Lifestyle

พลิกวิกฤติน้ำท่วมคนริมเขื่อน‘ราษีไศล’

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พลิกวิกฤติน้ำท่วมคนริมเขื่อน‘ราษีไศล’

                  จากกรณีที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมพื้นที่ทำกิน อันเป็นผลมาจากการก่อสร้างเขื่อนราษีไศล ตั้งแต่ปี 2536 จวบจนปัจจุบันยังไม่สามารถแก้ไขให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้ โดยเฉพาะพื้นที่อยู่ริมเขื่อนทั้ง 2 ฝั่งจากเขื่อนหัวนามาจนถึงเขื่อนราษีไศลรวมระยะทาง 47.343 กิโลเมตร เมื่อถึงฤดูน้ำหลากไม่สามารถไหลลงสู่ลำน้ำมูลได้ ทำให้เกิดน้ำท่วมที่ทำกินทุกปีขณะที่ฤดูแล้งก็เกิดวิกฤติ ไม่สามารถนำน้ำจากแม่น้ำมูลมาใช้ได้อย่างเพียงพอ เพราะประตูระบายน้ำเพียงแค่ 2 แห่งที่ดำเนินการแล้วเสร็จสามารถทดน้ำมาใช้ในพื้นที่ภาคการเกษตรได้ ขณะที่เหลือ 4 แห่งอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง

                  ด้วยเหตุนี้ทำให้รัฐบาล โดย พล.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการสร้างเขื่อนราษีไศลให้ความสำคัญ โดยมีหน่วยงานจากหลายกระทรวง รวมทั้งกรมชลประทานร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาดังกล่าวเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่นานอกอ่างหน้าเขื่อนราษีไศล ด้วยการปรับเปลี่ยนสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินจากเดิมที่เกษตรกรมีการทำนาอย่างเดียวไปทำการเกษตรผสมผสานตาม “ศาสตร์พระราชา” เกษตรทฤษฎีใหม่ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ภายใต้โครงการ “แหล่งผลิตอาหารลุ่มน้ำชี-มูล” ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

                  “กรมชลประทานมั่นใจว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวจะสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่นานอกอ่างเหนือเขื่อนราษีไศลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดการปรับเปลี่ยนสภาพการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ริมคันพนังกั้นน้ำ จากการทำการเกษตรแบบเชิงเดี่ยวที่ปลูกเฉพาะข้าว มาเป็นการเกษตรแบบผสมผสานในโครงการเกษตรแบบทฤษฎีใหม่ และที่สำคัญเป็นการดำเนินการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อน โดยยึดหลักการตามแนวนโยบายสำคัญของรัฐบาลมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับพื้นที่และเกิดความยั่งยืนอย่างเป็นระบบ”

                   ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวระหว่างนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ดูสภาพปัญหาเขื่อนราษีไศลตามบัญชา พล.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการสร้างเขื่อนราษีไศล และ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการดำเนินงานโครงการแหล่งผลิตอาหารลุ่มน้ำชี-มูล ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดในการทำการเกษตรแปลงใหญ่แบบประชารัฐของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่น้ำท่วมนานอกอ่างหน้าเขื่อนราษีไศล ในเขต จ.ศรีสะเกษ และสุรินทร์ จำนวน 14 แห่ง ซึ่งได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานวางแผนหลักในการดำเนินงานให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2560 นี้ โดยใช้กลยุทธ์ “พลิกวิกฤติเป็นโอกาส” ด้วยการปรับสภาพการใช้ประโยชน์ของประชาชนที่มีที่ดินติดคันพนังของเขื่อนราษีไศลได้รับผลกระทบจากการถูกน้ำท่วมขัง(นานอกอ่าง) เปลี่ยนจากการทำนาไปเป็นการทำประมงแทน พร้อมทั้งนำการทำเกษตรแบบผสมผสานตามแนวทางทฤษฎีใหม่ของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 มาใช้เพื่อสร้างเสริมให้เกิดความยั่งยืนในการประกอบอาชีพ  

                  สำหรับเขื่อนราษีไศล ก่อสร้างโดยกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน แล้วเสร็จเมื่อปี 2536 ส่งผลกระทบจากการกักเก็บน้ำในลำน้ำมูลทางด้านหน้าของเขื่อน ที่ระดับเก็บกัก +119.00 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง(รทก.) ซึ่งมีแนวคันพนังกั้นน้ำก่อสร้างบนแนวตลิ่งตามลำน้ำทั้ง 2 ฝั่ง จำนวน 8 สาย ระยะทาง 47.343 กม. ในช่วงฤดูฝนของทุกปีจะประสบปัญหาน้ำท่วมขัง ในพื้นที่ลุ่มต่ำติดคันพนังด้านบนตลิ่งจำนวนประมาณ 15 แห่ง ในเขต จ.ศรีสะเกษ และสุรินทร์ จนประชาชนที่ทำการเกษตรในบริเวณดังกล่าวได้รับความเดือนร้อนทุกปี ต้องร้องขอความช่วยเหลือจากภาครัฐนำเครื่องสูบน้ำเข้าไปช่วยสูบน้ำออกจากพื้นที่ทำการเกษตรมาโดยตลอด  

                ทั้งนี้ โครงการแหล่งผลิตอาหารลุ่มน้ำชี-มูล เป็นการบูรณาการร่วมกันทำงานตามนโยบายของรัฐบาลและคำสั่งการของ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เริ่มจาก กรมชลประทาน กรมประมง กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมปศุสัตว์ โดยมีโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลล่าง กรมชลประทาน เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนและประสานงาน ซึ่งในปีนี้ (2560) ถือเป็นปีแรกในการดำเนินโครงการ จะนำร่องเริ่มต้นดำเนินการในพื้นที่ของกลุ่มนายทองดี อาจสาลี ผู้ใหญ่บ้านดงแดง ต.ด่าน อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ และพื้นที่อื่นๆ อีกประมาณ 4-5 จุด หลังจากนั้นจะขยายให้ครบทุกจุดภายในระยะเวลา 3 ปี   

                 “​การแก้ปัญหาคนนอกอ่างที่มีผลกระทบจากเขื่อนราษีไศลจะแบ่งออกเป็น 2 กรณีคือกลุ่มที่ไม่มีเอกสารสิทธิที่ทำกิน กับคนที่มีเอกสารสิทธิหรือโฉนด ส่วนคนที่มีเอกสารสิทธินั้นไม่มีปัญหา ได้รับความช่วยเหลือโดยตรงจากรัฐอยู่แล้ว แต่กลุ่มที่ไม่มีเอกสารสิทธิจะต้องมีการรวมกลุ่มในรูปของสหกรณ์หรือวิสาหกิจชุมชน หน่วยงานภาครัฐจึงจะเข้าไปช่วยเหลือได้ ส่วนการทำงานจะมีการบูรณาการหน่วยงานจากทุกภาคส่วนเข้ามาดูแล อย่างพัฒนาที่ดินจะมาขุดบ่อเลี้ยงปลา ประมงก็นำพันธุ์ปลามาปล่อยแล้วก็จะมีภาคเอกชนเข้ามาดูแลเรื่องตลาด เป็นการทำงานในรูปแบบประชารัฐ ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนที่ได้รับผลกระทบต้องไปด้วยกัน” 

                  รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวต่อว่า ในการดำเนินโครงการแหล่งผลิตอาหารลุ่มน้ำชี-มูลนั้น กรมชลประทาน โดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลล่าง จะเป็นผู้วางแผนและแบบระบบระบายน้ำรวมของพื้นที่โครงการ ตลอดจนเส้นทางลำเลียงผลผลิต และกรมพัฒนาที่ดิน โดยสำนักงานพัฒนาที่ดินจังหวัดศรีสะเกษ ทำการออกแบบรูปแปลงของเกษตรกรแต่ละราย ตลอดจนจัดทำผังแปลงภาพรวมของโครงการ จากนั้นกรมประมงโดยประมงจังหวัดศรีสะเกษ และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดศรีสะเกษ กรมปศุสัตว์ โดยปศุสัตว์จังหวัดศรีสะเกษ กรมส่งเสริมการเกษตร โดยเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ และสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดศรีสะเกษ จะนำผังแปลงทั้งโครงการและผังแปลงแต่ละราย เกษตรกรมาวางแผนให้การสนับสนุนส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์หรือปลูกพืชที่เหมาะสมตามรูปแบบของเกษตรผสมผสานตั้งแต่ต้นจนจบโครงการ

                  “ในเรื่องของกรอบระยะเวลาดำเนินการ การสำรวจข้อมูลทั้งหมด พร้อมเขียนแผนโครงการให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคมนี้ จากนั้นก็จะนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ซึ่งคาดว่าในเดือนกันยายนก็น่าจะเข้าสู่การพิจารณาของครม.ได้ แต่ระหว่างนี้ก็จะใช้งบของแต่ละหน่วยงานไปก่อน โดยโครงการนี้จะเริ่มในปีงบประมาณ 2561-63 ส่วนงบประมาณที่ใช้ขณะนี้อยู่ในระหว่างสำรวจข้อมูล โครงการนี้อันไหนสามารถเข้ากับนโยบายรัฐบาลได้ก็เข้าเลย อย่างตอนนี้ก็มีหลายกลุ่มที่เข้าร่วมโครงการ 9101 ส่วนเรื่องเทคนิคทางกรมชลประทานร่วมกับกรมพัฒนาที่ดินลุยเลย” ดร.สมเกียรติ กล่าวย้ำ

                    ภานรินทร์ ภานุพิณทุ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลล่าง(โครงการเขื่อนราษีไศล) สำนักงานชลประทานที่ 8 เผยว่า ทางโครงการมีพื้นที่รับผิดชอบ 10 อำเภอ ใน 4 จังหวัด ศรีสะเกษ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด และยโสธร ครอบคลุมพื้นที่ 1,489,056 ไร่ โดยมีการควบคุมและบริหารจัดการน้ำเขื่อนทดน้ำและระบายน้ำใน 2 เขื่อนหลัก คือเขื่อนหัวนา สามารถเก็บกักน้ำได้ 64.92 ล้านลบ.ม. และเขื่อนราษีไศล สามารถเก็บกักน้ำได้ 74.43 ล้านลบ.ม. มีพื้นที่ชลประทานที่สามารถพัฒนาเต็มศักยภาพโครงการได้จำนวน 297,260 ไร่ แต่ในระยะแรกของการพัฒนามีจำนวน 95,810 ไร่

            โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วนคือ พื้นที่เหนือเขื่อนราษีไศล เริ่มจากเหนือเขื่อนราษีไศล อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ไปจรดท้ายฝายตะลุง บ้านม่วงงาม ต.กระโพ จ.สุรินทร์ ความยาวลำน้ำ 165 กม. รวมลำน้ำสาขาอีกทั้ง 4 สายความยาว 53 กม. คิดเป็นพื้นที่รับน้ำ 44,275 ตร.กม. และพื้นที่เหนือเขื่อนหัวนาเริ่มจากเหนือเขื่อนหัวนา อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ ไปจรดท้ายเขื่อนราษีไศล ความยาวลำน้ำ 102 กม. รวมลำน้ำสาขาอีก 3 สาย ความยาว 91 กม. คิดเป็นพื้นที่รับน้ำ 53,184 ตร.กม. 

             “ตอนนี้กลุ่มที่ไม่มีเอกสารสิทธิมีอยู่ 14 จุด มีผู้ได้รับความเดือดร้อนจำนวน 275 ราย ส่วนที่มีเอกสารสิทธิ 75 ราย ลักษณะโครงการก็ต้องมาพิจารณาดูว่าพื้นที่ตรงไหนเหมาะจะประกอบอาชีพอะไร อย่างเช่นเดิมเป็นพื้นที่นาทำนาได้ปีละครั้ง ถูกน้ำท่วมบ่อย ก็ปรับเปลี่ยนมาขุดบ่อเลี้ยงปลาแทน ส่วนที่นาเดิมก็อาจปรับมาเลี้ยงโคแทนแต่ต้องขึ้นอยู่กับความสมัครใจของเกษตรกรเจ้าของที่ดินด้วย” ภานรินทร์กล่าวย้ำทิ้งท้าย

           การปรับเปลี่ยนอาชีพทำนาของเกษตรกรที่อาศัยในพื้นที่นอกคันเขื่อนหัวนาและราษีไศลสู่การทำเกษตรผสมผสานตามแนวพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่ ภายใต้โครงการ “แหล่งผลิตอาหารลุ่มน้ำชี-มูล” ตามนโยบายรัฐบาล นับเป็นอีกทางเลือกในแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากและเพื่อสร้างความยั่งยืนในอาชีพและรายได้ด้วย

ปลัดทส.ติงต้องคำนึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม

              ดร.วิจารณ์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบระหว่างนำคณะเจ้าหน้าที่เยี่ยมชมเขื่อนราษีไศล โดยออกตัวว่าตนเองก็ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนราษีไศลเช่นกัน เพราะเป็นคน ต.ด่าน อ.ราษีไศล ซึ่งในส่วนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ จะเข้ามาดูแลในเรื่องของสิ่งแวดล้อมเพื่อได้รับผลกระทบกับประชาชนในโครงการ ทั้งในเรื่องของน้ำเสียจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การเลี้ยงสุกร โค กระบือ ซึี่งอาจมีปัญหาในเรื่องปล่อยมูลลงแม่น้ำหรือส่งกลิ่นรบกวน

             “อย่างขุดบ่อเลี้ยงปลาเห็นด้วยที่เลี้ยงปลากินพืช ถ้าเลี้ยงปลากินโปรตีนแล้วจะมีปัญหาอีก สภาพตรงนี้มันจะไปหยุดน้ำ ถ้าให้อาหารที่เป็นโปรตีนอาจทำให้น้ำเน่าเสียได้ เลี้ยงสัตว์ก็เช่นเดียวกัน เลี้ยงสัตว์อะไรต้องดูผลกระทบด้วยถ้าเลี้ยงหมูผลกระทบจะเยอะ อีกส่วนที่อยากให้มองคือป่าดงป่าทามที่พี่น้องประชาชนมาใช้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งมีลักษณะพิเศษในช่วงหน้าน้ำน้ำก็ท่วม ในช่วงแล้งก็มีอาหารในพื้นที่ด้วย” ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ กล่าว พร้อมย้ำว่าถ้าเกษตรกรปรับเปลี่ยนอาชีพได้ในช่วงนี้ก็จะเป็นการดี โดยมองถึงการตลาดเป็นสำคัญ เห็นได้จากมีหลายพื้นที่ใน จ.ศรีสะเกษ ขณะนี้เกษตรกรได้โค่นยางพาราเพื่อมาปลูกทุเรียนแทน เพราะผลผลิตขายได้ราคาดีกว่ามาก       

           หนูจันทร์ ธรรมวัตร เกษตรกรบ้านดงแดน ต.ด่าน อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ เผยว่าที่นาของครอบครัวประสบปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำทุกปีภายหลังที่การก่อสร้างเขื่อนราษีไศลแล้วเสร็จ ประมาณปี 2533-2534 จากเดิมที่เคยทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง อุดมสมบูรณ์ กลายเป็นไม่สามารถทำนาได้อีก ปัญหาน้ำท่วมสะสมมานาน จนกระทั่งกรมชลประทานเข้ามาก่อสร้างพนังกั้นน้ำ ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ทำให้สามารถทำนาได้บ้าง ที่ผ่านมาชาวบ้านก็ได้รวมตัวกันเพื่อเสนอหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา แรกๆ คิดจะดำเนินการกันเองแต่ติดปัญหาเรื่องเงินทุน พอรู้ข่าวว่ารัฐบาลกำลังจะจัดทำโครงการนี้ขึ้น เป็นโครงการที่ตรงใจมาก ชาวบ้านทุกคนรู้สึกดีใจและตอบรับเข้าร่วมโครงการทันที 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ