Lifestyle

ละเมิดสิทธิ์-ฟ้องปิดปาก เทคนิคกฎหมายเล่นงาน"ประชาชน"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ละเมิดสิทธิ์-ฟ้องปิดปาก เทคนิคกฎหมายเล่นงาน"ประชาชน"

 

กฎหมายใหม่ๆ ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาถี่ยิบ ทำให้น่าคิดว่าตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เข้าควบคุมอำนาจการปกครอง เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คสช.ได้ออกกฎหมาย และคำสั่งหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ซึ่งมีสถานะเป็นกฎหมายมาแล้วกี่ฉบับ

เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.มานะ นิมิตรมงคล จากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น สรุปข้อมูลเอาไว้ในเฟซบุ๊กว่า นับถึงวันที่ 17 กรกฎาคม 2560 มีการตรากฎหมายเป็นพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว 248 ฉบับ พระราชกำหนด(พ.ร.ก.) 8 ฉบับ และประกาศ คสช.อีก 64 ฉบับ รวมเป็น 320 ฉบับ

นี่ยังไม่นับคำสั่งหัวหน้า คสช. อีกมากกว่า 150 ฉบับ! (ข้อมูลจากเว็บไซต์ไอลอว์)

กฎหมายเหล่านี้หลายฉบับออกมาอย่างรวดเร็ว และขาดการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ทำให้ประชาชนตามไม่ทัน บางการกระทำเคยทำได้ ตอนหลังกลับผิดกฎหมาย ต้องกลายเป็นผู้ต้องหา และบางรายถูกละเมิดสิทธิโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่อ้างกฎหมายใหม่ ทั้งๆ ที่ชาวบ้านหรือตัวแทนชาวบ้านไม่ได้มีส่วนในการออกกฎหมายเหล่านั้น

ปัญหาแบบนี้พบมากในต่างจังหวัด โดยเฉพาะภาคอีสาน มีการร้องเรียนผ่านคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) จำนวนมาก

ข้อมูลจาก กสม.ระบุว่า สถานการณ์การละเมิดสิทธิในภาคอีสานมีประเด็นที่น่ากังวลหลายเรื่อง ซึ่งบางส่วนเป็นเพราะการออกกฎหมายใหม่ๆ และประกาศ คำสั่งของ คสช. ที่หลายฉบับไม่ได้ผ่านการทำประชาพิจารณ์ ทำให้ประชาชนไม่ทราบว่ามีกฎหมายใหม่ออกมาแล้ว และได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมาย เช่น การบุกรุกทรัพยากรป่าไม้และที่ดิน, ทรัพยากรน้ำ การสร้างเขื่อน และกฎหมายเกี่ยวกับประมง, เรื่องพลังงานและเหมืองแร่ รวมถึงการวางผังเมืองเพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ภาคอีสานเป็นภาคที่มีการยื่นคำร้องเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านต่างๆ มากที่สุด จำนวนกว่า 1,000 เรื่อง แยกเป็นอีสานตอนบน 10 จังหวัด 469 คำร้อง อีสานตอนล่าง 9 จังหวัด 763 คำร้อง ส่วนภาพรวมของทั้งประเทศ เฉพาะช่วง 2 ปีในยุค คสช. มีการร้องเรียนปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากถึง 654 เรื่อง

ที่ จ.สกลนคร ศตานนท์ ชื่นตา ตัวแทนชาวบ้าน “กลุ่มรักวานรนิวาส” ระบายความรู้สึกกับ กสม. ระหว่างลงพื้นที่รับฟังปัญหาว่า โครงการพัฒนาของรัฐค่อยๆ รุกคืบเข้ามาในท้องถิ่นของพวกเขาแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว ทำให้ต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อบ้านเกิดของตนเอง

"การพัฒนาในยุคนี้ทำไมถึงมาบั่นทอนคนอีสานบ้านเรา ผมกล้าพูดได้ว่าคนสกลนครไม่มีส่วนร่วม ไม่มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็น ยิ่งในยุคนี้ได้มายัดเยียดให้คนอีสานบ้านเรามีความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ ไม่ว่าจะเป็นไทยแลนด์ 4.0 เขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือแม้แต่โครงการเหมืองแร่ที่คนบ้านผมต้องเผชิญ ทำให้ทุกข์ใจ ไอ้คำที่ว่าความสุขที่มอบให้ และคำที่ภาครัฐพูดกันบ่อยๆ คือคำว่าเยียวยา ผมบอกได้เลยว่ามันไม่ใช่แค่เศษเงินที่เราไปขึ้นทะเบียนคนจน"

ขณะที่ในมุมมองขององค์กรสิทธิมนุษยชนสากลอย่าง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) หรือ AI อย่าง พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ประธาน AI เห็นว่า นโยบายที่รัฐบาลประกาศออกมา เช่น การทวงคืนผืนป่า เมื่อมีผลในทางปฏิบัติ ก็ทำให้ชาวบ้านที่อาศัยป่าในการทำมาหากินหรือเลี้ยงชีพ กลายเป็นผู้บุกรุกหรือกลายเป็นผู้ต้องหาทันที

"นโยบายทวงคืนผืนป่าทำให้เกิดผลกระทบอย่างกว้างขวาง ขณะที่โครงการด้านอุตสาหกรรมต่างๆ ก็มีการอนุมัติอย่างรวดเร็วเป็นกรณีพิเศษ ดังนั้นผลกระทบก็เกิดขึ้นโดยตรงกับชาวบ้านที่กำลังเรียกร้องสิทธิการมีส่วนร่วมในการใช้ทรัพยากร"

อีกหนึ่งประเด็นที่สร้างความหวาดกลัวให้แก่ชาวบ้านเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็น และการรวมตัวกัน นั่นก็คือ ความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายกับนักต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชน รวมทั้งกลุ่มชาวบ้านที่ออกมาคัดค้านโครงการพัฒนาของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ และการฟ้องเพื่อปิดปาก ในต่างประเทศเรียกว่า "สแลป" (SLAPP) หรือ Strategic Lawsuit Against Public Participation ซึ่งหมายถึงการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณะ

อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เล่าถึงเทคนิคการฟ้องปิดปากตามที่เคยได้รับการร้องเรียนมา เพื่อเป้าหมายปราบปรามชาวบ้านทางอ้อม

"เวลาฟ้องเขาไม่ได้ฟ้องร้องเฉพาะในพื้นที่ บางกรณีไปฟ้องในพื้นที่อื่น เช่น เรื่องเกิดทางภาคใต้ ก็ไปฟ้องทางภาคเหนือ ทำให้ชาวบ้านต้องไปขึ้นศาลทั่วประเทศ ต้องเสียทั้งค่าใช้จ่าย ไม่สามารถทำงานได้ เกิดความสูญเสียหลายอย่างมาก สุดท้ายก็มีเป้าหมายทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว"

อังคณา บอกอีกว่า SLAPP มักถูกนำมาใช้กับนักต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิชุมชน และจากการรวบรวมข้อมูลก็พบว่า ข้อหาที่นักปกป้องสิทธิส่วนใหญ่โดนแจ้งดำเนินคดีนั้น ไม่ใช่ข้อหาที่มีความผิดร้ายแรง แต่เป็นแค่การฟ้องเพื่อปิดปากไม่ให้เคลื่อนไหวคัดค้านได้ต่อไปเท่านั้น

"ในระยะหลังๆ ช่วง 3-4 ปีมานี้ จะสังเกตได้ว่ามีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะนักสิทธิชุมชนจำนวนมาก จากการรวบรวมข้อมูลพบว่าไม่ได้เป็นการที่ชาวบ้านไปละเมิดใคร แต่เป็นการแจ้งข้อหาในเชิงก่อกวนมากกว่า ในต่างประเทศเรียกว่าการฟ้องเพื่อปิดปาก เนื่องจากเวลาที่มีการตั้งข้อกล่าวหา จะทำให้ผู้ถูกฟ้องไม่สามารถไปให้ข้อมูลอะไรได้ เพราะกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินคดีของศาล" กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าว

การบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อสกัดการเคลื่อนไหวหรือการแสดงความคิดเห็นของประชาชน จริงๆ แล้วมีหลากหลายรูปแบบ ไม่ใช่แค่การฟ้องหมิ่นประมาทเท่านั้น แต่ยังมีกฎหมายการชุมนุมสาธารณะ รวมถึงกฎหมายอื่นๆ อีกหลายฉบับ

อาจารย์วิเชียร อันประเสริฐ จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี บอกว่า SLAPP คือเครื่องมือที่ทรงพลัง และตรงกับลักษณะนิสัยของคนไทย

"นิสัยหนึ่งของคนไทยก็คือกลัวการเป็นความ กลัวถูกดำเนินคดี พูดง่ายๆ เหมือนกับสำนวนดั้งเดิม คือกินขี้หมาดีกว่าไปขึ้นศาล ฉะนั้นการถูกฟ้องร้องคดีจึงเป็นเครื่องมือที่ทรงอานุภาพมาก เพราะมันมีความกลัวที่อยู่ในตัวมนุษย์ที่จะถูกพิพากษาว่าผิดหรือถูก มันจึงถูกใช้เป็นเครื่องมือในการจำกัดการพูดคุยหรือการต่อต้านโครงการต่างๆ ของรัฐ"

การลงพื้นที่ของ กสม. ทำให้ได้รับรู้รับทราบถึงรูปแบบการดำเนินคดีแปลกๆ กับชาวบ้าน เช่น แกนนำรายหนึ่งในกลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิดวานรนิวาส ซึ่งคัดค้านการสำรวจและทำเหมืองแร่โปแตช เคยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อหาว่ากระทำผิดกฎหมายชุมนุมสาธารณะ เพราะเป็นผู้จัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง แต่เรื่องตลกร้ายสำหรับนักเคลื่อนไหวก็คือ แม้จะแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนจัดชุมนุม 24 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ก็มีอำนาจห้ามไม่ให้จัดชุมนุมอยู่ดี

ขณะที่ โอฬาร บุตรแสนคม ชาวบ้านบ้านแหลม หมู่ 13 ต.วานรนิวาส เคยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกเข้าไปพูดคุยเป็นการส่วนตัว แม้จะไม่ได้ถูกแจ้งข้อกล่าวหา แต่ก็ทำให้ชาวบ้านที่ร่วมกันเคลื่อนไหวต้องตกอยู่ในภาวะหวาดวิตก

"ผมก็เคยโดน เพราะเราเป็นคนพาชาวบ้านทำกิจกรรม เขาก็พยายามเอาผิดเรา หากเราทำอะไรที่ผิดกฎหมายหรือ พ.ร.บ.อะไร นอกจากนั้นผมยังเคยโดนตำรวจเชิญเข้าไปคุยด้วย แต่ก็ไม่ได้แจ้งข้อหา โดยสอบถามว่าใครเป็นใคร ใครเป็นผู้นำชาวบ้านทำกิจกรรม แค่นี้ชาวบ้านก็กลัวกันหมดแล้ว" โอฬาร กล่าว

ปัจจุบันหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว มีการตรากฎหมายที่เรียกกันว่า "แอนตี้ สแลป" (Anti-SLAPP) เพื่อป้องกันการฟ้องปิดปาก หรือใช้เทคนิคกฎหมายของฝ่ายที่เหนือกว่ารังแกชาวบ้านและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิชุมชน แต่บ้านเรานอกจากจะไม่มีกฎหมาย “แอนตี้ สแลป” แล้ว ผู้มีอำนาจยังเร่งปั๊มกฎหมายจำนวนมากเพื่อจำกัดสิทธิของประชาชน จนกลายเป็นเครื่องมือของเจ้าหน้าที่รัฐบางกลุ่มที่นำมา "ฟ้องปิดปาก" ประชาชนเจ้าของประเทศ

หากกล่าวอย่างถึงที่สุด แม้การพยายามกระจายความเจริญไปยังส่วนภูมิภาคจะเป็นเรื่องดีที่น่าสนับสนุน แต่การรับฟังและสร้างการมีส่วนร่วมจากชาวบ้านและชุมชนยังเป็นประเด็นที่รัฐบาลละเลย และก่อความขัดแย้งขึ้นในระดับรากหญ้า ซึ่งทั้งหมดนี้อาจเป็นไฟสุมขอนที่รอวันลุกโชนได้ หากผู้มีอำนาจไม่ทบทวนวิธีการ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ