Lifestyle

ศาสตร์พระราชาว่าด้วย "การต่อสู้ที่ไม่ใช้อาวุธ”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“ยุทธศาสตร์การพัฒนา” ศาสตร์พระราชาว่าด้วยการ “ต่อสู้ที่ไม่ใช้อาวุธ” กับ “สายเมือง วิรยศิริ”

 

             น้อยคนนักจะมีโอกาสถวายงานอย่างใกล้ชิดและจะมีสักกี่คนในห้วงชีวิตราชการที่คอยติดตามรับใช้เบื้องพระยุคลบาททั้งสองพระองค์มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน เริ่มตั้งแต่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่าของปวงชนชาวไทย มาจนถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หรือในหลวงรัชกาลที่ 9 ก่อนจะเกษียณชีวิตราชการในตำแหน่งรองเลขาธิการสำนักงาน กปร. เมื่อ 5 ปีก่อนอย่าง “สายเมือง วิรยศิริ”  

             ปัจจุบัน “สายเมือง วิรยศิริ”  รั้งตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษในสภาความมั่นคงแห่งชาติ รับผิดชอบงานความมั่นคงในโครงการพระราชดำริ 

             “คม ชัด ลึก” ถือโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “สายเมือง วิรยศิริ” บอกเล่าถึงแนวพระราชดำริยุทธศาสตร์การพัฒนาว่าด้วยการต่อสู้ที่ไม่ใช่อาวุธในยุคที่มีความขัดแย้งทางความคิดจนมาสู่การสู้รบในทุกภูมิภาค ก่อนจะยุติความขัดแย้งและนำมาซึ่งความสงบร่มเย็นในที่สุด

ศาสตร์พระราชาว่าด้วย "การต่อสู้ที่ไม่ใช้อาวุธ”

               สายเมืองย้อนอดีตให้ฟังว่าตลอดเระยะเวลา 70 ปีแห่งการครองราชย์ พระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ มุ่งมั่นเสียสละตรากตรำพระวรกายในการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชนทุกหมู่เหล่าทั่วทุกภูมิภาคของประเทศมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน  ทรงวางรากฐานการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อต่อสู้กับความยากจนของราษฎร ความทุกข์ของประชาชนอยู่ ณ ที่ใด ธ ทรงอยู่ ณ ที่แห่งนั้น เห็นได้จากที่พระองค์ได้พระราชทานความช่วยเหลือขจัดความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชนมากกว่า 4,000 โครงการ ก่อเกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชนอย่างอเนกอนันต์  โดยเฉพาะในพื้นที่ล่อแหลมที่มีภัยคุกคามความมั่นคง ซึ่งหลักการสำคัญคือ การสร้างภูมิคุ้มกันในการดำรงชีวิต โดยมุ่งพัฒนาช่วยเหลือประชาชนให้พออยู่ พอกินและพึ่งตนเองได้ เป็นสำคัญ

 

                                      ศาสตร์พระราชาว่าด้วย "การต่อสู้ที่ไม่ใช้อาวุธ”                                               

(ภาพ : สายเมือง วิริยศิริ ตามเสด็จถวายงานในหลวงร.9 สมัยรับราชการใหม่ ๆ )

             จะเห็นว่าภายหลังจากพระราชพิธีราชาภิเษกในปี 2493 พระองค์ท่านได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรในภูมิภาคต่างๆ อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยในช่วงปี 2516-2520 เป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับภัยคุกคามความมั่นคงจากฝ่ายคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรงทั่วทุกภูมิภาคในรูปแบบของสงครามปฏิวัติ โดยมีผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ หรือผกค.นั้น เป็นกองกำลังติดอาวุธต่อสู่กับฝ่ายรัฐบาล ซึ่งสถานการณ์และภัยคุกคามความมั่นคงดังกล่าวพระองค์ทรงทราบและด้วยพระเมตตาและความห่วงใยที่มีต่อเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่และประชาชนที่ทำกินในพื้นที่การสู้รบ 

                "จำได้ตอนนั้นพระองค์ได้เสด็จฯ เยี่ยมเจ้าหน้าที่ทหารปฏิบัติงานในพื้นที่เทือกเขาภูพานเขตรอยต่อ จ.สกลนครและพนครพนม  ซึ่งเป็นฐานที่มั่นสำคัญของฝ่ายผกค.ในภาคอีสานเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2518 และเสด็จฯ ไปทรงเปิดโรงเรียนร่มเกล้า อ.นาแก จ.นครพนม อันเป็นพื้นที่กลางเขาภูพานและมีหมายกำหนดการไปเยี่ยมเจ้าหน้าที่ทหารที่ฐานปฏิบัติการภูพานน้อย ในขณะเตรียมการรับเสด็จได้เกิดการปะทะต่อสู้กับผกค. แต่พระองค์มิได้ทรงย่อท้อเสด็จฯ ไปเยี่ยมเจ้าหน้าที่ทหาร ณ ฐานปฏิบัติการดังกล่าวและตรัสพระราชประสงค์และพระราชทานราโชบายในการดำเนินงานสรุปความว่า “ให้คนไทยอะลุ้มอล่วยปรองดองและให้อภัยซึ่งกันและกัน” ซึ่งภายหลังได้ทรงอธิบายว่าคือการ “รู้ รัก สามัคคี” นั่นเอง

                 ต่อมา พล.ท.เปรม ติณสูลานนท์ แม่ทัพภาคที่ 2 (ในขณะนั้น) ได้น้อมนำมาเป็นนโยบายหลักในการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ ด้วยการใช้นโยบายเมืองนำการทหาร มุ่งสร้างความเข้าใจแด่ประชาชนผู้หลงผิด ใช้การปฏิบัติการทางจิตวิทยาสร้างจิตสำนึกและมุ่งพัฒนาช่วยเหลือประชาชนเป็นหลักเข้าสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายทหาร โดยเริ่มปฏิบัติการภายใต้ “โครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ห้วยบางทราย” บริเวณรอยต่อของเทือกเขาภูพานจ.นครพนม สกลนครและกาฬสินธ์ในปี 2520 ครอบคลุมพื้นที่กว่า 130,000 ไร่ นับเป็น “ตำราเล่มใหม่” ของการต่อสู้โดยการไม่ใช่อาวุธ เป็นศาสตร์พระราชา ยุทธศาสตร์การพัฒนาเสริมความมั่นคงของชาติ ซึ่งต่อมารัฐบาลได้กำหนดเป็นนโยบายในแผนการพัฒนาประเทศตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 4 (พ.ศ.2520-2524) เป็นต้นมา

            ส่วนภาคเหนือพื้นที่เขาค้อรอยต่อของ จ.เพชรบูรณ์และพิษณุโลก บริเวณลุ่มน้ำเข็กซึ่งเป็นแหล่งซ่องสุมของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในภาคเหนือนับเป็นดินแดนแห่งการสู้รบ จนทำให้สูญเสียผู้คนจำนวนมาก  กองทัพภาคที่ 3 จึงได้ก่อสร้างเส้นทางคมนาคมเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์เข้าสู่ฐานที่มั่นของผกค.และมีการขัดขวางจนเกิดการต่อสู้กันอย่างรุนแรง ในปี 2519 พระองค์ได้เสด็จฯ เยี่ยมกองพันรบพิเศษค่ายสฤษดิ์เสนา จ.พิษณุโลก และมีพระราชดำริแนวทางการดำเนินงานความว่า

         “พื้นที่เขาค้อได้มีการต่อสู้มานาน เจ้าหน้าที่และราษฎรได้เสียชีวิตมามาก น่าจะใช้เส้นทางที่ได้สร้างขึ้นในพื้นที่เขาค้อใช้เป็นประโยชน์ต่อราษฎรทั่วไป นอกเหนือจากการใช้ในราชการทหารและพื้นที่ตามแนวสองข้างทางควรใช้เป็นประโยชน์ให้เป็นที่ทำมาหากินของราษฎรที่ยากไร้ ไม่มีที่ทำกินเป็นของตนเอง”

         จากนั้นกองทัพภาคที่ 3 ได้ดำเนินงานตามแนวพระราชดำริ โดยจัดตั้งหมู่บ้านสองข้างเส้นทางยุทธสาสตร์สู่เขาค้อจำนวน 32 หมู่บ้าน จัดสรรที่อยู่อาศัยและที่ทำกินแก่ราษฎรอาสาสมัครและทหารกองหนุนที่ไม่มีที่ทำกินกว่า 2,900 ครอบครัว  พัฒนาแหล่งน้ำและส่งเสริมอาชีพแก่ราษฎร ภายใต้ “โครงการพัฒนาลุ่มน้ำเข็ก” ส่งผลให้การต่อสู้ด้วยอาวุธในพื้นที่เขาค้อที่มีมาอย่างยาวนานเป็นอันต้องยุติลงอย่างสิ้นเชิงในปี 2525

           นอกจากนี้ในพื้นที่ภาคกลางได้พระราชทานพระราชดำริในการพัฒนาบริเวณพื้นที่ราบเชิงเขาตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา จ.ปราจีนบุรี (ปัจจุบันคือ จ.สระแก้ว) ครอบคลุมพื้นที่กว่า 400,000 ไร่ จำนวน 106 หมู่บ้าน โดยมีการจัดสรรที่ดินเพื่ออยู่อาศัยและที่ทำกิน ส่งเสริมพัฒนาความรู้ในการประกอชอาชีพแก่ราษฎรในพื้นที่  ปลุกจิตสำนึกรักชาติบ้านเมืองแก่ประชาชน ก่อสร้างเส้นทางคมนาคมและพัฒนาแนวทางส่งน้ำโดยการขุดคลองยุทธศาสตร์เพื่อใช้ในการเกษตรและความมั่นคง เนื่องจากเป็นเครื่องกีดขวางการเคลื่อนที่ป้องกันรถถังจากฝ่ายตรงข้ามด้วย โดยมีพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า “เป็นการทำสงครามกับความยากจนเพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน”

         จะเห็นว่าในการดำเนินงานโครงการพระราชดำริในช่วงที่ประเทศกำลังเจริญกับภัยคุกคามความมั่นคงภายในประเทศอย่างรุนแรงจากฝ่ายคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ที่มีสถานการณ์รุนแรงนั้น พระองค์ทรงรับสั่ง โดยมีใจความว่า “เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาเป็นการต่อสู้ที่ไม่ใช้อาวุธเป็นการนำความสงบร่มเย็นเข้าไปดับความรุนแรงของการต่อสู้ด้วยอาวุธระหว่างคนไทยด้วยกันเอง..”

        เรื่องราวเหล่านี้คือศาสตร์พระราชา ศาสตร์ที่เกิดจากความรักความเมตตาที่มีต่อปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติโดยแท้! 

ศาสตร์พระราชาว่าด้วย "การต่อสู้ที่ไม่ใช้อาวุธ”

ศาสตร์พระราชาว่าด้วย "การต่อสู้ที่ไม่ใช้อาวุธ”

                                               ...................................................................

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ