเพียง ความขยันอดทนและความกตัญญู” นายเสน่ห์ กล่าว

   ส่วน ด.ช.วิษณุพร โพธิโต อายุ 14 ปี นักเรียนชั้น ม.2 โรงเรียนวัดราชบพิธ กล่าวว่า รู้สึกดีใจมากที่ได้มากราบพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9 พร้อมกับครอบครัว เมื่อทราบว่าครอบครัวจะเดินทางมาก็ตั้งใจที่จะมาด้วย แม้ว่าที่โรงเรียนอยู่ในช่วงสอบ และวันนี้เป็นวันหยุดอ่านหนังสือ หลังจากที่ได้เข้ากราบสักการะพระบรมศพแล้วก็จะกลับไปอ่านหนังสือต่อ ซึ่งตนจะตั้งใจเรียนหนังสือและโตขึ้นอยากเป็นนักกฎหมาย เพราะเป็นอาชีพที่มีความมั่นคงและได้ช่วยเหลือผู้อื่นที่มีความทุกข์ นอกจากนี้ ยังได้น้อมนำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน คือ มีการใช้จ่ายอย่างพอเพียง ส่วนที่เหลือก็เก็บออมไว้ใช้ใอนาคต

    พร้อมกันนี้สำนักพระราชวังได้สรุปยอดรวมประชาชน ที่เดินทางมาสักการะพระบรมศพเมื่อวันที่ 20 ก.พ.หลังสำนักพระราชวัง ปิดไม่ให้ประชาชนเข้าพระบรมมหาราชวัง เพื่อขึ้นกราบสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในเวลา 21.15 น.ว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 28,466 คน รวม 110 วัน มี 4,603,019 คน และมีประชาชนถวายเงินเพื่อร่วมบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นเงิน 2,271,842.75 บาท รวม 110 วัน เป็นเงินทั้งสิ้น 388,072,187.09 บาท

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ