ข่าว

นับจากนี้...หนึ่งคนหนึ่งความดีถวาย "พ่อ"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ในความจริงไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามไม่จำเป็นต้องปิดทองหน้าพระเพียงด้านเดียว เราสามารถปิดทองด้านหลังเพื่อสวยทั่วทั้งองค์พระ...

    นับจากนี้...หนึ่งคนหนึ่งความดีถวาย "พ่อ"

      แม้พระวรกายจะไม่อยู่กับพสกนิกรชาวไทย แต่พระราชดำริและพระราชจริยวัตรของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยังสถิตอยูเป็นหลักในการดำรงชีวิต ขับเคลื่อนสังคม ประชาชนให้เกิดความรักความสามัคคี มีคุณภาพชีวิตที่ดี สุขกายและ “พอเพียง” อย่างที่พระองค์ปูทางไว้พสกนิกรให้ปฏิบัติตามนับจากนี้ "หนึ่ง” ความดีของแต่คนจะหลอมรวมเป็น “หนึ่ง” เดียวกันถวายแด่ “พ่อของแผ่นดิน” อันเป็นที่รัก

     ดั่งความรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของ คุณยายเจียมจิต นันทปกรณ์ ข้าราชการบำนาญวัย 72 ปี ที่เดินทางมาไกลจากจ.ตราด ตั้งแต่ตี 3 เพื่อมาถึงที่พระบรมมหาราชวังตั้งแต่เช้าตรู่ แม้ต้องต่อแถวนานเป็นชั่วโมงแต่ก็รอเพื่อเข้าไปถวายความอาลัยได้ทั้งๆ ที่ไม่ได้เตรียมอุปกรณ์กันแดดมา แต่ที่เตรียมมาอย่างดีคือ “เตรียมใจ” และน้อมนำคำสอนดีๆ ของในหลวงมาปฏิบัติต่อทั้งกับตนเองและลูกหลาน

     “ป้าเคยรับราชการครู ปัจจุบันเกษียณมาได้ 12 ปีแล้ว แต่ยังคงน้อมนำแนวเศรษฐกิจพอเพียงที่พระองค์ท่านมาใช้เสมอ ปฏิบัติตนเป็นพสกนิกรของพ่อที่ขอแค่มีกินมีใช้ไปวันๆ ไม่โลภ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่มีหนี้สินพะรุงพะรัง  ไม่เอาเปรียบใคร และไม่อยากรวยล้นฟ้า ขอแค่เป็นคนที่สุขภาพแข็งแรง มีแรงทำความดีก็พอแล้ว” อดีตข้าราชการครูเกษียณเผย 

      นับจากนี้...หนึ่งคนหนึ่งความดีถวาย "พ่อ"

วิรารัตน์ เรือนมูล

      วิรารัตน์ เรือนมูล เจ้าของร้านนวดเพื่อสุขภาพ กล่าวด้วยน้ำเสียงตื้นตันใจว่า ได้น้อมนำคำสอนในเรื่องความเมตตามาใช้เสมอ เหมือนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระเมตตากับคนไทยมาโดยตลอด เช่นเดียวกับ ปิติ จงรักษ์ระวีวรรณ พนักงานบริษัทเอกชน บอกอย่างแน่วแน่ว่า จะทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดซึ่งยึดถือมาโดยตลอด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสอนว่าไม่ว่าจะมีความทุกข์แค่ไหนแต่ต้องไม่ลืมหน้าที่ของตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่คนไทยควรตระหนัก โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ที่คนไทยอยู่ในห้วงแห่งความโศกเศร้า

นับจากนี้...หนึ่งคนหนึ่งความดีถวาย "พ่อ"

 ธนะชัย วุฒาจารย์ และภรรยา

    ทำดีทำได้อย่างไม่มีเงื่อนไข ธนะชัย วุฒาจารย์ พ่อเฒ่าวัย 70 ปี เล่าว่า เรื่องความประหยัด ตระหนี่ถี่ถ้วนเป็นสิ่งที่ปฏิบัติมาตลอดชีวิตตั้งแต่รับราชการ เงินเดือนข้าราชการอาจไม่มากแต่ตามที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงแนะวิธีใช้จ่าย ผ่านมาถึงวันนี้อยู่ในวัยเกษียณจึงไม่เดือดร้อนเรื่องความเป็นอยู่ อีกทั้งยังทำการเกษตรตามพระราชดำริของพระองค์ ทุกชีวิตจึงมีแต่ความสุข 

นับจากนี้...หนึ่งคนหนึ่งความดีถวาย "พ่อ"

กิ่งกมล สงวนไพบูลย์

     “จะดำเนินชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง โดยเลือกใช้ของไทย ดำเนินชีวิตเรียบง่ายตามแบบวิถีไทยไม่หวือหวา...” เป็นคำมั่นสัญญาในการทำความดีง่ายๆ ของแม่บ้านสาว กิ่งกมล สงวนไพบูลย์  สอดคล้องกับแนวคิดของ อรุณศรี คำแสง พนักงานบัญชี บริษัทเอกชนวัย 38 ปี ที่เลือกดำเนินชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงมาตลอด ด้วยการคิดก่อนซื้อโดยตระหนักถึงความจำเป็น ทั้งยังส่งต่อคำสอนนี้มายังน้องๆ ให้รู้จักประหยัดและอดออมด้วย

นับจากนี้...หนึ่งคนหนึ่งความดีถวาย "พ่อ"

ชนม์พิชฌา ธนพัชรบริบูรณ์ และลูกสาว

 

      ด้านเจ้าของกิจการส่วนตัว ชนม์พิชฌา ธนพัชรบริบูรณ์ เห็นว่า การดำเนินรอยตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง และสอนลูกให้ทำตามเป็นเรื่องน่าภาคภูมิใจ บางครั้งลูกๆ เห็นเพื่อนที่โรงเรียนไปเที่ยวต่างประเทศช่วงปิดเทอมก็จะสอนลูกว่า แต่ละครอบครัวมีฐานะการเงินต่างกัน ครอบครัวเราสามารถท่องเที่ยวได้แค่ในประเทศเท่านั้น ซึ่งในประเทศเรายังมีที่สวยๆ ให้ไปอีกมาก รวมทั้งของใช้อย่างโทรศัพท์มืออถือ ลูกเห็นเพื่อนๆ บางคนมีโทรศัพท์แพงๆ ก็ต้องบอกว่าเป็นสิ่งที่เกินความจำเป็น

นับจากนี้...หนึ่งคนหนึ่งความดีถวาย "พ่อ"

คริสติน่า เศรษฐบุตร   

      การถ่ายทอดความดีจากรุ่นสู่รุ่นต้องค่อยๆ ทำ “คริสตี้” คริสติน่า เศรษฐบุตร คุณแม่ลูกสองที่กำลังอยู่ในวัยเรียนรู้ บอกเต็มปากว่า ความดีที่จะตั้งใจทำถวายพ่อหลวงนับจากนี้คือ การสอนลูกให้เป็นคนดีตามคำสั่งสอนของพระองค์ที่ได้สอนสั่งประชาชนมาตลอด เพราะตอนตัวเองยังเล็กๆ ก็ได้ยินพระบรมราโชวาทอย่างต่อเนื่อง ทรงแนะทรงสอนไว้มากมาย ถ้านำมาถ่ายทอดให้ลูกๆ เชื่อว่าลูกจะสามารถซึมซับได้ไม่ยาก 

นับจากนี้...หนึ่งคนหนึ่งความดีถวาย "พ่อ"

       “จริงๆ ยุคสมัยของลูกๆ คงไม่ทันได้เห็นพระองค์ท่านเสด็จไปทรงงานตามที่ต่างๆ การจะให้ซึมซับถึงคุณงามความดีของท่านจึงต้องค่อยๆ ใส่ข้อมูล อย่างเรื่องการใช้เศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวในการใช้ชีวิตก็ถือเป็นการทำความดีแบบหนึ่งที่ทำได้ไม่ยาก เด็กยุคนี้ยึดติดกับวัตถุุเยอะ หลงไปกับเทคโนโลยีจนบางครั้งไม่ยอมออกนอกบ้านไปทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ เราสามารถสอนให้เขามีความสุขอยู่กับเรื่องเล็กๆ ง่ายๆ ได้ ไม่ต้องฟุ้งเฟ้อก็มีความสุขได้ ทำให้เห็นเป็นรูปธรรมก่อน บางอย่างเขาเด็กเกินกว่าจะเข้าใจ แต่เราก็พยายามพูดกับเขาตลอด ในหลวงท่านเป็นกษัตริย์ท่านยังรักพวกเรา ท่านยังทำให้ดูเป็นตัวอย่างเลย” คุณแม่รุ่นใหม่ กล่าว

นับจากนี้...หนึ่งคนหนึ่งความดีถวาย "พ่อ"

สมยศ สุนทรวิภาต

     สำหรับที่ปรึกษามูลนิธิสากลเพื่อคนพิการวัย 72 ปี  สมยศ สุนทรวิภาต บอกว่า ได้น้อมนำแนวพระราชดำริเรื่องการช่วยเหลือผู้ที่ด้อยโอกาส โดยนำความรู้ที่มีอยู่ไปช่วยเหลือผู้อื่น ที่ผ่านมาแม้จะใช้ชีวิตอยู่ในต่างแดนมาโดยตลอดแต่ยังคงระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและคำสอนของพระองค์อยู่เสมอ 

    เพื่อสนับสนุนแนวคิดข้างต้น ศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ผู้พิการทางสายตา ถ่ายทอดประสบการณ์ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานเลี้ยงคนตาบอดทุกวันปีใหม่ ในพระตำหนักจิตรลดารโหฐานว่า ทุกปีจะทรงมีอุปกรณ์สำหรับคนตาบอด เช่น นาฬิกาที่มีอักษรเบรลล์ของคนตาบอด มาให้ผู้พิการทางสายตาจับสลากปีละ 10 เรือน ใครจับไม่ได้นาฬิกาก็มีข้าวของเครื่องใช้อื่นๆ แตกต่างกันไปแต่ได้ครบทุกคน นอกจากนี้ระหว่างงานเลี้ยงยังทรงเป่าแซกโซโฟนให้ฟัง ยังความซาบซึ้งและยินดีแก่ผู้พิการสายตามากที่ไม่ถือพระองค์เลย

     “พวกเราไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า เพราะพระราชดำรัสของพระองค์เมื่อปี 2517 ว่า ต้องช่วยเหลือคนพิการให้ช่วยเหลือตัวเองได้ ผมจึงรณรงค์ให้คนพิการมีการศึกษาเพื่อประกอบสัมมาชีพได้ โดยไม่เป็นภาระของครอบครัว เช่น เพาะเห็ดนางฟ้าภูฏาน นอกจากหารายได้จากตรงนี้ได้แล้วยังช่วยบริหารระบบกล้ามเนื้อให้แข็งแรง และสร้างความภาคภูมิใจให้ตัวเองตลอดเวลายามท้อแท้หรือหมดกำลังใจจะยึดเพลงยิ้มสู้ เพลงพระราชนิพนธ์ มาเป็นพลังในการดำเนินชีวิต ซึ่งเชื่อมั่นว่ารอยยิ้มของพวกเราสามารถสร้างกำลังใจให้คนอื่นๆ ได้” ศ.วิริยะ กล่าวเรื่องราวสานต่อความดีถวายพ่อ ด้วยความตื้นตันใจ

นับจากนี้...หนึ่งคนหนึ่งความดีถวาย "พ่อ"

 วิไลลักษณ์ สิทธิวิบูลย์

      หากตั้งใจจริงหนึ่งความดีที่จะทำไม่ใช่เรื่องเหลือบ่ากว่าแรง คนทำมาค้าขายอย่าง วิไลลักษณ์ สิทธิวิบูลย์วัฒน์ ย้ำว่า แนวพระราชดำริที่น้อมนำมาใช้ในชีวิตมีหลายข้อ แต่ที่เห็นชัดเจนก็อย่างการทำความดีแบบ “ปิดทองหลังพระ” ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 รับสั่งว่า ถ้าทุกคนแย่งกันปิดทองด้านหน้า ทำให้องค์พระสวยเฉพาะด้านหน้า ในความจริงไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามไม่จำเป็นต้องปิดทองหน้าพระเพียงด้านเดียว เราสามารถปิดทองด้านหลังเพื่อสวยทั่วทั้งองค์พระ ส่วนแนวพระราชดำริอีกข้อที่ยึดถือเป็นแบบอย่างคือ แนวเศรษฐกิจพอเพียง หากินด้วยความสุจริต ได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น แต่ต้องไม่เบียดเบียนผู้อื่น ส่วนเงินที่หามาได้ต้องใช้จ่ายอย่างมีคุณค่า มีประโยชน์ และสุดท้ายที่อยากให้ทุกคนได้ใช้เป็นข้อคิดหากเริ่มจะทำความดีคือ “ทำดีเพื่อดี อย่าทำดีเพื่อดัง” 

      แล้ววันนี้ล่ะ คุณทำความดีแล้วหรือยัง??....

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ