Lifestyle

ชุบตัวในแม่น้ำคงคา 'กัลกัตตา' มหานครแห่งชีวิต

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย ชาธร โชคภัทระ

 

               อินเดียยังคงงดงามและน่าทึ่ง นี่คืออีกหนึ่งเมืองสีหม่นที่เต็มไปด้วยสีสันของชีวิต พิธีกรรม และสถาปัตยกรรมที่หลงเหลือจากยุคอาณานิคม

 

               แดนภารตะ, ชมพูทวีป, เมืองหลวงของศาสนาพราหมณ์, ดินแดนแห่งเทพเจ้าฮินดู ไม่ว่าคนจะเรียกดินแดนนี้ว่าอะไรก็ตาม อินเดีย ก็ยังคงมีเสน่ห์เย้ายวนใจนักแรมทางผจญภัยแสวงหาสิ่งใหม่เสมอไม่เสื่อมคลาย

 

               เพราะอินเดียเป็นต้นกำเนิดอารยธรรมโลกในลุ่มน้ำสินธุ มีแม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ไหลผ่าน และที่สำคัญคือเป็นดินแดนขนาดใหญ่มากจนได้ฉายาว่าเป็น ‘อนุทวีป’ เลยทีเดียว

 

ชุบตัวในแม่น้ำคงคา 'กัลกัตตา' มหานครแห่งชีวิต

 

               อินเดียเป็นประเทศที่ผมรัก และรู้สึกเหมือนได้กลับบ้านทุกครั้งที่ไปเยือน (ไม่ได้ล้อเล่นนะครับ) คงเพราะอินเดียเต็มไปด้วยสีสัน และจังหวะลมหายใจของชีวิตผู้คน มีอารยธรรมเก่าแก่ เห็นแล้วรู้สึกเหมือนได้ย้อนกลับไปเป็นพันปี คนชอบเดินทางถ่ายภาพอย่างผมจึงมีความสุขจริงๆ คราวนี้ถึงคิวของ กัลกัตตา (Calcutta) เมืองที่แม่น้ำคงคาไหลออกทะเลสู่อ่าวเบงกอล เมืองที่ผู้คนเกือบห้าล้านคนใช้ชีวิตต่อเติมสีสันของมหานครใหญ่ ให้น่าอยู่และน่ารักเสมอมา

 

               กัลกัตตา เป็นเมืองหลวงของรัฐเบงกอลตะวันตก ซึ่งเคยเป็นเมืองหลวงในสมัยที่อังกฤษยึดอินเดียเป็นอาณานิคม ก็ใช้เมืองนี้เป็นศูนย์กลางการปกครองอยู่นานมาก กระทั่งภายหลังได้ย้ายเมืองหลวงไปที่เดลลีจนทุกวันนี้ กัลกัตตาเป็นอินเดียในแบบที่ไม่เหมือนใคร เพราะนอกจากจะรักษาวิถีอินเดียแท้ๆ ไว้ได้อย่างชัดเจนแล้ว ยังมีความเป็นเมืองใหญ่ที่กำลังโต ผสานกลิ่นอายสถาปัตยกรรมอังกฤษที่ยังมีอยู่เกลื่อนเมือง

 

               ในอดีตคนอินเดียเรียกเมืองนี้ว่า ‘กัลกัตตา’ (Calcutta) แต่พออังกฤษเข้ามายึดครอง ก็เปลี่ยนชื่อเมือง เป็น ‘โกลกาตา’ (Kolkata) เพราะอ้างว่าแบบเดิมฝรั่งออกเสียงยาก ซึ่งเป็นเพียงข้ออ้าง เหตุจริงๆ คือการแสดงอำนาจอย่างหนึ่งของเจ้าอาณานิคม ที่ต้องการบอกให้รู้กลายๆ ว่าฉันเป็นเจ้านายเธอนะ ขนาดชื่อเมืองฉันยังเปลี่ยนได้เลย อะไรทำนองนี้! 

 

ชุบตัวในแม่น้ำคงคา 'กัลกัตตา' มหานครแห่งชีวิต

 

               ช่วงที่อังกฤษใช้กัลกัตตาเป็นเมืองหลวงของอินเดีย เมืองนี้เจริญมากทั้งในแง่การปกครอง การศึกษา สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม แต่หลังจากได้รับเอกราชและเกิดความวุ่นวายในประเทศ กัลกัตตาก็ตกอยู่ในสภาวะเศรษฐกิจถดถอย เกิดความยากจน ปัญหาขยะ อาคารต่างๆ ถูกปล่อยทิ้งขาดการดูแลจนทรุดโทรม เพิ่งจะมาฟื้นตัวได้ไม่นานนี้เอง เวลาไปเที่ยวกัลกัตตาจึงไม่ต้องแปลกใจ ว่าทำไมบ้านเมืองเขาดูสีออกมอๆ ทึมๆ บางหลังเก่ามาก คนอยู่กันไปได้ยังไง แต่ถ้าคุณรู้จักนิสัยคนอินเดีย คุณจะตอบได้ทันทีว่า ที่เขาอยู่ได้เพราะมีนิสัยพอเพียงจริงๆ ครับ และถ้อยทีถ้อยอาศัย อะไรใช้ได้ก็ใช้ไปก่อน 

 

               กัลกัตตาจึงเป็นเมืองที่ยังมีลมหายใจ แม้จะเก่า แต่ก็อัดแน่นไว้ด้วยเรื่องราวน่าสนใจและชีวิตผู้คน นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางไปสิกขิม (Sikkim) ก็ต้องมาขึ้นเครื่องบินที่นี่ สู่เมืองบักโดกรา (Bagdogra) เพื่อต่อรถไปสิกขิมอีกทอดหนึ่ง กัลกัตตาจึงคลาคล่ำไปด้วยนักแบกเป้ท่องโลกมากหน้าหลายตา

 

ชุบตัวในแม่น้ำคงคา 'กัลกัตตา' มหานครแห่งชีวิต

 

               ผมยังจำเช้าวันหนึ่งในกัลกัตตาได้ มันคือต้นเดือนมกราคมที่อากาศเย็นสบาย หมอกลงบางๆ ทั่วเมือง อากาศสดชื่นมาก ผมออกจากโรงแรมเล็กๆ นั่งรถแท็กซี่ที่ไม่มีแอร์และไม่มีมิเตอร์ค่าบริการ ตะลอนๆ ไปเรื่อยๆ แท็กซี่เมืองนี้มีเอกลักษณ์คือหลังคาจะโค้งๆ และสีเหลืองทั้งคัน (เป็นมรดกอย่างหนึ่งจากยุคอังกฤษปกครอง) สุดท้ายผมก็ไปถึง ตลาดดอกไม้ (Flower Market) ซึ่งจะว่าไปก็คล้ายปากคลองตลาดบ้านเราสมัยก่อน ที่นี่ขายดอกไม้อย่างเดียวจริงๆ มีดอกไม้นานาชนิดให้เลือก ทั้งชั่งกิโลขาย เป็นพวงมาลัย เป็นพวงยาวๆ เอาไปไหว้เทพเจ้า หรือจะซื้อจัดช่อจัดลงตะกร้าเล็กๆ เอาไปมอบเป็นของฝากของขวัญ เขาก็ทำได้หมด 

 

               ยามเช้าอย่างนี้ตลาดดอกไม้คึกคักมาก พ่อค้าแม่ค้าและลูกค้าต่างตะโกนซื้อขายดอกไม้กันอย่างสนุกสนาน พอเห็นคนตัวขาวๆ แบบผมเดินเข้าไปในวงล้อมคนผิวเข้มเท่านั้น ความโกลาหลเล็กๆ ก็เกิดขึ้นทันที เพราะเขาต่างกรูเข้ามาขอถ่ายรูปยังกับผมเป็นดารา เลยต้องช่วยซื้อพวงมาลัยเขาเป็นกำลังใจ

 

ชุบตัวในแม่น้ำคงคา 'กัลกัตตา' มหานครแห่งชีวิต

 

               ตลาดดอกไม้นี้อยู่ใกล้กับ แม่น้ำฮูกลี (Hooghly River) ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ ตามความเชื่อของคนฮินดูในประเทศนี้ เมื่อไปยืนอยู่ริมน้ำก็ต้องตกตะลึง เพราะมีสะพานเหล็กขนาดมหึมา ทอดข้ามแม่น้ำอยู่ตรงหน้าพอดี มันชื่อว่า สะพานนิว โฮราห์ (New Howrah Bridge) ที่ทำให้เราดูตัวจิ๋วไปเลย คงเพราะมันยาวถึง 1,500 เมตร และสูงถึง 82 เมตร ว่ากันว่าแต่ละวันมีรถยนต์แล่นผ่านกว่า 100,000 คัน และผู้คนเดินสัญจรข้ามไปมากว่า 150,000 คน!

 

               พอจะจินตนาการออกรึยังครับว่า กัลกัตตามีคนเยอะแค่ไหน แต่ที่เจ๋งกว่านั้นคือสะพานนิว โฮราห์ เป็นสะพานแขวนราวเหล็กที่ยาวเป็นอันดับ 6 ของโลก โดยถือเป็น 1 ใน 4 สะพานหลัก ที่ผู้คนใช้ข้ามแม่น้ำฮูกลี ถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึกสักใบ แช๊ะ! อ้อ ลืมเล่าไปว่า ที่ริมน้ำเราจะเห็นกิจกรรมมากมาย ทั้งหญิงชายมาอาบน้ำ คนมาตักน้ำไปใช้ แถมยังมี ‘สาธุ’ นั่งอยู่เต็มไปหมด คนที่ไม่เคยไปอินเดียอาจจะงงว่า ‘สาธุ’ คืออะไร? บางคนคิดว่าสาธุเป็นขอทาน ที่นั่งแบมือขอเงินอยู่ริมถนน แต่จริงๆ ไม่ใช่นะครับ พวกนี้จริงๆ คล้ายกับนักพรตพเนจร แต่งตัวคล้ายฤาษี หนวดเครายาว ห่มผ้าสีต่างๆ กัน และมักนั่งขอบริจาคทานอยู่ในจุดสำคัญๆ ซึ่งของที่พวกเขาได้รับก็มีทั้งเงิน อาหาร และข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ถ้าเห็นสาธุก็ไม่ต้องกลัวนะครับ เขาก็คนเหมือนเรานั่นล่ะ

 

ชุบตัวในแม่น้ำคงคา 'กัลกัตตา' มหานครแห่งชีวิต

 

               โชคดีเหลือเกิน เพราะช่วงที่ผมไปตรงกับเดือนมกราคม ซึ่งตรงกับงานเทศกาลสำคัญที่สุดงานหนึ่ง เรียกว่า มาคาร์ สังครานติ (Makar Sangranti) หรือพิธีอาบน้ำชุบตัวในแม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ เดินต่อจากตลาดดอกไม้ไปไม่ไกล จะพบท่าน้ำที่มีคนหลายพันคนกำลังลงอาบน้ำพร้อมกัน! อะเมซิ่งสุดๆ เพราะพิธีนี้มีแค่ 3 วัน แต่จะมีผู้คนกว่า 2 ล้านชีวิตมาลงอาบน้ำที่กัลกัตตา แต่หากนับรวมทั้งอินเดียแล้ว ก็คงมีไม่น้อยกว่า 10-20 ล้านคนที่ลงอาบน้ำในเทศกาลสำคัญนี้ เพราะเชื่อว่าคงคาเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์มาก เมื่อลงอาบแช่แล้วจะนำความสวัสดีมาสู่ชีวิต และเป็นทางลัดที่จะทำให้เขาไปพบเทพเจ้าแน่นอนเมื่อสิ้นชีพ

 

               สถานที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในกัลกัตตาซึ่งห้ามพลาดชมด้วยประการทั้งปวง คือ วิกตอเรีย เมโมเรียล ฮอลล์ (Victorai Memorial Hall) ศูนย์กลางการปกครองสมัยอาณานิคมอังกฤษ สร้างขึ้นด้วยหินอ่อนสีขาวเลียนแบบทัชมาฮัล การเข้าชมวิกตอเรีย เมโมเรียล ฮอลล์ ทำให้เรานึกถึงพระที่นั่งอนันตสมาคมในกรุงเทพฯ เพียงแต่ของกัลกัตตาเขาใหญ่กว่า 2-3 เท่า แถมยังมีประวัติว่าหลังจากอินเดียได้รับเอกราชแล้ว ก็มีวิกตอเรีย เมโมเรียล ฮอลล์ กับป้อมแดง (Red Fort) ในโอลเดลี เป็นสองสถานที่แรกซึ่งคนอินเดียเขามาโบกธงชาติกันอีกครั้งด้วยความดีใจ

 

ชุบตัวในแม่น้ำคงคา 'กัลกัตตา' มหานครแห่งชีวิต

 

               การมาเที่ยวที่นี่นอกจากจะได้ซึมซับประวัติศาสตร์แล้ว ก็ยังได้ชมสถาปัตยกรรมหินอ่อนขนาดมโหฬาร ที่ยืนหยัดท้ากาลเวลามาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1921 เพื่อรำลึกถึงพระนางเจ้าวิกตอเรียแห่งอังกฤษที่สวรรคตไปเมื่อปี ค.ศ. 1901 โดยพระนางได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น ‘มหารานีแห่งอินเดีย’ คู่กับการบริหารเครือจักรภพอังกฤษไปพร้อมๆ กันด้วย ถือว่าพระนางเป็นจักพรรดินีเหล็กที่ฝ่าฟันเหตุการณ์ต่างๆ มาอย่างโชกโชนทีเดียว

 

               ช่วงหัวค่ำของวันนั้นผมกลับไปที่วิกตอเรีย เมโมเรียล ฮอลล์ เพื่อซื้อตั๋วเข้าไปชมแสงสีเสียง ที่เปิดแสดงให้นักท่องเที่ยวชมทุกวัน โดยเขาจะยิงไฟแสงสีต่างๆ เข้าไปที่ตัวอาคารโดยตรง พร้อมกับมีเสียงบอกเล่าประวัติของที่นี่ให้ฟังอย่างได้อรรถรส ความหนาวเริ่มโรยตัวลงห่มคลุมกัลกัตตาอีกครั้ง แต่ผมยังไม่พร้อมจะเข้านอน ภาพมากมายในวันนี้ยังคงวนเวียนอยู่ในสมอง

 

               เพราะ ‘กัลกัตตา’ คืออีกเมืองที่ผมจะกลับไปอีกหลายครั้ง เหมือนประตูสู่อินเดียอีกบานหนึ่ง ที่ทำให้ผมรู้จักอินเดียในมิติต่างไป

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ