ข่าว

ติดขอบวัฒนธรรมบีบอย ‘เรดบูล บีซี วัน’

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การแข่งขัน "เรดบูล บีซี วัน เวิลด์ ไฟนอล 2016" ที่เมืองนาโกยา ประเทศญี่ปุ่น

ติดขอบวัฒนธรรมบีบอย ‘เรดบูล บีซี วัน’

อิเซะ กับลีลาบีบอยแชมป์โลก

เปิดโลกทัศน์เรื่องการเต้นบีบอยจากโลกใบเล็กให้เป็นโลกใบใหญ่ไปในทันที เมื่อมีโอกาสได้มาสัมผัสวัฒนธรรมและติดตามการเดินทางของเหล่านักเต้นจากทุกมุมโลก ในรายการแข่งขัน "เรดบูล บีซี วัน เวิลด์ ไฟนอล 2016" ที่เมืองนาโกยา ประเทศญี่ปุ่น เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา แดนซากุระขึ้นชื่อเรื่องความทุ่มเท คลั่งไคล้แบบสุดโต่งกันอยู่แล้วไม่แปลกที่บรรยากาศการแข่งขันบีบอยที่นี่ไม่ใช่เวทีเอาท์ดอร์ หรืออันเดอร์กราวน์ แต่คล้ายการซื้อบัตรเข้าชมคอนเสิร์ต หรือเชียร์กีฬาในสเตเดี้ยมขนาดใหญ่ซึ่งบัตรจะเต็มทุกที่นั่งเสมอ

ปีนี้การแข่งขันจัดที่สนามกีฬาในร่มขนาดใหญ่ใกล้กับปราสาทนาโกยา น่าสนใจที่บรรดากองเชียร์นั้นมีแทบทุกวัย ตั้งแต่เด็กเล็กที่ตะโกนเรียกนักเต้นในดวงใจเสียงดังฟังชัดไปจนผู้ใหญ่อายุ 50 อัพยืนเต้นเชียร์อย่างสนุกสนาน สะท้อนสังคมนักเต้นที่ได้รับการยอมรับเหนียวแน่นไปกับวัฒนธรรมสังคมชาวญี่ปุ่นมายาวนาน ตามที่ ไทสุเกะ นักเต้นบีบอยผู้เป็นตำนานและแรงบันดาลใจให้บีบอยรุ่นใหม่วัย 36 ปี อดีตแชมป์บีซี วัน ระดับประเทศปี 2007 และ 2011 และหนึ่งในผู้เข้าแข่งขันในรายการระดับโลกปีนี้เล่าให้ฟังว่า เมื่อราว 20 ปีก่อนเขาเริ่มต้นเต้นบีบอย ในญี่ปุ่นยังไม่มีเด็กๆ ชื่นชอบเต้นบีบอยเท่าไหร่ จน 10 ปีให้หลัง “เรดบูล บีซี วัน” เดินทางมาจัดกันที่ญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก ปีนั้นเขาชนะการแข่งขันระดับประเทศ และได้เดินทางไปแข่งรอบชิงแชมป์โลก เข้ารอบ 8 คนสุดท้าย ตั้งแต่นั้นมาเขารู้สึกได้ว่าบีบอยในญี่ปุ่นเริ่มเปิดกว้างและเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

“โตเกียวเป็นเมืองที่มีบีบอยเยอะที่สุด รองมาคือโอซากา 10 กว่าปีที่เข้ามาอยู่ในวงการแข่งขันอย่างเข้มข้น ผมพบว่าตั้งแต่มีการแข่งขันระดับโลกเข้ามาในญี่ปุ่นหลายๆ รายการ ก็เริ่มมีเมืองที่มีบีบอยมากขึ้น อย่างนาโกยาก็เริ่มมีเด็กในมหาวิทยาลัยก็จัดแข่งขันบีบอยด้วย ผมมาจากญี่ปุ่นฝั่งตะวันตกซึ่งวัฒนธรรมบีบอยค่อนข้างแข็งแรง พวกเราสามารถเรียนรู้การเต้นได้ทุกแนวทั้ง ร็อกกิ้ง ป๊อปปิ้ง เฮ้าส์ รวมถึงบีบอย ส่วนตัวคิดว่าสไตล์บีบอยของคนเอเชียมีความฉลาด เปิดใจกว้างสามารถปรับเปลี่ยนกับแนวเต้นอื่นๆ ให้สนุกสนาน รวมถึงการแต่งตัว เราทำเรื่องบีบอยให้เป็นสไตล์แฟชั่นได้ชัดเจน ส่วนเรื่องการแข่งขันหากนักเต้นที่เริ่มออกเดินทางหาประสบการณ์ จะต้องมีสปอนเซอร์สนับสนุนเพราะพวกเขาจะสามารถโฟกัสไปที่การเต้นได้อย่างจริงจัง ในฐานะรุ่นพี่ในอนาคตผมอยากสนับสนุนนักเต้นรุ่นใหม่แบบนี้เช่นกัน” อดีตแชมป์ เล่าวัฒนธรรมบีบอยในญี่ปุ่น

ติดขอบวัฒนธรรมบีบอย ‘เรดบูล บีซี วัน’

คณะกรรมการตัดสิน

เรดบูล บีซี วัน เป็นการแข่งขันระดับโลกที่สร้างเพื่อตอกย้ำวัฒนธรรมของวงการฮิพฮอพ บีบอย ที่มีอยู่ทุกมุมโลก การแข่งขันถูกจัดขึ้นในหลายประเทศอันเป็นศูนย์กลางของวงการบีบอยในแต่ละมุมโลก เช่น สวิตเซอร์แลนด์ บราซิล ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้  อิตาลี เป็นต้น สำหรับการแข่งแบบเวิลด์ไฟนอล 2016 ที่ประเทศญี่ปุ่นมีการเชิญสุดยอดนักเต้นทั่วโลก 16 คน มาร่วมแบทเทิลทีละคู่บนเวทีจนเหลือผู้ชนะเพียงหนึ่งเดียว เพลงที่ใช้แข่งแบ่งเป็น 3 ช่วงให้สลับกันโชว์ลีลาบนเวทีคนละ 3 รอบสั้นๆ ในแต่ละคู่แข่งขัน ซึ่งการตัดสินจะมีคณะกรรมการ 5 คน ยกป้ายเลือกผู้ชนะทีละแมทช์นับเป็นนาทีที่ทุกคนจะได้ลุ้นอย่างใจจดใจจ่อหลังชมการเต้นสุดตื่นตา ชิงไหวพริบ ดังที่ ริชาร์ด โคลอน หรือ Crazy Legs นักเต้นบีบอยวัย 50 ปีก็กล่าวไว้ระหว่างชมการแข่งขันว่า ทุกรอบนักเต้นรุ่นใหม่ได้เผยทักษะจากบีบอยที่มีพื้นฐานดี และมีความสร้างสรรค์นั่นคือสิ่งที่เขาจับตามองด้วยหัวใจที่พองโต   

ติดขอบวัฒนธรรมบีบอย ‘เรดบูล บีซี วัน’

และแล้วเข็มขัดแชมป์โลก เรดบูล บีซี วัน เวิลด์ ไฟนอล ในปีนี้ตกเป็นของอิเซะ นักเต้นวัย 19 ถือเป็นนักเต้นชาวญี่ปุ่นคนแรกที่ก้าวสู่ตำแหน่งชนะเลิศของรายการแข่งขันในเวิล์ด ไฟนอล ที่เรียกได้ว่ามีความหมายต่อนักเต้นบีบอยญี่ปุ่นอย่างมาก อิเซะ ผู้คว้าเข็มขัดแชมป์ เริ่มหลงเสน่ห์การเต้นบีบอยตั้งแต่ 6 ขวบ และเริ่มตระเวนแข่งขันจนได้แชมป์แรกในชีวิตตอนอายุเพียง 14 ปี อันที่จริงอิเซะ มีความสามารถในการเต้นหลากหลายรูปแบบตามสไตล์นักเต้นญี่ปุ่นฝั่งตะวันตก เขารู้สึกว่าเป็นการเต้นที่เท่ดึงจุดเด่นของเขาในสไตล์การเต้นเพาเวอร์มูฟแบบไดนามิก ลื่นไหลไปกับท่วงทำนองดนตรีได้ดี แต่ในขณะเดียวกันก็ยังเต็มไปด้วยความแข็งแกร่ง

ติดขอบวัฒนธรรมบีบอย ‘เรดบูล บีซี วัน’

อิเซะ

“นี่คือรายการแข่งขันที่ใหญ่ที่สุดที่ผมเคยลงแข่ง ที่ผ่านมาผมฝึกฝนมาตลอด แม้อาจจะไม่ใช่การฝึกที่มีตารางแบบหนักหนาสาหัส แต่ผมจะเต้นเมื่อรู้สึกว่า การเต้นต้องเต็มไปด้วยความสนุก มีความสุขไปกับสิ่งที่ทำ หลังจากนั้นก็ลงแข่งขัน เรียนรู้ และกลับมาแก้ไขข้อผิดพลาด ผมเคยแพ้อยู่แล้ว ทุกครั้งก็เอาความแพ้กลับมาเป็นพลังพร้อมเปลี่ยนความคิดกดดันต่างๆ ที่ว่าจะต้องชนะ ให้กลายมาเป็นความสุขที่ได้เต้นดีกว่า ที่ผ่านมาหลายเวทีการแพ้หรือชนะไม่เป็นไร แค่ได้ยินคนพูดถึงว่า อิเซะ เยี่ยมไปเลย หลังจากการแข่งขัน หรือหลังจากนี้อีก 10 ปี แค่นั้นก็เพียงพอแล้วครับ” อิเซะกล่าวด้วยรอยยิ้มมุ่งมั่นของนักเต้นรุ่นใหม่

ติดขอบวัฒนธรรมบีบอย ‘เรดบูล บีซี วัน’

      เหนือจากการแข่งขัน สิ่งที่ผู้ชมสัมผัสได้เช่นกันก็คือ “ความสุขที่ได้เต้น” ของเหล่าผู้เข้าแข่งขันทุกคน กลายเป็นคาแรกเตอร์และความทรงจำดีๆ ให้เราติดตามบรรดาราชาแห่งวงการบีบอยในปีนี้ได้ไม่มีเบื่อ

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ