Lifestyle

การปฏิบัติตัวขณะตั้งครรภ์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โภชนาการมีบทบาทต่อการเจริญเติบโตของทารกอย่างมาก หากแม่ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอจะคลอดทารกที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า ตัวสั้นกว่าทารกที่คลอดจากแม่ที่ได้รับอาหารเพียงพอ

ประเภทอาหารที่ต้องการ
 1.โปรตีน มีความต้องการมากขึ้น เพื่อใช้ในการสร้างเซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ ของแม่และทารก ต้องการสูงสุดในระยะที่ 3-4 เดือนก่อนคลอด ซึ่งเป็นช่วงที่อัตราการเจริญเติบโตทั้งร่างกายและสมองจะเติบโตเร็วที่สุด อาหารที่มีโปรตีนสูงได้แก่ เนื้อสัตว์ ไข่ นม ถั่ว  เป็นต้น
 2.สารอาหารที่ให้พลังงาน ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต ไขมัน ไม่ควรรับประทานข้าว แป้ง น้ำตาล ขนมหวาน และไขมันมากเกินไป
 3.เกลือแร่ เพื่อการเจริญเติบโตของทารก ได้แก่
 - แคลเซียม ระยะตั้งครรภ์ ความต้องการแคลเซียมจะเพิ่มขึ้น เพื่อนำไปสร้างกระดูกและฟันของทารก โดยจะมีความต้องการเพิ่มมากขึ้นในเดือนที่ 4 และสูงสุดในระยะก่อนคลอด ประเภทอาหารได้แก่ นม  ปลาตัวเล็ก รับประทานทั้งกระดูก ผักบุ้ง ผักคะน้า
 - เหล็ก ต้องการเพิ่มขึ้น เพื่อใช้ในการสร้างเม็ดเลือดแดงและร่างกายแม่ยังต้องการสะสมไว้สำหรับระหว่างการคลอด ความต้องการเพิ่มขึ้นในระยะ 3 เดือนก่อนคลอด หากได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพอ จะเกิดโรคโลหิตจาง มารดาจะทนต่อการสูญเสียเลือดในระหว่างการคลอดได้น้อย เพื่อป้องกันโรคโลหิตจางแพทย์จะสั่งยาบำรุงเสริมธาตุเหล็กให้คุณแม่ได้รับประทานอาหาร
 - ไอโอดีน ในระหว่างการตั้งครรภ์ ต่อมไทรอยด์จะทำงานมากขึ้นทำให้ความต้องการไอโอดีนเพิ่มขึ้น ถ้าขาดไอโอดีนจะทำให้ทารกตัวเล็ก แคระแกร็น มีสติปัญญาต่ำ ไอโอดีนมีมากในอาหารทะเล
 4.วิตามิน มีความสำคัญต่ออวัยวะต่างๆ ในร่างกายช่วยให้การทำงานในร่างกายเป็นปกติ วิตามินที่สำคัญ คือ วิตามินเอ, ดี, อี และซี
 - วิตามินเอ ต้องการเพิ่มจากเดิม 25% มีมากในผักใบเหลือง นม เนย
 - วิตามินดี ช่วยสร้างกระดูกและฟัน ได้แก่ ไข่ ตับ เนย
 - วิตามินอี ช่วยมิให้เกิดการแท้ง ได้แก่ ผักใบเขียว ถั่ว เนย ไข่แดง
 - วิตามินซี สร้างเนื้อเยื่อช่วยดูดซึมธาตุเหล็ก ได้แก่  ผลไม้ ส้ม มะเขือเทศ

การพักผ่อน
 -  นอนหรือพักผ่อนโดยยกปลายเท้าสูงเล็กน้อย
 -  ควรนอนให้ได้วันละ 8 ชั่วโมง
 -  การนอนในตอนบ่ายจะมีประโยชน์เพิ่มขึ้นแก่คุณแม่และทารกในครรภ์

อาการที่พบขณะตั้งครรภ์
 คลื่นไส้อาเจียน ที่เรียกว่าแพ้ท้อง พบได้ตั้งแต่ประจำเดือนเริ่มขาด ควรรับประทานอาหารทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง ควรงดอาหารทอดหรือที่มันมาก ไม่ควรเคร่งเครียดและกังวลจนเกินไป ถ้ามีอาการแพ้ท้องมากควรปรึกษาแพทย์
 1.ท้องอืด ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ย่อยยาก ของหมักดอง อาหารหรือเครื่องดื่มที่ทำให้เกิดลมหรือแก๊สมาก
 2.ท้องผูก ควรรับประทานอาหารที่มีกากใย เช่น ผัก ผลไม้ ให้มากขึ้น หรือดื่มน้ำลูกพรุน ออกกำลังกายบ้าง แนะนำให้ดื่มน้ำสะอาดวันละ 6-8 แก้ว ถ้าท้องผูกมากควรปรึกษาแพทย์ ไม่ควรซื้อยาระบายรับประทานเอง
 3.ปัสสาวะบ่อยขึ้น เป็นเพราะมดลูกที่โตขึ้นไปกดและเบียดกระเพาะปัสสาวะ ไม่ควรกลั้นปัสสาวะไว้นานๆ 
 4.ตกขาว พบได้ตลอดระยะตั้งครรภ์ ถือเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้ามีตกขาวมากผิดปกติ มีกลิ่นเหม็นหรือมีอาการคันร่วมด้วย ควรปรึกษาแพทย์
 5.ตะคริว มักเป็นที่ปลายเท้าและน่อง ควรนอนยกขาให้สูง รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น ดื่มนม 2-3 แก้วต่อวัน รับประทานกุ้ง ปลาตัวเล็กๆ ปลากระป๋อง ผักใบเขียวจัด เป็นต้น
 6.ฝ้าและผิวหนังคล้ำขณะตั้งครรภ์ อาการเหล่านี้จะค่อยๆ หายไปเองหลังคลอด
 7.ปวดหลัง ไม่ควรเดินทางระยะไกลจนเกินไป ควรเลือกเก้าอี้ที่เอนเล็กน้อย และควรสวมรองเท้าส้นเตี้ยพอดีกับเท้า สูงประมาณ 1 นิ้ว เพื่อป้องกันการปวดหลัง ข้อเท้าแพลงหรือหกล้มได้

สตรีมีครรภ์ที่ควรงดเพศสัมพันธ์
 1.มีประวัติแท้งบ่อย ให้งดชั่วคราวในช่วง 3 เดือนแรก
 2.มีประวัติคลอดก่อนกำหนด ควรงดในระยะ 3 เดือนก่อนคลอด
 3.มีเลือดออกทางช่องคลอด
 4.ตั้งครรภ์แฝด
 5.รกเกาะต่ำ
 6.มีน้ำเดิน
โรงพยาบาลไทยนครินทร์
โทร.0-2361-2727

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ