Lifestyle

ไขปัญหาลุ่มน้ำ"แม่กลอง-ท่าจีน"รักษาสวนผลไม้ดำเนินสะดวก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ไขปัญหาลุ่มน้ำ"แม่กลอง-ท่าจีน"รักษาสวนผลไม้ดำเนินสะดวก

              แม่น้ำหลัก 4 สายที่ไหลลงทะเลอ่าวไทย ไล่จากซ้ายมาขวา ได้แก่ แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำบางปะกง

ไขปัญหาลุ่มน้ำ"แม่กลอง-ท่าจีน"รักษาสวนผลไม้ดำเนินสะดวก

              ระหว่างแม่น้ำจะมีแผ่นดินกั้นอยู่ หากจะให้สะดวกก็ต้องขุดคลอง ฝั่งตะวันออกระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยาก็ขุดคลองแสนแสบเชื่อมเจ้าพระยากับบางปะกง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ต่อมาขุดคลองภาษีเจริญเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาไปยังแม่น้ำท่าจีน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และในรัชกาลเดียวกันทรงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองดำเนินสะดวกเชื่อมแม่น้ำท่าจีนกับแม่น้ำแม่กลอง เพื่อการสัญจรสะดวก

                 คลองดำเนินสะดวก เริ่มขุดตรงปากคลองบางยาง อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ของแม่น้ำท่าจีน ไปทะลุแม่น้ำแม่กลองที่ปากคลองบางนกแขวก อ.บางคนที จ.สมุทรสงกราม ความยาวกว่า 30 กิโลเมตร บริเวณสองฟากฝั่งคลองดำเนินสะดวกล้วนเป็นสวน โดยเฉพาะไม้ผล ชมพู่ ฝรั่ง กล้วย มะพร้าว มะนาว ฯลฯ ที่มีชื่อเสียง รสชาติอร่อย ตั้งแต่โบราณกระทั่งปัจจุบัน เป็นท่วงทำนอง “บางช้างสวนนอก” ที่ควบคู่กับ “บางกอกสวนใน” ซึ่งล้วนโด่งดังเรื่องรสชาติทังคู่

ไขปัญหาลุ่มน้ำ"แม่กลอง-ท่าจีน"รักษาสวนผลไม้ดำเนินสะดวก

                สวนเหล่านี้อาศัยแม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน มาภายหลังภารกิจของแม่น้ำท่าจีนมากขึ้นจนยากจะพึ่งพาได้ ส่วนใหญ่อาศัยน้ำแม่กลองเป็นสำคัญ ทั้งโรยมาจากพื้นที่ด้านบนหรืออัดเข้ามาทางคลองดำเนินสะดวกผ่าน ปตร.บางนกแขวก

                พ้นจากเขตสวนลงไปทางใต้ คือทะเลอ่าวไทย ซึ่งมีทั้งคุณและโทษต่อสวนผลไม้ย่านนี้

                 ที่ว่าคุณคือสภาพน้ำกร่อยช่วยเพิ่มรสชาติผลไม้

                 ที่ว่าโทษคือหากเค็มเกินไปกระทบต่อไม้ผลถึงตายได้

              ก่อนถึงทะเลจึงมีโครงการพนังกั้นน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ก่อสร้างตั้งแต่ปี 2538 ความยาว 62 กิโลเมตร โอบล้อมป้องกันพื้นที่ 1.56 แสนไร่ ประกอบด้วย 3 จังหวัด 6 อำเภอ ได้แก่ จ.สมุทรสงคราม ประกอบด้วย อ.บางคนที อ.อัมพวา และ อ.เมือง ในขณะ จ.ราชบุรี ประกอบด้วย อ.ดำเนินสะดวก ส่วน จ.สมุทรสาคร ประกอบด้วย อ.บ้านแพ้ว และ อ.เมือง

                 ปัญหาของพื้นที่ทองเหล่านี้คือการขาดแคลนน้ำและการรุกล้ำของน้ำเค็ม

              ภาวะแล้งเมื่อปี 2557-2559 ส่งผลกระทบต่อพื้นที่นี้อย่างรุนแรง เพราะน้ำต้นทุนจากเขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ ที่ไหลลงมาบรรจบเป็นแม่น้ำแม่กลอง และมีเขื่อนแม่กลองทำหน้าที่เป็นตัวทดน้ำมีปริมาณน้ำลดลงจากเดิมครึ่งหนึ่ง

             ปัญหาน้ำขาดแคลนว่าหนักแล้ว หนักกว่านั้นคือน้ำเค็มหนุนสูงผ่านลำน้ำสาขาย่อยๆ ย้อนผ่านพนังกั้นน้ำ ซึ่งชำรุดทรุดโทรมขึ้นไปในพื้นที่เหล่านี้

             ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงแนวทางแก้ไขปัญหานี้จากผลการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทานในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีนว่า ต้องปรับปรุงแนวคันควบคุมน้ำทะเล 62 กิโลเมตร ไปตามแนวตามถนนเอกชัย-พระราม 2 จาก ปตร.บางนกแขวก วกลงมาก่อน แล้วย้อนขึ้นไปที่ ปตร.บางยาง พร้อมกับอาคารบังคับน้ำตามแนวคันควบคุมน้ำทะเล จำนวน 35 คลอง ซึ่งมีทั้งก่อสร้างใหม่ ปรับปรุงของเก่า และอาคารที่ยังใช้ได้อยู่ มาตรการเหล่านี้จะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำขึ้นมาได้ดีขึ้น

                “แนวคันควบคุมน้ำทะเลเดิมมีชำรุดและต้องก่อสร้างอาคารเพิ่มเติม ไม่อย่างนั้นจะคล้ายกับก้นรั่วมีน้ำทะเลรุกล้ำผ่านคลองย่อยๆ ดันเข้ามาในพื้นที่การเกษตรนี้ได้”

                  ขณะเดียวกัน คัดเลือกคลองที่มีศักยภาพในการระบายน้ำในฤดูน้ำหลากและเก็บกักน้ำไว้ในลำน้ำในช่วงฤดูแล้ง 68 คลอง มีทั้งกลุ่มคลองในแนวนอนเชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำท่าจีน-แม่น้ำแม่กลอง จำนวน 4 คลอง กลุ่มคลองในแนวเหนือ-ใต้ เชื่อมโยงจากคลองท่าผา-บางแก้วจนถึงทะเล 3 แนว จำนวน 22 คลอง และกลุ่มคลองที่เพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำและการระบายน้ำ จำนวน 42 คลอง

                  “คลองธรรมชาติเดิมๆ ใช้งานมานานมีปัญหาตื้นเขินและมีการก่อสร้างบุกรุกลำน้ำ ทำให้ประสิทธิภาพการระบายน้ำต่ำ จึงประสบปัญหาน้ำท่วมทุกปี ในขณะเดียวกัน เวลาส่งน้ำในฤดูแล้งจากแม่น้ำแม่กลองลงมาก็ส่งมาไม่สะดวก ไม่ได้รับบ้าง ถ้าปรับปรุงตรงนี้ได้จะทำให้การใช้น้ำจากแม่กลองประหยัดขึ้นและไม่ต้องส่งอ้อมผ่านคลองท่าสาร-บางปลา” ดร.สมเกียรติกล่าว

                 แนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จะช่วยให้การเก็บกักน้ำในลำน้ำสาขาดีขึ้น การส่งน้ำต้นทุนในฤดูแล้งจากเขื่อนแม่กลองลงมาในพื้นที่ก็ทำได้สะดวก รวดเร็ว ประหยัดน้ำต้นทุน และคันควบคุมน้ำเค็มก็มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้พื้นที่ 1.56 แสนไร่ มีความมั่นคงด้านน้ำและยังคงเป็นแหล่งผลิตผลไม้สำคัญของลุ่มน้ำแม่กลอง-ท่าจีนต่อไป

                               ****************************

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ