Lifestyle

โรคผมบาง จากพันธุกรรม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ดูแลสุขภาพ : โรคผมบาง จากพันธุกรรม

               หลายคนมักจะวิตกกังวล เมื่อเวลาที่เราสระผมแล้วมีผมร่วงหล่นลงมาหลายเส้นหรือเป็นกระจุกหรือเวลาตื่นนอนตอนเช้า ที่หมอนของเราพบว่ามีเส้นผมร่วงติดกับปลอกหมอนหรือแม้กระทั่งเวลาหวี ผมของเรากลับหลุดร่วงออกมาเป็นกระจุกหลุดร่วงตามแปรงหวี เหล่านี้เป็นอาการผมร่วงหรือผมบาง ซึ่งมีหลายสาเหตุด้วยกัน สำหรับภาวะผมบางจากพันธุกรรมนั้นเรียกว่า โรคผมบางจากพันธุกรรม (Androgenetic alopecia) หรือที่เราเรียกสั้นๆ ว่า โรคศีรษะล้าน เป็นภาวะที่เกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรมร่วมกับภาวะฮอร์โมนเพศชาย (Androgen) ที่มากกว่าปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ชัดเจนมากกว่าในผู้หญิง ส่วนในผู้หญิงนั้นสาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัดคาดว่าอาจจะมาจากหลายปัจจัยนอกเหนือจากสาเหตุทางพันธุกรรม ดังนั้นปัจจุบันนี้ในทางสากลจึงนิยมเรียกโรคผมบางจากพันธุกรรมในชื่อใหม่ว่า โรคผมบางที่มีรูปแบบเฉพาะ (Male and Female Pattern Hair Loss) มากกว่าจะใช้ชื่อเดิมคือโรคผมบางจากพันธุกรรม
               โรคผมบางจากพันธุกรรมหรือโรคผมบางที่มีรูปแบบเฉพาะ เกิดในผู้ป่วยวัยกลางคนมักเริ่มมีอาการตั้งแต่หลังวัยรุ่นโดยเพศชายมีโอกาสเกิดภาวะนี้ในอายุน้อยมากกว่าเพศหญิงที่พบภาวะนี้ในคนสูงวัยกว่า และในชายผิวขาวพบว่าอัตราการเกิดผมบาง 50% อยู่ที่อายุ 50 ปีส่วนในหญิงผิวขาวพบมีผมบาง 40% ที่อายุ 70 ปี สำหรับคนเอเชียจะพบน้อยกว่าในคนผิวขาวหรือคนผิวดำส่วนชายไทยที่มีการศึกษาพบอัตราการเกิดผมบางประมาณ 38.52%
               สำหรับการรักษาโรคผมบางจากพันธุกรรมหรือโรคผมบางที่มีรูปแบบเฉพาะ ในผู้ชายสามารถรักษาได้ด้วยยาทาและยารับประทาน ในคนที่เป็นยังไม่มากควรเริ่มรักษาด้วยยาทาคือ 2-5% Minoxidil lotion เพียงอย่างเดียวก่อน ส่วนในคนที่เป็นมาก เช่น คนที่มีผมบางมากจนเห็นหนังศีรษะเป็นบริเวณกว้าง อาจให้การรักษาด้วยยาทา 2-5% Minoxidil lotionร่วมกับยารับประทาน Finasteride 1 มิลลิกรัมต่อวัน ส่วนในผู้หญิง ควรรักษาด้วยยาทา 2-5% Minoxidil lotion เพียงอย่างเดียวโดยการรักษาด้วยยารับประทานสำหรับผู้หญิงนั้นยังไม่อยู่ในแนวทางการรักษาที่เป็นมาตรฐาน (Clinical practice guidelines) เนื่องจากยา Finasteride 1mg/dayพบว่าใช้ไม่ได้ผลในผู้หญิง ซึ่งจำเป็นจะต้องรอผลการศึกษาให้มากขึ้นทางด้านประสิทธิผลและความปลอดภัย นอกจากนี้ผู้ป่วยหญิงที่ต้องการรับประทานยาจำเป็นต้องป้องกันการตั้งครรภ์เนื่องจากยาก่อให้เกิดความผิดปกติกับทารกในครรภ์ได้ และผู้ป่วยควรอยู่ในความดูแลของแพทย์เพื่อเฝ้าระวังผลข้างเคียงทางร่างกายด้านอื่นๆ ด้วย
               ส่วนการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การรักษาทางศัลยกรรมด้วยการย้ายปลูกถ่ายรากผม (Hair transplantation) เหมาะสมกับผู้ป่วยที่มีผมบางมากและอาจทำได้ในผู้ป่วยบางราย การใช้เลเซอร์หรือหมวกเลเซอร์เพื่อกระตุ้นให้มีผมมากขึ้นมีการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าใช้ได้ผล เหมาะกับผู้ป่วยที่ผมบางไม่มาก ในกรณีที่ผู้ป่วยยังมีผมร่วงมาก ควรจะใช้เสริมกับการรักษาแบบอื่น นอกจากนี้ยังไม่มีการศึกษาเกี่ยวกับผลข้างเคียงในระยะยาว
               ในส่วนของผลข้างเคียงของยาทา Minoxidil และยารับประทาน Finasteride ยาทา Minoxidil อาจทำให้มีอาการระคายเคืองหนังศีรษะ (7%), มีขนขึ้นที่ใบหน้า (5%) และปวดศีรษะ (3%) ยาสามารถก่ออันตรายให้ทารกในครรภ์ได้ จึงไม่ควรใช้ยานี้ในหญิงมีครรภ์และให้นมบุตร ส่วนยารับประทาน Finasteride ในเพศชาย ยานี้อาจมีผลทำให้การแข็งตัวของอวัยวะเพศลดลง (1-2%) ส่วนในผู้หญิงนอกจากยาอาจใช้ไม่ได้ผลแล้ว ยานี้สามารถก่ออันตรายแก่ทารกในครรภ์ได้ จึงไม่ควรใช้ยานี้ในหญิงมีครรภ์และให้นมบุตร และต้องระมัดระวังในการลดขนาดการใช้ยาลงกับผู้ป่วยโรคตับ
               การรักษาโรคผมบางที่มีรูปแบบเฉพาะนี้ มีความจำเป็นต้องทำไปตลอด เนื่องจากหากหยุดยา ผมอาจกลับไปบางเท่าเดิม และการที่ต้องรักษาเป็นเวลานานทำให้ผู้ป่วยหลายรายมีความท้อใจในการรักษา อย่างไรก็ตามหากผู้ป่วยไม่รักษา ผู้ป่วยอาจมีผมที่บางมากขึ้น ซึ่งจากการศึกษาพบว่ามีโอกาสมากถึง 93% ที่ผู้ป่วยจะมีผมบางเพิ่มขึ้นในช่วงระยะเวลา 5 ปี และพบว่าผมบางมากขึ้นโดยเฉลี่ย 26% ดังนั้นโรคผมบางชนิดนี้จึงควรมีการรักษาอย่างต่อเนื่องและควรประเมินผลการรักษาที่ระยะเวลา 1 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ยาออกฤทธิ์มากที่สุดโรคผมบางจากพันธุกรรมหรือผมบางที่มีรูปแบบเฉพาะนี้มีลักษณะอาการแตกต่างจากโรคอื่น ดังนั้นการรักษาควรถูกต้องตามมาตรฐาน เพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดและมีความปลอดภัยต่อผู้ป่วยมากที่สุด

พญ.ชินมนัส ตั้งจาตุรนต์รัศมี

ประชาสัมพันธ์

สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ