Lifestyle

วาระ“เกษตรอินทรีย์”มุ่งตลาดสินค้าสุขภาพรับเทรนด์โลก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วาระแห่งชาติ “เกษตรอินทรีย์” ไทย มุ่งตลาดสินค้าสุขภาพรับเทรนด์โลก

       หลังคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ.2560-2564 มีวิสัยทัศน์ให้ “ประเทศไทยเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคด้านการผลิต การบริโภค การค้าสินค้า และการบริการเกษตรอินทรีย์ ที่มีความยั่งยืนและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล” โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ให้เป็น 600,000 ไร่ในปี 2564 และมีเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 30,000 ราย รวมทั้งเพิ่มสัดส่วนตลาดทั้งในและต่างประเทศเป็น 40:60 พร้อมยกระดับกลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีพื้นบ้านเพิ่มขึ้น

 วาระ“เกษตรอินทรีย์”มุ่งตลาดสินค้าสุขภาพรับเทรนด์โลก

        ในภาคการผลิตได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรฯ ดำเนินการในทุกห่วงโซ่อุปทานมุ่งการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต การแปรรูป ก่อนส่งไม้ต่อให้กระทรวงพาณิชย์ดูแลในเรืองระบบตลาดทั้งหมดแบบครบวงจร

        อภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวยอมรับว่า ปัจจุบันแนวโน้มการบริโภคสินค้าสุขภาพมีกระแสแรงมาอย่างต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว ประชาชนส่วนใหญ่จะตระหนักและให้ความสำคัญกับสินค้าเกษตรอินทรีย์มากเป็นพิเศษ หากใครมีโอกาสเดินทางไปประเทศสหรัฐอเมริกา หรือสหภาพยุโรปจะเห็นร้านค้าสินค้าออแกนิกและสินค้าปลอดสารพิษจำนวนมาก ทำให้อัตราการเติบโตเป็นไปแบบก้าวกระโดด อีกทั้งยอดจำหน่ายก็มากกว่าแซงหน้าร้านค้าสินค้าปกติอีกด้วย

    “เมื่อความต้องการสินค้าเกษตรอินทรีย์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมูลค่าการค้าที่มากมายมหาศาลเช่นนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยจะต้องปรับตัวและวางแผนที่จะช่วงชิงความเป็นผู้นำสินค้าเกษตรสินค้าอินทรีย์ของภูมิภาคอาเซียนให้ได้” 

        อภิรดี เผยต่อว่า ปัจจุบันไทยมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์เป็นอันดับ 4 รองจากอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม โดยมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ที่ผ่านการรับรองแล้ว 284,918 ไร่ และมีฟาร์มเกษตรอินทรีย์อีก 13,154 แห่ง มีมูลค่าการค้าประมาณ 2,332 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่จะส่งออกประมาณร้อยละ 77.94 ที่เหลือร้อยละ 22.06 จำหน่ายในประเทศ ทำให้ประเทศไทยมีความได้เปรียบสูงที่จะก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำเกษตรอินทรีย์ของอาเซียน เพราะนอกจากมีภูมิประเทศที่เหมาะสมแล้วยังเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ผลิตสินค้าอาหารป้อนประชากรโลก และในส่วนของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ยังได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาตลาดสินค้าอินทรีย์ ปี 2560–2564 ขึ้นมารองรับ ภายใต้วิสัยทัศน์ “ไทยเป็นผู้นำด้านการผลิต การค้าและการบริโภคสินค้าอินทรีย์ในภูมิภาคอาเซียน” อีกด้วย

 วาระ“เกษตรอินทรีย์”มุ่งตลาดสินค้าสุขภาพรับเทรนด์โลก

        “ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ เร่งผลักดันการทำเกษตรอินทรีย์ให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อขยายตลาดเพื่อรองรับ “ยุคออแกนิก 4.0 ในปัจจุบัน”

          อย่างไรก็ตามที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินโครงการเพื่อสนับสนุนส่งเสริมสินค้าเกษตรกรอินทรีย์หลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นโครงการพัฒนาเกษตรกร/ผู้ประกอบการให้ได้มาตรฐานสากล โครงการทำการตลาดผ่านช่องทางใหม่ๆ และโครงการส่งเสริมและพัฒนาจัดตั้งหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์” หรือ “Organic Village”  ทั้งนี้เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายและขยายตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ เพิ่มขีดความสามารถด้านการแปรรูปและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ให้ชุมชน โดยมีโครงการนำร่องที่บ้านหนองหอย ต.กุดชุมแสง อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ ซึ่งเป็นหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ต้นแบบที่เรียกว่า “ชัยภูมิโมเดล” ที่เป็น Organic Valley แห่งแรกของประเทศไทย

          นันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์เผยว่า กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายการส่งเสริมและพัฒนาตลาดสินค้าอินทรีย์เพื่อผลักดันประเทศไทยให้เป็นผู้นำด้านการผลิต การค้า และการบริโภคสินค้าอินทรีย์ในภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากขณะนี้ตลาดเกษตรอินทรีย์โลกได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีมูลค่ารวมสูงถึง 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2.7 ล้านล้านบาท โดยมีอัตราการขยายตัวประมาณปีละ 20% ส่วนตลาดเกษตรอินทรีย์ประเทศไทยนั้นมีมูลค่าประมาณ 2,332 ล้านบาท และมีอัตราการเติบโตประมาณ 10% ต่อปี โดยเฉพาะข้าวอินทรีย์หรือที่นิยมเรียกกันว่าข้าวออแกนิก มีเติบโตถึง 28% และระบบเกษตรผสมผสานยิ่งเติบโตถึง 187% คาดการณ์ว่าในปี 2560-2561 จะมีเกษตรกรที่ทำการเกษตรอินทรีย์มากขึ้น เพื่อรองรับตลาดเกษตรอินทรัย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

         “ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ไปยังตลาดต่างประเทศปีละไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สินค้าอินทรีย์แม้จะมีราคาสูงกว่าสินค้าทั่วไปอยู่บ้างแต่ก็มีคุณค่าทางอาหารและวิตามินสูงกว่าสินค้าทั่วไป และยังเป็นอาหารที่ช่วยต้านมะเร็งและลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองอีกต่างหาก ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าปลอดภัยต่อตัวเอง รวมถึงสิ่งแวดล้อมด้วย”  

          ปัจจุบันแนวโน้มการบริโภคสินค้าอินทรีย์ หรือ ออแกนิก ที่นับวันจะยิ่งแผ่ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นเทรนด์ของโลกไปแล้ว เหตุเพราะว่าผู้คนส่วนใหญ่เริ่มตระหนักถึงพิษร้ายอันตรายจากสารเคมีตกค้างกันมากขึ้น อีกทั้งยังต้องการบริโภคสินค้าสะอาดเพื่อลดการเบียดเบียนธรรมชาติให้น้อยลง จึงไม่แปลกที่รัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ความสำคัญเกษตรอินทรีย์ที่กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ พร้อมบูรณาการทุกหน่วยงานเพื่อขับเคลื่อนอย่างเต็มที่

นำร่อง “ชัยภูมิโมเดล” หมู่บ้านเกษตรอินทรีย์แห่งแรก 

      กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาตลาดสินค้าอินทรีย์ปี 2560–2564 ขึ้นภายใต้วิสัยทัศน์ “ไทยเป็นผู้นำด้านการผลิต การค้าและการบริโภคสินค้าอินทรีย์ในภูมิภาคอาเซียน” โดยได้กำหนดยุทธศาสตร์ สำคัญไว้ 4 ยุทธศาสตร์ ด้วยกันคือ 1.ยุทธศาสตร์การสร้างการรับรู้ของผู้เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทาน 2.ยุทธศาสตร์การผลักดันมาตรฐานและระบบการรับรองเกษตรอินทรีย์ 3.ยุทธศาสตร์การพัฒนาและขยายตลาดสินค้าและบริการอินทรีย์ และ 4. ยุทธศาสตร์การพัฒนาสร้างมูลค่า สินค้าและบริการอินทรีย์

     ดังนั้นเพื่อส่งเสริมและผลักดันทำให้ยุทธศาสตร์การพัฒนาตลาดสินค้าอินทรีย์เป็นจริง กระทรวงพาณิชย์จึงได้จัดทำ “โครงการส่งเสริมและพัฒนาจัดตั้งหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์” หรือ “Organic Village” ขึ้นมาเพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายและขยายตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ เพิ่มขีดความสามารถด้านการแปรรูป และเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ให้ชุมชน ซึ่งจะมีหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ต้นแบบหรือ Organic Valley แห่งแรกของประเทศไทยภายในใต้ชื่อ “ชัยภูมิโมเดล”

       การจัดตั้งหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ต้นแบบ ได้เริ่มดำเนินการที่ บ้านหนองหอย ต.กุดชุมแสง อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ เป็นการรวมกลุ่มทำฝ้ายอินทรีย์ ทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ ออกจำหน่ายจนได้รับการรับรองมาตรฐาน ออแกนิก ไทยแลนด์ 2560

       ซึ่งการขับเคลื่อนโครงการชัยภูมิโมเดล ไม่เพียงแต่จะสร้างชื่อเสียงสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้ จ.ชัยภูมิเท่านั้น แต่ยังสร้างรายได้และความเป็นอยู่ที่มั่นคงอย่างยั่งยืนให้แก่เกษตรกรที่่ร่วมโครงการด้วยเพราะสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ทำขึ้นมาเป็นสินค้าที่เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและตลาดส่งออกอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าผ้าทอมือ ของวิสาหกิจกลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติหนองบัวแดง 

         อนัญญา เค้าโนนกอก หรือ ป้าอู๊ด ประธานวิสาหกิจกลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติหนองบัวแดงบอกว่าได้ก่อตั้งกลุ่มทำฝ้ายอินทรีย์มาตั้งแต่ปี 2539 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการอนุรักษ์วัฒนธรรมการทอผ้า ขณะนี้มีสมาชิกรวมทั้งหมด 180 คน  โดยยึดหลักการอยู่อย่างพอเพียง พัฒนาศิลปะร่วมกัน มีแนวคิดในทิศทางเดียวกัน และตั้งเป้าหมายสูงสุดคือการสร้างแบรนด์เพื่อการส่งออก เพื่อให้ต่างชาติได้รู้จักผ้าทอมือหนองบัวแดง ซึ่งเป็นผลงานที่ล้วนมาจากธรรมชาติ ทั้งกระบวนการและวิธีการผลิตจากวัสดุธรรมชาติในทุกขั้นตอนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งยังเป็นการสืบสานภูมิปัญญาที่มีมาช้านานจากรุ่นสู่รุ่นด้วย

        "การทอผ้าของกลุ่มจะใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นลวดลายบนผืนผ้าจะย้อมสีจากวัสดุธรรมชาติ ได้แก่ สีดำจากผลมะเกลือ สีครามจากต้นคราม สีแดงจากครั่ง สีเหลืองจากแก่นขนุน เป็นต้น จนสามารถสร้างรายได้ถึงเดือนละ 20,000-100,000 บาทต่อครัวเรือน” ป้าอู๊ดกล่าว

         จากความสำเร็จของสาหกิจกลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติหนองบัวแดงดังกล่าว จึงได้ขยายผลการเกษตรอินทรีย์ไปยังพืชอื่นๆ เช่น ข้าว ใบหม่อน กล้วยน้ำว้า ตะไคร้ ฟักทอง เป็นต้น รวมทั้งยังได้ผลักดันรูปแบบการทำเกษตรอินทรีย์ไปยังหมู่บ้านใกล้เคียง จนเกิดเป็นเกษตรแปลงใหญ่ สอดรับกับแนวนโยบายของรัฐบาล

          สำหรับประชาชนที่สนใจผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์จาก โครงการชัยภูมิโมเดล สามารถไปเลือกซื้อหรือเยี่ยมชมได้ ภายในงาน Organic & Natural EXPO 2017 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27–30 กรกฎาคม ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ห้องเพลนารี ฮอลล์  โดยงานดังกล่าวยังจะมีการจัดแสดงผลงานของ “Organic Valley” จาก จ.ชัยภูมิ พร้อมสินค้าผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาชาวบ้านมากมาย

                                                             .....................................................

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ