Lifestyle

บทเรียนจากห้วยทรายขมิ้นถึง"เขื่อนลำปาว"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทเรียนจากห้วยทรายขมิ้นถึง"เขื่อนลำปาว"

 

น้ำท่วมสกลนครอย่างรวดเร็ว ผู้คนเชื่อว่าฝนตกหนักจากพายุเซินกาจริง

            แต่ดันมีปัญหาอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นพังเป็นช่องยาวและลึก จนน้ำเกลี้ยงอ่างความจุ 2.4 ล้านลูกบาศก์เมตรคนก็เชื่อว่าอ่างแตก มีแต่กรมชลประทานยืนกรานยังไงก็ไม่แตก

            นิยามคำว่า แตกก็ยังแตกต่างกัน แต่เสียงและตาชาวบ้านยืนยันพร้อมคำถามว่า ไม่แตก แต่น้ำไหลออกหมดอ่างได้ยังไง

            ถูกผิด จึงขึ้นอยู่กับนิยามใครเป็นอย่างไรต่างหาก เสียแต่ภาพลักษณ์กรมชลประทานแกว่งไกวไหวสั่นไม่ใช่น้อย ต่อไปคงเผชิญการตรวจสอบจากชาวบ้านมากขึ้นเป็นแม่นมั่น

            คราวนี้ชาวบ้านแอบคิดต่อไปว่า ที่ท่วมแบบตั้งตัวไม่ติดคงเป็นเพราะน้ำจากห้วยทรายขมิ้นรวมด้วยแน่เป็นผลพลอยเสียจากคำยืนกรานว่า อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นไม่แตกนะแหละ ต่อให้อมพระมาพูดก็ไม่เชื่อ

            ความจริง จะว่าไม่มีส่วนเลยก็ไม่ถูก หรือมีส่วนทั้งหมดก็ไม่เชิง

อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น อยู่ในลุ่มน้ำสงคราม คนละลุ่มน้ำกัน ชะตากรรมเล่นตลกตรงที่ไหลไปชนถนน คลองชลประทานของอ่างเก็บน้ำน้ำอูน แล้วบ่าลงหนองหารแทน โดยไม่ได้ผ่านเมืองสกลนครอย่างที่เข้าใจ

ถึงกระนั้นก็มีส่วนบ้าง  เพราะหนองหารระบายน้ำลงแม่น้ำก่ำไม่ทัน เมืองสกลเลยกระทบไปด้วย

ความวัวไม่ทันหาย ความควายมารออยู่ จากอ่างเก็บน้ำลำปาว อ่างขนาดใหญ่ต้นทางอยู่จ.กาฬสินธุ์ ท่วมคล้อยหลังสกลนครไปหน่อยเดียว

อ่างเก็บน้ำลำปาว ความจุ 1,980 ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วงวันที่ 4-5 สิงหาคม 2560 ปริมาณน้ำในอ่าง 1,700 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ85  ของความจุ  เหลือรองรับน้ำได้ 280 ล้านลูกบาศก์เมตร

กรมชลประทาน โดยดร.ทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษา จึงได้หารือกับนายสุวิทยฺ คำดี ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2560 โดยขอคงอัตราการระบายน้ำอยู่วันละ 30 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อไปจนถึงวันที่ 13 สิงหาคม 2560 หรือระบายออกเกือบ ๆ 300 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อรักษาเสถียรภาพของเขื่อนลำปาว

  แต่ผู้ว่าฯสุวิทย์ ไม่เห็นด้วยโดยขอให้ปรับลดอัตราการระบายลงเหลือวันละ 25 ล้านลูกบาศก์เมตร เพราะขณะนี้ 5 อำเภอของกาฬสินธุ์ ถูกน้ำท่วมอยู่ ขืนระบายอัตรานี้ชาวบ้านยิ่งเดือดร้อนหนักขึ้น

ใครเป็นผู้ว่าฯก็ต้องเล่นบทนี้ บทที่ยืนเคียงข้างชาวบ้านที่เดือดร้อนเดือดเย็นอยู่ในน้ำ ซีดแล้วซีดอีก

ดร.ทองเปลวก็ไม่ยอม บอกว่ากรมชลประทานยึดหลักการระบายน้ำตามเกณฑ์บริหารจัดการน้ำ ว่าด้วยกราฟเส้นบน เส้นลาง ที่เรียกว่า Rule Curve หรือเส้นกราฟบริหารจัดการน้ำที่มี 2 เส้น เส้นบน(Upper Rule Curve)เป็นเรื่องการบริหารจัดการน้ำช่วงน้ำมาก ไม่ให้ระดับน้ำอยู่เกินไปกว่าเส้นกราฟที่ว่านี้ ส่วนเส้นล่าง(Lower Rule Curve) เอาไว้บริหารจัดการน้ำในช่วงหน้าแล้ง ไม่ให้ระดับน้ำในเขื่อนต่ำไปกว่านี้

ถกกันพักหนึ่ง สุดท้ายดร.ทองเปลวยอมลดปรับอัตราการระบายเหลือ 25 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน แต่ลดเพียง 3 วันจากวันที่ 5- 8 สิงหาคมนี้เท่านั้น โดยให้เหตุผลว่ายังมีน้ำไหลเข้าเขื่อนในปริมาณมากและถ้ายังไหลเพิ่มขึ้นมากก็จะเพิ่มการระบายน้ำออกจากเขื่อนลำปาวทันที

ดูไปแล้ว นับว่าดร.ทองเปลวแข็งกร้าวอยู่ไม่น้อยทีเดียว ชนิดลดแบบมีเงื่อนไข ทั้งลดแค่ 3 วันจาก 9 วัน และถ้ายังมีน้ำไหลเข้าอ่างเยอะก็จะเพิ่มอัตราการระบายทันที แข็งแรงมากจนน่าตกใจว่า ชลประทานการทูตเป็นอย่างนี้หรืออย่างไร

อีกด้าน เป็นเรื่องน่าเห็นใจกรมชลประทานอยู่เหมือนกัน ถ้าเอาไม่อยู่ มันก็เสียหาย

แต่การบริหารจัดการน้ำจะเอาอยู่ หรือเอาไม่อยู่ มันมีหลายเหตุปัจจัย น้ำจะเข้าเขื่อนมากขึ้นหรือน้อยลง เรื่องนี้น่าจะพอเดาได้ แต่การบริหารจัดการน้ำโดยการพร่องระบาย มันก็ไม่ใช่ 30 ล้านตลอดไป หรือ 25 ล้านตลอดกาล มันน่าจะยืดหยุ่นได้มากกว่านี้ เขื่อนเองก็มีระบบหยุ่นตัวไม่น้อย จากระดับเก็บกักสามารถหน่วงน้ำได้ถึงระดับเก็บกักสูงสุด 

            ถ้าเคยสังเกต บางทีเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนขุนด่านปราการชล รับน้ำมากกว่าความจุ เพราะความจุที่ว่ามันก็ยังจุได้มากกว่านั้นอีก แต่ไม่จำเป็นเขาก็ไม่อยากทำกัน เขื่อนลำปาวก็ทำได้ ส่วนจะเท่าไร กรมชลประทานทราบดี

            น้ำเข้าอ่าง มันมีทั้งเข้ามาก เข้าน้อยสลับกัน มีจังหวะ มีช่องหายใจของมันเช่นกัน เช่นเดียวกัน เมื่อน้ำจะพร่องออกจากอ่างมันก็พร่องมาก พร่องน้อย ได้

           ทุกอย่างมีจังหวะ มีช่วงหยุดหายใจ ช่วงผ่อนลม ช่วงสูดลมหายใจเต็มปอด หรือกึ่งหายใจกึ่งหยุดหายใจชั่วแว้บหนึ่ง  การระบายน้ำจากเขื่อนก็เหมือนกัน มันไม่เป๊ะเวอร์หรอก มันต้องคำนึงถึงทั้งความปลอดภัยตัวเขื่อน และความปลอดภัยของชาวบ้าน

            ดังนั้น ความแข็งกร้าวในแง่เงื่อนไขนั้นน่าจะหย่อนลงได้บ้าง โดยเฝ้าจับตาสังเกตปริมาณน้ำ ปริมาณฝนโดยละเอียด เชื่อว่าถ้าผู้ว่าสุวิทย์ได้เห็นข้อมูลแท้จริง ท่านคงไม่ขัดศรัทธาดร.ทองเปลวหรอก

            การทูตชลประทานไม่จำเป็นต้องแข็งกร้าว ตรงข้ามอ่อนนิ่มเหมือนน้ำก็ได้ สามารถลวงคนให้มาตายได้นักต่อนักแล้ว

            ในขณะการทูตปกครองกลับนิ่งเฉย นิ่งเงียบ โดยให้คนกาฬสินธุ์และประชาชนเป็นกรรมการตัดสินเองว่า มันเป็นอย่างไร ดูเหมือนได้แต้มโดยไม่ต้องออกหมัดเลย

            เห็นการเจรจาเรื่องน้ำของผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์กับรองอธิบดีกรมชลประทานแล้ว ได้แต่เสียววูบๆว่า น้ำเป็นไฟได้อย่างไร ไฟเป็นน้ำได้อย่างไร

            รอดูยกสองกันดีกว่าว่าใครจะเจ๋งกว่าใคร!

 

                                    .....................................................

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ