Lifestyle

สร้างความหวังพ่อแม่ 'ลูกหาย 10 ปี ได้คืน'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สายตรวจระวังภัย : สร้างความหวังพ่อแม่“ลูกหาย 10 ปี ได้คืน” ชงตร.เก็บดีเอ็นเอเป็นฐานข้อมูลเทียบ

               หัวอกผู้เป็นพ่อแม่แทบสลาย เมื่อลูกที่เป็นดั่งแก้วตาดวงใจหายไป บางคนภาวนาแม้กระทั่งร่างไร้วิญญาณก็อยากจะเจอ มีหลายกรณีที่โชคดีได้เด็กคืนแบบมีลมหายใจ ร่างกายครบ 32 ประการ แต่ก็มีอีกหลายครอบครัวที่ผิดหวัง ยิ่งไปกว่านั้นก็มีพ่อแม่อีกหลายคนที่เฝ้ารอการเจอลูกที่หาย ทรมานเหมือนตายทั้งเป็น แต่ก็รอด้วยความหวัง แม้หวังจะริบหรี่ยาวนานถึง 10 ปีแล้วก็ตาม
               ล่าสุดมีการจุดประกายความหวังของเหล่าพ่อแม่ที่ “ลูกหายนาน 10 ปี ได้คืน” โดย นายเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์คนหายเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา พร้อมด้วย นางโสรยา ด่านเกื้อกูล มารดา ด.ช.ชัยภาษ หรือ น้องเท็น ด่านเกื้อกูล, นางสุรีรัตน์ บัวนาค มารดา ด.ช.นฤดล หรือ น้องโอ๊ต เยื้อนหนูวงศ์ และ นางมลฑา ศิริทัย มารดา ด.ญ.เบญรัตน์ หรือ น้องพลอย วงษ์ประจันต์ เดินทางเข้าพบ พล.ต.ต.นพ.พรชัย สุธีรคุณ ผู้บังคับการสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมและตรวจดีเอ็นเอใช้เป็นฐานข้อมูลในการติดตามลูกทั้ง 3 คนที่หายตัวไปนานกว่า 10 ปี
               นายเอกลักษณ์ อธิบายว่า พาครอบครัวเด็กหาย 3 ครอบครัวมาตรวจดีเอ็นเอเก็บไว้เพื่อไปเปรียบเทียบเบาะแสที่อาจได้รับมาในอนาคต เพราะเด็กหายไปนานเกิน 10 ปีแล้ว ซึ่งรูปร่างหน้าตาอาจเปลี่ยนไปและอาจจะจดจำเรื่องราวของครอบครัวไม่ได้ เพราะหายออกจากบ้านไปตั้งแต่เด็ก ฉะนั้นการเก็บดีเอ็นเอของพ่อแม่คือแนวทางที่สามารถตามหาคนหายได้ จากสถิติเด็กหายย้อนหลังของมูลนิธิกระจกเงา ในปี 2558 มีเด็กหายทั้งสิ้น 592 ราย เป็นเด็กชาย 155 ราย เด็กหญิง 437 ราย ขณะที่เดือนมกราคม-กรกฎาคม 2559 รับแจ้งเด็กหายรวม 264 ราย แบ่งเป็นเด็กชาย 67 ราย และเด็กหญิง 197 ราย
               ด้าน พล.ต.ต.นพ.พรชัย บอกว่า การเก็บหลักฐานดีเอ็นเอพ่อแม่เป็นประโยชน์กับการตามบุคคลหาย โดยสถาบันนิติเวชมีการตรวจดีเอ็นญาติผู้ปกครองเก็บไว้เป็นฐานข้อมูลกว่า 1,000 ราย ภายใต้โครงการ “THAILAND DNA-PROKIDS PROJECT” หรือ “ดีเอ็นเอโปรคิดส์” เป็นอีกความหวังที่จะช่วยเหลือเด็กๆ ที่สูญหายออกจากบ้าน ด้วยโครงการใช้หลักฐานการตรวจดีเอ็นเอ มาระบุตัวบุคคลและความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว นับเป็นการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานตำรวจกระบวนการยุติธรรม และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ด้วยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเครือข่ายมาสนับสนุนข้อมูล และการสืบค้นหาบุคคลที่อาจต้องอยู่ในอันตรายจากขบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งดีเอ็นเอโปรคิดส์ เป็นโครงการระหว่างประเทศเพื่อการต่อต้านการค้ามนุษย์ ด้วยการเก็บสารพันธุกรรมของญาติสายตรงที่มาแจ้งว่ามีสายสัมพันธ์กับผู้สูญหาย อาจถูกลักพาตัวหรือล่อลวงไป สำหรับผู้ปกครองที่ลูกหายสามารถมาเก็บดีเอ็นเอไว้เป็นฐานข้อมูลได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น แต่แนะนำว่าควรไปแจ้งความคนหายไว้ก่อน
               ขณะที่ พ.ต.อ.ชัยวัฒน์ บูรณะ ผู้กำกับการ 2 กองทะเบียนประวัติอาชญากร กล่าวว่า บทบาทสำคัญในการสเก็ตช์ภาพจำลองเทียบเท่าอายุปัจจุบันของเด็กหาย หรือ เอจ โปรเกรสชั่น เป็นกระบวนการที่นำมาช่วยในการทำภาพเปรียบเทียบเด็กที่หายไปนานว่า เมื่อโตขึ้นจะมีลักษณะรูปร่างหน้าตาแบบใด เพื่อเป็นแนวทางให้ประชาชนช่วยกันสังเกตโดยปัจจุบันมีการทำภาพจำลองเด็กหายแล้วจำนวน 5 ราย
               สักวันลูกที่หายไปจะได้กลับคืนสู่อ้อมกอดพ่อแม่ที่เฝ้ารอคอยอย่างใจจดใจจ่อ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าฐานข้อมูลดีเอ็นเอจะช่วยให้ครอบครัวที่ลูกหายได้กลับมาอยู่พร้อมหน้ากันอีกครั้ง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ