Lifestyle

ยึด‘ศาสตร์พระราชา’จากลุ่มน้ำก่ำสู่ลำน้ำโขง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ยึด‘ศาสตร์พระราชา’จากลุ่มน้ำก่ำสู่ลำน้ำโขง ทางรอดเดียวแก้ปัญหาน้ำท่วมเมือง‘สกลนคร’

               ผลพวงจากพายุ "เซินกา” ที่กระหน่ำ 3 วัน 3 คืน ทำให้ตัวเมืองสกลนครต้องจมอยู่ใต้บาดาลในพริบตา สร้างความเสียหายคณานับ ชาวบ้านต่างตกอยู่ในอาการหวาดผวา ไม่นึกไม่ฝันว่าจะต้องเจอเหตุการณ์เช่นนี้เป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี

             จึงไม่แปลกที่หน่วยราชการและภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนต่างมุ่งตรงไปที่สกลนครเพื่อช่วยเหลือเยียวยา  แม้อีกหลายจังหวัดก็เจอสภาพปัญหาน้ำท่วมไม่ต่างกัน เพียงแต่ผู้คนเหล่านั้นเคยมีประสบการณ์เช่นนี้มาก่อน ทำให้รู้ล่วงหน้าและมีการเตรียมความพร้อมในระดับหนึ่ง

              แต่หากย้อนไปดู “ศาสตร์พระราชา” ด้วยพระวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกลของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระราชดำริให้เตรียมการป้องกันการเกิดอุทกภัยเมืองสกลนครไว้ล่วงหน้ามากว่า 30 ปีแล้ว โดยผ่านโครงการอันเนื่องพระราชดำริต่างๆ ที่ตั้งกระจัดกระจายอยู่ทั่วทั้งจังหวัด ทั้งอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ตลอดจนพื้นที่รับน้ำที่เรียกกันว่า “แก้มลิง” โดยโครงการต่างๆ เหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน 

                "สกลนคร เป็นจังหวัดที่มีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากที่สุดในภาคอีสาน ตอนนี้อ่างฯ ขนาดกลาง 34 แห่งเต็มแล้ว 28 แห่ง ขนาดเล็ก 78 แห่งเต็มหมดทุกแห่ง รวมทั้งแก้มลิงที่สร้างไว้ตามจุดต่างๆ ฝนตกต่อเนื่อง 3 วัน 3 คืน คือ 25 26 และ 27 กรกฎาคม โดยเฉพาะวันที่ 27 ตกทั้งวันทั้งคืน เฉลี่ยวันละ 185 มม. รวม 3 วัน ปริมาณน้ำ 400 กว่ามม. ยังไงก็ท่วม ไม่มีทางเลี่ยง กรณีอ่างฯ ห้วยทรายขมิ้น ที่มีปัญหา มีความจุ 2.4 ล้านลบ.ม. ของเดิมมีอยู่แล้ว 1.1 ล้านลบ.ม. ปริมาณน้ำเข้าวันเดียว 3.7 ล้านลบ.ม. ยังไงก็รับไม่ไหว”

               ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ซึ่งเติบโตในชีวิตราชการมาจากภาคอีสาน ฉายภาพเหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นที่ จ.สกลนคร พร้อมยกแนวทางการป้องกันและแก้ปัญหาอุทกภัยตาม “ศาสตร์พระราชา” ในฐานะรับผิดชอบดูแลโครงการพระราชดำริกรมชลประทาน โดยมองว่าสกลนครเป็นจังหวัดที่พระองค์ท่านทรงห่วงใยเป็นพิเศษ เนื่องจากตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มแอ่งกระทะ ฝั่งตะวันตกติดเทือกเขาภูพาน ส่วนตะวันออกติดหนองหาร เมื่อฝนตกลงมา ปริมาณน้ำจะไหลอย่างรวดเร็วลงสู่หนองหาร เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมได้ง่าย ก่อนมวลน้ำทั้งหมดจะถูกระบายลงสู่แม่น้ำโขงทางลำน้ำก่ำ อยู่ทางฝั่งตะวันออกของหนองหาร ภายใต้โครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ 

              “สกลนครมี 2 ลุ่มน้ำหลักๆ คือลุ่มน้ำศรีสงครามและลุ่มน้ำก่ำ สำหรับรับปริมาณน้ำจากภูพาน โดยมี 3 อ่างเก็บน้ำหลักที่คอยรับน้ำไว้ คืออ่างฯ ห้วยทรายขมิ้น อ่างฯ ห้วยเดียก และอ่างฯ น้ำพุง อย่างที่มีข่าวออกมาว่ามวลน้ำที่ไหลจากห้วยทรายขมิ้นเข้าท่วมตัวเมืองสกล ซึ่งไม่ใช่ เป็นการเข้าใจผิด เพราะมวลน้ำก้อนนี้จะไหลไปลงแม่น้ำอูนในลุ่มน้ำศรีสงคราม และบางส่วนไหลลงทางด้านทิศเหนือของหนองหาร ส่วนน้ำที่ท่วมตัวเมืองสกลนครนั้นมาจากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมารอบๆ ตัวเมืองเป็นหลัก"

              สำหรับปริมาณน้ำที่ไหลลงมาจากอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นนั้น จะไม่ไหลผ่านลงสู่ตัวเมืองสกลนคร แต่จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ไหลลงสู่คลองน้ำอูน ร้อยละ 40 และไหลลงสู่หนองหารสกลนคร ร้อยละ 60 ปริมาณน้ำที่ไหลลงหนองหารสกลนคร ไม่ได้ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมในตัวเมืองสกลนครโดยตรง แต่จะทำให้ระดับน้ำในหนองหารสกลนครเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้น้ำจากในเขตเทศบาลเมืองสกลนครระบายได้ยากขึ้นเท่านั้น

             รองอธิบดีกรมชลประทานยอมรับว่า การระบายน้ำออกช้า เพราะติดปัญหาปริมาณน้ำในหนองหารที่มีปริมาณมากกว่าปกติจากเดิมที่มีความจุ 269 ล้านลบ.ม. ขณะที่มีมวลน้ำไหลลงมาอีก 450 ล้านลบ.ม. ทำให้ปริมาณน้ำในหนองหารเอ่อล้นขึ้นมาสูงกว่าระดับปกติ 1.50 เมตร ขณะที่การระบายน้ำจากตัวเมืองลงหนองหารเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมาไม่ได้ จึงทำให้น้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ซึ่งการพร่องน้ำมีช่องทางเดียวคือการระบายน้ำสู่ลำน้ำก่ำทางประตูระบายน้ำสุรัสวดี ทางทิศตะวันออกของหนองหารเพื่อลงแม่น้ำโขง 

              “ปัญหาการระบายน้ำช้า เพราะมีอยู่ช่องทางเดียวคือระบายลงลำน้ำก่ำผ่านประตูสุรัสวดีเพื่อลงสู่แม่น้ำโขงโดยเร็วที่สุด คาดว่าอาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ก็จะเข้าสู่สภาพปกติหากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม ขณะเดียวกันช่วงนี้ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงก็มาก มีระดับน้ำใกล้เคียงกัน การพร่องอาจจะช้านิดหนึ่ง จึงต้องใช้เครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่เข้ามาช่วยด้วย” 

            อย่างไรก็ตาม ดร.สมเกียรติยอมรับว่าน้ำท่วมเมืองสกลนครครั้งนี้ได้รับบทเรียนครั้งยิ่งใหญ่ที่ทุกภาคส่วนจะต้องนำมาประมวลแก้ไขและเร่งดำเนินการเตรียมการป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอย่างน้อย 4 เรื่อง โดยเริ่มจากการขุดลอกหนองหารใหม่ ปัจจุบันอยู่ในสภาพที่ตื้นเขิน เป็นที่ทับถมของดินตะกอน ซึ่งเรื่องนี้ได้บรรจุอยู่ในนโยบายรัฐบาลตามโครงการขุดลอกบึงขนาดใหญ่ทั่วประเทศแล้ว 

            ประเด็นต่อมาการปรับปรุงอ่างเก็บน้ำใหม่ทั้งหมดให้มีสภาพมั่นคงแข็งแรงกว่าเดิม รวมทั้งพิจารณาสร้างอ่างเก็บน้ำเพิ่มเติมในอนาคต เนื่องจากอ่างเก็บน้ำที่ใช้การอยู่ในปัจจุบันได้ก่อสร้างมาประมาณ 40-50 ปีแล้ว ทำให้ด้านเทคนิคและโครงสร้างเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา ประเด็นที่สามในเรื่องกำลังคนดูแลประตูระบายน้ำแต่ละแห่ง ลำพังเจ้าหน้าที่คงมีไม่เพียงพอ จึงจำเป็นอย่างยิ่งให้มีการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำที่เข้มแข็งเพื่อดูแลการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำ และประเด็นสุดท้ายความเจริญเติบโตของเมือง มีการขยายสิ่งปลูกสร้างกีดขวางทางไหลของน้ำ ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในที่สุด ซึ่งเรื่องนี้จะต้องมาประเมินกันใหม่

              “ต้องยอมรับว่าขณะนี้เจ้าหน้าที่ดูแลไม่ทั่วถึง  ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ 1 คนจะต้องดูแลการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำมากถึง 7-8 แห่ง  ทางแก้อยากให้กลุ่มผู้ใช้น้ำมารับผิดชอบดูแลตรงจุดนี้จะดีกว่ามาก” รองอธิบดีกรมชลประทาน เสนอทางออก 

               ดร.สมเกียรติยังได้อธิบายเส้นทางระบายน้ำจากหนองหารผ่านลำน้ำก่ำเพื่อลงสู่แม่น้ำโขง ว่าเกิดจากแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 โปรดเกล้าฯ ให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการเพื่อก่อสร้างโครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำ จ.สกลนคร และ จ.นครพนม เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2535 ภายใต้โครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยเริ่มจากหนองหาร อ.เมือง จ.สกลนคร ไหลไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ลงสู่แม่น้ำโขงที่ ต.น้ำก่ำ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ผ่านประตูระบายน้ำ(ปตร.) 5 แห่ง ได้แก่ ปตร.สุรัสวดี ปตร.หนองบึง ปตร.นาขาม ปตร.นาคู่ และปตร.ธรณิศนฤมิต ซึ่งเป็นประตูสุดท้ายก่อนลงสู่แม่น้ำโขง รวมความยาวประมาณ 123 กิโลเมตร และเป็นช่องทางเดียวเท่านั้นที่จะระบายน้ำจากหนองหารลงสู่แม่น้ำโขงในขณะนี้ 

               พิศิษฐ ผลิสินเอี่ยม ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำก่ำ ต.น้ำก่ำ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม เปิดเผยต่อ “คม ชัด ลึก” ว่า ขณะนี้ทางโครงการได้ยกบานประตูระบายน้ำทุกบานในระดับสูงสุด เพื่อพร่องน้ำไหลผ่านโดยเร็วที่สุด ขณะเดียวกันยังได้เร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่อีก 24 ตัวเพื่อเร่งผลักดันน้ำออกจากตัวเมือง ตอนนี้สามารถติดตั้งได้แล้ว 4 เครื่องเหลืออีก 20 เครื่องอยู่ระหว่างดำเนินการ หากแล้วเสร็จ คาดว่าภายใน 7 วันในตัวเมืองสกลนครจะเข้าสู่ภาวะปกติ และไม่เกิน 2 สัปดาห์ทุกอย่างจะเข้าสู่ภาวะปกติหากฝนไม่ตกลงมาเพิ่ม

               “การระบายน้ำขณะนี้อยู่ที่ 30 ล้านลบ.ม.ต่อวัน คาดว่าใช้เวลาประมาณ 7 วันระดับน้ำในตัวเมืองจะเข้าสู่ปกติ และใช้เวลาอีกสองอาทิตย์ทุกอย่างสู่ภาวะปกติหากฝนไม่ตกลงมาเพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายต่างระดมช่วยกันอย่างเต็มที่”       

              สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.สกลนคร ล่าสุด(31 ก.ค.) มีพื้นที่ได้รับความเสียหายแล้ว 7 อำเภอ 38 ตำบล 351 หมู่บ้าน เกษตรกรได้รับผลกระทบ 7,846 ครัวเรือน 23,538 คน ปัจจุบันระดับน้ำเริ่มลดลงแล้ว ขณะที่ปริมาณน้ำในเขื่อน ส่วนใหญ่ยังมีปริมาณเก็บกักค่อนข้างมาก แบ่งเป็น อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่งได้แก่ 1.อ่างเก็บน้ำน้ำอูน ความจุ 520 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำ 567 ล้าน ลบ.ม. (109%) 2.อ่างเก็บน้ำน้ำพุง ความจุ 165 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำ 149 ล้าน ลบ.ม. (90%)

              ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ที่มีปริมาณน้ำเต็มอ่างเก็บน้ำ 4 แห่ง ดังนี้ 1.อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำบ่อ ความจุ 2.43 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำ 2.60 ล้าน ลบ.ม. (107%) 2.อ่างเก็บน้ำห้วยเดียก ความจุ 4.00 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำ 4.53 ล้าน ลบ.ม. (113%) 3. อ่างเก็บน้ำภูเพ็ก ความจุ 3.04 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำ 2.91 ล้าน ลบ.ม. (96%) 4. อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น ความจุ 2.66 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำ 3.05 ล้าน ลบ.ม. (127%)  

             ขณะที่ผลกระทบด้านการเกษตร ด้านพืช เกษตรกร 63,123 ราย พื้นที่ได้รับผลกระทบ 954,904 ไร่ ข้าว 946,846 ไร่ พืชไร่ 6,708 ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 1,350 ไร่ ด้านประมง เกษตรกร 4,865 ราย พื้นที่ได้รับผลกระทบ 5,038 ไร่ ด้านปศุสัตว์ เกษตรกร 24,434 ราย สัตว์ที่ได้รับผลกระทบ 437,185 ตัว โค-กระบือ 44,389 ตัว สุกร 10,955 ตัว แพะ-แกะ 45 ตัว สัตว์ปีก 381,796 ตัว 

 กว่าจะมาเป็นโครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำฯ    

             โครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เกิดจากแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2535 ให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการเพื่อก่อสร้างโครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำ จ.สกลนครและ จ.นครพนม และทรงวางโครงการด้วยพระองค์เอง เพื่อช่วยแก้ปัญหาในเรื่องน้ำท่วมพื้นที่เพาะปลูกในฤดูฝน และช่วยราษฎรในท้องถิ่นบริเวณ 2 ฝั่งลำน้ำก่ำ ให้มีน้ำใช้ในการเกษตร และเพื่อการอุปโภคบริโภคในฤดูแล้งด้วย 

              จากนั้นวันที่ 22 มิถุนายน 2542 ให้กรมชลประทานพิจารณาดำเนินการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำในลำน้ำก่ำเพียงเตี้ยๆ เพื่อให้เก็บน้ำท่วมพื้นที่เพียงเล็กน้อยก่อนแล้วพิจารณาก่อสร้างอาคารบังคับน้ำให้สามารถเก็บกักได้มากยิ่งขึ้น ลักษณะโครงการประกอบด้วยประตูระบายน้ำ 5 แห่ง เพื่อเก็บกักน้ำยกระดับน้ำให้สูงขึ้นและบรรเทาอุทกภัย ระบบส่งน้ำ จำนวน 16 แห่ง เพื่อส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทาน 165,000 ไร่ และพัฒนาหนองบึงขนาดใหญ่  15 แห่ง เพื่อเป็นแก้มลิงเก็บกักน้ำ  

               จากการดำเนินงานที่ผ่านมา ปรากฏว่าเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 165,000 ไร่ ส่งน้ำให้แก่พื้นที่การเกษตรในฤดูแล้งได้ประมาณ 47,000 ไร่ เป็นแหล่งน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภค และอุตสาหกรรมบริเวณลุ่มน้ำในเขต อ.เมือง อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร และ กิ่ง อ.วังยาง อ.นาแก อ.ปลาปาก อ.เรณูนคร และ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม นอกจากนี้ยังช่วยบรรเทาผลกระทบจากน้ำท่วมพื้นที่เพาะปลูกบริเวณสองฝั่งลำน้ำก่ำในฤดูฝน ในเขต จ.สกลนคร และนครพนม ทำให้ประชาชนมีน้ำใช้ประโยชน์ทางการเกษตรตลอดปี 

        

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ