ข่าว

จากขุนเขาสู่ศิลปาชีพ เทิดพระเกียรติในหลวง–ราชินี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เตรียมจัดนิทรรศการ "จากขุนเขา สู่ศิลปาชีพ" ผ่านศิลปะบนผืนผ้าของชาวไทยภูเขา 6 เผ่า

       

จากขุนเขาสู่ศิลปาชีพ เทิดพระเกียรติในหลวง–ราชินี

      อีก​หนึ่ง​กิจกรรม​เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 70 ปี 9 มิ.ย. 2559 และ​สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 ส.ค. 2559 มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เตรียมจัดนิทรรศการ "จากขุนเขา สู่ศิลปาชีพ" ผ่านการจัดแสดงศิลปะบนผืนผ้าของชาวไทยภูเขา 6 เผ่า การเผยแพร่ภาพยนตร์สารคดี ชุด "จากขุนเขา สู่..ศิลปาชีพ" โดย ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ รองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วย นันทพง​ศ์ สินสวัสดิ์ ผู้ออกแบบศิลปกรรมในนิทรรศการฯ, สมพันธ์ จารุมิลินท รองประธานกรรมการบริหารบริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป และ ชนินทร์ ชมะโชติ ประธานบริษัท ดอคคิวเมเนีย จำกัด ร่วมแถลงข่าวเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมดังกล่าว ณ สวนอัมพร พระราชวังดุสิต 

ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ


        ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ กล่าวว่า ชาวเขามีงานฝีมืองดงามในแต่ละชนเผ่า ปีนี้เป็นปีมหามงคลจึงถือเป็นโอกาสอันดีในการจัดนิทรรศการชาวไทยภูเขาครั้งใหญ่ ซึ่งไม่เคยจัดมาก่อน ต้องมีหลายคนมาช่วยที่อยากทำถวายทั้งสองพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปทุกที่ ที่ราษฎรได้รับความเดือดร้อน เพื่อไปทรงคลายทุกข์ไม่ว่าจะอยู่ภูมิภาคใดของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนดอยที่อยู่และไปลำบาก ขณะเดียวประเทศไทยยังต้องพึ่งพาน้ำจากฝน ทั้งสองพระองค์จึงปลูกฝังให้เรารักษาป่าที่เป็นต้นน้ำลำธารเอาไว้ จึงทรงสอนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บนภูเขาได้ช่วยกันอนุรักษ์อีกทั้งยังทรงหาอาชีพพระราชทานเพื่อมิให้มีการทำไร่เลื่อนลอย บุกรุกทำลายป่าและเปลี่ยนการปลูกฝิ่นมาปลูกพืชเมืองหนาวและรักษาแหล่งน้ำไว้

นันทพงศ์ สินสวัสดิ์


       ใน​ฐานะผู้ออกแบบศิลปกรรมในนิทรรศการฯ นันทพงศ์ สินสวัสดิ์ กล่าวถึงความเป็นมาว่า ได้รับโจทย์จากท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ให้เอาผ้ามาจัดแสดงโดยแสดงความสวยงามให้น้อยกว่าความงดงาม ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะทำลวดลายผ้าให้เล่าเรื่องออกมาได้ ความงามและความสวยงามต่างกันอย่างไร ผ้าที่สวยน้อยที่สุดก็มีความงดงามที่สุดในโลก ในผ้าผืนหนึ่งแม้จะด้อยสุดแต่ก็มีอะไรลึกๆ อยู่ในผ้า ที่ชุบชีวิตชาวเขาให้หนทางการดำเนินชีวิตแบบใหม่หลุดพ้นจากการทำไร่เลื่อนลอยปลูกฝิ่น นี่คือความงามที่อยู่ใต้ผืนผ้าที่เราต้องมองทะลุมันออกไป และเราต้องถ่ายทอดความงามที่อยู่ใต้ผ้าที่ผ่านการเย็บ ปัก ตรึง ถ่ายทอดออกมาให้ทุกคนเห็น ศิลปะที่นำมาถ่ายทอดนี้ได้แรงบันดาลใจจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเป็นอัครศิลปิน จึงหยิบยกเอาความเป็นศิลปะมาถ่ายทอด ศิลปะของพื้นถิ่นแสดงสัญลักษณ์และแสดงถึงรายละเอียดวิถีชนเผ่าด้วยแรงบันดาลใจจิตรกรรมฝาผนังล้านนา ทำเป็นงานปักผสมงานผ้า

จากขุนเขาสู่ศิลปาชีพ เทิดพระเกียรติในหลวง–ราชินี


          นอกจากนี้ นันทพงศ์ ยังกล่าวถึงนิทรรศการ "จากขุนเขา สู่...ศิลปาชีพ" ว่านำเสอแนวคิด จากศิลปาชีพบนขุนเขาสู่ศิลปกรรมร่วมสมัย โดยนำศิลปะบนผืนผ้าที่แสดงถึงวิถีของชาวเขา 6 เผ่า ได้แก่ ม้ง, กระเหรี่ยง, เย้า(เมี่ยน), ลีซอ, มูเซอ(ลาหู่) และ อีก้อ(อาข่า) มาออกแบบจัดแสดงในลักษณะศิลปกรรมสื่อสผม สะท้อนภาพโครงการตามพระราชดำรินับร้อยโครงการที่พระราชทานแก่ชาวไทยภูเขามาอย่างต่อเนื่องเกือบครึ่งศตวรรษ
         "นิทรรศการฯ แบ่งพื้นที่ออกเป็น 5 ชั้น คือ ชั้นที่ 1 นำเสนอพระวิริยอุตสาหะของทั้งสองพระองค์ที่ทรงเปลี่ยนวิถีการทำมาหาเลี้ยงชีพของชาวไทยภูเขาซึ่งช่วยให้คนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน ผ่านรูปเชิงสัญลักษณ์เพื่อบอกเล่าถึงชีวิตชาวไทยภูเขาในอดีตต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ส่วนชั้นที่ 2 และ 3 แสดงถึงน้ำพระราชฤทัยของทั้งสองพระองค์ที่ทรงมีต่อชาวไทยภูเขาในรูปของโครงการตามพระราชดำริ และโครงการศิลปาชีพในพื้นที่ชาวเขา 6 เผ่า ผ่านศิลปกรรมสื่อสผมผ้าชาวเขาที่สร้างสรรค์จากภูมิปัญญาของแต่ละชาติพันธุ์รวมทั้งมีการสาธิตศิลปะการทอผ้าอันงดงามของชาวไทยซึ่งหาชมได้ยาก ชั้นที่ 4 แสดงพระราชกรณียกิจของทั้งสองพระองค์ตลอดระยะเวลาอันยาวนานที่ยังคงช่วยบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ชาวไทยภูเขาจากรุ่นสู่รุ่น โดยยังคงอัตลักษณ์ของทุกชาติพันธุ์ไว้ได้ตราบจนปัจจุบัน และ ชั้นที่ 5 จัดกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ศิลปะผ้าชาวไทยภูเขา โดยผู้เข้าร่วมนิทรรศการสามารถเข้าร่วมฝึกฝนและสร้างสรรค์ผลงานจากผ้าชาวไทยภูเขาได้ด้วยตัวเอง หรือทดลองแต่งกายชุดชาวไทยภูเขาเผ่าต่างๆ แล้วถ่ายภาพเป็นที่ระลึก ขณะเดียวกันยังมีการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพจากชาวเขาจำนวนมากอีกด้วย" นันทพงศ์ กล่าว

จากขุนเขาสู่ศิลปาชีพ เทิดพระเกียรติในหลวง–ราชินี


           ในส่วนของการจัดทำวิดีทัศน์เฉลิมพระเกียรติชุด "จากขุนเขา สู่...ศิลปาชีพ" ชนินทร์ ชมะโชติ กล่าวถึงการผลิตสารคดีว่า มีจำนวน 52 ตอน ความยาวตอนละ 5 นาที โดยแต่ละตอนจะสอดแทรกถึงแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการช่วยเหลือชาวไทยภูเขา ด้วยการให้ความรู้ ให้อาชีพ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดี จนมาสู่ศิลปาชีพชาวเขา พระอัจฉริยะภาพที่ทรงเห็นความงามของผ้าชาวเขา ทรงกระตุ้นให้ชาวเขาเห็นคุณค่าและภูมิใจในศิลปะประจำเผ่าของตน พระอัจฉริยภาพในการนำผ้าชาวเขามาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันรวมทั้งแนวพระราชดำริที่จะคืนความอุดมสมบูรณ์ของป่าและธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เริ่มออกอากาศในวันที่ 1 ส.ค. - 11 ต.ค. ทางสถานีข่าวโทรทัศน์ทีเอ็นเอ็น 24 เวลา 2055-21.00 น. หลังข่าวพระราชสำนักทุกวันจันทร์ถึงพฤหัสบดี และวันศุกร์เวลา 21.00-21.15 น., สถานีโทรทัศน์ทีเอ็นเอ็น 2 ออกอากาศเวลา 2030 น. วันจันทร์ถึงพฤหัสบดี และวันศุกร์เวลา 21.00-21.15 น. และสถานีโทรทัศน์ทรู 4 ยู ออกอากาศเวลา 07.55 น. ก่อนเคารพธงชาติทุกวัน.
 

จากขุนเขาสู่ศิลปาชีพ เทิดพระเกียรติในหลวง–ราชินี

จากขุนเขาสู่ศิลปาชีพ เทิดพระเกียรติในหลวง–ราชินี

 

จากขุนเขาสู่ศิลปาชีพ เทิดพระเกียรติในหลวง–ราชินี

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ