Lifestyle

เปิดโลกนวัตกรรม“พลังงานไฟฟ้า”สู่สังคมอีสาน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดโลกนวัตกรรมด้าน“พลังงานไฟฟ้า”ถ่ายทอดองค์ความรู้สู่สังคมภาคอีสาน

         เป็นที่ตื่นตาตื่นใจของเด็กๆ เยาวชนสำหรับห้องนิทรรศการถาวรด้านพลังงานไฟฟ้าระบบดิจิทัลสุดทันสมัยแห่งแรกในภาคอีสานที่จำลองเสมือนจริง หลังการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.) จัดทำขึ้นเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานสู่สังคมให้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของพลังงานไฟฟ้า ที่กำหนดชะตาชีวิตของผู้คนทั้งในปัจจุบันและอนาคต

         “การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย นอกจากมีภารกิจหลักคือการผลิตไฟฟ้าเพื่อคนไทยแล้ว การแบ่งปันความรู้สู่สังคมยังเป็นอีกภารกิจหนึ่งที่กฟผ.มีความมุ่งมั่นในวันนี้และอนาคต เพราะในอนาคตปัญหาด้านพลังงานถือเป็นเรื่องใหญ่ ถ้าประชาชนมีโอกาสได้รู้ถึงการได้มาซึ่งพลังงานไฟฟ้าก็จะทำให้เห็นถึงคุณค่าของพลังงานไฟฟ้า ทำให้ตระหนักถึงความจำเป็นในการประหยัดพลังงาน รวมทั้งยังได้ทราบถึงความเป็นมาของพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทยว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร”

เปิดโลกนวัตกรรม“พลังงานไฟฟ้า”สู่สังคมอีสาน

          ความบางช่วงบางตอน รัตนชัย นามวงศ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดศูนย์เรียนรู้ด้านพลังงานไฟฟ้า(Day of Future) ถึงภารกิจของกฟผ.ที่มีต่อสังคม จนเป็นผลมาสู่ความร่วมมือระหว่างสองหน่วยงานที่มีการลงนามความร่วมมือ(เอ็มโอยู)เพื่อสร้างแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงงานจำนวน 2 แห่ง ได้แก่ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา(ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ) และศูนย์วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมเพื่อการศึกษาร้อยเอ็ด ด้วยงบประมาณทั้งสิ้น 22 ล้านบาท เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้วยตนเองและสร้างประสบการณ์ด้านพลังงานแก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ได้มีความรู้ความเข้าใจด้านพลังงานไฟฟ้า 

           ศุภผล รัตนากร ผู้อำนวยการฝ่ายสำรวจ กฟผ.เผยต่อ “คม ชัด ลึก" โดยระบุว่า สำหรับห้องนิทรรศการถาวรด้านพลังงานไฟฟ้า ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมเพื่อการศึกษาร้อยเอ็ดนั้น เพิ่งดำเนินการแล้วเสร็จ ภายใต้งบประมาณ 10 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานแห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายในห้องนิทรรศการแบ่งออกเป็น 7 โซน ประกอบด้วย โซนที่ 1 ความหวังอนาคต โซนที่ 2 ภารกิจเรียนรู้พลังงานไฟฟ้า โซนที่ 3 ภารกิจผลิตไฟฟ้า โซนที่ 4 ภารกิจแสงสว่างสู่เมือง โซนที่ 5 โครงสร้างทางพลังงานไฟฟ้า โซนที่ 6 กฟผ.ผลิตไฟฟ้าเพื่อความสุขของคนไทย และโซนที่ 7 วิวัฒนาการไฟฟ้าไทย 

             ซึ่งทั้ง 7 โซนดังกล่าวจะนำเสนอในรูปแบบนิทรรศการถาวรด้วยระบบดิจิทัลสุดทันสมัย พร้อมสอดแทรกกิจกรรมการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้รู้ถึงการได้มาซึ่งพลังงานไฟฟ้า มีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้า ความจำเป็นในการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่และตระหนักถึงการประหยัดพลังงานไฟฟ้า ตลอดจนมีความเข้าใจในภารกิจของกฟผ.มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือสนับสนุนการพัฒนาระบบไฟฟ้าของประเทศให้มีความมั่นคงต่อไป ส่วนห้องนิทรรศการถาวรด้านพลังงานไฟฟ้าที่ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาหรือท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ ขณะนี้การดำเนินการใกล้แล้วเสร็จ คาดว่าจะเปิดให้ชมกันได้ในเดือนตุลาคม 2560 นี้

เปิดโลกนวัตกรรม“พลังงานไฟฟ้า”สู่สังคมอีสาน

           “นอกจากภารกิจหลักในการผลิตไฟฟ้าเพื่อความสุขของคนไทยแล้ว กฟผ.ยังให้ความสำคัญต่อการแบ่งปันความรู้ด้านพลังงานสู่สังคมเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และพัฒนาพลังงานของประเทศ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป”

          ผู้อำนวยการฝ่ายสำรวจ กฟผ. เผยต่อว่า ห้องนิทรรศการดังกล่าวนี้เป็นการต่อยอดมาจากหลักสูตรพลังงานทดแทนที่กฟผ.ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานร่างหลักสูตรใช้สอนในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งมีอยู่ 2 เรื่อง คือ เชื้อเพลง กับ การคมนาคม ส่วนกศน.ก็มีการร่วมจัดทำหลักสูตรด้วยคือ พลังงานกับการใช้ประโยชน์ ซึ่งบรรจุอยู่ในหลักสูตรการสอนทั่วประเทศ และกิจกรรมนี้จะเป็นการต่อยอดจากหลักสูตรมาสู่ผู้เรียน นอกจากนี้ยังมีการจัดอบรมครูกศน.ทั่วประเทศ การจัดประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ ระดับประเทศ ซึ่งกฟผ.ได้ทำต่อเนื่องมา 4 ปีแล้ว รวมทั้งจัดครูและนักเรียนไปทัศนศึกษาในสถานที่จริงเป็นประจำทุกปี

            “กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากกระทรวงพลังงานได้ทำเอ็มโอยูกับกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อเดือนสิงหาคม 2558 กฟผ.ก็ได้ลงนามเอ็มโอยูกับกศน.อีกฉบับหนึ่งในการจัดสร้างศูนย์นิทรรศการฯ 2 แห่งคือที่ศูนย์วิทยาศาสตร์กรุงเทพ(ท้องฟ้าจำลอง) และศูนย์วิทยาศาสตร์ร้อยเอ็ด เป้าหมายก็คืออยากให้เด็กๆ นักเรียนนักศึกษาได้เข้าใจการใช้พลังงานไฟฟ้าในภาพรวม เพราะพลังงานจะมีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของคนเราอย่างมากทั้งในปัจจุบันและอนาคต ไม่ว่าจะเป็นพลังงานอะไร เราขาดไม่ได้ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องใช้พลังงาน” ศุภผลกล่าวย้ำ     

เปิดโลกนวัตกรรม“พลังงานไฟฟ้า”สู่สังคมอีสาน

           ดร.วิเลขา ลีสุวรรณ์ รองเลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.) กล่าวว่า พลังงานไฟฟ้าเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นและมิใช่เป็นเรื่องของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งที่รับผิดชอบเพียงหน่วยงานเดียว แต่เป็นเรื่องที่ประชาชนทุกคนควรตระหนักรู้ถึงกระบวนการที่ได้มาซึ่งพลังงานไฟฟ้า เพื่อให้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของพลังงานไฟฟ้า พร้อมทั้งนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

           “ต้องขอขอบคุณกฟผ.ที่เห็นความสำคัญของการศึกษาและร่วมกับสำนักงานกศน.ส่งเสริมการให้ความรู้ด้านพลังงานไฟฟ้าสู่ประชาชน โดยสนับสนุนการสร้างสื่อนิทรรศการเพื่อการเรียนรู้ โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับกระบวนการผลิตไฟฟ้าในรูปแบบต่างๆ และความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้า ผู้ที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวันอังคารถึงเสาร์ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์” รองเลขาธิการกศน. กล่าวเชิญชวนทิ้งท้าย

 กว่าจะเป็นศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาร้อยเอ็ด

           หลังจากคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาแห่งชาติและเครือข่าย เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2537 ให้จัดตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาจังหวัด จากนั้นได้มีการกระจายไปตามเขตการศึกษาต่างๆ เขตการศึกษาละ 1 แห่ง รวม 12 แห่ง ในขั้นต้นและเพิ่มจำนวนศูนย์จังหวัดในระยะต่อไป ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 19 แห่งทั่วประเทศ

          ในปี 2545 กรมการศึกษานอกโรงเรียน(ในขณะนั้น) กระทรวงศึกษาธิการ ได้เสนอโครงการจัดตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขึ้นที่ อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด ต่อมาในปี 2547 ครม.เห็นชอบให้กศน.เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบแผนบูรณาการเติมปัญญาให้สังคมตามยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลกำหนดเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาประเทศในระยะยาว ยกระดับคุณภาพชีวิต การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ การพัฒนาความเข้มแข็งทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

         โดยที่ กศน.ได้จัดตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาจังหวัด 12 แห่งครบแล้ว จึงเสนอโครงการระยะที่ 2 เสนอจัดสร้างในชื่อศูนย์วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมเพื่อการศึกษาร้อยเอ็ด ด้วยงบประมาณดำเนินโครงการ 750 ล้านบาท ในพื้นที่โครงการ 115 ไร่ ที่ อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด จากนั้นในวันที่ 30 สิงหาคม 2550 ได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ กระทั่งปี 2555 การดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จเปิดให้ผู้สนใจทั่วไปเข้าชมจนปัจจุบันและจะมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในปลายปีนี้ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์ดังกล่าว

กฟผ.โชว์นวัตกรรมสุดล้ำในงาน“มหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ”  

         ธาตรี ริ้วเจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการกิจการสังคม กฟผ. กล่าวถึงการเข้าร่วมจัดแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีในงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ” ระหว่างวันที่ 17-27 สิงหาคม ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี  เนื่องในโอกาสวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประจำปี 2560 โดยในส่วนของ กฟผ.ได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สำคัญต่างๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตมาร่วมจัดแสดงภายใต้แนวคิด “เมืองอัจฉริยะ เพื่อพลังงานที่ยั่งยืน”

          โดยมีไฮไลท์สำคัญคือการนำเสนอเทคโนโลยีโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่สามารถนำไปเชื่อมโยงให้เกิดเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ในการใช้พลังงานได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากระบบ Smart Grid เป็นระบบบริหารการใช้ไฟฟ้าที่สามารถคำนวณกำลังการผลิต รวมทั้งควบคุมและสั่งจ่ายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิลและโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในพื้นที่ได้เสมือนเป็นโรงไฟฟ้าโรงเดียวกัน ทำให้การจ่ายไฟฟ้าสอดคล้องกับปริมาณใช้งานจริง ลดความสูญเปล่าของการสำรองการผลิตไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ปัจจุบัน กฟผ. ได้นำร่องดำเนินโครงการพัฒนา Smart Grid ในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน มาตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งถือเป็นการตอบรับนโยบาย “Energy 4.0” ของกระทรวงพลังงาน และเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาประเทศด้วยนวัตกรรมสู่ความเป็น “ไทยแลนด์ 4.0” ในอนาคตอีกด้วย

                                        สุรัตน์ อัตตะ     รายงาน

                                  [email protected]

 

        

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ