ข่าว

คำพ่อสอน...ยังก้องในหัวใจชาวประชา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ฝากไว้ให้พสกนิกรชาวไทย

คำพ่อสอน...ยังก้องในหัวใจชาวประชา

         ในพระมหากรุณาธิคุณหลายๆ สิ่ง หลายๆ อย่างที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ทรงทุ่มเทพระวรกาย พระสติปัญญา ทำเพื่อให้พสกนิกรชาวไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นมาโดยตลอด 70 ปีแห่งการครองราชสมบัติ นอกเหนือจากสิ่งที่เป็นรูปธรรม อาทิ เรื่องการเกษตร ศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ ก็ยังมีสิ่งสำคัญซึ่งเป็นรูปธรรมที่ทรงพระราชทานแก่ประชาชนคนไทยใต้เบื้องพระยุคลบาทของพระองค์ นั่นคือ “คำสอน” หรือ พระบรมราโชวาท ซึ่งพระราชทานในวาระสำคัญต่างๆ อาทิ

** อ่อนโยน แต่ไม่อ่อนแอ

         ในวงสังคมนั้นเล่า ท่านจะต้องรักษามารยาทอันดีงามสำหรับสุภาพชน รู้จักสัมมาคารวะ ไม่แข็งกระด้าง มีความอ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ พร้อมจะเสียสละประโยชน์ส่วนตัวเพื่อส่วนรวม : พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 25 มิถุนายน 2496

** ความซื่อสัตย์สุจริต

         ข้าพเจ้าใคร่ขอให้ท่านทั้งหลายจงมั่นอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริต ถือเอาประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง เพราะคุณธรรมอันนี้เป็นมูลฐาน อันสำคัญที่จะยังความเจริญ และความเป็นปึกแผ่นแก่สังคม เป็นบ่อเกิด แห่งความสามัคคีกลมเกลียว ความซื่อสัตย์ที่ว่านี้ หมายถึง ความสุจริต ซื่อตรงต่อหน้าที่การงาน ต่อตนเองและต่อผู้อื่นที่เกี่ยวข้อง มีเจตนาบริสุทธิ์ไม่เอารัดเอาเปรียบ สำหรับท่านที่ใช้วิชากฎหมาย ย่อมกินความถึงการรักษาความเป็นธรรม ไม่บิดเบือน ความหมายของตัวบทกฎหมาย เพื่อประโยชน์ของตนเองด้วย ความซื่อสัตย์สุจริตจะเป็นเสมือนหนึ่งเกราะคุ้มภัยแก่ท่านตลอดไป ดังบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ว่า “สุจริตคือเกราะบัง สาตรพ้อง" : พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 23 พฤษภาคม 2496

** ความสามัคคี

         สามัคคีที่สำคัญที่สุดคืออะไร ก็คือ สามัคคีในชาติ ไม่ใช่ว่า ความสามัคคีในคณะไม่ดี แต่ต้องระวัง ถ้าสามัคคีกัน แต่ว่าไปก้าวก่ายหรือไปทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนในสถาบันก็เป็นความผิด ถ้าสามัคคีในสถาบันไปทำให้คนอื่นเสียหายหรือเดือดร้อนก็ไม่ดี เพราะทำให้เสียหายต่อสามัคคีของชาติ : พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 4 เมษายน 2503

** คนดี

          ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดี และคนไม่ดี ไม่มีใครที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดี ไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้ : พระบรมราโชวาทในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ จังหวัดชลบุรี 11 ธันวาคม 2512

** การเอาชนะใจตน

          ในการดำเนินชีวิตของเรา เราต้องข่มใจไม่กระทำสิ่งใดๆ ที่เรารู้สึกด้วยใจจริงว่าชั่วว่าเสื่อม เราต้องฝืนต้องต้านความคิดและความประพฤติทุกอย่างที่รู้สึกว่าขัดกับธรรมะ เราต้องกล้าและบากบั่นที่จะกระทำสิ่งที่เราทราบว่าเป็นความดี เป็นความถูกต้อง และเป็นธรรม ถ้าเราร่วมกันทำเช่นนี้ ให้ได้จริงๆ ให้ผลของความดีบังเกิดมากขึ้นๆ ก็จะช่วยค้ำจุนส่วนรวมไว้มิให้เสื่อมลงไป และจะช่วยให้ฟื้นคืนดีขึ้นได้เป็นลำดับ : พระราชดำรัส พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่าน ในพิธีเปิดการประชุมยุวพุทธิกสมาคมทั่วประเทศ ครั้งที่ 12 ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 12 ธันวาคม 2513

** หนังสือเป็นออมสิน

         หนังสือเป็นการสะสมความรู้และทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์ได้สร้างมา ทำมา คิดมา แต่โบราณกาลจนทุกวันนี้ หนังสือจึงเป็นสิ่งสำคัญ เป็นคล้ายๆ ธนาคารความรู้และเป็นออมสิน เป็นสิ่งที่จะทำให้ มนุษย์ก้าวหน้าได้โดยแท้ : พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่คณะสมาชิกห้องสมุดทั่วประเทศ ในโอกาสที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท วันที่ 25 พฤศจิกายน 2514

** ความเพียร

          การสร้างสรรค์ตนเอง การสร้างบ้านเมืองก็ตาม มิใช่ว่าสร้างในวันเดียว ต้องใช้เวลา ต้องใช้ความเพียร ต้องใช้ความอดทน เสียสละ แต่สำคัญที่สุดคือความอดทนคือไม่ย่อท้อ ไม่ย่อท้อในสิ่งที่ดีงาม สิ่งที่ดีงามนั้นทำมันน่าเบื่อ บางทีเหมือนว่าไม่ได้ผล ไม่ดัง คือดูมันครึทำดีนี่ แต่ขอรับรองว่าการทำให้ดีไม่ครึต้องมีความอดทน เวลาข้างหน้าจะเห็นผลแน่นอนในความอดทนของตนเอง : พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่นักเรียน นักศึกษา ครูและอาจารย์ในโอกาสเข้าเฝ้าฯ วันที่ 27 ตุลาคม 2516

** ความรู้ตน

          เด็กๆ ทำอะไรต้องหัดให้รู้ตัว การรู้ตัวอยู่เสมอจะทำให้เป็นคนมีระเบียบและคนที่มีระเบียบดีแล้ว จะสามารถเล่าเรียนและทำการงานต่างๆ ได้โดยถูกต้องรวดเร็ว จะเป็นคนที่จะสร้างความสำเร็จและความเจริญให้แก่ตนเองและส่วนรวมในอนาคตได้อย่างแน่นอน : พระบรมราโชวาท พระราชทานลงพิมพ์ในหนังสือ วันเด็ก ประจำปี 2521

**คนเราจะต้องรับและจะต้องให้

          คนเราจะเอาแต่ได้ไม่ได้ คนเราจะต้องรับและจะต้องให้ หมายความว่าต่อไป และเดี๋ยวนี้ด้วยเมื่อรับสิ่งของใดมา ก็จะต้องพยายามให้ ในการให้นั้น ให้ได้โดยพยายามที่จะสร้างความสามัคคีให้หมู่คณะและในชาติทำให้หมู่คณะและชาติประชาชนทั้งหลายมีความไว้ใจซึ่งกันและกันได้ ช่วยที่ไหนได้ก็ช่วย ด้วยจิตใจที่เผื่อแผ่โดยแท้ : พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น วันที่ 20 เมษายน 2521

** การทำความดี

          การทำความดีนั้น โดยมากเป็นการเดินทวนกระแสความพอใจและความต้องการของมนุษย์ จึงทำได้ยากและเห็นผลช้า แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะหาไม่ ความชั่ว ซึ่งทำได้ง่ายจะเข้ามาแทนที่ แล้วจะพอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันรู้สึกตัว : พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานกระบี่และปริญญาบัตรแก่ว่าที่ร้อยตำรวจตรีฯ โรงเรียนนายร้อยตำรวจฯ 10 มีนาคม 2529

** การทำงาน

          เมื่อมีโอกาสและมีงานทำ ควรเต็มใจทำโดยไม่จำเป็นต้องตั้งข้อแม้ หรือเงื่อนไขอันใด ไว้ให้เป็นเครื่องกีดขวาง คนที่ทำงานได้จริงๆ นั้น ไม่ว่าจะจับงานสิ่งใด ย่อมทำได้เสมอ ถ้ายิ่งมีความเอาใจใส่ มีความขยัน และความซื่อสัตย์สุจริต ก็ยิ่งจะช่วยให้ประสบผลสำเร็จในงานที่ทำสูงขึ้น : พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา 8 กรกฎาคม 2530

** ความซื่อสัตย์

          ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นพื้นฐานของความดีทุกอย่าง เด็กๆ จึงต้องฝึกฝนอบรมให้เกิดมีขึ้นในตนเอง เพื่อจักได้เติบโตขึ้นเป็นคนดีมีประโยชน์ และมีชีวิตที่สะอาด ที่เจริญมั่นคง : พระบรมราโชวาท พระราชทานเพื่อเชิญลงพิมพ์ในหนังสือวันเด็ก ปีพุทธศักราช 2531

** คุณธรรมของคน

          ประการแรก คือ ความซื่อสัตย์ ประการที่สอง คือ การรู้จักข่มใจฝึกใจตนเองให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในความสัตย์ความดีนั้น ประการที่สาม คือ การอดทน อดกลั้น และอดออมที่จะไม่ประพฤติล่วงความสัตย์สุจริตประการที่สี่ คือ การรู้จักละวางความชั่ว ความทุจริต และรู้จักสละประโยชน์ส่วนน้อยของตน เพื่อประโยชน์ส่วนรวม คุณธรรมสี่ประการนี้ ถ้าแต่ละคนพยายามปลูกฝังและบำรุงให้เจริญงอกงาม จะช่วยให้ประเทศชาติบังเกิดความสุข ความร่มเย็น และมีโอกาสที่จะปรับปรุงพัฒนาให้มั่นคงก้าวหน้าต่อไป : พระบรมราโชวาทในพิธีบรวงสรวงสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า 5 เมษายน 2535

**ความเอื้อเฟื้อ

           สังคมใดก็ตาม ถ้ามีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน ด้วยความมุ่งดีมุ่งเจริญต่อกัน สังคมนั้นย่อมเต็มไปด้วยไมตรีจิต มิตรภาพ มีความร่มเย็นเป็นสุข น่าอยู่ : พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเชิญลงพิมพ์ในนิตยสารที่ระลึกครบรอบ 36 ปี ของสโมสรไลออนส์กรุงเทพฯ 31 มีนาคม 2538

** ความสุข

          ความสุขความเจริญอันแท้จริงนั้น หมายถึง ความสุขความเจริญที่บุคคลแสวงหามาได้ด้วยความเป็นธรรม ทั้งในเจตนาและการกระทำ ไม่ใช่ได้มาด้วยความบังเอิญหรือด้วยการแก่งแย่งเบียดบังมาจากผู้อื่น : พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระราชพิธีกาญจนาภิเษกทรงครองราชย์ครบ 50 ปี 2539

** แก้ปัญหาด้วยปัญญา

          ปัญหาทุกอย่างไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ มีทางแก้ไขได้ ถ้ารู้จักคิดให้ดี ปฏิบัติให้ถูก การคิดได้ดีนั้น มิใช่การคิดได้ด้วยลูกคิด หรือด้วยสมองกล เพราะโลกเราในปัจจุบันจะวิวัฒนาการไปมากเพียงใดก็ตาม ก็ยังไม่มีเครื่องมืออันวิเศษชนิดใด สามารถขบคิดแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างสมบูรณ์ การขบคิดวินิจฉัยปัญหา จึงต้องใช้สติปัญญา คือ คิดด้วยสติรู้ตัวอยู่เสมอ เพื่อหยุดยั้งและป้องกันความประมาทผิดพลาดและอคติต่างๆ มิให้เกิดขึ้น ช่วยให้การใช้ปัญญาพิจารณาปัญหาต่างๆ เป็นไปอย่างเที่ยงตรง ทำให้เห็นเหตุเห็นผลที่เกี่ยวเนื่องกัน เป็นกระบวนการได้กระจ่างชัด ทุกขั้นตอน : พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 1 สิงหาคม 2539

** พูดจริง ทำจริง

          ผู้หนักแน่นในสัจจะพูดอย่างไร ทำอย่างนั้น จึงได้รับความสำเร็จ พร้อมทั้งความศรัทธาเชื่อถือและความยกย่องสรรเสริญ จากคนทุกฝ่าย การพูดแล้วทำ คือ พูดจริง ทำจริง จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมเกียรติคุณของบุคคลให้เด่นชัด และสร้างเสริมความดี ความเจริญ ให้เกิดขึ้นทั้งแก่บุคคลและส่วนรวม : พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 10 กรกฎาคม 2540

** ความพอดี

          ในการสร้างตัวสร้างฐานะนั้นจะต้องถือหลักค่อยเป็นค่อยไป ด้วยความรอบคอบ ระมัดระวังและความพอเหมาะพอดี ไม่ทำเกินฐานะและกำลัง หรือทำด้วยความเร่งรีบ เมื่อมีพื้นฐานแน่นหนารองรับพร้อมแล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญก้าวหน้าในระดับสูงขึ้น ตามต่อกันไปเป็นลำดับผลที่เกิดขึ้นจึงจะแน่นอน มีหลักเกณฑ์ เป็นประโยชน์แท้และยั่งยืน : พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยขอนแก่น วันที่ 18 ธันวาคม 2540

** ความพอเพียง

          คำว่า พอเพียง มีความหมายว่า พอมีกิน เศรษฐกิจแบบพอเพียง หมายความว่า ผลิตอะไรมีพอที่จะใช้ ไม่ต้องขอยืมคนอื่น อยู่ได้ด้วยตนเอง แปลจากภาษาฝรั่งได้ว่า ให้ยืนบนขาของตัวเอง หมายความว่า สองขาของเรายืนบนพื้นให้อยู่ได้ ไม่หกล้ม ไม่ต้องไปขอยืมของคนอื่นเพื่อที่จะยืนอยู่ คำว่า พอ คนเราถ้าพอในความต้องการ มันก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย พอเพียง อาจมีมาก อาจมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น : พระราชดำรัสพระราชทานในโอกาสที่คณะบุคคลเข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2541

...บัดนี้เมื่อ “เสด็จสู่สวรรคาลัย” เชื่อว่าคำสอนของพระองค์จะยังคงกึกก้องในหัวใจของปวงชนไทยตลอดไป...

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ